เมื่อ อ้ายเวยเวย (Ai Weiwei) ศิลปินจีนชื่อดังก้องโลกที่หาญท้าอำนาจรัฐจีน ถูก ฮันส์ อูลริช โอบริสต์ ถามว่าคุณกำลังผลิตสร้างชั่วขณะหนึ่ง(ของประวัติศาสตร์)หรือไม่ เขาตอบว่า “ใช่ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของความจริง (reality) และหากเราไม่ตระหนักก็แสดงว่าเราไม่มีความรับผิดชอบ เราคือความจริงที่กำลังสร้าง (a productive reality) เราคือความจริงนั้น แต่การเป็นส่วนหนึ่งของความจริงหมายความว่าเราจำเป็นต้องสร้างความจริงอีกแบบหนึ่งขึ้นมา” [1]
ในสภาพที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีจำกัด นอกจากการเป็น “ศิลปิน” อ้ายเวยเวยได้ท้าทายรัฐบาลจีนเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับปัญหาว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิมนุษยชน เขายังมีบทบาทสำคัญในการวิจารณ์การคอรัปชั่นในกรณีโรงเรียนผนังเต้าหู้ (Tofu-skin schools) ที่มีการโกงกินอย่างมโหฬารจนทำให้โครงสร้างอาคารเรียนอ่อนเหมือนเต้าหู้เป็นปัญหาเรื้อรังสะสม และเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนเมื่อ พ.ศ. 2551 ก็ทำให้อาคารในโรงเรียนกว่า 7000 หลังพังทลายจนมีผู้เสียชีวิตมากมาย อ้ายเวยเวยใช้บล็อก (blog) ของเขาเผยชื่อของเด็กที่เสียชีวิตถึง 5385 คน และเผยข้อมูลการสอบสวนต่างๆ ของทางการในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ทำให้บล็อกของเขาถูกปิดโดยทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 อ้ายเวยเวยเผยว่าเขาถูกตำรวจทุบตีจากการให้การช่วยเหลือผู้ที่สืบสวนเรื่องการโกงกินอาคารและจำนวนเด็กที่เสียชีวิต ทำให้เขามีอาการปวดศีรษะและทรมานกับอาการปวดอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกันยายนเขารับการรักษาการตกเลือดในศีรษะด้วยการผ่าตัดสมองที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี
อ้ายเวยเวยเล่าว่าเขาเริ่มทำบล็อกเพราะถูกขอร้องแกมบังคับจากบริษัท sina.com เพราะเขาเป็นคนมีชื่อเสียง แม้เขาจะไม่มีความรู้ประสบการณ์ในการทำบล็อก บริษัทก็ยืนยันให้เขาเรียนรู้และส่งคนมาช่วย ในตอนแรกเขาโพสต์งานเก่าๆลง แต่ไม่นานเขาก็หลงใหลในบล็อก บางคืนเขาโพสต์ข้อความและรูปถึงสิบสองโพสต์ บางวันเขาโพสต์รูปนับร้อยๆ จากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เขาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เขาคิดในหลายๆ มิติ ผลก็คือทุกๆวันมีคนเข้าชมบล็อกของเขานับแสนคน รวมนับล้านๆ คนที่เข้ามาดู นั่นหมายความว่ามีคนชมบล็อกมากกว่าชมนิทรรศการศิลปะใดๆ ของเขา
อ้ายเวยเวยเติบโตในยุคที่ขาดเสรีภาพในการแสดงออก เขาเล่าว่า ในสมัยนั้นคุณอาจรายงานพฤติกรรมของพ่อหรือแม่ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนั่นเป็นภาวะสุดขั้วของสังคมจีน ดังนั้นบล็อกจึงเปิดพื้นที่อย่างมาก ผู้ชมบล็อกของอ้ายเวยเวยต่างรอคอยที่จะมาโพสต์วิจารณ์เป็นคนแรก เรียกว่า “ชาฟา” ซึ่งมาจากคำภาษาจีน shafa ที่ใช้เรียกโซฟา (sofa) การเรียกคนที่โพสต์คอมเมนต์คนแรกว่าชาฟาหมายถึงคนแรกที่เข้ามานั่งในโซฟา ในบ้านเราอาจใช้คำยอดนิยมว่า “วิ่งควาย”
บล็อกจึงไม่ได้เป็นภาพตัวแทนของความจริง (represent reality) แต่มันทำหน้าที่สร้าง/ผลิตความจริง (reality) อ้ายเวยเวยเห็นว่าบล็อกเหมือนสัตว์ประหลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วและไร้ทิศทาง และเป็นสาเหตุสำคัญที่พรรคคอมมิวนิสต์ต้องการเซ็นเซอร์ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์เป็นต้นธารของการโฆษณาชวนเชื่อและเป็นแหล่งเดียวที่ทำหน้าที่อย่างสำเร็จมาตลอดห้าสิบปี ในทางตรงกันข้ามจีนกำลังเปิดกว้างให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปิดเสรีภาพบางส่วน แต่เสรีภาพเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้หากได้เปิดโอกาสให้มัน [2]
อ้ายเวยเวยเป็นลูกของกวีอ้ายชิง (Ai Qing) ซึ่งเป็นกวียุคใหม่คนสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์กวีนิพนธ์จีน ผลงานของอ้ายชิงยังใช้สอนในสถานศึกษาทั่วประเทศจีนถึงปัจจุบัน ในช่วงชีวิตของอ้ายชิงเคยถูกประนามว่าเป็นพวกฝ่ายขวา เพียงเพราะวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ ปี พ.ศ. 2500 อ้ายชิงถูกส่งตัวเข้าค่ายใช้แรงงานในไห่หลงเจียง (Heilongjiang) และซินเจียง (Xinjiang) ซึ่งเป็นที่ที่อ้ายเวยเวยใช้วัยเด็ก ถึง 16 ปี ก่อนจะย้ายเข้าปักกิ่ง
อันที่จริงอ้ายชิงเป็นชื่อที่เขาเปลี่ยนจากเจียงเจิ้งหาน (Jiang Zhenghan) แต่เขาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งและถูกจับเมื่อปี พ.ศ. 2496 เขาถูกจับขังคุกและทรมานโดยรัฐบาลก๊กมินตั๋งจึงทำให้เขาไม่อยากใช้นามสกุลร่วมกับเจียงไคเช็คผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งจึงใช้อักษร X แทนแซ่ ซึ่งคล้ายกับอักษรจีนคำว่า "อ้าย" เขาจึงเปลี่ยนแซ่เป็นอ้ายในที่สุด[3]
บทเรียนจากวัยเยาว์ที่รับประสบการณ์ของการถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการใช้ชีวิตในค่ายแรงงานของอ้ายชิง น่าจะทำให้อ้ายเวยเวยเห็นความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออก เพราะบิดาของเขาถูกกระทำทั้งจาก “ฝ่ายขวา” และ “ฝ่ายซ้าย” เมื่อเพื่อนนักกิจกรรมของเขาถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาว่าเป็นสายลับให้โลกตะวันตก นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยบางคนถูกตัดสินจำคุก 13 ปี อ้ายเวยเวยมองว่า“ประเทศนี้ช่างไร้อนาคต” เขาจึงตัดสินใจออกจากประเทศจีนไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์คตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 จนกระทั่งถึงปี 2536 จึงกลับบ้านเพราะพ่อของเขาล้มป่วย เขาเริ่มสร้างชุมชนศิลปินและสร้างสรรค์งานศิลปิน ซึ่งรวมถึงสนามกีฬารังนกหรือสนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่งเพื่อกีฬาโอลิมปิค พ.ศ. 2551[4]
อันที่จริงหากพิจารณาความสำเร็จของอ้ายเวยเวยแล้วเขาน่าจะใช้ชีวิตสุขสบายบนเงินทองและชื่อเสียงของเขาได้ไม่ยาก แต่เขากลับเลือกท้าทายรัฐบาลจีน ซึ่งได้ชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในการจำกัดเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน
อ้ายเวยเวยกล่าวว่า “หากศิลปินละเลยจิตสำนึกทางสังคมและหลักการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์แล้ว ศิลปะจะยืนอยู่ที่ใด?” กล่าวคือ หากปราศจากพื้นฐานซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกแล้วศิลปินจะสร้างงานศิลปะให้งอกงามและหยัดยืนได้อย่างไร?
ถ้าหันมามองประเทศไทย ในเวลาที่ศิลปะแบบตะวันตกยัง “ใหม่” สำหรับสังคมไทย อาจารย์ศิลป์ พีระศรีหรือคอราโด เฟโรจีกล่าวอย่างน้อยอกน้อยใจหลายครั้งว่าเมืองไทยยังไม่มีหอศิลปสำหรับชาติ เพื่อแสดงความก้าวหน้าในเชิงวัฒนธรรมของชาติ จนกระทั่ง ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยสำนักงบประมาณในขณะนั้นเชิญไปพบเพื่อจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้มีหอศิลปแห่งชาติ อาจารย์ศิลป์ตามคำบอกเล่าของปรีชา อรชุนกะกล่าวว่า “ฉันมีความสุขที่สุด ฉันอยู่เมืองไทยมาสามสิบกว่าปี เพิ่งมีคนเข้าใจฉันวันนี้เอง” ปรีชาเล่าว่าอาจารย์เดินฮัมเพลงออกไปอย่างมีความสุข น่าเสียดายที่อาจารย์ศิลป์เสียชีวิตก่อน[5] และหอศิลป์แห่งชาติจะไม่บังเกิดจนหลายทศวรรษถัดมา และหากจะนับกันตามจริงโฉมหน้าของศิลปะร่วมสมัยไทยปัจจุบันเข้ามาท้าทายศิลปะตามแนวทางนวประเพณีนิยม (neo-traditionalism) ที่หันไปยกย่องเชิดชูสถาบันทางวัฒนธรรมอย่างเอาเป็นเอาตายพร้อมๆ กับเชิดชูคุณค่าชุดหนึ่งอย่างเอิกเกริก แต่ในอีกด้านหนึ่งศิลปินไทยร่วมสมัยก็ยอมตามวาระแห่งชาติอย่างพร้อมใจปรองดอง ดังที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครได้จัดนิทรรศการ “ฝันถึงสันติภาพ” หลังเหตุการณ์ปะทะกันในเดือนเมษายน 2553 โดยการสนับสนุนของรัฐและมีศิลปินเข้าร่วมอย่างอิหลักอิเหลื่อ ดังที่เดวิด เทห์กล่าวว่า “นิทรรศการนี้ขับเน้นให้เห็นถึงความง่ายดายของการเทียมศิลปินเข้ากับวาระของรัฐ รวมทั้งความขัดสนภาษาทางการเมืองและสังคมของศิลปะ และภาวะการขาดไร้จุดยืนที่เป็นอิสระจนน่าเป็นห่วง...เป็นมหรสพแห่งขยะกองใหญ่ ไม่มีศิลปินรุ่นไหนที่ไม่มีกลิ่นตุ่ยติดมือ” และยิ่งไปกว่านั้น “นิทรรศการฝันถึงสันติภาพ...จัดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อนาฏกรรมทางการเมืองโดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง” [6]
อย่างไรก็ดี การใช้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เพื่อแสดงงานศิลปะวัฒนธรรมนั้นก็มีขีดจำกัด ดังกรณีการปฏิเสธคณะนักเขียนแสงสำนึกที่ขอใช้พื้นที่เพื่อจัดกิจกรรม “แขวนเสรีภาพ” แม้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจะมีอำนาจสั่งการห้ามใช้พื้นที่โดยมีคำชี้แจงว่า “คณะผู้บริหารหอศิลปฯ ได้พิจารณาแล้วว่า ประเด็นในการเสวนาหลักและกิจกรรมในวันนั้นค่อนข้างเป็นประเด็นทางการเมือง เป็นเรื่องนำ และเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของกลุ่มหลากหลายฝ่ายที่มีส่วน ร่วมในการใช้พื้นที่หอศิลปฯ ในสถานการณ์บ้านเมือง ณ ขณะนี้ และอาจมีผู้ไม่หวังดีใช้ประโยชน์จากการจัดงานดังกล่าว เป็นตัวจุดปะทุและอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง และเป็นข้ออ้างให้ฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งเห็นตรงข้ามนำเป็นประเด็นการเปิดพื้นที่ลักษณะนี้ ในการใช้พื้นที่หอศิลปฯ โดยละเลยวาระสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศิลปะในภาพรวมไป ซึ่งหอศิลปฯ เคารพในจุดยืนของคณะนักเขียนแสงสำนึก และมิได้มีเจตนาจะปิดกั้นเสรีภาพแต่เพียงอย่างใด และได้ชี้แจงและขออภัยในความล่าช้าของการพิจารณาซึ่งอาจนำไปสู่การสื่อสาร ที่คลาดเคลื่อนเรื่องการจัดงานไป คณะผู้บริหารฯ ใคร่ขอสงวนพื้นที่แห่งนี้สำหรับการแสดงงานศิลปวัฒนธรรมจากคนทุกกลุ่ม โดยปราศจากวาระที่อาจจะเอื้อให้เกิดการเติมความขัดแย้งทางการเมือง-สังคม ซึ่งมีความล่อแหลมและซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน”[7]
คำชี้แจงดังกล่าวตกในมือของเจ้าหน้าที่ระดับล่างออกมาชี้แจง เว้นแต่บทเงียบของผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายในฐานะคณะกรรมบริหาร น่าขันที่การแสดงออกซึ่งเสรีภาพควรจะได้รับการปกป้องเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเห็นอันแตกต่าง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครกลับกีดกันขีดเส้นแบ่งชัดว่าอะไรเป็นการเมือง อะไรไม่เป็นการเมือง โดยการกระทำและคำประกาศของผู้บริหารนั่นเอง จึงไม่น่าแปลกใจนักที่พื้นที่หอศิลป์ในเมืองไทยจึงกลายเป็นพื้นที่กึ่งดิบกึ่งดี กึ่งสาธารณ์ กึ่งราชการและกึ่งเอกชน เพราะรัฐต้องการควบคุมจำกัดการใช้มันไว้ในวงแคบๆ “ศิลปะร่วมสมัยสามารถมีอานุภาพที่เป็นภัยได้”[8]
ทั้งๆ ที่ภารกิจสำคัญก็คือการเปิดพื้นที่ แต่การปิดกั้นพื้นที่ก็ไม่สามารถทำได้โดยสมบูรณ์นัก ดังที่กลุ่มกวีราษฎร์ได้สร้าง “แฟลชม็อบ” เพื่อประท้วงคำวินิจฉัยของผู้บริหารหอศิลป์[9]
ใน “สภาวะร่วมสมัย” อันเป็นสภาวะขณะหนึ่งที่เราดำรงอยู่ในมัน หากพูดตามเรย์มอนด์ วิลเลียมส์ (Raymond Williams) ก็คือ กำเนิดของความเปลี่ยนแปลงอาจสำรวจได้จากพรมแดนของศิลปะและวรรณกรรม เพื่อดู “โครงสร้างของความรู้สึก” (the structure of feeling) ของยุคสมัย และเมื่อเทคนิคใหม่ๆ ถูกนำมาใช้ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของนิยามศิลปะ[10]
และเมื่อเสรีภาพถูกเปิดออกก็ไม่มีอะไรจะฉุดรั้งมันได้
อ้ายเวยเวยถูกรัฐบาลจำกัดบทบาทต่อสาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ ดังเช่นปัจจุบันทางการต้องการให้อ้ายเวยเวยออกจากวงการ แต่เขายังคงยืนกรานว่าจะเป็นศิลปินต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ อ้ายเวยเวยรู้จักใช้สื่อเกาะกระแส ในงานเวนิสเบียนนาเล่ปี 2554 เขาถูกจับกุมและกักตัวเอาไว้ ไม่มีใครรู้ชะตากรรม ทั้งงานเวนิสเบียนนาเล่จึงมีแต่ป้ายบิลบอร์ด ใบปลิว โปสเตอร์ มากมายเพื่อเรียกร้องให้ทางการจีนปล่อยตัวเขา ไปที่ไหนก็เห็นแต่คำว่า Free Ai Wei Wei
(ในระหว่างนั้น ทางการไทยได้นำเอาคณะศิลปินแห่งชาติของไทยหลายท่านไปด้วย รวมทั้งคุณถวัลย์ ดัชนี ผู้ที่มีเค้าหน้าละม้ายคล้ายคลึงกับอ้ายเวยเวย แถมยังมีเคราสีขาวนวลดูน่าเกรงขามดุจพญาราชสีห์ไปนั่งแถว Thai Pavillion ที่เราจัดนิทรรศการ (ร้าน Paradiso) ผู้เข้าชมงานหลายคนจึงเข้าใจผิด มาขอถ่ายรูปกับคุณถวัลย์ที่เปรยกับผมว่า "อ้ายก้าย" (พี่เบื่อ) มันนึกว่าอ้ายเป๋นอ้ายเวยเวย (มันนึกว่าพี่เป็นอ้ายเวยเวย) ตี้แต๊อ้ายเป๋นอ้ายววยววย (ที่จริงพี่เป็น พี่ (อ้าย) ววย (เร็ว) ววย (เร็ว)...(คำเมืองครับ....ฮา))
หรือล่าสุด อ้ายเวยเวยก็เกาะกระแส กังนัมสไตล์ ด้วยการออกมาเต้นท่าม้าย่องของไซ แต่มือของเขาถูกพันธนาการกับใครอีกคนหนึ่งด้วยกุญแจมือ
ในที่สุดก็ถูกบล็อค (blocked)
แต่ในโลกออนไลน์ หรือเว็บไซต์บางแห่งก็ยังเอาไปแปะไว้ ทำให้การแบนของรัฐบาลจีนไร้น้ำยา
อย่างที่บอกไปครับ ว่า เมื่อเสรีภาพถูกเปิด ก็ยากจะสกัดกั้น
อะไรที่ลับ มันโล่งแจ้งในโลกออนไลน์ เกินกว่าที่รัฐใดๆ จะตามไปกำกับควบคุมมัน
เสรีภาพจึงมี "แรงเงา" มากกว่าที่ไดโนเสาร์บางตัวคุ้นชิน
ขอไป "กังนำสไตล์" ยามเช้าก่อนนะครับ
(หมายเหตุ blog วันนี้พูดถึงอ้ายเวยเวย ปรับปรุงจากบทนำวิภาษา ฉบับที่ 41 ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (16 มีนาคม 2555 - 30 เมษายน 2555)
[1] “Exactly. Because we’re actually a part of reality and if we don’t realize that we are totally irresponsible. We are a productive reality. We are the reality, but part of reality means that we need to produce another reality.” จาก Ai Weiwei Speaks with Hans Ulrich Obrist. New York: A Penguin Books, 2011, p.7
[2] Ai Weiwei Speaks with Hans Ulrich Obrist. New York: A Penguin Books, 2011, p.7-8.
[3] www.wikipedia.org/wiki/Ai_Qing (เข้าชมเมื่อ 24 มีนาคม 2555)
[4] www.wikipedia.org/wiki/Ai_Weiwei (เข้าชมเมื่อ 24 มีนาคม 2555)
[5] สัมภาษณ์ปรีชา อรชุนกะ ใน อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์: เรื่องราวชีวิตของลูกศิษย์กับอาจารย์ ตำนานที่เล่าขานถึงความรัก ความผูกพันและความใฝ่ฝันในศิลป. กรุงเทพ: สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี, 2551, หน้า 399.
[6] เดวิด เทห์. “และแล้วความเคลื่อนไหวไม่ปรากฏ” ใน อ่าน. ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (มกราคม-มีนาคม 2554), หน้า155.
[7] http://prachatai.com/journal/2012/03/39719 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2555)
[8] เดวิด เทห์. เพิ่งอ้าง, หน้า 149.
[9] http://prachatai.com/journal/2012/03/39722