ผมเขียนบทบรรณาธิการ วิภาษา ฉบับที่ 34 (1 พฤษภาคม-15 มิถุนายน 2554) เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยท่านนี้ เพื่อเป็นบรรณาการยามที่ท่านครบรอบ 70 ปี
ผ่านไปสามปีแล้ว ในวาระครบรอบ 73 ปี ผมขออนุญาตนำมาเผยแพร่ในที่นี้อีกครั้งหนึ่งครับ
ชื่อเดิมของบทความคือ "ข้างหลังภาพ: 70 ปี ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ"
“...ฉันก็ไม่รู้ บางครั้งฉันก็ช่วยฝึกบินให้นกบางตัวได้ แต่บางครั้งก็ล้มเหลว” นางนวลโจตอบอย่างถ่อมตัว “จุดเริ่มต้นนะ เธอจะต้องรักที่จะเรียนรู้เสียก่อน จากจุดนั้นบางทีทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น” นางนวลโจพูดต่อ “แต่ฉันจะลองดู ถ้านกกางเขนน้อยรักที่จะเรียนรู้”
“ขอบใจมาก ขอบใจจริงๆ” ต้อยกล่าวขึ้นอย่างยินดี ว่าแล้วเธอก็ส่งนกกางเขนให้นางนวลโจผู้สามารถ นางนวลโจรับนกกางเขนน้อยมาด้วยความเต็มใจ มันเอาปีกข้างหนึ่งที่แวววาวราวสีเงินแตะที่ไหล่ของนกกางเขนน้อยตัวนั้น”
(จาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2527). “บรรณาธิการแถลง” ใน ธรรมศาสตร์ 50 ปี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 841.)
หากจะว่าไปแล้วคนที่รู้เกร็ดเรื่องราวในธรรมศาสตร์ดีที่สุดคนหนึ่งคงหนีไม่พ้นอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เพราะอาจารย์ชาญวิทย์เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ตั้งแต่ยุคสายลมและแสงแดด ไปเรียนเมืองนอกและกลับมาเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ผ่านเข้ายุคหลัง 14 ตุลาคม และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาพื้นฐานในสมัยที่อาจารย์ป๋วยเป็นอธิการบดี อาจารย์ชาญวิทย์ยังเป็นรองอธิการบดีฝ่ายจัดงานธรรมศาสตร์ 50 ปี ซึ่งน่าจะเป็นตำแหน่งรองอธิการบดีเฉพาะกิจและจะมีครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ ตำแหน่งบริหารของอาจารย์ชาญวิทย์น่าจะรวมไปถึงการสมัครเข้าชิงตำแหน่งอธิการบดีและรับตำแหน่งในช่วงสั้นๆ ทั้งๆ ที่เป็นผู้บริหารชุด Dream team (ไม่ว่าจะเป็น ศ. รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และนักวิชาการเด่นๆ ของธรรมศาสตร์อีกหลายท่าน) แต่น่าเสียดายที่อาจารย์ชาญวิทย์และคณะต้องฝ่ามรสุมการเมืองภายในของธรรมศาสตร์จนช่วงบริหารงานของอาจารย์และคณะมีเพียงช่วงสั้นๆ ทิศทางของการพัฒนาธรรมศาสตร์จึงบิดรูปผันเปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน
ถ้าผมจำไม่ผิดอาจารย์ชาญวิทย์น่าจะเคยเป็นที่ปรึกษาโครงการนักศึกษาเรียนดีจากชนบท หรือโครงการช้างเผือกซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วย อาจารย์ชาญวิทย์ได้มีบทบาทสำคัญในการผลิตตำราและหนังสือในชุดของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตลอดจนความสนใจด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อาจารย์เรียกจนติดปากและแพร่หลายว่า “อุษาคเนย์” ผมยังจำได้ว่าอาจารย์มีลูกศิษย์ใกล้ชิดหลายคนทั้งที่เป็นศิษย์ธรรมศาสตร์และนอกธรรมศาสตร์ที่ทำงานสารคดี หลายคนกลายเป็นนักสารคดีมือฉมัง บ้างก็อยู่วงการสื่อ ขณะที่หลายคนเป็นนักวิชาการ
บทบาทของอาจารย์ชาญวิทย์ในฐานะนักวิชาการที่เป็นปัญญาชนสาธารณะ ประเด็นที่โดดเด่นประเด็นหนึ่งคือการเรียกร้องให้กลับไปใช้นามสยามประเทศ อาจารย์น่าจะเป็นคนโรแมนติกมากที่มองถึงความหลากหลายของสยามในอดีตมากกว่าปัจจุบัน
ผมไม่พบเจออาจารย์ชาญวิทย์อีกหลายปีจนไปเรียนปริญญาเอกที่ฮาวายอิ วันหนึ่งก็ได้พบอาจารย์บาร์บารา วัตสัน อันดายา เพื่อนของอาจารย์ชาญวิทย์สมัยเรียนคอร์แนลที่บอกผมว่าอาจารย์ชาญวิทย์จะมาสอนที่นี่หนึ่งเทอม เมื่อได้พบกัน เราจึงได้มีโอกาสนั่งคุยกันตามสมควร เพื่อนฝูงใกล้ชิดต่างได้กินข้าวเย็นฝีมืออาจารย์กันถ้วนหน้า
อาจารย์ชาญวิทย์เป็นผู้ริเริ่มโครงการ walking tour ในธรรมศาสตร์ ที่รวมไปถึงประวัติศาสตร์คณะราษฎรที่ข้างพระบรมรูปทรงม้า การทำทัวร์เดินถนนในธรรมศาสตร์น่าจะช่วยให้นักศึกษาจำนวนไม่น้อยได้ตระหนักถึงความผูกพันที่ธรรมศาสตร์มีต่อการเมือง และพันธะของธรรมศาสตร์ต่อสังคมไทยไม่มากก็น้อย
ย้อนไปสมัยเรียนปริญญาตรี ผมและเพื่อนที่ทำกิจกรรมร่วมกันในนามพรรคธรรมาธิปไตยได้เดินไปเคาะประตูห้องอาจารย์เพื่อเรียนเชิญเป็นวิทยากรในโครงการล่องเรือศึกษาประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อหาเรื่องเที่ยวและหาเงินเข้าพรรค ในห้องทำงานของอาจารย์เต็มไปด้วยหนังสืออัดแน่นแต่เรียงบนชั้นอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย บนผนังมีโปสเตอร์การเมืองจำนวนหนึ่ง (ซึ่งภายหลังอาจารย์ยังสามารถจัดนิทรรศการโปสเตอร์การเมืองและมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้เราได้รู้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ)
อาจารย์ตอบรับเป็นวิทยากรอย่างไม่มีพิธีรีตองของนักวิชาการใหญ่ พร้อมกับแนะนำให้เราไปติดต่อกองทัพเรือ เพื่อขอเข้าชมพระตำหนักของพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งในวันงานก็มีคนเข้าร่วมโครงการมากพอที่จะนั่งโดยสารกันบนเรือเอี้ยมจุ๊นที่เช่ามาได้พอดี
ในมืออาจารย์ถือหนังสือเล่มเล็กๆ น่าจะเป็นหนังสือนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ เป็นคู่มือนำเที่ยวและเล่าเรื่อง เมื่อเข้าวังของพระเจ้าตากสินที่กองบัญชาการกองทัพเรือขณะนั้นพวกเราก็ตื่นเต้นที่ได้เห็นห้องบรรทมของกษัตริย์ผู้ทรง “กู้ชาติ” เมื่อเก่าก่อน โดยอาจารย์ชี้ให้เราคิดถึงความเรียบง่ายของท้องพระโรงว่าเป็นเพราะทรงมีพระราชนิยมในทางเรียบง่ายหรือเหตุผลอื่นใด รวมถึงเรื่องเก๋งจีนของพระองค์อีกด้วย
เรือย้อนกลับลงมาถึงสามแยกเจ้าพระยาหน้าศาลเจ้าแม่สิงโต ฝั่งคณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เพื่อเข้าคลองลัดบางกอกน้อย เราแวะที่วัดสุวรรณารามริมคลองบางกอกน้อย อาจารย์ชี้ให้เราดูควายที่สวยที่สุด (ตัวหนึ่ง) ของประเทศไทย เราอ้าปากค้างกันหลายคน ผมมองตามไปก็เห็นอาจารย์ชี้ไปที่รูปเขียนควายบนฝาผนังและพบว่าตามันหวานจริงๆ เพราะมีขนตาเป็นแผง (เหมือนติดขนตาปลอม ทันสมัยมาก)
เวลาผ่านไปอย่างเนิบช้า (ตามภาษาร่วมสมัย) พวกเราไปได้ไกลอย่างไม่น่าเชื่อ จนพระอาทิตย์อัสดง เรือล่องกลับมาสู่ท่ามหาราช
เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ได้ ผมค้นกล่องเวลา (Time capsule) ของผม พบรูปถ่ายโดยคุณพจน์ กริชไกรวรรณ (เช่นเคย) อาจารย์ชาญวิทย์นั่งเด่นเป็นสง่าอยู่หัวเรือ สมเป็นหัวเรือใหญ่ ข้างหลังภาพผมเขียนไว้ว่า
ล่องเรือโครงการเข้าวัง แวะวัด ลัดเกาะ เลาะเจ้าพระยา
อ. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิทยากร
จันทร์ 5 กุมภาพันธ์ 2533
“โจนาธานพูดถึงสิ่งง่ายๆ ว่าเป็นการถูกต้องสำหรับนางนวลที่จะบิน ว่าอิสระเสรีเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง ว่าอะไรที่มาขวางกั้นอิสระเสรีภาพจะต้องโยนทิ้งไป ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม ความเชื่อโชคลาง หรือข้อจำกัดไม่ว่าจะมาในรูปใด
“โยนทิ้งไป” ทั้งกลุ่มส่งเสียงขึ้น “แม้กระทั่งกฎของฝูงนกหรือ”
“กฎที่แท้จริงอันเดียวคือ กฎที่นำไปสู่อิสระเสรีภาพ” โจนาธานตอบ “ไม่มีกฎอื่น”
“เธอหวังจะให้เราบินได้อย่างเธอได้อย่างไร” อีกเสียงหนึ่งกล่าวขึ้น “เธอนั้นพิเศษ มีพรสวรรค์เป็นทิพย์เหนือนกอื่นใด”
“ดูเฟลทเชอร์! โลเวล! ชาลส์-โรแลนด์! ซิ พวกเขาพิเศษ มีพรสวรรค์ เป็นทิพย์ด้วยหรือ ไม่มากมายกว่าพวกเธอ ไม่มากกว่าฉัน ข้อแตกต่างมีอันเดียว มีอันเดียวเท่านั้น คือ พวกเขาเริ่มที่จะเข้าใจว่าที่จริงแล้วเขาเป็นอะไร และเริ่มที่จะฝึกฝนอันนั้น”
นักเรียนของโจนาธานยกเว้นเฟลทเชอร์ต่างขยับตัวอึกอัก พวกนั้นไม่ได้ตระหนักว่านั่นเป็นสิ่งที่พวกมันกำลังทำอยู่
ฝูงนกขยายขึ้นทุกวัน บ้างมาถามคำถาม บ้างมาบูชา บ้างมาดูแคลน
“สิ่งที่ยากเย็นที่สุดในโลก คือการที่จะทำให้นกตัวหนึ่งเชื่อว่าตนเป็นอิสระและให้เขาเชื่อว่าเขาจะพิสูจน์ตัวเองได้ เพียงแต่ใช้เวลาฝึกฝนเพียงนิดเดียว ทำไมมันช่างยากอย่างนั้น”
(จาก โจนาธาน ลิวิงสตัน นางนวล. 2516. : Jonathan Livingston Seagull. ผู้แต่ง : Richard Bach แต่ง.1972 ผู้แปล : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปล,2516 จาก http://www.rmutphysics.com/charud/scibook/seagull/Seagull10.htm)
สุขสันต์วันเกิดครับอาจารย์