บริหารรัฐกิจใหม่กับการบริหารสถานศึกษาในระบอบบริหารแบบเอกชนที่อาศัยตัวชี้วัด

หลายวันก่อนได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนร่วมวิชาชีพจากหลายสถาบัน เราคุยกันถึงประเด็นที่ว่าแนวคิดบริหารรัฐกิจและการศึกษาที่หยิบเอาแนวทางการบริหารจากภาคเอกชนมาใช้ ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติ ในบางแห่งบรรจุภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ไว้ในคณะวิทยาการจัดการ บางสถาบันยกระดับให้เป็น "คณะ" บางแห่งยกฐานะเท่าเทียมกันกับวิชารัฐศาสตร์และใช้ชื่อคู่กัน

เหนือสิ่งอื่นใด ประกาศฉบับหนึ่งของ ก.พ. ถึงกับระบุว่า ให้ผู้จบปริญญาด้านบริหารรัฐกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ใช้ชื่อปริญญาบัตรว่า "รัฐประศาสนศาตรบัณฑิต" , "รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต" จนถึง "รัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต" ทั้งๆ ที่โดยหลักการวิชาทั้งสองสาขาเป็นสหวิทยาการโดยธรรมชาติของมัน และยากที่จะเป็นศาสตร์เดี่ยวโดยตัวของมันเอง มิหนำซ้ำ การที่ ก.พ. กำหนดมาตรฐานคุณวุฒิกลับกลายเป็นเรื่องที่สะท้อนปมด้อยและความด้อยพัฒนา เพราะในประเทศที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่ระดับโลกนั้น ต่างก็ธำรงธรรมเนียมการเรียกชื่อปริญญาบัตรตามแบบเดิมคือ Bachelor of Art ตามด้วย วงเล็บชื่อสาขา มากกว่าจะเป็น Bachelor of อะไรสักอย่างที่เรากำลังทำกันอยู่นี้ 

ปรัชญาดั้งเดิมของการใช้คำว่า bachelor หมายถึงคนโสดที่สามารถครองตนและใช้ความรู้ในสาขานั้นหาเลี้ยงชีพได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงครอบครัวพ่อแม่

คำถามก็คือ ในสถานการณ์เช่นนี้วิชาบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์กระแสหลักของไทยไปถึงไหน? 

ผมคิดว่าการบริหารรัฐกิจโดยใช้เครื่องชี้วัดและลุกลามมาถึงการประกันคุณภาพการศึกษาไทยนั้นสะท้อนความห่วยแตกอย่างถึงที่สุดของวงการบริหารการศึกษา ราชการ ตลอดจนวงวิชาการไทยที่ยอมรับเงื่อนไขอย่างเซื่องๆ 

กล่าวคือ การที่เรายอมรับเอาศาสตร์การบริหารจัดการแบบเอกชน จนถึงขั้นบางแห่งรับเอา Harvard Business Review มาเป็นตำราหนึ่งของการบิรหารรัฐกิจนั้น สะท้อนความอ่อนแอของการศึกษารัฐกิจในฐานะ "ศาสตร์" เพราะไม่สามารถสร้างศาสตร์ที่ยืนบนขาของตัวเอง แต่กลับไปยืมเอาจากภาคเอกชนมาใช้กับภาคราชการ การปฏิบัติต่อประชาชนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stake holder) และลูกค้า (customer) แม้ว่าจะทำให้ผู้รับบริการจากภาครัฐมีความพึงพอใจในบริการระดับหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็น "ข้าราชการมืออาชีพ" ที่เงินเดือนต่ำ และไม่เคยมีโบนัสแต่ถูกเรียกร้องให้ปฏิบัติงานอันประกอบด้วยคุณธรรม จริยธรรมและเครื่องชี้วัดตามเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งดูเข้าจริงๆ อาจจะมากกว่ากว่าตัวชี้วัดของแรงงานในภาคเอกชนเสียอีก 

คำสวยๆ ประเภท ประเมินผลแบบ 360 องศา ซึ่งผมเห็นว่าเชยและทำให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์ปกตินั้นดูไม่เข้าใจธรรมชาติของคนเอาเสียทีเดียว เพราะใครมันจะเก่งรอบด้านแบบ 360 องศา? 

แม้กระทั่งผู้ประเมิน ก็คงไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองเก่งและพร้อมถูกประเมินทุกด้านแบบ 360 องศา เพราะผู้ประเมิน "ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการตรวจเอกสาร" และ "การให้คะแนน" ตามตัวชี้วัดต่างหาก ที่เราเกรงอกเกรงใจคณะผู้ประเมินคณะต่างๆ ด้วยกลัวเกรงว่าจะถูกปิดหลักสูตร หรือปิดคณะ หรือวางแผนฟื้นฟูโดยมีคนนอกเขามาบริหาร ในที่สุด

คำขู่เหล่านี้ เหมือนจะเอาจริง แต่จะทำได้ขนาดไหน ในเมื่อปริญญาเถื่อน การทำไร่เลื่อนลอยยังเกลื่อน ไม่นับปริญญากำมะลอที่ถูกนำมาเร่ขายให้ได้อับอาย

ในที่สุด ก็ต้องทำการ "มุสา" ระดับชาติ กล่าวคือ สร้างเอกสารเพื่อตอบรับสนองการประเมินในทุกท่วงท่า เพื่อจะได้เปิดหลักสูตรหน้าร้าน โดยไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการประเมินอีกต่อไป เพราะเพื่อนๆ หลายคนบอก "เล่นไม่ยาก"​ หรือ "อยากได้กระดาษ (เอกสาร) เราก็จัดกระดาษให้" เป็นต้น

พูดไปพูดมา อาจกลายเป็นว่าการทำอาชีพอาจารย์ที่ควรจะมีศีลมีสัตย์พอสมควรแก่อาชีพนั้น กลายเป็นอาชีพที่ละเมิดศีลเกี่ยวกับการโกหกพกลมอยู่ไม่น้อยเมื่อถึงคราวประเมินคุณภาพและประกันคุณภาพการศึกษา

ขณะเดียวกัน ไม่มีหลักประกันเลยว่า การบริหารภาคเอกชนนั้นมีความรับผิดรับชอบต่อสังคมมากกว่าภาคราชการ มีประสิทธิภาพมากกว่าภาคราชการ

กรณีน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด บ้านเพ จ. ระยอง นั้นสะท้อนให้เห็นปัญหาของวิธีคิดการบริหารแบบเอกชนในวัฒนธรรมไทยได้หรือไม่

คำถามง่ายๆ 

การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจขุดเจาะและขนส่งน้ำมันนั้นเค้าวาง protocol กันอย่างไร

หรือมัวแต่ทำ CSR กับบรรษัทภิบาล และ ประชาสัมพันธ์ จนแยกไม่ออกระหว่างเรื่องจริงอิงนิยายจนถึงเรื่องเท็จ?

ใครที่เชื่อว่าภาคเอกชนมีความรับผิดรับชอบต่อสังคมเข่้มข้นมากกว่าภาคราชการอาจต้องลองทบทวนใหม่ว่ามันสร้างมายาคติที่ว่าภาคเอกชนบริหารและตอบสนองต่อปัญหาได้ดีกว่าภาคราชการ

เราจึงต้องมานั่งทำเอกสารร้อยพันหน้าแบบงงๆ ทำเรื่อง CSR, Risk Management, Knowledge Management กระทั่ง PMQA กันแบบเซื่องๆ

ท้ายสุด อาชีพที่พวกเราทำกันอยู่ ก็ไม่เหลือเวลาให้สร้าง "นวัตกรรม" อะไรใหม่ๆ แก่วงวิชาการ เพราะพลังงานสมองส่วนใหญ่ ถูกเค้นไปกับการทำเอกสารกองมหึมาที่กระทำกันเป็นมหกรรมจุลกฐินแบบปีละสองสามหน

คำถามสุดท้ายก็คือ วงวิชาการบริหารรัฐกิจ ผู้บริหารการศึกษามีปฏิกิริยาต่อปัญหาอันเกิดการบริหารรัฐกิจตามแบบเอกชนอย่างไร?