Skip to main content

ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับเมือง หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มานานหลายปี
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงคิดเช่นนี้- -อาจเป็นเพราะระยะหลังรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแปลกและป่วย
บางครั้งคล้ายยินเสียงจากข้างในกำลังบอกอะไรบางอย่าง
ราวกับจะบอกว่า... ‘ที่สุดแล้ว,ชีวิตต้องกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา’
แหละนั่น ทำให้ผมเริ่มวางแผนกลับไปใช้ชีวิตในสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดอีกครั้ง
หลังจากที่ปล่อยให้สวนรกร้างว่างเปล่ามานานเต็มที

จริงสิ, ผมปล่อยให้ต้นไม้ในสวนรกเรื้อและโตขึ้นตามลำพัง
ไร้การดูแลเอาใจใส่ ไม่มีเวลารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย
คงเหมือนกับชีวิตตัวเองกระมัง ที่ต้องมาอยู่กับเมือง
มัวแต่ไขว่คว้าบางสิ่ง แต่ละทิ้งอะไรหลายอย่าง
ผูกพันกับเทคโนโลยี กับการงานที่เร็วและเร่ง
จนทำให้รู้สึกว่าชีวิตนั้นช่างรกรุงรังเสียเหลือเกิน
เหนื่อยและล้า กระทั่งชีวิตชำรุด ผุกร่อน
ต้องเข้าโรงซ่อมหลายต่อหลายครั้ง

พักหลังมานี้ ผมจึงรู้สึกโหยหาและผูกพันกับสวนบนเนินเขามากขึ้น หลังจากเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาได้เริ่มลงหลักปักฐานปลูกบ้านไม้หลังเล็กๆ ในสวน ผมเทียวขึ้นเทียวล่องอยู่อย่างนั้น อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง, เฝ้าดูสล่ากับเพื่อนบ้านช่วยกันขุดหลุม ลงเสา ขึ้นโครง มุงหลังคา ทำห้องน้ำ ห้องครัว หน้าต่าง ประตู ปูพื้นฝา ระเบียง ฯลฯ

ครั้นเข้าหน้าฝน กลับบ้านสวนครั้งใด ผมมักหิ้วกล้าไม้ใส่รถขนขึ้นไปปลูกแทบทุกครั้ง อย่างน้อยก็สองสามอย่าง เผลอไม่นาน สวนผมกลายเป็นสวนผสมผสานไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อเดินสำรวจ ลูบคลำต้นไม้ใบไม้ในสวนทีละต้นๆ จึงรู้ว่ามีต้นไม้ที่ผมลงมือปลูกเอาไว้มีทั้งหมดมากกว่ายี่สิบชนิด รวมกว่าสี่ร้อยต้น ในเนื้อที่ราวห้าไร่

1.jpg

ล่าสุด, ผมมีโอกาสเดินทางไปหมู่บ้านก็อตป่าบง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากบ้านเกิด เป็นชุมชนชนเผ่าลาหู่ที่ผมรู้สึกผูกพันมานาน ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทำงานเป็นครูดอยอยู่แถบถิ่นนี้ พอลงจากรถ ผมก็สัมผัสได้ถึงธรรมชาติ ความรัก ความเรียบง่าย และไมตรีจิตของพี่น้องชนเผ่าเมื่อทุกคนต่างเดินเข้ามาจับมือ ยกมือไหว้ทักทาย พร้อมเชื้อเชิญขึ้นบ้าน ล้อมวงพูดคุย จิบน้ำชา ถกถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของกันและกัน

หลังจากนั้น 'ป๊ะป่า' ชาวบ้านที่ผมคุ้นเคย ชวนเข้าไปดูแปลงเพาะกล้ากาแฟในหุบเขา ขณะที่เราเคลื่อนไหวไปเบื้องหน้า...ผมชอบภาพผ่านสองข้างทาง อากาศสะอาด แดดส่องผ่านหุบห้วย ขุนเขาสลับทับซ้อน ไร่ข้าว ถั่วลิสง ถั่วแป๋ ขึ้นแซมเต็มผืนดินที่ว่าง งามฝักข้าวโพดเหลืองแก่คาต้นรอการเก็บเกี่ยว แหล่ะนั่น ต้นกาแฟแทรกตัวอยู่ใต้ร่มเงามะม่วงสูงใหญ่

ผมชอบความสดเขียวมันวับของใบกาแฟ พร้อมลูกดกสีเขียวแดงเต็มกิ่งก้าน 

2.jpg

ป๊ะป่า กับภรรยามีความสุขเริงร่ากับกล้ากาแฟที่เพาะไว้

“รู้มั้ย กลายเป็นว่า ปลูกกาแฟนั้นดูแลง่ายกว่าปลูกข้าวโพดเสียอีก ปลูกทิ้งไว้ใต้ต้นลำไย มะม่วง สองปีก็เก็บหน่วยขายได้ ถึงเวลามีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านเมล็ดกาแฟสด ลูกสีแดง ตอนนี้ ราคาตกประมาณ 12-15 บาทต่อกิโล...” ป๊ะป่า บอกเล่าให้ฟัง

ในขณะที่ ‘สุรเดช’ สมาชิก อบต.ปิงโค้ง ลูกหลานของป๊ะป่า บอกว่า เขาเอากล้าที่ป๊ะป่าไปปลูกใต้สวนมะม่วงเพียงห้าสิบต้น ปล่อยทิ้งไว้สองปีจนสูงท่วมหัว ล่าสุดเขาเก็บเมล็ดกาแฟขายได้เงินสี่ห้าพันบาท

“ตอนนี้ ทางนายกฯพิพัฒน์พงศ์ เดชา นายก อบต.ปิงโค้ง ได้ส่งเสริมให้ป๊ะป่าเพาะกล้าแจกจ่ายให้กับชาวบ้านได้ปลูกกันตามไร่ตามสวน ซึ่งต่อไปอาจเป็นอีกอาชีพหนึ่งของชาวบ้านแถวนี้ และกำลังคิดกันว่าทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมถึงขึ้นคิดจะสร้างแบรนด์เนมให้กับตำบลปิงโค้ง..และแพ็คใส่ถุงเป็นกาแฟบดขายได้ในอนาคต”

3.jpg
‘สุรเดช’ พาชื่นชมสวนกาแฟใต้ร่มเงามะม่วง

เราช่วยกันขนกล้ากาแฟในแปลงเพาะ ใส่ในกระบะหลังของรถขับเคลื่อนสี่ล้อคันเล็กจนเต็มล้น

“เอาไปลองปลูกในสวน แล้วรอเก็บหน่วยอีกสองปีข้างหน้าเน้อ...” นานแล้ว ที่ผมไม่ได้ยินน้ำเสียงของการให้ด้วยความเต็มใจ “ชีวิตผมไม่ต้องรวย แค่พออยู่ได้ มีเหลือก็แบ่งปัน แค่นี้ก็มีความสุขแล้วล่ะ...” ป๊ะป่า เอ่ยออกมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี

“อ่อบูอื่อย่าๆ...” ผมกล่าวขอบคุณป๊ะป่า ด้วยภาษาลาหู่ เป็นกล่าวคำขอบคุณด้วยความรู้สึกศรัทธาและชื่นชมในวิถีชนเผ่า

จริงสิ, ชีวิตแค่พออยู่พอกิน อยู่กับดิน น้ำ ฟ้า ป่าไม้ อากาศ ขุนเขา ฯลฯ เพียงเท่านี้ชีวิตก็รุ่มรวยแล้ว มาถึงตอนนี้ทำให้ผมนึกไปถึงภาพไร่กาแฟ ของ 'ไอแซค ไดนีเสน' ในหนังสือ 'Out of Africa' ที่ 'สุริยฉัตร ชัยมงคล' แปลเอาไว้อย่างงามและมีชีวิตชีวา

“...เราไม่มีวันรวยขึ้นมาได้จากการทำไร่.แต่การปลูกกาแฟนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่รั้งตัวคุณเอาไว้และไม่ยอมปล่อย, มีอะไรบางอย่างต้องเกี่ยวกับมันเสมอ”

ผมล่ำลาชาวบ้าน ก่อนขับรถขนกล้ากาแฟกลับไปสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดผมทันที

จากบ่ายจนเย็นย่ำ ที่ผมทำงานในสวนโดยมิยอมหยุดพัก เม็ดเหงื่อผุดพรายเต็มใบหน้า ไหลซึมเสื้อผ้าจนเปียกชื้นเย็น ก้มๆ เงยๆ อยู่อย่างนั้น จับจอบขุดหลุมไปตามหว่างร่มเงาของมะม่วง ลำไย ฉีกถุงเพาะกล้ากาแฟ ค่อยๆ หย่อนลงในหลุม พลิกดินกลบ จากหลุมนี้ ไปหลุมนั้น...นานนับนาน

ขณะที่ผมปลูกกาแฟไปรอบบ้านปีกไม้ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ผมครุ่นนึกไปถึงการเติบใหญ่ของกาแฟในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และนึกไปถึง 'ไอแซค ไดนีเสน' อีกครั้ง, ที่เธอบอกเล่าให้เห็นสีสันความจริงที่คล้ายกับว่ากำลังเคลื่อนไหวไปมาอยู่เบื้องหน้าอย่างไรอย่างนั้น...

“...การปลูกกาแฟนั้นเป็นงานยาวนาน, มันไม่เป็นผลอย่างที่วาดไว้เสียทั้งหมด, เมื่อคุณยังอายุน้อย, เปี่ยมด้วยความหวัง, ภายใต้สายฝนที่ถะถั่งลงมา, คุณประคองหีบต้นกล้ากาแฟที่เขียววะวับออกจากเรือนเพาะชำ, และพร้อมพรักด้วยบรรดาชาวไร่มืออาชีพกลางทุ่ง, เฝ้าดูต้นกล้าที่ลงสู่หลุมเรียงรายเป็นแถวอย่างมีระเบียบบนพื้นดินเปียกฉ่ำซึ่งมันจะงอกงามขึ้น กินเวลาสี่หรือห้าปี กว่ามันจะเติบโตได้ที่ และในช่วงนั้นก็อาจจะเกิดแล้งฝน หรือโรคพืช, และเจ้าวัชพืชพื้นเมืองก็จะพากันงอกพรึ่บขึ้นมาเต็มไร่”

กระนั้น, ผมก็ลงมือปลูกกาแฟไปแล้วกว่าสองร้อยต้นในสวนบนเนินเขา และอดจินตนาการไปถึงภาพความงามของดอกกาแฟสีขาวกำลังเบ่งบาน พร้อมโชยกลิ่นหอม เหมือนกับที่เธอบอกว่า “ดอกกาแฟนั้นมีกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆ”

และผมอยากจะต่อถ้อยคำของเธออีกว่า...
ชีวิตชาวไร่ชาวสวนก็คงเหมือนกับดอกกาแฟนั่นแหละ…
ที่มีทั้งกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆ

ซึ่งผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ครับ.

 

หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรก ในคอลัมน์ “คนคือการเดินทาง” เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2550 และผู้เขียนนำมาเพิ่มเติมและเรียบเรียงใหม่

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
                                                                            
ภู เชียงดาว
  1. 
ภู เชียงดาว
สี่ปีที่ผ่านทำให้เรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น หลายสิ่งวิปริต หลายอย่างผิดแปลก รัฐประหารกลายเป็นความหอมหวานคลั่งไคล้ ช่อดอกไม้ยื่นให้ทหารถืออาวุธ สาวเปลื้องผ้าเต้นระบำหน้ารถถัง พลัดหลง งงงวย เหมือนโดนของหนักพลัดตกลงมาจากที่สูงฟาดหัว ตื่นขึ้นมา ประชาธิปไตยง่อยเปลี้ยขาลีบ ชนชั้นถูกถ่างขา สามัญชนถูกฉีกทึ้ง คนจนกับความจริงถูกมัดมือ ข่มขืน อนุสาวรีย์ความลวงผุดขึ้นที่โน่นที่นั่น-หัวใจทาสค้อมกราบ หากหัวใจเสรี อึดอัด อุกอั่ง คลั่งแค้น เข้าสู่ยุคดินแดนแห่งการไม่ไว้วางใจฯ- สี่ปีที่ผ่านทำให้เรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น หลายสิ่งวิปริต หลายอย่างผิดแปลก รัฐประหารกลายเป็นความหอมหวานคลั่งไคล้…
ภู เชียงดาว
 
ภู เชียงดาว
   ‘ชุมพล เอกสมญา’ ลูกชายคนโตของ จ่าสมเพียร เอกสมญา ที่บอกเล่าความรู้สึกผ่านเพลง ผ่านสื่อ นั้นสะท้อนอะไรบางสิ่ง เต็มด้วยความจริงบางอย่าง ทำให้ผมอยากขออนุญาตนำมาเรียบเรียงเป็น บทกวีแคนโต้ ที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการสานต่อความคิดและรำลึกถึงคุณพ่อสมเพียร เอกสมญญา ที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านั้นว่า... “...แต่ผมจะไม่ตาย เพราะงานยังไม่จบ ตายไม่ได้!!”  
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ : www.bangkokbiznews.com 1. ผมหยิบซีดีเพลงชุด Demo-Seed ของ พล ไวด์ซี้ด (ชุมพล เอกสมญา) ที่ให้ผมไว้ออกมาเปิดฟังอีกครั้ง หลังยินข่าวร้าย พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา พ่อผู้กล้าของเขาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา บทเพลง ‘บันนังสตา’ ถูกผมนำมาเปิดฟังวนๆ ซ้ำๆ พร้อมคิดครุ่นไปต่างๆ นานา   ในขณะสายตาผมจ้องมองภาพของพ่อฉายซ้ำผ่านจอโทรทัศน์ ทั้งภาพเมื่อครั้งยังมีชีวิตและไร้วิญญาณ...นั้นทำให้หัวใจผมรู้สึกแปลบปวดและเศร้า... ฉันรู้ว่าวันเวลาเป็นสิ่งหนึ่ง ฉันรู้ว่าวันเวลา... ฉันรู้ว่าวันเวลาเป็นสิ่งหนึ่ง ที่รีไซเคิลไม่ได้ มองโลกตามที่มันเป็นจริง มองโลกตามที่มันเป็นไป… …
ภู เชียงดาว
  เขาตื่นแต่เช้าตรู่... คงเป็นเพราะเสียงนกป่าร้อง เสียงไก่ขัน หรือเสียงเท้าของเจ้าข้าวก่ำกับปีโป้ ที่วิ่งเล่นไปมาบนระเบียงไม้ไผ่ ก่อนกระโจนเข้าไปในบ้าน ผ่านกระโจม ทำให้เขาตื่น ทั้งที่เมื่อคืนกว่าเขาจะเข้านอนก็ปาตีสาม