Skip to main content

...ต้องการแม่ครัว (หรือพ่อครัวก็ได้) ๑ ตำแหน่งค่ะ ทำงานที่ระยองนี่ล่ะ...”

ชาวพม่าเอาไหมครับ ถ้าเอามีเยอะเลย ข้างบ้านเขาทำธุรกิจแรงงานพม่าอยู่น่ะ...”

พม่าทำกับข้าวอร่อยหรือเปล่าคะ”

“…มีข่าวบ่อยๆ ว่า แรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ต่างดาว ฆ่านายจ้าง ระวังไว้นะ”

พม่าเอาแบบนุ่งกางเกงนะ ห้ามนุ่งโสร่ง เดี๋ยวจะเพิ่มเส้นให้มามากเกินไป...ง่ะ...๕๕๕++”

ฯลฯ


ข้อความโต้ตอบในกระดานสนทนาเว็บไซต์หางานแห่งหนึ่ง ที่ผู้เขียนเข้าไปพบโดยบังเอิญ เมื่อปลายปีที่แล้ว ข้อความโต้ตอบข้างต้นสะท้อนแง่คิดของคนไทยกลุ่มหนึ่งได้อย่างแปรปรวนชวนสงสัย น่าแปลกที่คนไทยเรามีสายตาที่มองคนพม่าในแบบที่ทั้งหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ เป็นตัวตลก และที่สำคัญคือ เป็นวัตถุแรงงานไม่มีชีวิต ดังในประโยคที่ว่า “ข้างบ้านเขาทำธุรกิจแรงงานพม่าอยู่น่ะ” ไม่แน่ใจว่าความคิดที่แปรปรวนของคนไทยนั้นมันเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ตั้งแต่คนไทยมีบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์แบบหลวงวิจิตรวาทการหรือไม่ เพราะในแบบเรียนสมัยนั้นเขียนให้คนไทยเป็นพระเอกถูกพม่าเผาเมือง “พม่าทุกคน” จึงเป็นผู้ร้ายในสายตาคนไทยตลอดกาล ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวและเขมรนั้น ยังคงรักกันดีบ้านพี่เมืองน้อง แต่ไทยขอเป็นพี่ เราทำเป็นลืมว่าได้เคยไปเผาบ้านเผาเมืองลาวและเขมรไว้ด้วยเช่นกัน คนไทยเลือกที่จะจดจำเพียงว่า ไทยสูญเสียลาวและเขมรให้ฝรั่งเศส จริงหรือที่ว่าเราสูญเสีย แท้จริงแล้ว “เราไม่ได้มาต่างหาก”


สภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองจากระบบการปกครองแบบเผด็จการรัฐบาลทหารพม่า บีบบังคับให้คนพม่าต้องหนีตายเข้ามาขายแรงงานในประเทศไทย กลายเป็น “แรงงานต่างด้าว” (หลายคนเรียกอย่างประชดประชัน ขบขัน ปนสมเพศว่า “แรงงานต่างดาว”) ที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นไม่เพียงแต่คนพม่าแท้เท่านั้น ยังประกอบไปด้วยคนชาติพันธุ์อื่น อย่างมอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ ฉิ่น คะฉิ่น อาระกัน ทวาย ว้า เป็นต้น คนเหล่าเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ในประเทศพม่า ทว่า หากคนเหล่านี้รวมตัวกันแล้ว จะกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ พม่าจะกลายเป็นชนกลุ่มน้อยทันที คนเหล่านี้หลายกลุ่มเคยมีประเทศเอกราช ไม่เพียงแต่ถูกพม่าปล้นชิงแผ่นดินไปเมื่อหลายร้อยปีก่อนเท่านั้น แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่คนเหล่านี้อยู่ในสภาพชนกลุ่มน้อย ก็ยังคงถูกรัฐบาลทหารพม่าแย่งชิงผืนดินทำกิน ไล่เผาที่นาสร้างรีสอร์ท สนามกอล์ฟ เวนคืนสัมปทานให้ต่างชาติเช่าทำฟาร์ม สนามบิน ชายหนุ่มวัยแรงงานถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ ใช้แรงงานทำการก่อสร้าง ส่วนหญิงสาวมักถูกฉุดคร่าข่มขืนและฆ่าทิ้งหลังหมดหน้าที่รองรับอารมณ์ของทหารพม่าป่าเถื่อน


ข้างต้นนั้นเป็นสถานการณ์ในประเทศพม่า เหตุเพราะพม่ามีรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อแรงงานต่างด้าวชาวพม่าเหล่านั้นหนีตายเข้ามายังเมืองไทย เมืองพุทธ เมืองประชาธิปไตย พวกเขาก็ยังคงถูกกระทำแทบจะไม่ต่างจากที่พวกเขาได้รับในประเทศของตนเอง


ธุรกิจส่งแรงงานข้ามชาติจะไม่สามารถอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้หากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่มีส่วนรู้เห็น ตามด่านตะเข็บชายแดน ช่องไหน ทางไหน เจ้าหน้าที่รู้อยู่แก่ใจ หากเห็นว่าเป็นปัญหาก็ควรหาทางป้องกันมิใช่ปล่อยปละละเลย อย่างไรก็ตามเมื่อแรงงานเหล่านั้นเข้ามาถึงตลาดแรงงานในเมืองไทยแล้ว หากไม่ต้องการจริงๆ ก็ควรผลักดันเนรเทศออกนอกประเทศ มิใช่ปากว่าตาขยิบ ต้องการแรงงานราคาถูกในกิจการที่คนไทยไม่ทำ แต่กลับกดทับ จำกัดสิทธิในการศึกษา การเดินทางและการแสดงออกตามแบบวัฒนธรรมประเพณี เช่น การใช้ภาษา การแต่งกาย งานประเพณีตามแต่ละชาติพันธุ์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา


นายจ้างบางรายเอารัดเอาเปรียบแรงงานเหล่านี้อย่างสาหัส บางรายจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานก่อสร้าง หลังจบโครงการก็แจ้งตำรวจจับ เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าแรง บางรายจ่ายค่าแรงแต่จ่ายเพียงครึ่งเดียวที่คนไทยได้รับทั้งที่ต้องทำงานหนักและยาวนานกว่า แรงงานต่างด้าวเหล่านี้มักถูกเจ้าหน้าที่จับกุมรีดไถ หากเป็นหญิงสาวหน้าตาดีก็มักถูกข่มขืนด้วย หญิงสาวทำงานบ้านหลายรายถูกนายจ้าง ลูกชายนายจ้างข่มขืน วัยรุ่นบางพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาครมีความเชื่อกันว่า การทำร้ายและการข่มขืนแรงงานต่างด้าวชาวพม่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะ ’แรงงานต่างด้าวสกปรก เป็นตัวแพร่เชื้อโรค นำเอาวัฒนธรรมต่างด้าวมาครอบงำวัฒนธรรมไทย ที่สำคัญ พวกพม่าเหล่านี้เคยเผากรุงศรีอยุธยาของไทยไว้’ ความคิดเหล่านี้ถูกวัยรุ่นตีความมาจากประกาศของพ่อเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา


แม้ในระยะหลังมีผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ออกมายอมรับว่ามีกิจการหลายประเภทที่เป็นงานหนัก เสี่ยงอันตราย และสกปรก ซึ่งคนไทยไม่ทำ จึงมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว แต่ก็ต้องการควบคุมให้อยู่ในกรอบ ไม่ให้ใช้ชีวิตอย่างอิสระหรือมีเวลาเข้าวัดทำบุญตามประเพณี ทั้งที่แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ห่างอกพ่อแม่ ไกลบ้านเกิดเมืองนอน การรวมกลุ่มตามวัดจัดงานประเพณี แต่งกาย กินอาหาร ใช้ภาษาแบบของเขานานทีปีหน ย่อมเป็นดั่งน้ำทิพย์ชะโลมจิตใจให้แรงงานเหล่านี้อยู่ได้ท่ามกลางสังคมที่เขาไม่คุ้นเคย ทว่าผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่กลับไม่เคยทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้แม้แต่น้อย คอยหวาดระแวงว่าคนกลุ่มนี้จะรวมตัวก่อการที่เป็นภัยต่อความมั่นคง และกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

"...ผมจ้างมาเป็นแรงงาน ไม่ได้จ้างมาให้ร่วมงาน จัดงาน จัดกิจกรรมวัฒนธรรม..."
"...
ถ้าทำหมันแรงงานต่างด้าวได้ ผมสนับสนุน ควรทำไปเลย...”
ข้างต้น เป็นคำพูดของผู้ประกอบการรายหนึ่ง ซึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมระหว่างตัวแทนชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญจังหวัดสมุทรสาคร องค์กรพัฒนาเอกชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ประกอบการ ต่อหน้าผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร บนศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เท่านี้เอง...ถึงอย่างไรผู้ประกอบการก็ไม่คิดไกลไปกว่าผลกำไร ไม่ได้มองเข้าไปในความเป็นคน

ในขณะที่แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่และนายจ้างอย่างที่มนุษย์ธรรมดาไม่น่าจะทำต่อกัน มีแรงงานต่างด้าวหลายรายถูกกระทำจนเกินกลั้น กระทั่งเกิดคดีความบนหน้าหนังสือพิมพ์อยู่หลายครั้งทำนองว่า “พม่าฆ่านายจ้าง” ฯลฯ ถึงอย่างไรก็ตาม และเป็นจริงอยู่เองว่า ไม่ว่าคนชาติไหนก็มีทั้งคนดีและคนเลว แต่ควรแยกแยะออกเป็นรายๆ ไป ไม่ควรเหมาว่า พม่าฆ่านายจ้าง ไทใหญ่ค้ายา ผู้หญิงไทยขายตัว เพราะหากเหมารวมเช่นนี้ คนไทยเองก็รับไม่ได้เช่นกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของแรงงานต่างด้าวชาวพม่าจึงดูโหดร้าย น่ากลัว แต่ก็สะใจอยู่ในที ‘ที่มันต้องมาเป็นคนใช้ คนสวนค่าแรงถูกๆ กินอยู่อดๆ อยากๆ เป็นการชดใช้กรรมที่เคยมาเผากรุงศรีอยุธยาเอาไว้’

ทั้งนี้ทั้งนั้น สื่อมวลชนเองก็มักขยายเนื้อที่ข่าวเหล่านี้ ด้วยการพาดหัวตัวโตๆ ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ “พม่าฆ่าโหด” เพื่อขายข่าว โดยไม่รับผิดชอบต่อสังคมว่าคนในสังคมที่เสพข่าวแล้วสุขภาพจิตจะเป็นอย่างไร ชาวพม่าเอง ทั้งที่เป็นแรงงานต่างด้าวและชาวพม่าในประเทศพม่าจะรู้สึกอย่างไร (ไหนว่าระมัดระวังความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) ผู้จัดละครเองก็ไม่ยอมตกขบวนรถไฟเที่ยวนี้เช่นกัน แต่เดิมตัวตลก คนใช้ในหนังและละครไทยจะเป็น อาบัง (อินเดีย) อาแปะ (จีน) ต่อมาก็คนใช้พูดเหน่อสุพรรณฯ (ไอ้หมา อีแจ๋ว) ถัดมาก็ บักหำ (ลาวอีสาน) และล่าสุดก็คือ “แรงงานต่างด้าว” ตอกย้ำบุคลิคและภาษาของแรงงานต่างด้าวให้เป็นตัวตลกในสังคมไทย

แทบไม่น่าเชื่อว่า ในขณะที่คนไทยหวาดกลัว หวาดระแวง รังเกียจ และขบขันแรงงานต่างด้าวชาวพม่า แต่หลายคนก็มองเห็นแรงงานต่างด้าวเหล่านี้เป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ ที่ต้องเข้ามากอบโกยและตักตวงผลประโยชน์ ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ยินอยู่เสมอๆ ว่า ตามหน้าโรงงานที่มีแรงงานเหล่านี้ทำงานอยู่รวมกันมากๆ ก็มักจะมีรถกระบะบรรทุกกองผ้าป่า มีคนแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ไปแจกซองผ้าป่าอยู่เสมอๆ อาศัยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าของคนเหล่านี้ ส่วนข้าวของทั้งของกินของใช้แบบพม่านั้น มีผู้นำมาขายถึงหน้าโรงงานและย่านที่พักโดยพ่อค้าชาวไทย ทั้งที่แต่เดิมแรงงานต่างด้าวเป็นผู้เริ่มนำมาขายก่อน เพราะต้องการกินใช้ในแบบที่ตนคุ้นชิน ซึ่งเมื่อพวกพ่อค้าคนไทยเห็นช่องทางจึงยึดอาชีพนี้และจ้างแรงงานชาวพม่าขายของ โดยห้ามชาวพม่าขายอย่างเด็ดขาด หากขายก็จะแจ้งตำรวจจับทันที

ตามแหล่งที่มีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าอยู่รวมกันมากๆ เช่น ราษฎร์บูรณะ พระประแดง สมุทรสาคร ตลาดไท ก็มักมีนักธุรกิจหัวใสจ้างศิลปินชาวพม่า มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ มาเปิดคอนเสิร์ตเก็บเงินเป็นล่ำเป็นสัน โดยมีการจัดสรรผลกำไรกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างลงตัว และล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทนักธุรกิจโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ก็ไม่ยอมพลาดโอกาสกอบโกยและตักตวงผลกำไรจากตลาดแรงงานต่างด้าวชาวพม่ากลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ โดยให้บริการโหลดเพลงรอสาย และเพลงเรียกเข้าทางโทรศัพท์มือถือ คิดเป็นรายเดือน เดือนละ ๓๐ บาท เมื่อโทรศัพท์ไปตามเบอร์ที่อยู่ในแผ่นพับ ก็จะมีเสียงตอบรับอัตโนมัติ
เพลงพม่ากด ๑ เพลงมอญกด ๒ เพลงกะเหรี่ยงกด ๓ เพลงไทใหญ่กด ๔ ....”

เมื่อเลือกเพลงแต่ละชาติแต่ละภาษาได้แล้ว ก็ให้เลือกศิลปิน กด ๑ กด ๒ กด ๓ ...ไปตามเรื่อง หากไม่เข้าใจจะคุยกับพนักงานรับโทรศัพท์โดยตรงก็ได้ เพราะบริษัทเขาจ้างแรงงานต่างด้าวชาวพม่า มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ ไว้พร้อมศัพท์



แผ่นพับโฆษณาโหลดเพลงเรียกเข้า เพลงรอสายทางมือถือ มีให้เลือกหลายภาษาชาติพันธุ์ มีแจกตามแหล่งที่อยู่ของแรงงานต่างด้าวชาวพม่า

บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ว่านี้ทำการตลาดเป็นระบบอย่างยิ่ง พิมพ์แผ่นพับ ระบุชื่อเพลง ชื่อศิลปินมอญ พม่า กะเหรี่ยง ไทใหญ่ เป็นภาษาพม่า มอญครบถ้วน และจ้างแรงงานต่างด้าวชาวพม่าเป็นตัวแทนแจกแผ่นพับ พร้อมเชิญชวนให้เข้ามาโหลดเพลงภาษาต่างๆ เรื่องดังกล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะก่อนหน้าที่จะมีเพลงภาษาต่างด้าวให้โหลดนั้น มีโฆษณาโปรโมชั่นโทรศัพท์ทั้งแบบรายเดือนและเติมเงิน พิมพ์โปสเตอร์โฆษณาเป็นภาษาพม่าและมอญโดยบริษัทยักษ์ใหญ่รายเดียวกัน ปิดประกาศไปทั่วทุกแห่งที่มีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าอยู่กันหนาแน่น


โปสเตอร์โฆษณาโทรศัพท์ภาษาพม่าของบริษัทมือถือรายหนึ่ง ในตลาดมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร

แปลกแต่จริงตรงที่ว่า คุณวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ไม่เคยเห็นแผนการตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เลย นอกจากเห็นตัวอักษรมอญพม่าบนเสื้อยืด ป้ายภาษามอญพม่าที่เชิญชวนแรงงานเหล่านี้เข้าวัดทำบุญ ตัวอักษรต่างด้าวเหล่านี้ต่างหากที่คุณวีรยุทธ เอี่ยมอำภา ไม่ต้องการให้เผยแพร่ สั่งให้ทำลายทิ้งทันทีที่พบเห็น เหตุเพราะเป็นตัวอักษรของพวกต่างด้าว

ผู้เขียนเชื่อว่า คนที่มีความคิดเหยียดหยาม หวาดระแวง และเย้ยหยันผู้อื่นว่าต่ำกว่าตนเองอยู่ตลอดเวลาในลักษณะนี้ หลายคนมาจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น เติบโตมาภายใต้การกดขี่ของผู้ปกครอง เมื่อมีโอกาสแสดงอำนาจจึงเถลิงเสียล้นทะลัก กอรปกับบางคนนั้นท่องจำเก่ง คิดเองไม่ได้ จดจำเนื้อหาในตำราประวัติศาสตร์แบบรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยเป็นที่ตั้ง ในขณะที่บางคนก็อ่านนิยายแล้วนอนฝันกลางวัน สมมุติตัวเองเป็นตัวเอก ดาวเคราะห์ท่ามกลางจักรวาลทั้งหลายต้องโคจรรอบตนเอง พาลให้มองไม่เห็นความเป็นคนที่คนอื่นเขาก็มีเหมือนกับตน

 

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…