Skip to main content

...ต้องการแม่ครัว (หรือพ่อครัวก็ได้) ๑ ตำแหน่งค่ะ ทำงานที่ระยองนี่ล่ะ...”

ชาวพม่าเอาไหมครับ ถ้าเอามีเยอะเลย ข้างบ้านเขาทำธุรกิจแรงงานพม่าอยู่น่ะ...”

พม่าทำกับข้าวอร่อยหรือเปล่าคะ”

“…มีข่าวบ่อยๆ ว่า แรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ต่างดาว ฆ่านายจ้าง ระวังไว้นะ”

พม่าเอาแบบนุ่งกางเกงนะ ห้ามนุ่งโสร่ง เดี๋ยวจะเพิ่มเส้นให้มามากเกินไป...ง่ะ...๕๕๕++”

ฯลฯ


ข้อความโต้ตอบในกระดานสนทนาเว็บไซต์หางานแห่งหนึ่ง ที่ผู้เขียนเข้าไปพบโดยบังเอิญ เมื่อปลายปีที่แล้ว ข้อความโต้ตอบข้างต้นสะท้อนแง่คิดของคนไทยกลุ่มหนึ่งได้อย่างแปรปรวนชวนสงสัย น่าแปลกที่คนไทยเรามีสายตาที่มองคนพม่าในแบบที่ทั้งหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ เป็นตัวตลก และที่สำคัญคือ เป็นวัตถุแรงงานไม่มีชีวิต ดังในประโยคที่ว่า “ข้างบ้านเขาทำธุรกิจแรงงานพม่าอยู่น่ะ” ไม่แน่ใจว่าความคิดที่แปรปรวนของคนไทยนั้นมันเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ตั้งแต่คนไทยมีบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์แบบหลวงวิจิตรวาทการหรือไม่ เพราะในแบบเรียนสมัยนั้นเขียนให้คนไทยเป็นพระเอกถูกพม่าเผาเมือง “พม่าทุกคน” จึงเป็นผู้ร้ายในสายตาคนไทยตลอดกาล ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวและเขมรนั้น ยังคงรักกันดีบ้านพี่เมืองน้อง แต่ไทยขอเป็นพี่ เราทำเป็นลืมว่าได้เคยไปเผาบ้านเผาเมืองลาวและเขมรไว้ด้วยเช่นกัน คนไทยเลือกที่จะจดจำเพียงว่า ไทยสูญเสียลาวและเขมรให้ฝรั่งเศส จริงหรือที่ว่าเราสูญเสีย แท้จริงแล้ว “เราไม่ได้มาต่างหาก”


สภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองจากระบบการปกครองแบบเผด็จการรัฐบาลทหารพม่า บีบบังคับให้คนพม่าต้องหนีตายเข้ามาขายแรงงานในประเทศไทย กลายเป็น “แรงงานต่างด้าว” (หลายคนเรียกอย่างประชดประชัน ขบขัน ปนสมเพศว่า “แรงงานต่างดาว”) ที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นไม่เพียงแต่คนพม่าแท้เท่านั้น ยังประกอบไปด้วยคนชาติพันธุ์อื่น อย่างมอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ ฉิ่น คะฉิ่น อาระกัน ทวาย ว้า เป็นต้น คนเหล่าเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ในประเทศพม่า ทว่า หากคนเหล่านี้รวมตัวกันแล้ว จะกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ พม่าจะกลายเป็นชนกลุ่มน้อยทันที คนเหล่านี้หลายกลุ่มเคยมีประเทศเอกราช ไม่เพียงแต่ถูกพม่าปล้นชิงแผ่นดินไปเมื่อหลายร้อยปีก่อนเท่านั้น แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่คนเหล่านี้อยู่ในสภาพชนกลุ่มน้อย ก็ยังคงถูกรัฐบาลทหารพม่าแย่งชิงผืนดินทำกิน ไล่เผาที่นาสร้างรีสอร์ท สนามกอล์ฟ เวนคืนสัมปทานให้ต่างชาติเช่าทำฟาร์ม สนามบิน ชายหนุ่มวัยแรงงานถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ ใช้แรงงานทำการก่อสร้าง ส่วนหญิงสาวมักถูกฉุดคร่าข่มขืนและฆ่าทิ้งหลังหมดหน้าที่รองรับอารมณ์ของทหารพม่าป่าเถื่อน


ข้างต้นนั้นเป็นสถานการณ์ในประเทศพม่า เหตุเพราะพม่ามีรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อแรงงานต่างด้าวชาวพม่าเหล่านั้นหนีตายเข้ามายังเมืองไทย เมืองพุทธ เมืองประชาธิปไตย พวกเขาก็ยังคงถูกกระทำแทบจะไม่ต่างจากที่พวกเขาได้รับในประเทศของตนเอง


ธุรกิจส่งแรงงานข้ามชาติจะไม่สามารถอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้หากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่มีส่วนรู้เห็น ตามด่านตะเข็บชายแดน ช่องไหน ทางไหน เจ้าหน้าที่รู้อยู่แก่ใจ หากเห็นว่าเป็นปัญหาก็ควรหาทางป้องกันมิใช่ปล่อยปละละเลย อย่างไรก็ตามเมื่อแรงงานเหล่านั้นเข้ามาถึงตลาดแรงงานในเมืองไทยแล้ว หากไม่ต้องการจริงๆ ก็ควรผลักดันเนรเทศออกนอกประเทศ มิใช่ปากว่าตาขยิบ ต้องการแรงงานราคาถูกในกิจการที่คนไทยไม่ทำ แต่กลับกดทับ จำกัดสิทธิในการศึกษา การเดินทางและการแสดงออกตามแบบวัฒนธรรมประเพณี เช่น การใช้ภาษา การแต่งกาย งานประเพณีตามแต่ละชาติพันธุ์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา


นายจ้างบางรายเอารัดเอาเปรียบแรงงานเหล่านี้อย่างสาหัส บางรายจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานก่อสร้าง หลังจบโครงการก็แจ้งตำรวจจับ เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าแรง บางรายจ่ายค่าแรงแต่จ่ายเพียงครึ่งเดียวที่คนไทยได้รับทั้งที่ต้องทำงานหนักและยาวนานกว่า แรงงานต่างด้าวเหล่านี้มักถูกเจ้าหน้าที่จับกุมรีดไถ หากเป็นหญิงสาวหน้าตาดีก็มักถูกข่มขืนด้วย หญิงสาวทำงานบ้านหลายรายถูกนายจ้าง ลูกชายนายจ้างข่มขืน วัยรุ่นบางพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาครมีความเชื่อกันว่า การทำร้ายและการข่มขืนแรงงานต่างด้าวชาวพม่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะ ’แรงงานต่างด้าวสกปรก เป็นตัวแพร่เชื้อโรค นำเอาวัฒนธรรมต่างด้าวมาครอบงำวัฒนธรรมไทย ที่สำคัญ พวกพม่าเหล่านี้เคยเผากรุงศรีอยุธยาของไทยไว้’ ความคิดเหล่านี้ถูกวัยรุ่นตีความมาจากประกาศของพ่อเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา


แม้ในระยะหลังมีผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ออกมายอมรับว่ามีกิจการหลายประเภทที่เป็นงานหนัก เสี่ยงอันตราย และสกปรก ซึ่งคนไทยไม่ทำ จึงมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว แต่ก็ต้องการควบคุมให้อยู่ในกรอบ ไม่ให้ใช้ชีวิตอย่างอิสระหรือมีเวลาเข้าวัดทำบุญตามประเพณี ทั้งที่แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ห่างอกพ่อแม่ ไกลบ้านเกิดเมืองนอน การรวมกลุ่มตามวัดจัดงานประเพณี แต่งกาย กินอาหาร ใช้ภาษาแบบของเขานานทีปีหน ย่อมเป็นดั่งน้ำทิพย์ชะโลมจิตใจให้แรงงานเหล่านี้อยู่ได้ท่ามกลางสังคมที่เขาไม่คุ้นเคย ทว่าผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่กลับไม่เคยทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้แม้แต่น้อย คอยหวาดระแวงว่าคนกลุ่มนี้จะรวมตัวก่อการที่เป็นภัยต่อความมั่นคง และกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

"...ผมจ้างมาเป็นแรงงาน ไม่ได้จ้างมาให้ร่วมงาน จัดงาน จัดกิจกรรมวัฒนธรรม..."
"...
ถ้าทำหมันแรงงานต่างด้าวได้ ผมสนับสนุน ควรทำไปเลย...”
ข้างต้น เป็นคำพูดของผู้ประกอบการรายหนึ่ง ซึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมระหว่างตัวแทนชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญจังหวัดสมุทรสาคร องค์กรพัฒนาเอกชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ประกอบการ ต่อหน้าผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร บนศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เท่านี้เอง...ถึงอย่างไรผู้ประกอบการก็ไม่คิดไกลไปกว่าผลกำไร ไม่ได้มองเข้าไปในความเป็นคน

ในขณะที่แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่และนายจ้างอย่างที่มนุษย์ธรรมดาไม่น่าจะทำต่อกัน มีแรงงานต่างด้าวหลายรายถูกกระทำจนเกินกลั้น กระทั่งเกิดคดีความบนหน้าหนังสือพิมพ์อยู่หลายครั้งทำนองว่า “พม่าฆ่านายจ้าง” ฯลฯ ถึงอย่างไรก็ตาม และเป็นจริงอยู่เองว่า ไม่ว่าคนชาติไหนก็มีทั้งคนดีและคนเลว แต่ควรแยกแยะออกเป็นรายๆ ไป ไม่ควรเหมาว่า พม่าฆ่านายจ้าง ไทใหญ่ค้ายา ผู้หญิงไทยขายตัว เพราะหากเหมารวมเช่นนี้ คนไทยเองก็รับไม่ได้เช่นกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของแรงงานต่างด้าวชาวพม่าจึงดูโหดร้าย น่ากลัว แต่ก็สะใจอยู่ในที ‘ที่มันต้องมาเป็นคนใช้ คนสวนค่าแรงถูกๆ กินอยู่อดๆ อยากๆ เป็นการชดใช้กรรมที่เคยมาเผากรุงศรีอยุธยาเอาไว้’

ทั้งนี้ทั้งนั้น สื่อมวลชนเองก็มักขยายเนื้อที่ข่าวเหล่านี้ ด้วยการพาดหัวตัวโตๆ ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ “พม่าฆ่าโหด” เพื่อขายข่าว โดยไม่รับผิดชอบต่อสังคมว่าคนในสังคมที่เสพข่าวแล้วสุขภาพจิตจะเป็นอย่างไร ชาวพม่าเอง ทั้งที่เป็นแรงงานต่างด้าวและชาวพม่าในประเทศพม่าจะรู้สึกอย่างไร (ไหนว่าระมัดระวังความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) ผู้จัดละครเองก็ไม่ยอมตกขบวนรถไฟเที่ยวนี้เช่นกัน แต่เดิมตัวตลก คนใช้ในหนังและละครไทยจะเป็น อาบัง (อินเดีย) อาแปะ (จีน) ต่อมาก็คนใช้พูดเหน่อสุพรรณฯ (ไอ้หมา อีแจ๋ว) ถัดมาก็ บักหำ (ลาวอีสาน) และล่าสุดก็คือ “แรงงานต่างด้าว” ตอกย้ำบุคลิคและภาษาของแรงงานต่างด้าวให้เป็นตัวตลกในสังคมไทย

แทบไม่น่าเชื่อว่า ในขณะที่คนไทยหวาดกลัว หวาดระแวง รังเกียจ และขบขันแรงงานต่างด้าวชาวพม่า แต่หลายคนก็มองเห็นแรงงานต่างด้าวเหล่านี้เป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ ที่ต้องเข้ามากอบโกยและตักตวงผลประโยชน์ ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ยินอยู่เสมอๆ ว่า ตามหน้าโรงงานที่มีแรงงานเหล่านี้ทำงานอยู่รวมกันมากๆ ก็มักจะมีรถกระบะบรรทุกกองผ้าป่า มีคนแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ไปแจกซองผ้าป่าอยู่เสมอๆ อาศัยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าของคนเหล่านี้ ส่วนข้าวของทั้งของกินของใช้แบบพม่านั้น มีผู้นำมาขายถึงหน้าโรงงานและย่านที่พักโดยพ่อค้าชาวไทย ทั้งที่แต่เดิมแรงงานต่างด้าวเป็นผู้เริ่มนำมาขายก่อน เพราะต้องการกินใช้ในแบบที่ตนคุ้นชิน ซึ่งเมื่อพวกพ่อค้าคนไทยเห็นช่องทางจึงยึดอาชีพนี้และจ้างแรงงานชาวพม่าขายของ โดยห้ามชาวพม่าขายอย่างเด็ดขาด หากขายก็จะแจ้งตำรวจจับทันที

ตามแหล่งที่มีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าอยู่รวมกันมากๆ เช่น ราษฎร์บูรณะ พระประแดง สมุทรสาคร ตลาดไท ก็มักมีนักธุรกิจหัวใสจ้างศิลปินชาวพม่า มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ มาเปิดคอนเสิร์ตเก็บเงินเป็นล่ำเป็นสัน โดยมีการจัดสรรผลกำไรกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างลงตัว และล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทนักธุรกิจโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ก็ไม่ยอมพลาดโอกาสกอบโกยและตักตวงผลกำไรจากตลาดแรงงานต่างด้าวชาวพม่ากลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ โดยให้บริการโหลดเพลงรอสาย และเพลงเรียกเข้าทางโทรศัพท์มือถือ คิดเป็นรายเดือน เดือนละ ๓๐ บาท เมื่อโทรศัพท์ไปตามเบอร์ที่อยู่ในแผ่นพับ ก็จะมีเสียงตอบรับอัตโนมัติ
เพลงพม่ากด ๑ เพลงมอญกด ๒ เพลงกะเหรี่ยงกด ๓ เพลงไทใหญ่กด ๔ ....”

เมื่อเลือกเพลงแต่ละชาติแต่ละภาษาได้แล้ว ก็ให้เลือกศิลปิน กด ๑ กด ๒ กด ๓ ...ไปตามเรื่อง หากไม่เข้าใจจะคุยกับพนักงานรับโทรศัพท์โดยตรงก็ได้ เพราะบริษัทเขาจ้างแรงงานต่างด้าวชาวพม่า มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ ไว้พร้อมศัพท์



แผ่นพับโฆษณาโหลดเพลงเรียกเข้า เพลงรอสายทางมือถือ มีให้เลือกหลายภาษาชาติพันธุ์ มีแจกตามแหล่งที่อยู่ของแรงงานต่างด้าวชาวพม่า

บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ว่านี้ทำการตลาดเป็นระบบอย่างยิ่ง พิมพ์แผ่นพับ ระบุชื่อเพลง ชื่อศิลปินมอญ พม่า กะเหรี่ยง ไทใหญ่ เป็นภาษาพม่า มอญครบถ้วน และจ้างแรงงานต่างด้าวชาวพม่าเป็นตัวแทนแจกแผ่นพับ พร้อมเชิญชวนให้เข้ามาโหลดเพลงภาษาต่างๆ เรื่องดังกล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะก่อนหน้าที่จะมีเพลงภาษาต่างด้าวให้โหลดนั้น มีโฆษณาโปรโมชั่นโทรศัพท์ทั้งแบบรายเดือนและเติมเงิน พิมพ์โปสเตอร์โฆษณาเป็นภาษาพม่าและมอญโดยบริษัทยักษ์ใหญ่รายเดียวกัน ปิดประกาศไปทั่วทุกแห่งที่มีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าอยู่กันหนาแน่น


โปสเตอร์โฆษณาโทรศัพท์ภาษาพม่าของบริษัทมือถือรายหนึ่ง ในตลาดมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร

แปลกแต่จริงตรงที่ว่า คุณวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ไม่เคยเห็นแผนการตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เลย นอกจากเห็นตัวอักษรมอญพม่าบนเสื้อยืด ป้ายภาษามอญพม่าที่เชิญชวนแรงงานเหล่านี้เข้าวัดทำบุญ ตัวอักษรต่างด้าวเหล่านี้ต่างหากที่คุณวีรยุทธ เอี่ยมอำภา ไม่ต้องการให้เผยแพร่ สั่งให้ทำลายทิ้งทันทีที่พบเห็น เหตุเพราะเป็นตัวอักษรของพวกต่างด้าว

ผู้เขียนเชื่อว่า คนที่มีความคิดเหยียดหยาม หวาดระแวง และเย้ยหยันผู้อื่นว่าต่ำกว่าตนเองอยู่ตลอดเวลาในลักษณะนี้ หลายคนมาจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น เติบโตมาภายใต้การกดขี่ของผู้ปกครอง เมื่อมีโอกาสแสดงอำนาจจึงเถลิงเสียล้นทะลัก กอรปกับบางคนนั้นท่องจำเก่ง คิดเองไม่ได้ จดจำเนื้อหาในตำราประวัติศาสตร์แบบรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยเป็นที่ตั้ง ในขณะที่บางคนก็อ่านนิยายแล้วนอนฝันกลางวัน สมมุติตัวเองเป็นตัวเอก ดาวเคราะห์ท่ามกลางจักรวาลทั้งหลายต้องโคจรรอบตนเอง พาลให้มองไม่เห็นความเป็นคนที่คนอื่นเขาก็มีเหมือนกับตน

 

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์