เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2555 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเสวนาเรื่อง “การต่อสู้ทางสังคมและการเมืองและวัฒนธรรมการอุปถัมภ์ศิลปะ” กับ อาจารย์ถนอม ชาภักดี และอาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์ ดำเนินรายการ โดยคุณไพศาล ธีรพงษ์วิษณุพร อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภาควิชาการของนิทรรศการไทยเท่
ผมได้กล่าวถึงหลักสำคัญในการพิจารณาเรื่องการอุปถัมภ์งานศิลปะก็คือมุมมองประวัติศาสตร์ของศิลปะในประเทศไทยและสุนทรียศาสตร์กับวัฒนธรรมการอุปถัมภ์ศิลปะ ซึ่งก่อนเปลี่ยนแปลง การปกครองอาจพิจารณาได้จากพระราชนิยมเป็นแกนกลาง
ในตัวนิทรรศการเองก็ไม่สามารถสร้างความตื่นเต้นได้ ทั้งๆ ที่น่าจะสร้างชุดของคำอธิบายการจัดเรียงงานแบบที่ไม่เป็นเส้นตรงเดี่ยว เช่น ในห้องที่แสดงผลงานศิลปะสมัยใหม่ อันมีผลงานของ ศ. ศิลปะ พีระศรี ที่ปั้นพระรูปของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พ.ศ. 2466) เป็นขนาดเท่าพระองค์จริงนั้นมีความสำคัญต่อกำเนิดศิลปะสมัยใหม่ของไทยเป็นอย่างมาก เพราะนายช่างหนุ่มนามคอราโด เฟโรจี (Corrado Feroci) ถูกคัดเลือกเพื่อรัฐบาลสยามจะได้ว่าจ้างให้เป็นช่างฝีมือ นายเฟโรจีถูกทดสอบฝีมือด้วยการให้ปั้นพระพักตร์ในหลวงรัชกาลที่ 6 จากภาพถ่าย ผลก็คือไม่ได้สัดส่วนและความสมจริง จึงเกือบจะถูกส่งตัวกลับอิตาลี ยังดีที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมนริศฯ ให้โอกาสปั้นรูปจากพระองค์จริงเพื่อเป็นการทดสอบฝีมืออีกครั้ง ผลออกมาจึงเป็นที่น่าพอใจ นายเฟโรจีจึงได้รับราชการในราชสำนักสยาม
หากงานชิ้นที่ตั้งแสดงเป็นผลงานระดับ “ตำนาน” แต่ถูกจัดแสดงโดยไม่มีคำอธิบายที่เหมาะสม ผลงานชิ้นเปลี่ยนประวัติศาสตร์นี้ก็ลดค่าลงอย่างน่าเสียดาย
(และถ้าจะว่าไปแล้วนี่คือตัวอย่างหนึ่งของความไร้ประสบการณ์และไร้สำนึกในการจัดวางความสำคัญของงานศิลปะในนิทรรศการไทยเท่ มิพักต้องกล่าวถึงชื่อผลงาน การจัดลำดับผลงาน ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่ศิลปินหลายท่านออกมาแสดงความไม่สบายใจที่ผลงานของตนและท่านอื่นๆ ไม่ได้รับความสำคัญในการจัดวาง)
จากนั้นเมื่อเข้าสู่ยุครัฐธรรมนูญแล้ว การอุปถัมภ์งานศิลปะเป็นการอุปถัมภ์โดยรัฐเป็นหลัก สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็เพื่อแยกสยามเก่าออกจากสยามในยุครัฐธรรมนูญ และยุค (ประเทศ) ไทย อันจะเห็นได้จากบทบาทที่สำคัญของภาครัฐ โดยเฉพาะการสร้างรัฐไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามที่พยายาม “กำกับวิถีชีวิตของคนไทย” เสียใหม่ ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ยังคงเหลือรากซากฐานมาถึงปัจจุบันเช่น การเคารพธงชาติตอนแปดโมงเช้าและหกโมงเย็น ซึ่งหลายคนยังประพฤติอย่างแนบแน่นด้วยความกลัวว่าจะสูญสลายความเป็นไทย พาลไปกำกับคนอื่นๆ ให้ลุกขึ้นยืนตรงตามตัวเอง ทั้งๆ ที่คนที่เรียน รด. ก็จะรู้ว่าหากอยู่ใต้ร่มอาคาร หรือมีหลังคา ก็ไม่ต้องยืนตรง แต่ปัจจุบันความไม่รู้ทำให้หลายๆ คนเกรงกลัวการไม่ยืนตรงเคารพธงชาติอย่างมาก ถึงขนาดทำตัวเป็นรัฐไปชี้นิ้วกำกับให้คนอื่นต้องลุกตามอย่างน่าอเน็จอนาถใจ
การยืนตรงฟังเพลงชาติและเคารพธงชาติไม่ได้ทำให้เรารักชาติ และเราก็ไม่ควรรักชาติแบบไร้สติจนพาลดูถูกเหยียดหยามชาติอื่นจนคติเรื่อง AEC 2015 ที่กำลังแผ่ซ่านต้องชะงักลงเพราะความไร้เดียงสาในนโยบายวัฒนธรรมตื้นๆ ตั้งแต่ยุคจอมพล ป. ที่เข้ามากำกับเรา
แต่ก็น่าขัน และน่าสนใจว่าสิ่งที่เราขำขันกับมันกลายมาเป็น “วิถีธรรมเนียมปฏิบัติ” ที่หลายๆ คนเอาจริงกับมันอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมประเภท “การแต่งกายสุภาพเข้าสถานที่ราชการ” การแต่งกายแบบตะวันตก การพูดครับค่ะ การกำหนดสถานที่ราชการเสมือนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
บางอย่างก็ซึมเข้ามาโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น การเหยียดหยามเพลงพื้นบ้านว่าเป็นของต้อยต่ำ ไร้วัฒนธรรม ไร้รสนิยม พาลไปถึงการสร้างความภาคภูมิใจอย่างไร้เดียงสาต่อความเป็นไทยที่เพิ่งสร้าง
ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมในลุ่มน้ำโขงเป็นวัฒนธรรมร่วมที่หยิบยืมกันไปมา จนยากจะแจกแจงกำเนิดของมัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรี ท่ารำ เพลงไทยเดิม คำศัพท์ ภาษาที่ใช้ในพิธีกรรม เครื่องแต่งกาย อาหารการกิน เป็นต้น
ยุคจอมพล ป. นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทำหน้าที่ผลิต “ช่างฝีมือ” และในเวลาต่อมาได้รับการเปลี่ยนแปลง ตามยุคสมัยเป็นการสร้าง “ศิลปิน”
การแยกระหว่าง “ช่างฝีมือ” และ “ศิลปิน” ทำให้เราเห็นทางแพร่งของนวสมัย (modernity) ในวัฒนธรรมไทย กล่าวคือการสะสมงานฝีมือประเภทสวยงามตกแต่งบ้านเพื่อความเจริญตา เจริญใจ กลายมาเป็นการสะสมเพื่อแสดงตัวตนของเจ้าของชุดสะสม (collection) และเป็นการสะสมเพื่อตอกย้ำ เชิดชูยกย่องอัตลักษณ์ทางศิลปะกลุ่มหนึ่ง เพื่อแสดงภูมิรู้ของตนเองและการเข้าถึงความลึกซึ้งของผลงานศิลปะ
กล่าวให้ชัดก็คือ การสะสมงานศิลปะจากเดิมเป็นเรื่องของชนชั้นนำโดยแท้ แผ่ผ่านลงมายังกระฎุมพีผู้มีทรัพย์ส่วนหนึ่ง แต่บทบาทของรัฐไทยในฐานะผู้สะสมยังน่าสนใจกว่า คือบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้จัดซื้องานศิลปะสมัยใหม่ดีๆ หลายชิ้น ซึ่งประเมินค่ามิได้ แต่ขณะเดียวกัน บรรดากระฎุมพีผู้มีทรัพย์ทั้งหลายก็ได้เริ่มสะสมผลงานศิลปะในฐานะ “งานศิลปะ”
จุดพลิกผันตรงนี้จึงน่าสนใจ เพราะราวพุทธทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ธนาคาร สถาบันการเงิน กลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์งานศิลปะนวประเพณีไทย (neo-traditionalism) ผ่านการประกวดงานระดับชาติ และมีหัวข้อหลักก็คือการยกย่องเฉลิมฉลองในวาระโอกาสสำคัญต่างๆ จึงทำให้พื้นที่ของกลุ่มนวประเพณีไทยครองพื้นที่หลักของ “ศิลปะไทย”
ความเป็นไทยถูกอธิบายผ่านการตีความศิลปะของศิลปินกลุ่มนี้ โดยเฉพาะผลงานของปัญญา วิจินธนสาร เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ไปเขียนฝาผนังในวัดไทยต่างประเทศ ผลงานของถวัลย์ ดัชนีที่ตีความพุทธปรัชญาและคำสอน จากนั้นจึงกลายมาเป็น “สาระสำคัญ” (essence) ของศิลปะไทยร่วมสมัย คือไม่ได้มีคุณแค่ความสวยงามเจริญใจ แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการยกระดับจิตวิญญาณให้สงบนิ่ง เข้าสู่ในระดับที่แสวงหาความหลุดพ้นทางโลก กระทั่งนิพพานผ่านการ “เสพ-ซื้อ-ครอบครอง” ผลงานศิลปะนวประเพณีไทย
นอกจากนี้ การนิยามตัวตนใหม่ของศิลปินใหม่ โดยเฉพาะถวัลย์ ดัชนี และเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ว่าเป็น “สล่า” (ช่างฝีมือพื้นบ้านในภาษาล้านนา-คำเมือง) มีนัยเสมือนการย้อนหวนไปหานิยามดั้งเดิมของการเสพ-สร้างศิลปะสยามก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พุทธศิลป์ที่อ้างว่าทำไปเพื่อความหลุดพ้นและการตีความอธิบายปรัชญาคำสอนตามหลักพุทธศาสนาของศิลปินนวประเพณีไทย ทำให้สัญลักษณ์และเรื่องราว ภาพชีวิต ตลอดจนวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม กลายเป็นของสูงค่าและยากจะหาได้ ผู้อุปถัมภ์ (patron) ก็หวนย้อนทวนอดีต จึงทำให้บรรดาผู้มีทรัพย์ต่างแสวงหาครอบครองผลงานในกลุ่มนี้ราวกับจะเสพธรรมและบรรลุนิพพานได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งในจำนวนหนึ่งก็ผลิตซ้ำเรื่องราวของสถาบันเชิงประเพณี บอกเล่า ตอกย้ำผ่านการให้รางวัลในการประกวด
จึงทำให้งานนวประเพณีไทยเป็นงานกลุ่มที่ครองพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยได้มากกว่ากว่าแนวทางศิลปะอื่น
แนวทางศิลปะที่แสดงอาการต่อต้าน ยั่วล้อ ตั้งคำถามต่อศิลปะนวประเพณีไทยก็คือศิลปะร่วมสมัยแบบเชิงความคิด (conceptual art) ที่เขย่าฐานรากของคำอธิบาย โดยเฉพาะงานที่ตั้งอยู่ บนฐานการตีความพุทธศาสนาโดยไม่ใช้สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งงานสำคัญก็คือชุดผลงานของมณเฑียร บุญมา ซึ่งสามารถถอดเรื่องราวทางพุทธศาสนามาใช้โดยไม่ต้องใช้วิธีการนำเสนอแบบตรงไปตรงมาอย่างง่าย (simple representation) แบบที่นวประเพณีไทยใช้
เป็นที่น่าเสียดายที่มณเฑียรล่วงลับไปก่อนกาลอันควร เช่นเดียวกับผลงานของเขาที่มาก่อนกาล ผลงานที่นำมาแสดงใน “ไทยเท่” ก็คือ “อโรคยาศาลา” (ซึ่งจัดวางอย่างไร้ชีวิตชีวาพอๆ กับงานชิ้นอื่นๆ)
งานของมณเฑียรชิ้นที่ผมชอบ (แต่ไม่ได้ถูกนำมาแสดงในงาน) คือ Melting Void: Molds for the Mind, 1999 ซึ่งเป็นการกลับเอาพื้นผิวของพระพุทธรูปจากข้างนอกไปไว้ข้างใน และกลับข้างในมาไว้ข้างนอก โดยการนำเทคนิคของเบ้าหล่อพระพุทธรูปมา ซึ่งเราจะเห็นข้างนอกไม่สวยงาม ขรุขระ และไร้ซึ่งความประณีต แต่เมื่อเข้าไปยืนข้างใต้ผลงานแล้วจะเห็นความสุกปลั่งของเนื้อทองด้านในเบ้าที่เตรียมไว้ งานของมณเฑียรสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของศิลปะไทยที่ก้าวหน้าไปอีกชั้นหนึ่ง จากแนวนวประเพณีไทยที่นิยมสร้างงานแบบภาพแทนอย่างง่าย (simple representation) ท่านผู้สนใจสามารถอ่านผลงานและแนวคิดของมณเฑียรได้จากงานเขียนชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของ ศ.ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ชื่อ Montein Boonma: Temple of the Mind (New York: Asia Society, 2003)
ผมได้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่ท้าทายวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย หากจะไปอยู่วงการศิลปะนานาชาติ หรืออยากจะ “โกอินเตอร์” ก็คือ ความกล้าที่จะท้าทายแนวทางศิลปะเดิมๆ ของเรา และความคิดที่ลุ่มลึกมาขึ้น พ้นจากการหลงชาติหลงวัฒนธรรมแบบตื้นเขิน
กลับมาที่หัวข้อเรื่องการอุปถัมภ์ผลงานศิลปะที่จัดสัมมนาในนิทรรศการไทยเท่ว่า ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือความรู้ด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะของนักสะสมศิลปะไทย ซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลโดยแท้ น้อยรายที่จะเอาจริงเอาจังให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะไปช่วยเลือกผลงาน ติดตั้งผลงาน ส่วนใหญ่เป็นการสะสมบนฐานของรสนิยมส่วนตนโดยแท้
ดังการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อแสดงผลงานสะสมส่วนตัว แต่ตั้งชื่อแบบโอฬารว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งน่าจะอยู่ในระดับชุดสะสม ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง แต่คงต้องการคำอธิบายเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะว่ามันสะท้อนรสนิยมส่วนตัวของผู้สะสมผลงาน หรือสะท้อนพัฒนาการของศิลปะไทยในระนาบกว้าง เพราะเป็นธรรมดาของชุดสะสมในพิพิธภัณฑ์ใดๆ ในโลกที่งานสะสมทุกชิ้นจะต้องผ่านการประเมินคุณค่าโดยนักประวัติศาสตร์ศิลป์ และมีการวิพากษ์ชุดสะสม จึงจะสามารถสร้างสีสันและความงอกงามทางปัญญาออกจากชุดสะสมส่วนบุคคล
ที่สำคัญ การอธิบายประวัติศาสตร์ศิลปะควรต้องวางอยู่บนรากฐานของประวัติศาสตร์ศิลปะแบบที่ไม่เป็นเส้นตรงเดี่ยว และไม่ตั้งอยู่บนรสนิยมของผู้อุปถัมภ์เชิงเดี่ยว จึงจะช่วยให้ผู้ชมได้เกิดพุทธิปัญญา สังคมได้ปัญญา จากการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่
หมายเหตุ
* ขอขอบคุณหญิงสาวคนหนึ่งที่เดินชมนิทรรศการกับผม และให้ผมได้มีโอกาสทบทวนเรื่องเล่าในไทยเท่สำหรับการเขียนบท บรรณาธิการของนิตยสารวิภาษาชิ้นนี้.