(ข้อความต่อไปนี้มาจากรายงานวิจัยเรื่องชีวประวัติรัฐธรรมนูญและธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475-2520 ภายใต้โครงการเมธีวิจัยอาวุโส ศ. รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ ท่านสามารถ download เอกสารฉบับเต็มได้ที่ http://econ.tu.ac.th/archan/rangsun/โครงการวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส%20สกว/เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ/เอกสารวิชาการ/607%20ชีวประวัติรัฐธรรมนูญไทย%202475-2520.pdf)
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานนักกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้ คณะราษฎรจดทะเบียนเป็นสมาคมคณะราษฎรเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2475 โดยมีพระยานิติศาสตร์ไพศาลดำรงตำแหน่งนายกสมาคม นายประยูร ภมรมนตรี เป็นอุปนายก นายสงวน ตุลารักษ์ เป็นเหรัญญิก และนายวนิช ปานะนนท์ เป็นเลขาธิการ โดยมีนายประหยัด ศรีจรูญ เป็นนายทะเบียน (วิภาลัย ธีรชัย 2522 : 133-134; นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2540 : 242)
ในระยะก่อตั้งมีสมาชิกประกอบด้วยกรรมการอำนวยการ 15 นายและ สมาชิก 140 นาย ต่อมาได้เปิดรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมจากข้าราชการประจำและผู้สนใจจำนวนมาก (วิภาลัย ธีรชัย 2522 : 133) ประมาณการว่า มีสมาชิก 10,000 นาย ในสายข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน แยกเป็นข้าราชการชั้นพระยา 23 คน ชั้นคุณพระ 65 คน ชั้นคุณหลวง 376 คน (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2540 : 252-253) มีประมาณการว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2475 มีสมาชิกถึง 60,000 คน (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ 2534 : 217)
ในเวลาต่อมา พระยาโทณวณิกมนตรี (วิสุทธิ์ โทณวณิก) กับคณะรวม 12 คน ร้องขอต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดตั้งสมาคมคณะชาติเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2475 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาสมาชิกเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเช่นเดียวกับสมาคมคณะราษฎร
พระยามโนปกรณ์นิติธาดานำเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และทรงพระราชทานพระราชหัตถเลขาความว่าสยามยังไม่พร้อมจะมีคณะการเมืองเพราะประชาชนส่วนมากยังไม่มีความเข้าใจวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญถ้าหากมีคณะการเมืองอาจจะทำให้เข้าใจว่าเป็นการตั้งหมู่คณะเพื่อเป็นปฏิปักษ์กันแต่เมื่อรัฐบาลอนุญาตให้มีสมาคมคณะราษฎรก็เป็นการยากที่จะห้ามตั้งคณะการเมืองจึงควรยกเลิกสมาคมคณะราษฎรและคณะอื่นเสีย
เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 มีมติคณะรัฐมนตรีแจ้งตามหน่วยราชการต่างๆ ให้ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งห้ามข้าราชการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2540 : 252) แม้แต่พระยาพหลพลพยุหเสนาผู้บัญชาการทหารบก ยังต้องชี้แจงต่อข้าราชการทหารว่าทหารไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมในสมาคมคณะราษฎรต่อไปเพราะรัฐบาลมีความมั่นคงแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงสั่งให้ทหารลาออกจากสมาคมฯ เสีย
ขณะเดียวกัน ผู้นำฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎรได้เสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” สู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 9 มีนาคม 2475 ในที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา 14 คน โดยประชุมในวันที่ 12 มีนาคม 2475 และมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่คัดค้านนำโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิศาลวาจา และพระยาทรงสุรเดช ฝ่ายสนับสนุนนำโดยหลวงประดิษฐมนูธรรม นายแนบ พหลโยธิน นายทวี บุณยเกตุ และ ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ มติของคณะอนุกรรมการไม่เป็นที่เด็ดขาด ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
คณะรัฐมนตรีใช้เวลาพิจารณาถึง 2 ครั้งในวันที่ 25 และ 28 มีนาคม 2475 โดยหลวงประดิษฐมนูธรรมยืนยันว่าจะลาออกหากคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบ ขณะที่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้หลวงประดิษฐฯ ลาออก แต่ในการประชุมครั้งที่สอง ฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้นำพระราชบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมา ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติไม่ให้ความเห็นชอบเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ถึง 11 เสียง ต่อ 3 เสียง (งดออกเสียง 5 คน) จากจำนวนผู้เข้าประชุม 19 คน
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 17 มีนาคม 2475 มีกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องคำสั่งห้ามข้าราชการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง ในวันที่ 30 มีนาคม ที่ประชุมสภาฯมีมติว่า รัฐบาลกระทำผิดรัฐธรรมนูญและให้ถอนคำสั่ง (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2540 : 253-254)
ผลจากความขัดแย้งข้างต้นทำให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยอธิบายว่า สภาผู้แทนราษฎรชุดดังกล่าวเป็นสภาฯชั่วคราว ไม่สมควรจะเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่
“… ณ บัดนี้ ปรากฏว่า มีสมาชิกจำนวนมาก แสดงความปรารถนาแรงกล้าเพียงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงไปในทางนั้น โดยวิธีการอันเป็นอุบายในทางอ้อมที่จะบังคับข่มขู่ให้สภาต้องดำเนินการไป ตามความปรารถนาของตน เป็นการไม่สมควร เป็นที่เห็นได้ชัดแล้วว่า จะประชุมกันบัญชาการของประเทศโดยความสวัสดิภาพไม่ได้แล้ว สามารถจะนำมาซึ่งความไม่มั่นคงต่อประเทศ และทำลายความสุขสมบูรณ์ของอาณาประชาราษฎร์ ทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นเวลาฉุกเฉินแล้ว สมควรต้องจัดการป้องกันความหายนะ อันจะนำมาสู่ประเทศและอาณาประชาราษฎร์ทั่วไป …”
และกำหนดวัตถุประสงค์ของการตราพระราชกฤษฎีกาไว้ดังนี้
“1. ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนี้เสียและห้ามไม่ให้เรียกประชุมจนกว่าจะได้มีสภาฯขึ้นใหม่ เมื่อได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามความในรัฐธรรมนูญนั้นแล้ว
2. ให้ยุบคณะรัฐมนตรีปัจจุบันนี้เสีย และให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหนึ่งนาย กับรัฐมนตรีอื่นๆอีกไม่เกินยี่สิบนาย และให้นายกรัฐมนตรีคณะซึ่งยุบนี้เป็นนายกรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีใหม่ กับให้รัฐมนตรีผู้ซึ่งว่าการกระทรวงต่างๆอยู่ในเวลานี้เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรีใหม่โดยตำแหน่ง ส่วนรัฐมนตรีอื่นๆจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งขึ้นโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
3.ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้นและยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว
ให้คณะรัฐมนตรีใหม่ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เป็นผู้ใช้อำนาจต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้ไว้แก่คณะรัฐมนตรี
4. ตราบเท่าที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและ ยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรง ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี
5. ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรยังไม่ได้เรียกประชุม สภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอการใช้บทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย ส่วนบทบัญญัติอื่นๆในรัฐธรรมนูญนั้นให้เป็นอันคงใช้อยู่ต่อไป”
(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 หน้า 1, วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476)
รัฐบาลยังได้ออกแถลงการณ์ถึงความจำเป็นในการปิดสภาผู้แทนราษฎรกับการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่และการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราว่า คณะรัฐมนตรีมีความเห็นแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มข้างน้อยต้องการวางนโยบายเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสม์ ฝ่ายข้างมากเห็นว่าตรงข้ามกับธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม จะนำมาซึ่งความหายนะและความมั่นคงของประเทศ ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสภาแต่งตั้งและเป็นสภาฯชั่วคราว ไม่ควรวางนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่ “ประดุจเป็นการพลิกแผ่นดิน” แต่ก็เห็นได้ชัดว่าสมาชิกจำนวนมากต้องการและเลื่อมใสรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยความแตกต่างระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับนิติบัญญัติ ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับฝ่ายบริหารเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ทำให้การปฏิบัติราชการช้าและกิดความแตกแยก ตลอดจนก่อให้เกิดความไม่มั่นใจแก่ประชาชน จึงจำเป็นต้องปิดสภาฯและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่การงดใช้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นเฉพาะบางมาตราและเป็นการชั่วคราวเท่านั้น (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 หน้า 7, 1 เมษายน พ.ศ. 2476 และดูประเด็นเรื่องอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะปิดสภาที่ ม.จ. วรรณไวทยากรเคยกล่าวไว้ใน สิริ เปรมจิตต์ 2511: 86)
ผลการปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ทำให้เกิดการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ภายใต้การนำของ พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการประกาศให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเรียกประชุมสมัยวิสามัญตามคำกราบบังคมทูลของประธานสภาผู้แทนราษฎรกับทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 น. 385-387, 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476) นอกจากนี้ยังได้ตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออก เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 น. 389, 25 มิถุนายน พ.ศ. 2476) ดังคำอธิบายว่า
“สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า การที่คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนคณะหนึ่ง ซึ่งเห็นความจำเป็นในอันจะแก้ไขเหตุการณ์ที่ทำให้เสื่อมทราม
ความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้กระทบกระเทือนต่อความปลอดภัยแห่งชาติบ้านเมือง จึงพร้อมใจกันเข้าจัดการให้คณะรัฐมนตรีชุดซึ่งไม่บริหารราชการแผ่นดินตามหน้าที่ด้วยความไว้วางใจของสภาฯตามรัฐธรรมนูญลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะ ซึ่งในที่สุด รัฐมนตรีคณะที่กล่าวข้างต้นก็ได้ยื่นใบลา และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว ปรากฏว่าเหตุการณ์ได้เป็นไปโดยราบรื่นปกติเรียบร้อย มิได้รุนแรง สมควรได้รับพระมหากรุณา เพราะความหวังดีงามและความละมุนละม่อมในการกระทำของคณะนี้” (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 น. 389, 25 มิถุนายน 2476)
รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการตราพระราชบัญญัติให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ได้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยกล่าวว่า การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้น ‘มิได้อาศัยอำนาจในรัฐธรรมนูญประการใด ซึ่งทำให้เสื่อมทรามความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ’ พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงได้จัดการให้คณะรัฐมนตรีชุดเก่าลาออก เพื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 น. 394, วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2476)