Skip to main content

ขนิษฐา คันธะวิชัย

 

 

ปกติฉันทำงานที่ตึกประชาธิปก-รำไพพรรณี ซึ่งอยู่ติดกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงมักจะไปทานอาหารที่โรงอาหารของคณะเศรษฐศาสตร์ ในช่วงแรกๆ ที่ฉันมาเรียนที่จุฬาฯ ก็ได้ยินคนขายอาหารพูดกันเองว่า

 

คนเก็บจานที่มาใหม่น่ะ พูดอังกฤษคล่องเชียว เป็นคนพม่า พูดไทยไม่ได้ เวลาจะให้ทำอะไรแกต้องสั่งเขาเป็นภาษาอังกฤษนะ”


ฉันเลยรับรู้มาตั้งแต่นั้นว่า โรงอาหารแห่งนี้มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าทำงานอยู่ (พอดีตอนนั้นเรียนเรื่องการย้ายถิ่นข้ามชาติอยู่ด้วย) หลังจากนั้นก็จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานพม่ามาตลอด ว่าที่เราเข้าใจว่าเป็น “แรงงานพม่า” นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นได้ทั้งพม่า มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ อาระกัน ฯลฯ คือมีความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ข้างใน เพียงแต่โดนอัตลักษณ์ความเป็นรัฐชาติพม่าทับไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ฉันได้ตระหนักจากการลงภาคสนามที่จังหวัดสมุทรสาคร จำได้ว่าครั้งนั้นฉันและเพื่อนไปช่วยศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นทำ pilot แบบสอบถามเกี่ยวกับการทำงานของเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งเวลาถามแบบสอบถามต้องใช้ล่ามภาษามอญเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้เพื่อนของฉันอีก 3 คนยังมีโอกาสไปลงภาคสนามเพื่อดูประเด็นเกี่ยวกับการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่สมุทรสาครอีกด้วย แต่เวลานำมารายงานในห้องเรียน เพื่อนร่วมชั้นก็ยังเรียกเขาว่า “แรงงานพม่า” อยู่ดี เพื่อความสะดวกปาก


เมื่อเดือนตุลาคม 2550 สถาบันเอเชียศึกษาได้จัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “ครบเครื่องเรื่องมอญ” ที่ตึกเดียวกับโรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์ และก็ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับมอญที่ลานใต้ตึก โดยในแผ่นนิทรรศการนั้นก็มีภาษามอญอยู่ด้วย และในวันงานก็มีคนแต่งตัวมอญเดินกันทั่วงาน ทั้งแบบมอญเมืองไทย และมอญแบบโสร่งแดง ผ้าถุงแดง อันเป็นชุดประจำชาติมอญที่มอญเมืองมอญประดิษฐ์ขึ้นภายหลัง ในงานนั้นฉันเห็นคนที่ทำงานอยู่ที่โรงอาหารได้นำอาหารมาถวายพระ และกราบพระลงไปกับพื้น ซึ่งคนมอญเมืองไทยอธิบายว่า นี่คือวิธีการกราบพระแบบมอญ คือกราบลงไปกับพื้นไม่ว่าพื้นจะเป็นอย่างไร จากนั้นฉันจึงรับรู้ว่า แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในโรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์นั้น มีชาวมอญอยู่หลายคน ไม่ได้มีแต่คนพม่า


วันหนึ่งฉันใส่เสื้อยืดตัวอักษรมอญไปที่โรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์ ขณะที่กำลังยืนคิดอยู่ว่าจะสั่งอะไรนั้น คนขายสาวน้อยหน้าแฉล้มก็ทำท่าตื่นเต้น ชี้มือมาที่เสื้อของฉันแล้วบอกกับเจ้าของร้านว่า


เนี่ย ภาษานี่หนูอ่านได้ ภาษามอญ (ว่าแล้วเธอก็อ่านโชว์เจ้าของร้านซะเลย) กะ ขะ ไก้ ไค้ ไง้ จะ ฉะ ไจ้ ไช้ ไญ้ (เหมือนกับการไล่เสียง ก ข ค ฆ ง จ ฉ ช ฌ ญ ของเรา)...”


ในตอนนั้นฉันเริ่มเข้ามาทำงานกับชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพแล้ว และได้รับปฏิทินปี 2551 เป็นรูปกษัตริย์มอญองค์สำคัญในประวัติศาสตร์มาหลายแผ่นจึงนำมาแบ่งให้น้องหน้าแฉล้มคนนั้น เธอดีใจมากแล้วก็ชี้ให้ดิฉันกับเจ้าของร้านดู “นี่ไง พระเจ้าราชาธิราช” นัยว่าน้องหน้าแฉล้มคงรู้ว่ากษัตริย์มอญที่ไทยรู้จักก็คือพระเจ้าราชาธิราช หลังจากนั้นเมื่อใดที่ฉันไปซื้อข้าวแกงหรืออาหารตามสั่งที่ร้านนั้น ฉันจะได้รับอาหารในปริมาณมากกว่าคนอื่นเสมอ เช่น เมื่อสั่งข้าวผัดกุ้ง หากเธอเป็นคนจัดเตรียมของ เธอก็จะให้กุ้งประมาณ 7-8 ตัว ซึ่งปกติแล้วจะได้ 3 ตัว เท่านั้น


น้องหน้าแฉล้มเล่าว่า เธอชื่อ จอนเตรี่ย แปลเป็นไทยว่า จันทรา ฉันแอบเรียกเธอว่า มณีจันทร์ บ้านของมณีจันทร์อยู่ในรัฐมอญ อ่านเขียนภาษามอญพอได้ มาอยู่เมืองไทยตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยเริ่มจากการมาเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่พระประแดง แม้จะมีคนมอญอยู่เยอะแต่เธอก็ไม่ได้เจอใครเลย เพราะอยู่กับเด็กตลอดเวลา พอมีคนชวนมาขายอาหาร เธอจึงมา และในโรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์นี้ก็มีคนมอญทำงานอยู่ประมาณ 5-6 คน แต่จำนวนนี้ก็ไม่แน่นอนเพราะบางทีก็มีการเปลี่ยนงาน หน้าเก่าหายไป หน้าใหม่เข้ามา (ณ วันที่เขียนบล๊อกอยู่นี้น้องมณีจันทร์ก็ไม่อยู่ที่โรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์แล้ว)


แถวๆ สามย่านที่ทำงานของฉันไม่ได้มีมอญแรงงานเฉพาะที่คณะเศรษฐศาสตร์เท่านั้น ตอนแรกฉันเองก็ไม่รู้ แต่หากใครได้อ่านสารคดีชื่อ “ต้นทางจากมะละแหม่ง” อาจจะเคยได้ยินชื่อ “นายวีทอ” มอญจากมะละแหม่ง พระรองของสารคดีเล่มนี้ พี่วีทอนี่เองที่บอกฉันว่า “บัวเผื่อนอยู่แถวจุฬา สามย่านเนี่ย ไปดูเลย ใครที่ขายไข่นกกระทาทอด ชานมไข่มุก ไอติม ให้บัวเผื่อนลองถามเขาเป็นภาษามอญเลยว่า ขายดีไหม พวกนี้มอญทั้งนั้น” แม้ฉันจะพอรู้ว่ามีชาวมอญที่เข้ามาเป็นแรงงานในฐานะ “แรงงานพม่า” อยู่เยอะ แต่ก็ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดที่ว่าคนไหนๆ ก็ใช่ทั้งนั้น


และวันหนึ่งฉันก็ได้เห็นว่าคำพูดพี่วีทอนั้นไม่ได้เกินความจริงเลย


วันนั้นฉันใส่เสื้ออักษรมอญตัวเดิม ที่ป้ายรถเมล์หน้าจุฬาฯ มีรถเข็นขายผลไม้ ฉันไปซื้อสัปปะรดซีกหนึ่ง คนขายบอกว่า “สิบบาท” ฉันฟังดูก็ไม่แปร่งหูอะไร เขาถามต่อว่า “เอาอย่างอื่นอีกไหม” สำเนียงนั้นแม้ไม่ใช่สำเนียงกรุงเทพฯ แต่ฉันก็คิดว่าเป็นสำเนียงคนต่างจังหวัดทั่วๆ ไป สักพักเขาก็ถามว่า “เสื้อมอญตัวนี้ซื้อมาจากไหน” คุยไปคุยมาจึงรู้ว่าคนขายผลไม้ก็เป็นคนมอญ และคนที่ขายไข่นกกระทาทอดที่อยู่อีกด้านของฟุตบาทก็เป็นคนมอญจากเมืองมอญเช่นกัน


ฉันมันเป็นพวกชอบทำอะไรให้สุดๆ จึงทดลองทฤษฏีของพี่วีทออีก โดยการไปซื้อชานมไข่มุกที่ประตูเล็กใกล้คณะวิทยาศาสตร์ คนขายก็มองเสื้อฉัน มองแล้วมองอีก สุดท้ายฉันเลยถามว่า “นี่ภาษาอะไร รู้ไหม” เขาก็ตอบมาทันทีว่า “ภาษามอญ”


วันนั้นฉันเลยมีของกินติดมือไปที่โต๊ะทำงานเพียบ เนื่องจากพิสูจน์ความเป็นมอญตามทฤษฎีของพี่วีทอเยอะไปหน่อย


ฉันคิดว่าเขาคงดีใจที่เห็นภาษาของตนเองในเมืองไทย แต่ฉันก็เห็นใจเขาตรงที่ว่า คนมอญเหล่านี้ไม่สามารถจะใส่เสื้อที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นมอญได้ เนื่องจากอาจมีปัญหากับตำรวจ หรืออาจโดนเพ่งเล็งเรื่องจะมาทำลายความมั่นคงของชาติไทย จากที่เห็นมา มอญแรงงานจะใส่เสื้อภาษามอญเฉพาะเมื่อมีงานพิธีหรือเมื่ออยู่ในแหล่งชุมชนที่มีชาวมอญอยู่กันมากๆ เท่านั้น ในขณะที่มอญเมืองไทยสามารถแสดงอัตลักษณ์ตนเองได้อย่างอิสระ


หวนนึกถึงอาจารย์สอนภาษามอญของฉันคนหนึ่ง ที่อุตส่าห์เสียค่ารถมาสอนให้ฉันฟรีถึงที่จุฬาฯด้วยความอยากถ่ายทอดภาษามอญ เขาได้ยินฉันพูดกับพี่คนหนึ่งเรื่องตัวเขียนภาษาล้านนา เพราะเรามีพื้นเพอยู่ทางภาคเหนือเหมือนกัน อาจารย์ฉัน (ที่ยังหนุ่มอยู่มาก) ก็พูดขึ้นมาว่า “คนไทยนี่ดีเนอะ จะเรียนภาษาอะไรก็ได้ อย่างนี้ที่พม่าเรียนไม่ได้” อาจารย์คนนี้เป็นนักศึกษามอญมาเรียนปริญญาโทที่ราม ได้เรียนหนังสือสูงแต่เรียนเป็นภาษาพม่า ทำให้ได้ใช้ภาษาพม่ามากกว่ามอญ จนกระทั่งลืมภาษามอญพื้นๆ บางคำ เช่น น้า (น้องแม่) แต่ที่เขียนภาษามอญได้ก็เพราะแอบเรียนในบ้านโดยมีพ่อแม่สอนให้


เมื่อมองย้อนกลับมาที่ตัวฉันเอง ก็เห็นว่าถ้าเปรียบฉันกับคนมอญเหล่านั้นแล้ว ฉันก็โชคดีกว่าที่สามารถแสดงอัตลักษณ์ประกาศความเป็นชาวเขา ประกาศความเป็นคนเหนือ หรือใส่ชุดมอญเดินไปกินข้าวที่สามย่านได้ไม่อายใคร และไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ยุคนี้เป็นยุคที่เรากำลังฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น การเป็นคนที่ “ไม่ใช่ไทย” ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป กลับเป็นจุดเด่นเสียอีก ฉันก็ได้แต่เอาใจช่วยว่าสักวันหนึ่งพี่น้องชาวมอญในเมืองมอญจะสามารถแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อย่างที่เป็นอยู่


ว่าแล้วก็เดินไปอุดหนุนชานมไข่มุกที่สามย่านอีกดีกว่า...



บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์