Skip to main content

มรณกรรมของคุณ ไม้หนึ่ง ก. กุนที ทำให้ผมอดนึกถึงมรณกรรมของเสธ. แดง ไม่ได้

ขออนุญาตนำบทนำจากรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ระหว่างวันที่ 13-20 พฤษภาคม 2553 ที่กลุ่มมรสุมชายขอบได้รวบรวมเอาไว้และผมได้เขียนคำอธิบายเอกสารและมีประเด็นที่เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้เมื่อ พ.ศ. 2554 ว่าการสังหารเสธ. แดง เป็นเหมือนยุทธการเริ่มต้นในการใช้ความรุนแรงกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ท่านสามารถอ่านเอกสารฉบับเต็มได้จาก

http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/wp-content/uploads/2011/05/เอกสารฉบับสมบูรณ์-small-file-size.pdf

และสามารถอ่านฉบับปรับปรุงจากรายงานของ ศปช. จาก

http://www.pic2010.org/category/report/

 

ข้อสังเกตเรื่องกายภาพของความขัดแย้ง

และการยกระดับความรุนแรงในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553

 

ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

 

ภูมิหลังของความขัดแย้ง 

ความรุนแรงในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แต่มีระดับการใช้ความรุนแรงโดยฝ่ายรัฐในเขตกรุงเทพมหานครในระดับสูงสุดตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535 หากนับจากจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เหตุการณ์นี้นับเป็นระดับความรุนแรงที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทย และเป็นการใช้กำลังทหารต่อพลเรือนในระดับปฏิบัติการรบดังปรากฏให้เห็นว่ารัฐบาลได้จัดกำลังรักษาความสงบถึง 47,202 นาย ซึ่งในการปะทะเมื่อ 10 เมษายนยังสะท้อนให้เห็นการตัดสินใจของรัฐบาล ผ่าน ศอ.รส. และ ศอฉ. เลือกใช้กำลังทหารเข้าจัดการชุมนุมมากกว่าจะเป็นการใช้กำลังตำรวจปราบจราจลที่ผ่านการฝึกฝนมาโดยตรง ยังผลให้เกิดความสูญเสียถึง 25 คน (พลเรือน 20 คน ทหาร 5 นาย) บาดเจ็บกว่า 863 (พลเรือน 607 คน ทหาร 237 ตำรวจ 19 คน) 

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กับกลุ่ม นปช. มีความต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งสามารถย้อนกลับไปตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังเป็นคู่ขัดแย้งหลักกับกลุ่มเสื้อแดงซึ่งใช้ชื่อแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) ในต่างจังหวัดมีการปะทะระหว่างกลุ่มคนทั้งสองจนบาดเจ็บล้มตายมาแล้วระยะหนึ่งนับตั้งแต่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช 

เมื่อนายสมัครพ้นจากตำแหน่งด้วยปัญหาเรื่องคุณสมบัติตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ (29 มกราคม-9 กันยายน 2551) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์จึงได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชาชนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี (18 กันยายน 2551) แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาชนเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปีมีผลให้นายสมชายต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้น ขณะที่อดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชนก่อตั้งพรรคเพื่อไทย ส่วนกลุ่มการเมืองของนายเนวิน ชิดชอบแยกไปตั้งพรรคภูมิใจไทย 

ในบริบทดังกล่าว แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) ได้ยกระดับการเคลื่อนไหวเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 

การเคลื่อนไหวของ นปช. ได้เปลี่ยนมาเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมาโดยลำดับนับแต่เมษายน 2552 ซึ่งเป็นการปะทะกันอย่างชัดเจนกับรัฐบาล ส่วนหนึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลใช้กำลังจากกองทัพอย่างเข้มข้นมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าบทบาทของกองทัพโดยเฉพาะกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ พล. ร. 2 รอ. ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับกลุ่ม นปช. ณ จุดสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อก่อนเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2552 จนถึงกับมีการระบุว่าเป็น “โจทก์เก่า” ของฝ่ายเสื้อแดง

ในการชุมนุมใหญ่ของ นปช. วันที่ 12 มีนาคม 2553 มุ่งกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ยุบสภา กระทรวงมหาดไทยประเมินว่ามีผู้ชุมนุมประมาณ 70,000 คน และรัฐบาลตอบโต้ด้วยการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคง และตั้ง ศอ.รส. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีสถานที่บัญชาการที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และพักอาศัยในกรมทหารราบที่ 11 จึงทำให้ฝ่าย นปช. เคลื่อนขบวนไปกดดันหน้ากรมทหารราบที่ 11 และมีการระดมขอบริจาคเลือดกว่า 300,000 ซีซีนำไปเทยังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์และบ้านพักส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในระหว่างนั้นมีข่าวการยิงจรวดอาร์พีจีถล่มห้องทำงานในกระทรวงกลาโหม และกดดันฝ่ายรัฐบาล โดย นปช. ยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาพร้อมกับกระจายการชุมนุมไปหลายจุด จนทำให้กองทัพกดดันรัฐบาลให้มีการเจรจา ภายหลังที่ นปช. ประกาศบุกกรมทหารราบที่ 11 

ในที่สุด ในวันที่ 28 มีนาคม 2553 รัฐบาลจัดให้มีการเจรจาที่สถาบันพระปกเกล้า และถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ คณะเจรจาประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ และฝ่าย นปช. โดยนายวีระ มุสิกพงษ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายแพทย์เหวง โตจิราการ ใช้เวลากว่าสองชั่วโมงครึ่ง แต่ไม่บรรลุข้อตกลง และมีการเจรจาในวันต่อมา โดยฝ่ายรัฐบาลต้องการยุบสภาในกรอบเวลา 9 เดือน ขณะที่ฝ่าย นปช. ยืนยันว่าจะต้องยุบสภาผู้แทนราษฎรภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งไม่บรรลุข้อตกลง 

ฝ่าย นปช. ประกาศระดมมวลชนในวันที่ 3 เมษายน แต่มีข่าวว่า น.พ. วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ประกาศว่ารัฐบาลจะยุบสภาในวันที่ 6 ธันวาคม 2553 และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 23 มกราคม 2554 อย่างไรก็ดี ไม่มีการยืนยันจากรัฐบาล ขณะที่กลุ่ม นปช. ยืนยันว่ารัฐบาลจะต้องประกาศให้ชัดว่าจะยุบสภาวันใด

นักสันติวิธีต่างเรียกร้องให้มีการเจรจารอบสาม โดยทางลับ แต่ไม่มีการสนองตอบจากทั้งสองฝ่าย จึงทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ นปช. สายฮาร์ดคอร์อย่างนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรองเคลื่อนขบวนไปกดดัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ดำเนินคดีเงินบริจาคพรรคประชาธิปัตย์ และกดดันฝ่ายตำรวจด้วยการใช้ยุทธการขนมชั้นเพื่อล้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมิให้ขัดขวางการชุมนุม เป็นต้น

สถานการณ์พัฒนามาจนถึงจุดสำคัญคือการบุกยึดสถานีภาคพื้นดินของสถานีไทยคม เพื่อเปิดช่องสัญญาณของพีทีวีอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรัฐบาลตัดสินใจยึดสถานีดาวเทียมไทยคมจากกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช. ในวันที่ 9 เมษายน 2553 โดยส่งกำลังทหารกว่า 30 กองร้อยจากกองพลทหารม้าที่ 1 (พล. ม. 1 จากเพชรบูรณ์ น่าน อุตรดิตถ์) กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล. ปตอ. จากกรุงเทพฯ) กองพลทหารราบที่ 9 (พล. ร. 9 จากกาญจนบุรี) และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร. 11 รอ.) ไปยึดสถานีดาวเทียมไทยคมจากกลุ่ม นปช. ที่ชุมนุมกันกว่า 1.5 หมื่นคน จึงนับเป็นการปะทะที่ทำให้ฝ่ายทหาร “เสียเกียรติเสียศักดิ์ศรีที่ทหารหลายพันคนต้องยอมวางโล่ กระบอง และอาวุธทุกอย่างที่มี ยอมแพ้ต่อผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่เวลานั้นยังไม่มีกองกำลังติดอาวุธ ถูกผู้ชุมนุมยึดอาวุธ สั่งการไล่ต้อนให้เดินแถวออกไปสู่ทุ่งนา...” อย่างไรก็ตามทางฝ่าย นปช. ได้สลายการชุมนุมก่อนที่กำลังหลักของพล. ร. 2 รอ. จะเข้ามายึดคืนในที่สุด 

ในเช้าวันที่ 10 เมษายน ได้มีการสั่งการให้ขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนิน โดยนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ ผอ. ศอฉ. ร่วมกับผู้นำกองทัพ โดยอนุญาตให้ “ใช้อาวุธได้เท่าที่จำเป็น” และ “ต้องจบก่อนสงกรานต์” ผลการปฏิบัติการทำให้ฝ่ายทหารถูกโจมตีจากกองกำลังลึกลับที่เรียกว่า “คนชุดดำ” ทำให้ฝ่ายทหารล้มตาย บาดเจ็บเช่นเดียวกับฝ่าย นปช. 

ในปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ 10 เมษายน นั้นมีข้อสังเกต ว่าความรุนแรงถูกยกระดับขึ้นเพราะการที่ตัดสินใจผิดพลาดของฝ่ายการเมือง การแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในการปฏิบัติการทางทหาร ความผิดพลาดในยุทธวิธี เช่น การเลือกใช้กำลังทหารที่เป็นคู่ขัดแย้งของ นปช. คือ พล. ร. 2 รอ. หรือบูรพาพยัคฆ์ที่เพิ่งรู้สึกเสียเกียรติเสียศักดิ์ศรีจากกรณีสถานีดาวเทียมไทยคม การตัดสินใจสลายการชุมนุมในช่วงเช้าแต่ปฏิบัติการยืดเยื้อถึงเวลาค่ำ โยนแก๊สน้ำตากว่า 200 ลูกจากเฮลิคอปเตอร์ แต่กระแสลมพัดกลับไปทิศที่ตั้งของฝ่ายทหาร  การตัดสินใจถอนทหารเป็นไปอย่างล่าช้าจนเป็นผลให้ทหารในบังคับบัญชาของ พ.อ. กู้เกียรติ ศรีนาคา ล้มตายและบาดเจ็บกว่า 30นาย ทหารจาก พล. ร. 9 ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.อุทิศ สุนทร เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 188 คน 

ในทางตรงกันข้าม ในหนังสือ “ลับ ลวง เลือด” ของวาสนา นาน่วมก็ตั้งข้อสังเกตว่าทหารพล. ร. 2 รอ. หรือบูรพาพยัคฆ์ที่ปฏิบัติการนั้นถูกชี้เป้าให้ถูกสังหารไม่ว่าจะเป็น พล.ต. วลิต โรจนภักดี พ.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม พ.อ. กู้เกียรติ ศรีนาคา (หน่วยแรกที่ “ตบเท้า” ปกป้อง พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา หลังห้องทำงานถูกยิงด้วยระเบิด M 79 และร่วมกับ พ.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ที่ออกมาปกป้องนายประนาม พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล) พ.ท. เกรียงศักดิ์ นันทโพธิเดช (ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้จิกหัวสตรีกลุ่ม นปช. คนหนึ่ง ซึ่งต่อมาไม่พบว่าเป็นความจริง)

ในบริบทข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกับฝ่าย นปช. มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ 10 เมษายน ขึ้น ก็เกิดความหวาดระแวงระหว่างรัฐบาลกับ นปช. แต่สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น เพราะฝ่ายรัฐบาลได้ริเริ่มใช้คำว่า “ผู้ก่อการร้าย” และแถลงโต้ว่าทหารไม่ได้ทำร้ายประชาชน แต่ในฝ่าย นปช. ยืนยันว่าการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นผลจากปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาล ระหว่างนั้นก็ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงเป็นระยะ เช่น การยิงระเบิด M79 ถล่มสีลมและศาลาแดงในวันที่ 22 เมษายน ขณะที่มีกลุ่มเสื้อหลากสีมาชุมนุมยังผลให้นางธัญนันท์ แถบทองเสียชีวิต และผู้บาดเจ็บกว่า 70 คน

เมื่อกลุ่ม นปช. ได้เจรจากับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลโดยยื่นข้อเสนอให้ยุบสภาภายใน 30 วัน (23 เมษายน 2553) แต่นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธไม่ยอมรับเงื่อนไข ส่งผลให้ความตึงเครียดกลับมาอีก 

หลังจากการรัฐบาลปฎิเสธเงื่อนไขของ นปช. กลุ่ม นปช.เริ่มปรับวิธีการในการต่อสู้โดยประกาศให้เลิกมวลชนเลิกใส่เสื้อแดง และเริ่มเกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ในต่างจังหวัด ทั้งการปิดถนนพหลโยธิน และยึดรถตำรวจไว้นับสิบคันที่จังหวัดปทุมธานี รวมถึง นปช.ในจังหวัดอื่นๆ ก็รวมตัวกันเพื่อปิดเส้นทางที่คาดว่ารัฐจะใช้เป็นเส้นทางลำเลียงทหารที่จะเข้ามาในกรุงเทพ 

หลังจากเกิดการชุมนุมประท้วงหลายจุดในต่างจังหวัด มีการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.ที่ปิดถนนพหลโยธิน จังหวัดปทุมธานีและจับกุมผู้ร่วมชุมนุมไปจำนวนหนึ่ง ศอฉ. ได้ประกาศให้จัดการสลายการชุมนุมในทุกพื้นที่ที่มีการปิดถนน ในวันที่ 26 เมษายน 

วันที่ 28 เมษายน เกิดการปะทะกันระหว่าง นปช.ที่นำโดยนายขวัญชัย ไพรพนา และเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร บริเวณถนนวิภาวดีหน้า อนุสรณ์สถานดอนเมืองกลางสายฝน มีทหารเสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก 

วันที่ 29 เมษายน กลุ่ม นปช.ที่ถูกจับในกรณีปะทะกันหน้าอนุสรณ์สถานฯ บริเวณดอนเมือง ศาลตัดสินจำคุก 1 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ส่วนกลุ่มกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ยื่นหนังสือให้หน่วยทหารในพื้นที่ในต่างจังหวัดให้มีการจัดการกับกลุ่ม นปช.

ในวันเดียวกันก็มีการยกระดับความตึงเครียดเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ นายพายัพ ปั้นเกตุ ได้นำการ์ด นปช.200 คน บุกค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากมีข่าวลือว่ามีทหารซุ่มอยู่ในโรงพยาบาล ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

วันที่ 3 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แถลงในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยถึงแผนปรองดองที่เสนอโดยรัฐบาล โดยชี้แจงว่าถ้าสถานการณ์ทางการเมืองสงบลงก็จะมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ภายในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ และมีการจัดตั้งกรรมการอิสระสอบสวนเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน, 22 เมษายน และ 28 เมษายน

 

การตัดสินใจของรัฐบาล ผ่าน ศอฉ. ในห้วงวิกฤต

นับแต่การเข้าจัดการกลุ่ม นปช. ที่สถานีไทยคม ศอฉ. ประกาศใช้มาตรการ 7 ข้อ จากเบาไปหนัก กฎการใช้กำลัง 7 ข้อ ได้แก่ 

1.การชี้แจงทำความเข้าใจ 

2. แสดงกำลังให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่มีความพร้อม 

3. ผลักดันด้วยโล่ 

4. การใช้น้ำฉีด  

5. ใช้เครื่องขยายเสียง 

6. แก๊สน้ำตา กระบอง 

7. กระสุนยางที่ยิงจากปืนลูกซอง

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแทบจะไม่ปรากฏชัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งในแต่ละขั้นตอน โฆษก ศอฉ. ชี้แจงว่าจะพยายามให้ผู้ชุมนุมได้รับทราบความจำเป็นที่จะใช้กฎการใช้กำลัง ทั้ง 7 ข้อก่อน

ความเข้าใจสถานการณ์ในวันที่ 13 พฤษภาคม จึงนับเป็นรอยต่อที่สำคัญของการยกระดับสู่ความรุนแรงที่มากขึ้น เพราะจากความตึงเครียดของทั้งฝ่าย นปช. และฝ่ายรัฐบาล ทำให้ นปช. เกรงว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเอนเอียงเข้าทางรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีการกดดันให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณเข้ามอบตัวต่อตำรวจในฐานะผู้ต้องหา แต่นายสุเทพกลับ “เลือก” มอบตัวต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษและไปในฐานะรองนายกรัฐมนตรี จึงทำให้มวลชนฝ่าย นปช. ไม่พอใจอย่างยิ่ง 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ศอฉ. เริ่มกดดันฝ่าย นปช. กลับ โดยแถลงมาตรการกระชับวงล้อม โดยโฆษก ศอฉ. พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวว่าไม่สามารถเปิดเผยจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการในการกระชับวงล้อมได้ และกล่าวต่อไปว่า ศอฉ. มั่นใจว่ามีกลุ่มผู้ก่อการร้ายอยู่ในที่ชุมนุมและมีอาวุธร้ายแรง หากผู้ก่อการร้ายยิงอาวุธสงครามเข้ามาปะทะกับเจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องใช้อาวุธกระสุนจริง ยิงสกัดใน 3 กรณี คือ 1. ยิงเพื่อข่มขวัญ ขึ้นฟ้า 2.ยิงป้องกันชีวิต และ 3. ยิงไปยังบุคคลที่มีอาวุธในมือ การประกาศของโฆษก ศอฉ. เป็นช่วงที่น่าสนใจ เพราะเกิดขึ้นก่อน พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผลจะถูกลอบสังหารเพียง 7 ชั่วโมงเศษเท่านั้น ประกาศดังกล่าวจึงเป็นสัญญาณรอการขับเคลื่อน

เมื่อพล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกลอบสังหารในเวลาประมาณ 19.00 น. และมีความตึงเครียดในกลุ่ม นปช. มากขึ้น และเริ่มมีการยิงพลุจากฝั่ง นปช. และมีเสียงระเบิด M79 เป็นระยะในเวลา 21.30 น. จึงเริ่มมีการใช้ลูกแก้ว หัวน๊อต ยิงไปยังฝ่ายทหาร ซึ่งทหารได้ใช้วิธีการยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญ และยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม การปะทะยกระดับความรุนแรงขึ้น จนนายชาติชาย ชาเหลาถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. และมีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง จนทวีความรุนแรงขึ้นโดยลำดับ จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม

 

ข้อสังเกตในตัดสินใจและปฏิบัติการของ ศอฉ. ระหว่าง 13-19 พฤษภาคม 2553

  1. ในระหว่างการชุมนุมมีการสร้างภาพความขัดแย้งระหว่างทหารกับ นปช. โดยเฉพาะกองกำลังพล ร.2 รอ. ที่มีฉายาบูรพาพยัคฆ์กับฝ่าย นปช. ถึงกับมีการบ่งชี้ว่าเป็น “โจทก์เก่า” ส่งผลต่อการตั้งคำถามต่อความรอบคอบเหมาะสมในการตัดสินใจของรัฐบาลและ ศอฉ. ว่ามีทางเลือกที่จะใช้กำลังหน่วยอื่น เช่น หน่วยอรินทราชเพื่อดำเนินการกับชายชุดดำ หรือหน่วยปราบจราจลเพื่อดำเนินการกับผู้ชุมนุมทั่วไป นอกจากหน่วย พล ร.2 รอ. หรือไม่ เพราะขณะปฏิบัติการจะเห็นภาพการใช้รถสายพานหุ้มเกราะในวันที่ 19 ทั้งๆ ที่ฝ่ายทหารควบคุมพื้นที่ได้ตั้งแต่กลางดึกของวันที่ 18 พฤษภาคม เป็นต้น

  2. ผลสืบเนื่องจากข้อ 1 ทำให้เกิดคำถามตามหลักสากล การกำหนดยุทธวิธีในการเข้าปะทะ (Rule of Engagement) จะต้องไม่ใช้หน่วยทหารที่ถึงขั้นละลายจากการปะทะครั้งก่อนหน้าหรืออาจมีอารมณ์ในการปะทะกับฝูงชนหรือประชาชน ซึ่งมีความโกรธแค้นอยู่เป็นทุนเดิม การเลือกใช้กำลังทหารที่มีการเผชิญหน้ากับ นปช. อย่างต่อเนื่อง สร้างความอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อยแก่กำลังพล จะส่งผลต่อวิธีการปฏิบัติการและปฏิกิริยาสนองตอบต่อประชาชนพลเมืองต่างไปจากหน่วยทหารที่ได้รับการ “พักหรือเว้นวรรค” จากการปฏิบัติหน้าที่ในสนาม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีการผัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามหน่วยต่างๆ สะท้อนให้เห็นความผิดพลาดของรัฐบาลและ ศอฉ. ในการตัดสินใจเลือกใช้กำลังพลที่มีอารมณ์โกรธเกรี้ยวฉุนเฉียวกับประชาชน จนส่งผลให้เกิดอคติอย่างรุนแรง และปฏิบัติต่อประชาชนอย่างรุนแรง โดยลำดับ 

สิ่งเหล่านี้น่าจะป้องกันบรรเทาได้ด้วยการใช้หน่วยทหารที่มีความชำนาญเฉพาะ เช่น หน่วยปฏิบัติการจิตวิทยาทหาร หรือกลุ่มทหารพัฒนามากกว่าจะใช้หน่วยรบ

ขณะเดียวกันปัญหาในการบังคับบัญชากองทัพก็เป็นเรื่องน่าสังเกตว่าสายการบังคับบัญชาในระหว่างก่อนเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าบทบาทของกองทัพในเดือนเมษายนที่กดดันให้รัฐบาลต้องเจรจามากกว่าจะใช้กำลังทหาร  

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ระบบการตัดสินใจและสายการบังคับบัญชาว่ารัฐบาล กองทัพ และศอฉ. ใช้หน่วยทหารกลุ่มเดียวกัน นับตั้งแต่ เมษายน 2552, เมษายน 2553 และ พฤษภาคม 2553 สะท้อนการตัดสินใจแบบใด และเป็นการตัดสินใจที่แบบที่เล็งผลชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือหวังผลให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด หรือไม่ ทั้งนี้มีแรงกดดันใดจากภายนอกโครงสร้างรัฐหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาในระยะยาวที่สังคมไทยจะต้องขบคิดทบทวนปฏิบัติการของรัฐต่อประชาชนหรือไม่

  1. การเคลื่อนกำลัง ในการเคลื่อนกำลังของกองทัพใช้รถสายพานและรถบรรทุกส่วนหนึ่งในการเคลื่อนกำลังรถสายพานดัดแปลงเพื่อสลายการชุมนุมเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังที่ปรากฏในวันที่ 10 เมษายน ว่าการใช้รถสายพานลำเลียงน่าจะก่อให้เกิดผลทางจิตวิทยาในการข่มขวัญฝ่ายผู้ชุมนุมและช่วยป้องกันนายทหารภาคสนามได้ แต่หลังจากวันที่ 10 เมษายนยุทธวิธีนี้น่าจะข่มขวัญได้และสร้างความโกรธแค้นมากกว่า

ในการใช้รถบรรทุกพบว่ามีความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพของทหาร เนื่องจากผู้ชุมนุมกระจายตัวไปตามจุดต่างๆ และมีปฏิกิริยาโกรธแค้นต่อการปฏิบัติการทางทหาร ดังจะเห็นจากการเข้าขวาง ทุบรถ ยึด ทำลาย หรือใส่ทรายลงในถังน้ำมัน เป็นต้น ในบางกรณีมีการส่งตัวทหารขึ้นรถแท็กซี่ แต่ในบางกรณีทหารถูกทำร้ายจนต้องมีการกันตัวออกไปโดยเร็ว 

  1. การสื่อสารสั่งการตามสายการบังคับบัญชาในปฏิบัติการทางทหารที่ใช้กำลังกว่าห้าหมื่นนาย ได้ใช้วิธีการสื่อสารใดในระหว่างปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นจดหมาย หนังสือราชการ สั่งการทางวิทยุ โทรศัพท์ มีการสอบทวนคำสั่งที่ถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะจากการที่โฆษก ศอฉ. ออกมาชี้แจงว่าจะยึดมาตรการ 7 ข้อ จากเบาไปหาหนักนั้น ได้มีการเน้นย้ำและปฏิบัติจริงเพียงไร

ภาพรถจักรยานยนต์ที่ล้มลงพร้อมการเสียชีวิตของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาระในวันที่ 28 เมษายน 2553 น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญในการจัดการสื่อสารของกองทัพได้ไม่มากก็น้อย และได้แก้ไขปัญหานี้ก่อนจะเข้าขัดการกับ นปช. ในเดือนพฤษภาคม อย่างไร

ในบางกรณีก็ยังเป็นปริศนา เช่น บุคลากรของกองทัพอากาศ 2 นาย ขับขี่รถยนต์กระบะเข้าพื้นที่ในวันที่ 17 พฤษภาคมและถูกยิงบริเวณ ทำให้ จ.อ.อ. พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ เสียชีวิต เป็นต้น

  1. ในทางยุทธวิธีว่าทหารได้รับคำสั่งให้ดำเนินการกับ นปช. และผู้ชุมนุมอย่างไร  มีมาตรการแยกแยะผู้ชุมนุม ออกจากประชาชนทั่วไปและกลุ่มก่อการร้ายหรือไม่ ทาง ศอฉ. ได้จัดทำแผนใดรับรองหรือไม่ ดังเช่น การดำเนินการกับพระภิกษุที่เข้าร่วมและสังเกตการชุมนุมได้ดำเนินการโดยละมุนละม่อมอย่างไร การปฏิบัติต่อเยาวชนและสตรี ได้กำกับแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมต่อผู้ปฏิบัติงานสนามโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายหรือไม่  

  2. ปฏิบัติการของ ศอฉ. เน้นการใช้วิธีการใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญ เช่น การยิงปืนขึ้นฟ้าถูกใช้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม เวลา 0.10 น. ซึ่งเป็นเวลากลางดึก จากนั้นก็ใช้วิธีการยิงกระสุนยางในตอนเช้าเวลา 7.00 น. เพื่อเปิดทางให้ทหารเข้าพื้นที่ควบคุม จากนั้นมีการใช้กระสุนยางยิงเปิดทางในเวลาประมาณ 12.00 น. แต่ก็มีการยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญอีก

ในเวลา 12.30 น.มีการใช้แก๊สน้ำตาและยิงปืนข่มขู่ควบคู่กัน จนกระทั่งมีการปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มกองกำลังในสวนลุมพินีมีการปะทะกันด้วยกระสุนจริงในช่วงเวลา 12.30-13.30 น. ส่วนการ์ด นปช. ในย่านถนนพระราม 4 ได้จำกัดการตอบโต้เพียงประทัดยักษ์และพลุบั้งไฟ

ในเวลาต่อมามีการปะทะกันระหว่างทหารกับการ์ด นปช. ที่ยิงน็อต หินและลูกแก้วพลุตะไล ขณะที่ทหารเลือกใช้กระสุนยางตอบโต้ 

การปะทะดำเนินไปจนถึงเวลา 14.00 น. จึงพบผู้เสียชีวิตศพแรกบริเวณริมบึงในสวน ลุมพินี 

ความรุนแรงจึงถูกยกระดับขึ้นด้วยอารมณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมและทหารที่ปฏิบัติการ เช่น ที่แยกราชปรารภ เวลา 20.45 ผู้ชุมนุมด่าทอยั่วยุทหาร แต่ทหารยิงปืนขึ้นฟ้าตอบโต้ ผลก็คือมีผู้ชุมนุมถูกกระสุนปริศนายิงเข้าลำคอ ตัดเส้นเลือดใหญ่

ขณะที่ทางแยกมักกะสัน ทหารใช้วิธีเรียงแถวหน้ากระดานกดดันโดยใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าและใช้กระสุนยางยิงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม

ความสับสนระหว่างการชุมนุมและการจัดการฝูงชนของ ศอฉ. มีข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬใน พ.ศ. 2535 นั้น น่าจะเป็นบทเรียนที่ถูกนำมาพิจารณาก่อนใช้กำลังทหารจัดการฝูงชน เมื่อทหารไม่สามารถใช้วิธีกดดันโดยเริ่มจากการเข้าแถวเรียงหน้ากระดาน แล้วยิงกระสุนยางข่มขวัญ แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนมาใช้กระสุนจริง การดำเนินการเช่นนี้จึงน่าจะขึ้นกับผู้บังคับบัญชาภาคสนามในการตัดสินใจ

กรณีพฤษภาทมิฬใน พ.ศ. 2535 รัฐบาลเริ่มใช้กำลัง “กระชับวงล้อม” ตั้งแต่เวลา 3.00 น. ในวันที่ 18 พฤษภาคม บางส่วนไปจัดการที่ถนนราชดำเนินโดยใช้กำลัง 1 กองพัน “เรียงหน้ากระดานไปหากลุ่มม็อบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเริ่มเปิดฉากยิงเป็นชุดๆ โดยยิงเฉียงขึ้นฟ้า” ปฏิบัติการดังกล่าวไม่สามารถระงับฝูงชนที่โกรธแค้นได้และนำมาซึ่งความรุนแรงในการปะทะกัน ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกของทหารที่ปฏิบัติการ ดังจะเห็นได้จากการปฏิบัติต่อประชาชนและคณะแพทย์ในโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นภาพที่หลายคนน่าจะยังจดจำได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญคือเหตุใดทั้ง ศอฉ. และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ (หรือนายอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้รู้เห็นในกรณีพฤษภาคม 2535 โดยตรง) จึงไม่มีการทบทวนบทเรียนจากเดือนพฤษภาคม 2535 ว่าการใช้วิธีดังกล่าวจะนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด เพราะการยิงขึ้นฟ้าข่มขวัญด้วยกระสุนจริงก็เสี่ยงต่อความบาดเจ็บล้มตาย เมื่อกระสุนตกจากท้องฟ้าก็สามารถสร้างอันตรายถึงชีวิตในระดับเดียวกับการประทับเล็งยิงไปข้างหน้า 

  1. เมื่อรัฐใช้ทหารเข้าจัดการชุมนุมของพลเรือน เครื่องบ่งชี้ความรุนแรงอีกประการหนึ่งได้แก่การใช้กระสุนรบกับประชาชน หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มีการเปิดเผยจำนวนกระสุนที่ถูกเบิกจ่ายและใช้ไปในระหว่างการจัดการเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 ยอดเบิกจ่ายกระสุนปืน ตั้งแต่ 11 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553 น่าสะเทือนใจเพราะ พล.อ.ดาว์พงษ์ ถึงกับอุทานว่า "ตัวเลขเป๊ะๆ" นั้น หลุดออกมาได้อย่างไร…” 

ตามรายงานการใช้กระสุนปืนและ เครื่องระเบิด (สป.5) ของกรมสรรพาวุธ ทบ. ระบุว่ามีการเบิกกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 เกจ เบอร์ 00 ไปทั้งหมดรวม 350,000 นัด แต่ส่งคืนคลังแค่ 301,271 นัด กระสุนปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 ม.ม. เอ็ม 193 ที่ใช้กับปืนเอ็ม-16 เอ 1 จำนวน 20,000 นัด แต่คืนคลัง 17,260 นัด

กระสุนปืนเล็กยาว 5.56 เอ็ม 855 หรือที่เรียกกันว่า "กระสุนหัวสีเขียว" ที่ใช้กับปืนเอ็ม-16 เอ 2 จำนวน 150,000 นัด แต่ส่งคืนคลัง 105,268 นัด

กระสุนปืนเล็กยาวซ้อมรบ 5.56 หรือกระสุนแบลงค์ 10,000 นัด คืนมาแค่ 3,380 นัด กระสุนปืนเล็กยาวแบบเจาะเกราะ 85,000 นัด ส่งคืน 5,500 นัด กระสุนปืนเล็กยาว 7.62 แมตช์ เอ็ม.852 ที่ใช้กับปืนเอ็ม-60 จำนวน 2,000 นัด ส่งคืน 860 นัด และ กระสุนปืนเล็กยาว 88 ราง 8 นัด จำนวน 50,000 นัด ส่งคืน 45,158 นัด

กระสุนปืนซุ่มยิง (สไนเปอร์) แบบ SG 3,000 ขนาด 7.62 ม.ม. ที่มีการเบิกไปถึง 3,000นัด แต่มีการนำมาคืนคลัง 480 นัด

ในรายงานของหนังสือพิมพ์มติชนถึงกับระบุว่าข้อมูลดังกล่าว “...สะท้อนว่าทหารได้ลั่นกระสุนสไนเปอร์ไปมากกว่า 2,000 นัด…”

  1. การตั้งเขตยิงกระสุนจริง ในเขตราชปรารภ และซอยรางน้ำเป็นการสร้างข้อกังขาให้แก่ผู้ได้พบเห็นมาก เพราะเป็นจุดที่มีการเสียชีวิตมากที่สุดจุดหนึ่ง ผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากผู้ชุมนุมและประชาชน เยาวชน จนถึงประชาชนที่พักอาศัยในย่านดังกล่าว 

เขตยิงกระสุนจริงถูกประกาศในเวลา 11.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ถนนราชปรารภตัดกับแยกดินแดง แต่เพียงไม่นานก็ถูกถอด เปลี่ยนเป็นป้าย “บริเวณนี้ใช้เครื่องมือปราบจราจล” ในเวลา 16.20 น. ของวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 รวมเวลาที่ใช้กระสุนจริงอย่างน้อย 29 .20 ชั่วโมง หรือหนึ่งวันกับ 5.20 ชั่วโมง

ตามรายงานของ คมชัดลึกระบุว่าประมาณ 11.00 น. มีการระดมยิง M79 มาอย่างต่อเนื่อง แต่ในระหว่างการประกาศพื้นที่ยิงกระสุนจริงนั้นมีความตึงเครียดมาก เพราะการปะทะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถลำเลียงผู้บาดเจ็บได้ มีการตอบโต้จากผู้ชุมนุมโดยการเผาตู้โทรศัพท์ทำให้เกิดไฟลุกลามไปอาคารใกล้เคียง จากนั้นจึงยึดรถน้ำเพื่อขวางถนน

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าทหารสามารถยึดพื้นที่ ถ. ราชปรารภได้ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม แต่การปะทะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีรายงานว่ามีการระดมยิงจากตึกสูงจากกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่าย

วันที่ 15 พฤษภาคม ยังมีการตั้งเขตยิงกระสุนจริงยังขยายไปถึงบริเวณแยกพระราม 4 บ่อนไก่ และหน้าสนามมวยลุมพินีที่มีรายงานว่าทหารติดตั้งป้าย “เขตใช้กระสุนจริง” ในเวลา 18.05 น. และแจกจ่ายอาวุธ M16 ให้แก่ทหาร

เป็นที่น่าสังเกตว่าปฏิบัติการตั้งเขตยิงกระสุนจริงนั้นเป็นไปตามคำแถลงเรื่องมาตรการ 7 ข้อ ของ ศอฉ. หรือไม่? หรือมีคำสั่งในรูปอื่นใดที่อนุญาตให้ทหารปฏิบัติการยกระดับความรุนแรงเป็นการใช้กระสุนจริง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องรอตรวจสอบจากทหารปฏิบัติการจริงทั้งสัญญาบัตรและประทวนในพื้นที่ มิใช่ทหารฝ่ายธุรการที่ส่งมาให้ปากคำแก่สังคม  

  1. การจัดการหน่วยกู้ชีพ ความสูญเสียอาจลดได้มาก หากรัฐบาลได้จัดเตรียมกำลังและประสานงานกับหน่วยกู้ชีพ เว้นแต่มีความต้องการกำจัดผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม เวลาประมาณ 18.30 น. หน่วยกู้ชีพทุกหน่วยถูกสั่งให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ ผู้ชุมนุมรับภาระในการนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลเอง, ในวันที่ 15 พฤษภาคม เวลา 16.50 น. รถกู้ชีพไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เพราะถูกทหารยิงสกัดเอาไว้ มีเพียงคันเดียวที่เข้าไปรับคนเจ็บได้ ในวันนั้นกล่าวได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ของหน่วยกู้ชีพ เพราะมีอาสาสมัครคือนายมานะ แสนประเสริฐศรี ถูกยิงเสียชีวิตที่ซอยงามดูพลีขณะที่นำรถไปรับศพที่โรงพยาบาลเลิดสิน ทั้งๆ ที่เป็นเวลากลางวันประมาณ 17.05 น. มีแสงสว่างชัดเจนพอที่จะแยกแยะได้

  2. การเจรจาเพื่อลดระดับความขัดแย้งให้เข้าสู่ภาวะปกติ ความพยายามในการเจรจาของฝ่ายรัฐบาลขึ้นกับบทบาทของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในขณะที่แกนนำ นปช. มีบทบาทสำคัญในการเจรจาตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม และเมื่อการเจรจาล้มเหลวจะเห็นได้ว่ามีความพยายามของกลุ่มอื่น เช่น ฝ่ายวุฒิสภาที่เสนอตัวเข้ามาร่วมคลี่คลายวิกฤต 

ในวันที่ 17 พฤษภาคม เวลา 15.20 น. พล.ต.ท. ยุทธนา ไทยภักดี นำคณะมายื่นหนังสือเพื่อเสนอทางออก โดยกลุ่มส.ว. ได้ประชุมมีข้อเสนอยุติหาทางออกให้กับบ้านเมือง คือ 1. ขอให้รัฐบาลยุติการใช้กำลังสลายการชุมนุม 2. ขอให้กลุ่ม นปช. หยุดโต้ตอบการใช้ความรุนแรง และ 3. ขอให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าเจรจาเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ทางวุฒิสภาพร้อมเป็นตัวกลาง ซึ่งกลุ่มสว. ยืนยันว่ายื่นข้อเสนอกับทางรัฐบาล และรัฐบาลพร้อมเจรจา แต่ที่ผ่านมาการเจรจามีปัญหา เพราะนปช. มีการเปลี่ยนแปลงข้อเจรจาตลอดเวลา กระทั่งวันที่ 18 พฤษภาคม เวลา 19.10 น. คณะตัวแทน 64 ส.ว. ประกอบด้วย พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช พล.ต.ท. ยุทธนา ไทยภักดี นางนฤมล ศิริวัฒน์ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ และนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ได้เข้าหารือกับแกนนำ นปช. เพื่อยื่นข้อเสนอในการเจรจาปรองดองกับรัฐบาล พล.อ.เลิศรัตน์ แถลงว่า กลุ่ม สว. มีความห่วงใยในสถานการณ์บ้านเมืองจึงมีมติมาช่วยคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมือง มีการส่งตัวแทนเพื่อเข้ายื่นข้อเสนอต่อนายกฯ และมาประชุมกับแกนนำ นปช. ซึ่งได้รับข้อสรุปว่า แกนนำ นปช.เห็นชอบข้อเสนอของส.ว. ที่จะให้ประธานวุฒิสภาเป็นทูตประสานการเจรจา โดยจะให้มีการหยุดยิงทั่ว กทม. ทั้งบ่อนไก่ ราชปรารภและศาลาแดง ทั้งนี้แกนนำ นปช. ยังเรียกร้องผ่านประธานวุฒิสภา ให้เจ้าหน้าที่เลิกใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมทุกกรณี ที่เกิดความรุนแรงตลอด 5 วัน เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม และทำให้เกิดความรุนแรงโดยไม่เจตนา ในฐานะที่เป็นทหาร เชื่อว่าทหารไม่มีใครอยากฆ่าประชาชนคนไทยด้วยกัน และให้มีการยุติการใช้อาวุธและความรุนแรง

อย่างไรก็ดี ไม่มีคำตอบจากฝ่ายรัฐบาลจนวินาทีสุดท้ายที่เข้าสลายการชุมนุม ส่งผลให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งกรณี 6 ศพวัดปทุมวนารามอีกด้วย

ข้อเสนออื่นๆ

11. การละเลยรายละเอียดเล็กๆ แต่สำคัญในเทคนิคการเจรจาแบบสันติวิธี เช่น การจัดโต๊ะเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช. เป็นจัดโต๊ะแบบประจันหน้า ที่กำหนดลำดับชั้น อาวุโส และการเป็นคู่ตรงกันข้าม น่าเสียดายว่าทีมสันติวิธีที่เป็นคนกลางน่าจะพิจารณาจัดโต๊ะแบบกลม เพื่อเลี่ยงความรู้สึกประจันหน้าระหว่างศัตรู 

นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ว่าในช่วงท้ายๆ ของการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ได้มีความพยายามของสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งพยายามเสนอตัวเข้ามาไกล่เกลี่ย แต่ทาง ศอฉ. ไม่สนองตอบแต่อย่างใด ยังคงรุกคืบเข้ากระชับพื้นที่ ถึงแม้ว่าจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งมาถึงตอนนี้อาจเป็นเรื่องไร้เดียงสาที่จะกล่าวว่ากระบวนการสันติวิธีในสังคมไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง 

ข้อสังเกตทั้ง 11 ข้อ เป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นเพื่อคลี่คลายปัญหาการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งบทเรียนนี้จะได้ขยายการศึกษาในระยะยาวต่อไป

 

ข้อสังเกตว่าด้วยผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บและเสียชีวิต

  1. กลุ่มผู้บาดเจ็บ 

เอกสารที่ได้จากสถานพยาบาล ได้มีสถิติคนเจ็บระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม พบว่ามีคนจ็บที่ถูกบันทึกเอาไว้จำนวน 582 ราย เวลาที่ผู้บาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาลเป็นเวลาระหว่าง 12.00-18.00 น. เป็นช่วงเวลาที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุดถึงร้อยละ 30 เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นเวลากลางวันที่ผู้บาดเจ็บน่าจะเป็น “เป้าหมาย” ที่ชัดเจนและผู้ยิงหรือสั่งการยิงมาสมารถ “เห็น” ได้เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีแสงแดดปกติ รองลงมาคือกลุ่มที่ถูกยิงระหว่างหลังเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้ากว่าร้อยละ 16 แต่กลุ่มผู้บาดเจ็บที่มากที่สุดไม่สามารถระบุเวลาแห่งอาการบาดเจ็บได้ถึงร้อยละ 41 

ในกลุ่มผู้บาดเจ็บเป็นพลเรือนถึงร้อยละ 90.2 ขณะที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจร้อยละ 7.04

กลุ่มผู้บาดเจ็บเป็นชายมากที่สุดคือร้อยละ 93.99 และเพศหญิงร้อยละ 5.84

ในการบาดเจ็บที่ระบุอาการได้พบว่าถูกกระสุนร้อยละ 45.36 สามารถจำแนกเป็นบาดแผลที่ศีรษะร้อยละ 9.59 คอร้อยละ 2.24 ลำตัวร้อยละ 27.4 ช่วงแขนร้อยละ 22.26 ขาร้อยละ 28.77

  1. กลุ่มผู้เสียชีวิตซึ่งนับเฉพาะบริเวณบ่อนไก่พระราม 4 ร้อยละ 20 สีลม (ศาลา

แดง สวนลุมพินี และราชดำริ) ร้อยละ 22 รางน้ำดินแดงร้อยละ 30 ราชปรารภและซอยหมอเหล็งร้อยละ 7 

รวมยอดผู้เสียชีวิตในเขตดังกล่าว ระหว่าง 13-19 พฤษภาคมมีจำนวน 55 ราย กลุ่มใหญ่ที่สุดคืออายุวัยฉกรรจ์จนถึงวัยกลางคน คือระหว่าง 20-49 ปี ในกลุ่มนี้เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ (รับจ้าง แท็กซี่ อาสาสมัครและค้าขาย) กว่าร้อยละ 61 เป็นทหารร้อยละ 6

ภูมิลำเนาของผู้เสียชีวิตมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 42 รองลงมาคือกรุงเทพมหานครร้อยละ 35 ไม่สามารถระบุได้ร้อยละ 15 

ตำแหน่งบาดแผลที่มีนัยสำคัญต่อการเสียชีวิต พบว่าร้อนละ 36 เป็นบาดแผลที่ศีรษะ ช่วงอกร้อยละ 27 ช่วงลำตัวร้อยละ 12 ลำคอร้อยละ 11

สาเหตุของการเสียชีวิตได้แก่อาวุธปืนถึงร้อยละ 78 ร้อยละ 9 เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต 

มีข้อสังเกตว่าอัตราส่วนของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่บาดเจ็บจากกระสุนปืน และน่าจะพิจารณาประกอบกับการปฏิบัติการของ ศอฉ. ว่าเป็นไปด้วยความละมุนละม่อมหรือไม่ อย่างไร เพราะสัญญาณของความรุนแรงที่มากขึ้นน่าจะสัมพันธ์โดยตรงกับการห้ามรถกู้ชีพเข้าพื้นที่และมีเจ้าหน้าที่กู้ชีพถูกสังหาร

 

ว่าด้วยประชาชนในการเมืองร่วมสมัย

ปัญหาของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนกับบทบาทของรัฐมีมาโดยตลอด ในยุคก่อตัวของรัฐชาตืได้มีความพยายามสร้างพลเมืองของรัฐที่ยกระดับจากการเมืองแบบไพร่ฟ้าให้เป็นการเมืองแบบมีส่วนร่วม ซึ่งในปัจจุบันกล่าวได้ว่าบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวในระดับหนึ่ง แต่ทัศนะในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนยังคงเป็นปัญหาร่วมสมัย

เมื่อนักคิดคนสำคัญในยุคปัจจุบัน Giorgio Agamben พูดถึงประชาชน เขาหมายถึงสมาชิกทุกคนที่เป็นองค์รวมของสังคม การมีชีวิตในรัฐก็คือการเข้าร่วมในชุมชนที่ถูกก่อตั้งเพื่อประโยชน์ของสิ่งมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกทุกคนในชุมชน ดังที่เคยกล่าวไว้ว่า Agamben มองว่าสิ่งมีชีวิตนั้นประกอบด้วย Zoë หรือร่างที่มีชีวิตกับ bios หรืออากัปกิริยาของการมีชีวิตที่มีความหมายทางการเมือง ชีวิตที่เคลื่อนไหวแต่ขาดความหมายและการยอมรับทางการเมืองจึงเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า (naked life) ดังนั้น ประชาชนในความหมายที่แท้จริงจึงหมายถึงชีวิตที่ดำรงอยู่ในรัฐและต้องเป็นชีวิตที่เข้าถึงและได้รับการยอมรับทางการเมือง 

แต่กระนั้น คำว่าประชาชนมีความหมายหลายหลากไปตามแต่บริบทประวัติศาสตร์การเมือง คำว่าประชาชนในภาษาและบริบทอังกฤษหมายถึงสามัญชน (ordinary people) ส่วนในรัฐธรรมนูญอเมริกันที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “We the people of United States..” กลับหมายความถึงประชาชนทุกคน หรือในการเมืองไทยที่พยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยให้เรียกคนรากหญ้าว่ารากแก้ว การเรียกขานและช่วงชิง “ประชาชน”  จึงเป็นการเมืองของชีวอำนาจ (biopolitics) ที่เปลี่ยนประชาชนให้เป็นเป้าหมายที่ต้อง “ถูกพัฒนา” หรือเปลี่ยนให้เป็นพลเมืองที่ดีของรัฐ

ปรากฏการณ์ “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” ซึ่งเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ลดทอนความรุนแรงของกำลังกายภาพให้ดูไม่รุนแรง  

ในห้วงวิกฤตระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 นั้น บรรดานักวิชาการและสื่อสายเหยี่ยวถึงกับเรียกร้องและสนับสนุนให้ใช้กำลังหรือกองทัพบดขยี้ ดังนักวิชาการท่านหนึ่งเอ่ยว่า “ถ้าประชาชนเป็นกบฎ ก็ต้องฆ่า” หรือศิลปินหลายคนสนับสนุนให้ฆ่าได้โดยไม่ปราณี พระสงฆ์องคเจ้าบางตนก็เปรยว่าฆ่าคนดีกว่าฆ่าเวลา เป็นต้น มีแม้กระทั่งที่แสดงตนเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐจนถึงขั้นมีข่าวว่านักวิชาการบางคนไป “คัดกรอง” และ “ชี้ตัว” บุคคลที่เข้าข่ายว่าจะเป็นการ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งหมดนี้ หากเราไม่ทบทวนความจริง สืบสวนข้อเท็จจริงกฎหมายในสภาวะฉุกเฉินก็เสมือนเป็นใบมรณบัตรเปล่าๆ ที่รัฐกรอกตัวเลขได้ตามอำเภอใจ

ที่สำคัญ หากเรายอมรับมาตรฐานปฏิบัติการของการแก้ไขปัญหาการชุมนุมในสังคมไทยนี้ และลดระดับความรับผิดทางกฎหมายและศีลธรรมลง เรากำลังยอมรับว่าการใช้กำลังทหารมาควบคุมฝูงชนด้วยอาวุธสงครามเป็นสิ่งที่ชอบธรรม การใช้กระสุนยางในเบื้องต้นแล้วปรับมาใช้กระสุนจริงเป็นสิ่งที่กระทำได้ เรากำลังยอมรับว่ารัฐสามารถใช้อำนาจตั้งเขตการใช้กระสุนจริงกลางเมืองที่ใครก็ตามมีสิทธิเป็นเหยื่อได้ และไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ 

กล่าวคือ ในอนาคตไม่ว่า “ใคร” มาเป็นรัฐบาลก็สามารถใช้ “วิธีการดังว่า” กับ “ฝ่ายตรงกันข้ามตน” ได้

อะไรทำให้เราเสื่อมถอยจนลืมสาระสำคัญของชีวิตในรัฐไปหาความรุนแรง? นักทฤษฎีการเมืองร่วมสมัย เช่น Giorgio Agamben กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง Homo Sacer ผู้ซึ่งเป็นเสมือนคนที่ต้องคำสาปจนถูกห้ามเข้าร่วมกับชุมชนทางการเมือง และอาจถูกสังหารจากใครก็ได้ ชีวิตเช่นนี้ก็คือสิ่งที่อาเรนด์เรียกว่า “ชีวิตที่เปลือยเปล่า” (naked life หรือ bare life) เป็นคนซึ่งมีชีวิตในทางชีววิทยา (Zoë) แต่ไม่มีนัยสำคัญทางการเมือง (bios) หลงเหลืออยู่ ในสภาวะฉุกเฉิน (state of emergency) นี้เองที่รัฐเอ่ยอ้างฉวยอำนาจในสถานการณฉุกเฉินมากระทำการที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะมี Zoë และ bios ให้เหลือเพียงสิ่งมีชีวิตที่คงเหลือแต่ชีวิตชีวะที่อาจบดขยี้หรือถูกกระทำการใดๆ ได้ทุกเมื่อ หรือจากใครก็ได้ 

หากยอมรับมาตรฐานการจัดการกับผู้ชุมนุมใหม่นี้ ก็เท่ากับเรากำลังยอมรับว่าวิถีชีวิตแบบ Homo Sacer หรือชีวิตทางการเมืองที่ไร้นัยสำคัญทางการเมืองอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้

 

เราต่างมีส่วนร่วมรับผิดชอบ: แนวทางการปรองดองของสังคมไทย

ปัญหาประการหนึ่งในการส่งเสริมโครงสร้างของความรุนแรงในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมก็คือความล้าหลังในกรอบวิเคราะห์ยุคสงครามเย็นและเอามาใช้ในวาทกรรมทางสังคม 

ในช่วงการปราบปรามฝ่าย นปช. มีข้อถกเถียงว่าชนชั้นนำไทยยอมจะเป็นรัฐอำนาจนิยม (Authoritarian state) มากกว่าจะเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed state) กล่าวคือยอมดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรง และปกครองในระบอบเผด็จการมากกว่าจะยอมถูก “แทรกแซง” จัดการจากต่างชาติ ข้อคิดเห็นนี้มีส่วนจะต้องขบคิดทบทวนว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ “เด็ดขาด” ของรัฐบาลหรือไม่ เช่น ในการอภิปรายของนายโสภณ สุภาพงษ์ทาง NBT ในวันที่ 16 พฤษภาคม ถึงกับมีข้อสรุปว่า “รัฐบาลนี้แพ้ ประเทศนี้แพ้ ไม่ใช่เรื่องการเมืองแล้ว เป็นเรื่องของรัฐ มันคือขบวนการล้มรัฐ” 

หากจะกล่าวในที่สุดแล้วปฏิกิริยาต่อข้อถกเถียงเรื่องรัฐที่ล้มเหลวกลายมาเป็นแรงกระตุ้นให้รัฐบาลใช้กำลังเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับกลุ่ม นปช. เป็นเรื่องจริง ข้ออ้างเรื่องความกังวลว่าประเทศไทยจะเป็นรัฐที่ล้มเหลวก็เป็นเพียงศิลปวิทยาการปกครอง (statecraft) หรือแม่ไม้ในทางการควบคุมและใช้อำนาจที่ช่วยเร่งเร้าให้การตัดสินใจตามแนวทางสันติวิธีแผ่วลดกระแสลงในที่สุด

การหวนคืนสู่สภาวะปกติของสังคมไทยจะต้องพิจารณาองค์ประกอบที่หลากหลายมากขึ้นกว่าแนวทางการปรองดองในปัจจุบัน หากต้องรุกคืบไปถึงการกำหนดมาตรการจัดการชุมนุมของพลเรือนที่มีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นระบบสากล

เมื่อเป็นเช่นนี้ การคืนความหมายของคุณค่าชีวิตทางการเมืองให้แก่ชีวิตที่เปลือยเปล่า (naked life) จึงมีนัยสำคัญต่อการปรองดอง (reconciliation) ของสังคม กรณีการปะทะกันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับรัฐบาล, ระหว่างรัฐบาลกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับกลุ่มคนเสื้อแดงที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2551-2553 จนเป็นเหตุแห่งการเสียชีวิตนับร้อยคน บาดเจ็บนับพันๆ ยังมีผู้ที่หวาดผวาระแวงต่อการใช้อำนาจรัฐอีกมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลเองก็สูญเสียไม่น้อย ความขัดแย้งเหล่านี้เป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่ได้มีรากมาจาก พ. ต. ท. ทักษิณ ชินวัตรเพียงคนเดียวอย่างที่คนจำนวนมากเข้าใจ ถ้าเราไม่สามารถเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาได้ดังว่าก็ต้องกลับมาพิจารณาโครงสร้างสังคมไทยว่าเป็นโครงสร้างที่เสริมส่งต่อการใช้ความรุนแรงหรือไม่ 

ในประการหนึ่งก็คือการกลับมาทบทวนปฏิบัติการของรัฐต่อประชาชนของตัวเองในห้วงเวลาที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความเด็ดขาดรุนแรงและมีมวลชนจำนวนหนึ่งหนุนหลัง 

ใช่หรือไม่ว่าต้องมีความรับผิดชอบจากรัฐต่อความผิดพลาด ทั้งที่จงใจและพลั้งเผลอที่ได้กระทำรุนแรงต่อประชาชนทุกเหล่าสี หากจะปรองดอง ต้องเริ่มจากคำขอโทษ การขอโทษที่เป็นรูปธรรมได้แก่การเยียวยาให้แก่ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตทุกฝ่ายอย่างเสมอหน้า การยอมรับความผิดพลาดของรัฐในการดำเนินนโยบายที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหา การยอมให้คนทุกหมู่สีมีที่ยืนทางการเมืองในท่ามกลางความแตกต่าง และเคารพกันให้เห็นเป็นรูปธรรม มิใช่การดูแคลนแต่ละฝ่าย 

คำตอบของการปรองดองจึงอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน

 

 

 

ภาคผนวก

ตารางที่ 1 แสดงความรุนแรงของการปะทะกันทางการเมืองในสังคมไทย นับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2514 ถึง 2553

 

ที่มา : จาก Bangkok Post, *มติชน 10 ตุลาคม 2551 รวบรวมโดยบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

 

 

1 บทความนี้เป็นส่วนวิเคราะห์จากเอกสารเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์และเอกสารทางการทั่วไป เพื่อวิเคราะห์บทบาทของ ศอฉ. กับการยกระดับความรุนแรง ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้ครอบคลุมถึงบทบาทของ นปช. ด้วยหวังว่าจะทำการศึกษาค้นคว้าตั้งข้อสังเกตในระยะต่อไป ซึ่งในเบื้องต้นผู้เขียนเห็นว่า ปฏิบัติการของ ศอฉ. ภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ปฏิบัติการและมีความรุนแรงจนเกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ จึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ว่ารัฐบาลและ ศอฉ. จะต้องสร้างความกระจ่างว่าในความขัดแย้งระหว่างเดือนเมษายน 2553 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 นั้นเกิดความรุนแรงจนถึงชีวิตของประชาชนได้อย่างไร เราจะต้องร่วมกันสร้างความโปร่งใสให้ปรากฏเป็นบทเรียนแก่สังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรณีชายชุดดำ 10 เมษายน, กรณีลอบสังหาร พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล, กรณีการเสียชีวิตของพยาบาลอาสาและประชาชนในเขตวัดปทุมวนาราม เป็นต้น แม้ขอบเขตของการศึกษาในบทความนี้จำกัดไปด้วยเวลาและขอบเขตของการเข้าถึงเอกสารและความจริงจำนวนมาก แต่การชี้ประเด็นข้อกังขาในบทความหวังว่าจะเป็นการเปิดข้อถกเถียงที่ยังไม่มีการเอ่ยถึง โดยเฉพาะบทบาทของ ศอฉ. และทหารกับการจัดการความขัดแย้งทางเมืองไทยในอนาคต ตลอดจนวิธีวิทยาในการจัดการการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน 

ผู้เขียนขอแสดงความขอบคุณกลุ่มมรสุมชายขอบที่อุตสาหะในการรวบรวมข้อเท็จจริงจากหนังสือพิมพ์ต่างๆ ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่าครึ่งปีและขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับนักข่าวภาคสนามทุกท่านที่ได้เสี่ยงชีวิตนำความจริงมาเผยแพร่ ตลอดจนหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ ขอขอบพระคุณ ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มูลนิธิ 14 ตุลา ดร. ภูมิ มูลศิลป์ คณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริงเฉพาะกรณี คณะที่ 4 คุณอภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา อย่างไรก็ดี ท่านเหล่านั้นไม่มีส่วนรับผิดชอบในความผิดพลาดใดๆ ของบทความนี้แต่อย่างใด

 

2 อนุกรรมการประจำคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริงเฉพาะกรณี คณะที่ 4 แต่งตั้งโดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ

 

 

3 ดูตารางที่ 1 ในภาคผนวก 1

 

 ดูภาคผนวก ข แนบท้ายคำสั่งของ ศอ. รส. ใน คำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 123/2553 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2553 ขณะที่วาสนา นาน่วม ระบุว่า ศอ. รส. มีอัตรากำลัง 34,517 นาย (วาสนา นาน่วม, 2553, น. 45) และเมื่อมีการขยายเวลา พ.ร.บ. ความมั่นคงระหว่าง 7-20 เมษายน 2553 ก็ได้ขยายกำลังเป็น 47,502 นาย และขยายอัตรากำลังเป็น 5.4 หมื่นนาย ภายหลังจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และยกระดับ ศอ. รส. เป็น ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

 

5 กองบรรณาธิการประชาไท. 2554. คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต. กรุงเทพ: มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย, หน้า 193. เปรียบเทียบผลของความสูญเสียในการปะทะระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับตำรวจปราบจราจลในวันที่ 7 ตุลาคม 2551; วาสนา นาน่วม ได้ระบุใน “ลับ ลวง เลือด” (2553, หน้า 70) ว่า “....มี “สัญญาณพิเศษ” มายังรัฐบาลและกองทัพว่า “ให้จบก่อนสงกรานต์” และวาสนาประเมินว่าในการปฏิบัติการครั้งนั้น “...แค่การเริ่มต้นก็ผิดยุทธวิธี...”

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
วันนี้ (31 พฤษภาคม) เป็นวันที่ 17 นับจากวันเลือกตั้งจบลง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีเวลาเหลืออีก กว่า 43 วัน ที่จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างน้อย ร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตและบัญชีรายชื่อ เพื่อให่้ระบอบการเมืองเดินไปอย่างต่อเนื่องและไม่ขาดต
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ช่วงที่พ่อแม่มาอยู่ด้วย ผมจะพาพ่อแม่ไปเที่ยวใกล้บ้าง ไกลบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง เพราะการพาคนแก่มาอยู่เมืองที่ไม่มีเพื่อนฝูงที่สนิทกันคงไม่ใช่เรื่องสนุกอาทิตย์ก่อนก็ขับออกไปพุทธมลฑลแล้วไปพระปฐมเจดีย์ วกออกไปทางบ้านแพ้ว ออกมาพระรามสอง ก็เจอรถติดยาว ในสั
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บทความนี้เขียนเร็วๆ จากบทสนทนาในไลน์กลุ่มที่ผู้เขียนเป็นสมาชิก เพื่อตอบคำถามสองส่วน ส่วนแรกคือเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นอยู่กับความได้สัดส่วนระหว่างขีดความสามารถของรัฐกับความคาดหวังจากสังคม ส่วนที่สองคือรัฐกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญขึ้นเรื่อยๆ 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อเช้ายังงัวเงียอยู่ (เพราะนอนดึก) มิตรสหายในไลน์กลุ่มก็ชวนคุยว่า จะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปทำไม่ ดูอย่างอเมริกาสิ ขนาดเปลี่ยนทรัมป์ออกไปเป็นโจ ไบเด็น ถึงวันนี้คนยังติดโควิดสูง แม้กระทั่งในทำเนียบขาว ผมเลยชวนดีเบตว่าเอาไหม ในที่สุด บทสนทนาก็มาถึงจุดที่ว่า เราไม่ควรเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 คนเราจะวัดความเป็นรัฐบุรุษที่แท้ได้ก็เมื่อวิกฤตการณ์มาถึง แล้วเขาสนองตอบต่อวิกฤตการณ์นั้นอย่างไร
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในวันที่ 2 มีนาคม 1757 (2300) เดเมียนส์ผู้ปลงพระชนม์ถูกตัดสินว่าให้ "กระทำการสารภาพผิด (amende honorable) หน้าประตูอาสนวิหารแห่งปารีส" เป็นที่ซึ่งเขาจะถูกเอาตัวไปและส่งไปกับล้อเลื่อน โดยสวมแต่เพียงเสื้อเชิ้ต ถือคบเพลิงที่มีขี้ผึ้งเป็นเชื้อหนังสองปอนด์ (ราว 1 กิโลกรัม) จากนั้นเขาจะถูกนำตัวไปบนล้อเ