สำหรับคนที่กำลังสงสัยว่าเรื่องนิรโทษกรรมคืออะไร ผมต้องบอกว่าดีใจมากที่คนไทยสนใจการเมืองมาก ทั้งสองสีเสื้อ และน่าจะทำให้ผมสอนวิชารัฐศาสตร์ง่ายขึ้น แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น อคติทางการเมืองทำให้เราไม่สามารถมองทะลุให้เห็นแก่นสารสำคัญได้ แก่นสารที่ว่าตั้งอยู่บนปัญหาสำคัญคือหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาคืออะไร?
หลักการพื้นฐานที่สำคัญก็คือการเคารพซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ว่า คนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน มีศักด์มีศรีที่จะเดินไปมาบนท้องถนน มีชีวิตทำมาหากินโดยการคุ้มครองของรัฐให้เท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย โดยนัยตรงนี้ การออกแบบกฎหมายจึงเป็นส่วนประกอบที่ตามมาหลังจากที่เรายอมรับหลักการนี้
ดังนั้น การละเมิดกฎหมายจึงทำให้สังคมปั่นป่วนวุ่นวาย แต่ในทางเดียวกัน การไม่เคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่า การสังหารคนเหมือนสัตว์กลางถนนนั้นไม่ควรได้รับการอภัยจนกว่าผู้กระทำจะได้ยอมรับและสำนึกในการกระทำของเขาเสียก่อน
การละเมิดกฎหมายซ้ำซากที่ไม่ได้รับการลงทัณฑ์และได้รับการอภัยซ้ำซาก จึงไม่เป็นผลดีต่อระบบการเมืองด้วยประการทั้งปวง เพราะมันบ่มนิสัยและวางเมล็ดพันธุ์ของวัฒนธรรมการเมืองแห่งความรุนแรงเอาไว้
นี่เองจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่การนิรโทษกรรมผู้ที่มีบทบาทในการสังหารคนร่วมชาติด้วยอาวุธสงครามกลางเมืองจึงถูกต่อต้านอย่างแข็งขันจากฝ่ายประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ตั้งแต่ญาติ มิตร หรือกระทั่งผู้เคยเป็นผู้ร่วมชุมนุม
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ที่ออกมาต่อต้านร่างกฎหมายฉบับนี้ มีคำจำกัดความที่พอจะยกมาในที่นี้ เช่น เผาบ้านเผาเมืองแล้วล้างโทษให้ตัวเอง, โกงแล้วล้างผิดตัวเอง, หรือสังหารเจ้าหน้าที่แล้วล้างผิดตัวเอง (กรณีนี้ ผมอยากให้ตรองดูให้ชัดในแง่หลักฐานและคำสั่งศาล)
จะว่ากันตามจริงก็น่าจะเป็นไปได้ที่จะออกกฎหมายลบล้างความผิดมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับประชาชนทั้งสองสีเสื้อ ในแง่ความเสียหายทางเศรษฐกิจและทางราชการ เช่น การยึดทำเนียบ การปิดสนามบินที่มีมูลค่าไม่ตำกว่า 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (http://www.voanews.com/content/a-13-2009-01-12-voa11-68822187/413588.html) หรือมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการกระชับและขอคืนพื้นที่มูลค่าประเมินจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2553 เบื้องต้นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 138,000 ล้านบาท (http://www.manager.co.th/iBizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9530000079041)
ทั้งนี้ ต้องประเมินจากภาพรวมก่อนจะระบุว่าใครทำบ้านเมืองเสียหาย ที่แน่ๆ รัฐบาลต้องเป็นจำเลยที่หนึ่ง ส่วนที่เหลือก็ต้องยอมรับว่ามันซับซ้อน หากจะบอกว่าใครคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดชอบอาจต้องระบุให้ชัดเป็นกรณีๆ ไป
แต่ข้อที่ฝ่ายพันธมิตร เสื้อหลากสี หรือประชาชนผู้ตื่นรู้ทั้งหลายกังวลคือร่างกฎหมายฉบับนี้จะล้างความผิดให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในทุกกรณี
ในประเด็นนี้ผมไม่เคยค้านแม้แต่น้อย และยืนยันว่าเมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว คุณทักษิณควรมีโอกาสกลับมาต่อสู้คดี แต่ก็มีบางส่วนที่ต้องเข้าใจด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมหลังปี 2549 นั้น ในทางสากลโลก ถือว่ากระทำไปโดยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และอาจมีผลโมฆะลบล้างไปจากรัฐบาลที่ชอบธรรมกว่า หรือกระบวนการยุติธรรมปกติ เพราะมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผูกเงื่อนตายทางการเมืองเอาไว้ ไม่ให้คุณทักษิณได้ขยับตัวเลย ทั้งๆ ที่ยุค พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณถูกรัฐประหารมีรัฐมนตรีหลายคนถูกยึดทรัพย์ในเวลาต่อมาก็มีคำตัดสินให้พ้นผิด แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อาจได้บทเรียนมาและใช้บทเรียนที่ว่ามาผูกเงื่อนกำกับสำทับด้วยมนตราตระลาการภิวัตน์อีกเปลาะหนึ่ง
รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เคยแสดงทัศนะเอาไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เอาไว้ว่า “...หากนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาพิจารณาแล้ว ขณะนี้อยากเสนอแก้ไขในมาตรา 309 โดยให้ยกเลิกไปเลย ซึ่งมาตราดังกล่าวระบุว่า บรรดาการใดๆที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้
“เราจะเขียนกฎหมายมาตราหนึ่งบอกว่า การกระทำใดๆของคนๆหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งในอดีตที่ทำไปแล้วในอดีตถือว่าถูก อันนี้ยังพอรับได้ แต่ที่จะทำต่อไปในอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรบ้างก็ให้ถูกอีก อันนี้คงไม่ได้ แล้วมาตรานี้ กกต.ก็เอามาใช้เลย จำได้ไหมเรื่องเอกสารลับที่คมช.มีเอกสารลับที่แสดงถึงความไม่เป็นกลาง แม้จะเป็นความผิด ก็ยกเว้นตาม 309 ในเรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรมโดย concept ของกฎหมายก็ไม่ผิดนะ แต่จะนิรโทษกรรมได้มันต้องมีความผิดเกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว แต่นี่มันไม่ใช่นิรโทษกรรม นี่คือการไฟเขียวไว้ก่อนว่าในอนาคตไปทำอะไรก็ไม่ผิด ถ้าพูดให้สุดขั้ว คือให้ไฟเขียวไว้ก่อนว่าคุณไปยิงใครตายก็ได้ ทำอะไรก็ไม่ผิดไง ทั้งก่อนและหลัง ไม่รู้ว่าเขียนกฎหมายแบบ มาตรา 309 นี้ได้ไง ไม่ควรเป็นนักกฎหมายเลย...” (http://talk.mthai.com/topic/98320)
เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณทักษิณเองก็คงพยายามหาทางออกให้พ้นบ่วงกรรมที่อดีตนักกฎหมายของตนเองและฝ่ายตรงข้ามตีตราสังข์เอาไว้
ผมคงจะไม่ก้าวล่วงไปพิจารณาในรายละเอียดไปกว่านี้
แต่ที่ผมห่วงคือคนที่เสียชีวิตไปแล้วควรได้รับความยุติธรรม โดยเฉพาะคนที่ถูกรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ตราหน้าว่าเป็นพวกผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง ซึ่งหากผู้ที่เชื่อว่าตัวเองมีการศึกษาดีก็ควรจะได้พิจารณาข้อมูลให้รอบด้านว่าบรรดาคนที่ตาย เจ็บ ในเดือนพฤษภาคม 2553 นั้นเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร
อีกด้านหนึ่ง มีข้อสังเกตว่าการเปิดเผยผลชันสูตรผู้เสียชีวิต กรณี 7 ตุลาคม, 10 เมษายน โดยเฉพาะฝ่ายทหารไม่มีความชัดเจนไปมากกว่าข่าวพื้นๆ ที่เต็มไปด้วยทฤษฎีสมคบคิด
ในแง่การเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและค้นหาความจริงมาก่อน ผมยังมีข้อสงสัยมากมายที่ตอบไม่ได้
ผมอยากจะฝากถึงเพื่อนพี่น้องทั้งหลายว่าในสภาวะปัจจุบันการตรากฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอย คงไม่ใช่คำตอบของสังคมไทยแน่ๆ ถึงได้มีการสอดประสานค้านทั้งจากสองสีเสื้อรวมทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เพิ่งถูกปลดจากขบวนการประชาชนอุรุพงษ์
ถามว่าควรจะค้านในแง่ไหน
ผมว่าควรพิจารณาเรื่องคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหลัก กล่าวคือประชาชนไม่ว่าใคร ไม่ควรถูกสังหารโดยกองทัพและอาวุธสงคราม ตรงนี้ต้องกลับไปดูความจริงทั้งจากที่ ศปช. และ คอป. กระทั่งฉบับ กสม. ประกอบกัน ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลไม่ตรงกันและทิศทางขัดกัน แต่ความตายนั้นจริงเสียยิ่งกว่าจริง
ดังนั้น ร่างกฎหมายเว้นโทษผู้สังหารประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ควรผ่านการพิจารณา โดยเฉพาะคนที่ไปร้องป่าวว่าไม่ควรรับสัตยาบันศาลโลกนั้น คิดดีๆ คิดให้ถึงรุ่นลูกหลานคุณ (future generation) อย่าสายตาสั้นคิดถึงผลทางการเมืองเฉพาะหน้าเท่านั้น หรือคุณเกรงว่านักการเมืองที่คุณรักจะถูกลากขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศหรืออย่างไร
การเว้นโทษคุณทักษิณ ก็ยิ่งไม่ควรกระทำ แต่ควรมีวิธีการที่นานาชาติอารยะยอมรับ อย่าแถประวัติศาสตร์ไทย ความเป็นไทยอย่างไม่ลืมหูลืมตา ควรแสวงหาวิธีการที่คุณทักษิณได้รับความยุติธรรมตามหลักสากล แต่ไม่ใช่กระบวนการแบบพิเศษที่โลกไม่ยอมรับและขัดหลักการของกระบวนการยุติธรรมปกติ
บ้านเมืองมาถึง พ.ศ. นี้แล้ว ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นทุกวินาที อย่าคิดว่าเมืองไทยมันจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะที่มันเปลี่ยนมาถึงตอนนี้ ก็คงเกินความคาดหมายของคุณมากพอแล้ว จะบอกด้วยว่าในความคิดของผมความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ทุกลมหายใจ บางทีมันเร็วเกินกว่าจควบคุมมันเหมือนที่เคยทำได้ และมันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว
การจะออกกฎหมายใดๆ ให้มีผลต่อการกระทำของบุคคลนั้น ดูผิวเผินน่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ไม่ใช่ความจริงเสมอไป