หลายวันมานี้ผมหมกมุ่นกับเรื่องนิรโทษกรรมจนลืมไปว่าคนจำนวนมาก "ข้าม" เรื่องนิรโทษกรรมไป "ล้มรัฐบาล" กันแล้ว
อันที่ค้างคาใจผมก็คือเหตุใดคนจำนวนมากจึงเลือกเน้นการคัดค้านไปเรื่อง "การโกงชาติ" มากกว่าการสูญเสีย "ชีวิตคน"
นี่เป็นคำถามทางปรัชญาและทางศีลธรรมของสังคมมนุษย์แทบทุกสังคมที่มีอารยะ
ระหว่างการโกงกับการฆ่า อะไรสำคัญกว่าและสร้างความเสียหายมากกว่า?
ในบางสังคมที่เจริญแล้วอย่างอังกฤษ ก็มีคำถามว่าชนชั้นนำของอังกฤษถูกฝึกฝนอย่างไร
ในวิทยาลัยอีตัน ตั้งคำถามว่า ในปี ค.ศ. 2040 มีการจราจลบนท้องถนนของลันดั้นหลังจากที่บริเท่นขาดแคลนน้ำมันอันเป็นผลจากวิกฤตการณ์น้ำมันในตะวันออกกลาง ผู้ประท้วงโจมตีอาการสาธารณะ ตำรวจเสียชีวิตหลายคน ผลที่ตามมาก็คือรัฐบาลได้ใช้กองทัพจัดการกับผู้ชุมนุมประท้วง หลังจากนั้นสองวันการประท้วงต่างๆ ถูกหยุดยั้ง แต่มีผู้ประท้วงเสียชีวิต 26 ศพโดยกองทัพ หากท่านเป็นนายกรัฐมนตรีจงเขียนคำกล่าวสุนทรพจน์เพื่อแถลงต่อชาติเพื่ออธิบายว่า เหตุใดจึงใช้กองทัพต่อต้านผู้ชุมนุมประท้วงที่รุนแรง (violent protesters) จึงกลายเป็นทางเลือกเดียว และเป็นวิธีการที่จำเป็น (necessary) และถูกต้องทางศีลธรรม (moral)
ข้อสอบชิงทุนของโรงเรียนนี้น่าสนใจในหลายประการ
เพราะแม้ผู้ชุมนุมจะใช้ความรุนแรง แต่เบื้องต้นต้องใช้ตำรวจปราบจราจลก่อน
แต่โจทย์นี้เหมือนว่านายกรัฐมนตรีมีทางเลือกอื่น แต่เขาเห็นว่าต้องใช้กองทัพเข้าจัดการผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง
และต้องแถลงต่อชาติด้วยว่ามีเหตุผลเรื่องความจำเป็นในการใช้กองทัพที่ใช้อาวุธสงคราม และแสดงเหตุผลที่ถูกต้องทางศีลธรรมเพื่อ justify การกระทำของตน
หากการกระทำนั้นเป็นไปเพื่อเหตุผลแห่งรัฐ raison d'état อันเป็นเหตุผลเพื่อการเมืองโดยแท้ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองหรือรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลุดจากพื้นที่ของความเปิดเผย ความยุติธรรมหรือกระทั่งความสัตย์ซื่อ (a purely political reason for action on the part of a ruler or government, especially where a departure from openness, justice, or honesty is involved.) [2]
คำอธิบายก็ไม่มาก อ้างเรื่องความมั่นคง ดูเหมือนจะไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับคุณค่าทางศีลธรรมใดๆ
ในคำถามจึงบังคับให้ตอบเรื่องความรับผิดชอบทางศีลธรรม (moral) นอกเหนือจากความจำเป็นแห่งรัฐ
น่าสนใจที่คำถามนี้ถูกมองหลายแนวทาง มันถูกถามเมื่อปี ค.ศ. 2011, ครูใหญ่ตอบว่ามันถูกตั้งคำถามจากบริบทของอังกฤษจากเหตุการณ์ในลอนดอน และเป็นส่วนที่ถูกดึงจากหนังสือเรื่อง The Prince ของ Niccolo Machieavelli
กลับมาในกรณีสังคมที่ที่เรา "ตื่นรู้" เรื่องศีลธรรมกันมาอย่างกว้างขวางในรอบสองสัปดาห์นับแต่ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสุดซอยเหมาเข่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ก็มีการต่อต้านอย่างกว้างขวางราวกับเตรียมการไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองผู้มีศีลธรรมทั้งหลายและสถานศึกษา รวมทั้งฝ่าย นปช. และคนเสื้อแดง สอดประสานกับนักวิชาการ (รวมทั้งผมด้วยที่บอกว่าถ้าผ่าน ร่าง พ.ร.บ. นี้ถือว่าเลือดเย็นมาก ข่าวสดฉบับวันจันทร์ 4 พ.ย. 2556)
แต่ไปๆ มา คนที่ค้านส่วนใหญ่ละเลยเรื่องชีวิตมนุษย์ แต่หันมาเน้นเรื่องการโกงชาติ ซึ่งด้านหนึ่งผมเห็นด้วยว่าควรทำคุณทักษิณกลับมาพิจารณาคดี และเปิดโอกาสให้ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางวิธีปกติ
ที่เสียความรู้สึกมากๆ และเพื่อนคนอื่นๆ ก็ฝากมาบอกผมว่าเสียความรู้สึกมากกับผมที่ไม่ร่วมกับขบวนการต้านโกงแห่งชาติอันสอดประสานทั่วทุกหนแห่ง (?) เพราะสิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญกว่าก็คือเรื่องการตายของคนกว่าร้อยศพนี่แหละ
ซ้ำร้าย คนที่ออกไปยืนแถวหน้าเรื่องต้านโกง ก็คือคนที่ถูกกระบวนการยุติธรรมกล่าวหาว่าพัวพันกับความตายของคนนับร้อยในฐานะผู้สั่งการ
โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง ไปดูคำสั่งศาล ไปดูรายงานข้อเท็จจริง ไปดูศพคนตาย ย้อนไปดูอาชีพความเป็นอยู่ของคนเจ็บคนตายสิ ว่าเขาเป็นใคร?
เป็นผู้ก่อการร้ายชุดดำอย่างที่พวกเขาถูกกล่าวโทษกระนั้นหรือจึงต้องถูกสังหารกลางถนน กลางวันแสกๆ
ในทางพุทธศาสนา เรามีศีล 5 กำกับ ง่ายๆ
ข้อแรก ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ เราจักถือศีลโดยเว้นจากการเบียดเบียนชีวิต คือเว้นจากการฆ่า หรือสนับสนุนการฆ่าทั้งปวง
ข้อสอง อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ เราจักถือศีลโดยเว้นจากการเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
ข้อสี่ มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ เราจักถือศีลโดยการเว้นการกล่าวเท็จ
ข้อห้า สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ เราจักถือศีลโดยเว้นจากการบริโภคสุรายาเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ชาวพุทธผิวเผินอย่างผมเชื่อว่า ศีลข้อแรกศีลห้านี่แหละมีความสำคัญมากที่สุด หรืออย่างน้อยก็ต้องพอๆ กับข้ออื่นจึงประกอบเป็นเบญจศีล [3]
ไปถามใครๆ ก็ได้ว่าทำไมพระพุทธองค์จึงเอาไว้ในลำดับต้น แต่ทำไม บรรดาผู้มีศีลธรรมทั้งหลายจึงหันไปเน้นเรื่องโกง ซึ่งเป็นศีลข้อสอง
หรือจะเป็นเพราะความเชื่อที่ว่า "ฆ่ากันเอง ชายชุดดำ จัดมาฆ่ากันเองแล้วก็นิรโทษกรรมกันเอง" อย่างนั้นหรือ?
หลักกาลามสูตร [4] ก็เตือนเอาไว้
ที่เขียนมานี้ ก็เพื่อเตือนความจำว่าผู้มีศีลธรรมทั้งหลายได้กล่าว "ความจริง"รอบด้านพอหรือไม่หนอ? พึงสดับ
และผมยินดีที่ต่อมศีลธรรมของท่านกลับมาทำงานอีกครั้งหลังจากปี 2553
ทราบมาว่าหลายท่านถือโอกาสสองวันนี้พักรบเพื่อไปทอดกฐินผ้าป่าเอาบุญ กระทั่งพึ่งพาไสยศาสตร์
แต่ถ้าจะให้ดีเมื่อไปสมาทานศีลห้ากันอีกรอบแล้ว กลับมาใช้สติตรองสักหน่อยไหมครับ?
[1] http://www.newstatesman.com/politics/2013/05/eton-scholarship-question-how-british-elite-are-trained-think
[2] http://www.oxforddictionaries.com/definition/english/raison-d'état
[3] http://th.wikipedia.org/wiki/เบญจศีล
[4] http://th.wikipedia.org/wiki/กาลามสูตร