Skip to main content

 

pic01

 

“การถอยออกไปจากสนามรบของชีวิต
ทำงานเงียบๆ ด้วยเป้าหมายที่สร้างสรรค์
คือคำตอบหนึ่งต่อคำถามที่ว่า
จะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่ทุกอย่างกำลังพังทลาย”

จากหนังสือ “ความเงียบ”
จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปล

ผมไม่รู้ว่า สวนของผมนั้นกลายเป็นสวนผสมผสานตั้งแต่เมื่อไหร่...

แต่ผมรู้ว่า พักหลังมานี่ เมื่อเดินทางกลับบ้านไปสวนทีไร ผมมักติดกล้าไม้เข้าไปในสวนเกือบทุกครั้ง ไม่อย่างก็สองอย่าง แวะซื้อมาจากกาดคำเที่ยง บ้างได้มาจากเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มอบให้มา พอไปถึง ก็ลงมือขุดหลุม เอาเศษฟางเศษหญ้าลงคลุกกับเนื้อดิน หย่อนต้นไม้ต้นเล็กลงไป กลบดิน รดน้ำให้ชุ่ม หรือรอให้น้ำฟ้าหล่นรดให้ฉ่ำชื้นเอง แล้วก็รอการผลิบานของต้นไม้

มาถึงตอนนี้ สวนบนเนินเขาของผมมีต้นไม้ในสวนไม่ต่ำกว่ายี่สิบชนิดในเนื้อที่ไม่กี่ไร่

เมื่อยามตะวันเริ่มอ่อนแสงค่อยหย่อนตัวลับดอยหลวงเชียงดาวทางทิศตะวันตก ผมชอบเดินย่ำไปในสวนยามเย็น สัมผัส ลูบคลำต้นไม้ในสวนไปช้าๆ ทีละต้นๆ พบว่ามีต้นไม้อยู่หลากหลายไล่มาตั้งแต่มะม่วง ลำไย มะพร้าว กะท้อน ขนุน มะยงชิด ฝรั่ง  พุทรา ไผ่ กล้วย มังคุด เงาะ อะโวคาโด มะไฟ มะเฟือง ชมพู่ มะละกอ มะเกี๋ยง มะม่วงหิมพานต์ สะตอ แค ชะอม ฯลฯ
เป็นภาพที่งดงามและเป็นสุข เมื่อมองเห็นทุกๆ เนื้อที่ของสวนเล็กๆ ถูกเบียดเสียดด้วยกล้าไม้ ปลูกแทรกกันไปมาอยู่อย่างนั้น

ยิ่งยามมองเห็นกล้าถั่วแป๋ที่พ่ออนุญาตให้คนชนเผ่าลาหู่เข้ามาปลูก เริ่มงอกงามชูช่อสดเขียว รอการเลื้อยคลุมไปทั่วผืนดินและสวน ยิ่งดูว่าทุกอย่างช่างกลมกลืนกันไปหมด

 

pic02

 

 

pic03

 

ในขณะที่สวนของชาวบ้านส่วนใหญ่ จะพากันลงไม้ผลเศรษฐกิจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปจนเต็มสวนของพวกเขา เมื่อนั่งอยู่บนเนินเขา ทอดสายตามองออกไปยังอีกเนินเขาอีกฟากฝั่งหนึ่ง จะมองเห็นสวนส้ม สวนลำไย สวนส้มโอ ยืนต้น เข้าแถว เรียงรายเป็นแถวลึกจากตีนดอยเข้าไปจนจรดแนวป่า

ใช่ ดินแถวหมู่บ้านของผม เป็นดินร่วนปนหิน จึงเหมาะกับการปลูกไม้ผล ปลูกอะไรก็ขึ้นงามไปหมด โดยเฉพาะพื้นที่บนเนินเขา คนแถวนี้มักจะปลูกลำไยกันเยอะ กระทั่งเริ่มมีการปลูกส้มเขียวหวาน กันเป็นทิวแถว

แต่ก็นั่นแหละ ดินดำ น้ำชุ่ม ปลูกแล้วได้ผลมากเพียงใด หากชาวบ้านมุ่งหวังปลูกไว้เพื่อขาย ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ เมื่อราคาลำไย ส้มเขียวหวาน ต่ำลงๆ อย่างเห็นได้ชัด

ยกตัวอย่าง ราคาลำไย ตอนนี้ เกรด AA ราคาอยู่ที่ 8-10 บาทต่อกิโล ต่ำสุดอยู่ที่ 4- 5 บาทต่อกิโล

เห็นชาวสวนก้มหน้าก้มตาเก็บลำไย เด็ดเคว็ดลำไยใส่ลังทีละเม็ดๆ แล้ว รู้สึกเศร้า

“ราคาร่วงลงมาขนาดนี้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องกำไร และไม่ต้องพูดเรื่องค่าแรงตัวเองที่ลงทุนลงแรงไปในแต่ละวันหรอก” เสียงชาวสวนลำไยบ่นครวญ

ทำให้นึกไปถึงคำแนะนำของ อ.ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ที่เขียนบทความเกี่ยวกับลำไย ไว้ใน นสพ.เดลินิวส์  ฉบับวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา

“...ลำไยเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตล้นตลาดตามฤดูกาล ไทยขาดผู้บริหารจัดการที่จะทำให้ชาวสวนขายผลลำไยออกจากสวนในราคาที่ดีได้  เป็นอย่างนี้มาหลายปีต่อเนื่องกัน  ชาวสวนจึงยากจนลง  สมควรคิดหารายได้ทางอื่นมาเสริมรายได้จากการผลลำไย เช่น การเพาะเห็ดห้าและการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนสวนลำไยให้เป็นไร่นาสวนผสม หรือทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรพอเพียง  ซึ่งทำได้หลายทาง เช่น  ปลูกไผ่  กล้วย  พืชสวนครัว ทดแทนลำไย ปีละ 5-10%  ทำไปเรื่อยๆ ทุกปี จนกว่าราคาลำไยที่ขายออกจากสวนจะดีขึ้น...”

และทำให้นึกถึงแฟนผู้อ่านคอลัมน์ของผมอีกท่านหนึ่ง...ชื่อคุณพิชญ์ตะวัน ที่ส่งข่าวเรื่องพืชเรื่องสวนมาให้ผมเมื่อสัปดาห์ก่อน

“...มีข่าวดีจะบอก หากคุณภูอยากปลูกพืชหลายเชิง ไม่ใช่เชิงเดี่ยวที่ไร่ ขอให้พิจารณา มะละกอ(ตระกูลแขกทั้งหลายราคาดีม๊าก มาก) ช่วงก่อนที่สวนตัดขายราคามะละกอดิบ อยู่ที่ 6 บาท/ กิโล หากสุก แม่ค้ารับ 12-14 บาท/กิโล ตอนนี้ราคาลงมาบ้างอยู่ที่ 4 บาท/กิโลแต่สุกรับที่ราคาม 8-10 บาท/กิโล”

“แต่บ่ต้องกังวล เพราะมะละกอ ทิ้งไว้อยู่กับต้นได้นาน รอราคาขึ้นมาค่อยดัดขายก็ได้แหล่งขายเมล์สอบถามได้เน้อ...”

คุณพิชญ์ตะวัน ยังแนะนำอีกว่า หากอยากปลูกพืชยืนต้นที่อยู่โยงคงกระพันให้ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์..มีแหล่งรับซื้อไม่อั้น ราคาประกันอยู่ที่ 12บาท/กิโล

“ฝากข่าวมาบอก เล่าสู่กันฟังเผื่อสนใจ๋...”

เออสินะ...น่าสนใจดีครับ และไม่น่าเชื่อว่า พืชสวนอย่างมะละกอ มะขาม ที่หลายคนไม่ค่อยสนใจหรือมักมองข้ามไป กลับมีราคาดีกว่าราคาลำไยที่ต้องคอยประคบประหงม ลงทุนลงแรงดูแลอยู่ตลอดเวลา

ผมกลับไปสวนครั้งล่าสุด, หลานชายที่ทำงานโครงการลุ่มน้ำปิงตอนบน ขนกล้ามะขามเปรี้ยวเกือบสองร้อยต้น มาให้ถึงในสวน บอกว่า เพิ่งไปติดต่อขอรับกล้ามะขามที่เจ้าหน้าที่เพาะเอาไว้ที่อำเภอพร้าว ผมตั้งใจไว้ว่า วันใดฝนตกซึงติดต่อกันอีกหน จะรีบกลับไปปลูกมะขาม กับไผ่ตง ตามแนวรั้วรอบๆ สวน

มาถึงตอนนี้ ผมไม่รู้ว่า สวนของผมนั้นกลายเป็นสวนผสมผสานตั้งแต่เมื่อไหร่...
แต่ผมรู้และเริ่มเห็นอะไรบางอย่างชัดเจนมากขึ้นในชีวิต เมื่อพลิกกลับไปอ่านถ้อยคำของ จอห์น เลน อีกครั้ง...

“การถอยออกไปจากสนามรบของชีวิต ทำงานเงียบๆ ด้วยเป้าหมายที่สร้างสรรค์ คือคำตอบหนึ่งต่อคำถามที่ว่า จะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่ทุกอย่างกำลังพังทลาย”   

หมายเหตุ : งานเขียนชุดนี้เคยตีพิมพ์ใน “พลเมืองเหนือรายสัปดาห์” ผู้เขียนขออนุญาตนำมาลงในประชาไท,อีกครั้ง.

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
                                                                            
ภู เชียงดาว
  1. 
ภู เชียงดาว
สี่ปีที่ผ่านทำให้เรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น หลายสิ่งวิปริต หลายอย่างผิดแปลก รัฐประหารกลายเป็นความหอมหวานคลั่งไคล้ ช่อดอกไม้ยื่นให้ทหารถืออาวุธ สาวเปลื้องผ้าเต้นระบำหน้ารถถัง พลัดหลง งงงวย เหมือนโดนของหนักพลัดตกลงมาจากที่สูงฟาดหัว ตื่นขึ้นมา ประชาธิปไตยง่อยเปลี้ยขาลีบ ชนชั้นถูกถ่างขา สามัญชนถูกฉีกทึ้ง คนจนกับความจริงถูกมัดมือ ข่มขืน อนุสาวรีย์ความลวงผุดขึ้นที่โน่นที่นั่น-หัวใจทาสค้อมกราบ หากหัวใจเสรี อึดอัด อุกอั่ง คลั่งแค้น เข้าสู่ยุคดินแดนแห่งการไม่ไว้วางใจฯ- สี่ปีที่ผ่านทำให้เรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น หลายสิ่งวิปริต หลายอย่างผิดแปลก รัฐประหารกลายเป็นความหอมหวานคลั่งไคล้…
ภู เชียงดาว
 
ภู เชียงดาว
   ‘ชุมพล เอกสมญา’ ลูกชายคนโตของ จ่าสมเพียร เอกสมญา ที่บอกเล่าความรู้สึกผ่านเพลง ผ่านสื่อ นั้นสะท้อนอะไรบางสิ่ง เต็มด้วยความจริงบางอย่าง ทำให้ผมอยากขออนุญาตนำมาเรียบเรียงเป็น บทกวีแคนโต้ ที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการสานต่อความคิดและรำลึกถึงคุณพ่อสมเพียร เอกสมญญา ที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านั้นว่า... “...แต่ผมจะไม่ตาย เพราะงานยังไม่จบ ตายไม่ได้!!”  
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ : www.bangkokbiznews.com 1. ผมหยิบซีดีเพลงชุด Demo-Seed ของ พล ไวด์ซี้ด (ชุมพล เอกสมญา) ที่ให้ผมไว้ออกมาเปิดฟังอีกครั้ง หลังยินข่าวร้าย พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา พ่อผู้กล้าของเขาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา บทเพลง ‘บันนังสตา’ ถูกผมนำมาเปิดฟังวนๆ ซ้ำๆ พร้อมคิดครุ่นไปต่างๆ นานา   ในขณะสายตาผมจ้องมองภาพของพ่อฉายซ้ำผ่านจอโทรทัศน์ ทั้งภาพเมื่อครั้งยังมีชีวิตและไร้วิญญาณ...นั้นทำให้หัวใจผมรู้สึกแปลบปวดและเศร้า... ฉันรู้ว่าวันเวลาเป็นสิ่งหนึ่ง ฉันรู้ว่าวันเวลา... ฉันรู้ว่าวันเวลาเป็นสิ่งหนึ่ง ที่รีไซเคิลไม่ได้ มองโลกตามที่มันเป็นจริง มองโลกตามที่มันเป็นไป… …
ภู เชียงดาว
  เขาตื่นแต่เช้าตรู่... คงเป็นเพราะเสียงนกป่าร้อง เสียงไก่ขัน หรือเสียงเท้าของเจ้าข้าวก่ำกับปีโป้ ที่วิ่งเล่นไปมาบนระเบียงไม้ไผ่ ก่อนกระโจนเข้าไปในบ้าน ผ่านกระโจม ทำให้เขาตื่น ทั้งที่เมื่อคืนกว่าเขาจะเข้านอนก็ปาตีสาม