ผมขออนุญาตเขียนบันทึกความจำเอาไว้นะครับ ในโอกาสที่ครบรอบหนึ่งปีของการก่อตั้งกลุ่มนักวิชาการและเครือข่ายประชาชนที่เรียกตัวเองว่า สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย หรือ สปป. โดยมีการแถลงข่าวเปิดตัวกันในวันที่ 10 ธันวาคม 2556 ที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์หลายมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกันก่อตั้งร่วมกับนักกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรมและประชาชนอีกจำนวนมาก ก่อนจะเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า หลังการแถลงข่าวในเย็นวันนั้นพวกเราบางส่วนไปกินข้ าวเย็นที่สามย่าน และมีการตั้งแฟนเพจ สปป. ทางเฟซบุ๊ค เราตื่นเต้นกับยอดคลิก like ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น อย่างรวดเร็ว พวกเราบางคนพูดติดตลกว่า ถ้าไม่เกินสองหมื่นไม่กลับบ้าน ขณะที่เราจ่ายค่าอาหารนั้น ยอด like นำไปที่หลายหมื่นแล้ว
เพียงคืนเดียว ยอดกด like เพิ่มไปที่จำนวนเกือบแสนคนในเย็นวันที่ 11 ธันวาคม (21 มกราคม ยอดกดไลค์กว่าเจ็ดแสนคน ในช่วงยามวิกฤติก่อนเลือกตั้ง ยอดไลค์ทะลุเจ็ดแสนคนและเกือบหนึ่งล้านคนในเวลาต่อมา)
นอกจากนี้ ยังมีการถกเถียงทางวิชาการระหว่างนักวิชาการกลุ่ม สปป. กับฝ่าย กปปส. และผู้สนับสนุนเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่บทความตามหน้าหนังสือพิมพ์ และสื่อต่างๆ แม้ในบางกรณี สื่อบางสำนักจะไม่เชื้อเชิญนักวิชาการ สปป. ไป หรือ พวกเราปฏิเสธด้วยเงื่อนไขและความจำเป็นหลายอย่าง
ยังต้องนับการปะทะกันกลางอากาศของนักวิชาการอย่าง อ. ประจักษ์ ก้องกีรติ อ. เอกชัย ไชยนุวัติกับ ฝ่ายไม่สนับสนุนประชาธิปไตยในรายการของสรยุทธทางช่องสาม (หลายคนถึงกับบอกว่ารายการนี้เป็น serial killer) หรือ รายการทางเนชั่นของคุณจอมขวัญ ก็ตาม ที่ทำให้อีกฝ่ายต้องถอยร่นไปอย่างมีนัยสำคัญ
ในท่ามกลางวิกฤติการณ์การเมืองที่ทุกฝ่ายใช้ "ต้นทุน" หยาดสุดท้ายของแต่ละฝ่ายนั้น พวกเราพยายามยืนยันว่า แม้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดทางเดียว แต่ก็ไม่ใช่การ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" อันเป็นการปฏิเสธหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยและขัดกับหลักการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมชาติ ดังจะเห็นได้จากหลายคนยืนยันว่าเสียงคนกรุงสำคัญกว่าเสียงชนบทที่ไม่มีความรู้
เราพยายามแสวงหาแนวร่วม ไม่ว่าจะเป็นการแถลงข่าวกลุ่ม “2 เอา 2 ไม่เอา” ในวันที่ 10 มกราคม 2557 แสดงจุดยืนสำคัญคือ การไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาความรุนแรงซึ่งอาจขยายตัวเป็นสงครามกลางเมืองได้ แต่สนับสนุนให้ยึดถือหลักการเลือกตั้งเพื่อความชอบธรรมและแสวงหาแนวทางเจรจาอย่างสันติ
แต่อนิจจาแนวร่วมกลุ่ม " 2 เอา 2 ไม่เอา" มีอายุสั้นนัก มีเค้ารางในการให้ความเห็นของนักวิชาการในเครือข่ายอื่นที่แสดงท่าทีแบบ “กั๊ก” เอาไว้ และมาประจักษ์ในภายหลังว่ามีบางท่านเข้าไปรับใช้ฝ่ายรัฐประหารอย่างเปิดเผย
ในท่ามกลางฝุ่นควันและแก๊สน้ำตา ความตายของคนจำนวนมากเลือนหายไป แม้ความบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่รัฐที่หลายคนอาจลืมไปแล้วนั้น มิตรสหายบางท่านเชื่อว่า ฝ่าย กปปส. โดยเฉพาะ คปท. มองตำรวจเป็นศัตรู และถือว่าเป็นการปลุกปลอบขวัญฝ่ายตัวเอง ดังนั้น การบุกไปปลดทำลายป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยบางคนถึงกับปัสสาวะรดป้ายและท้าทายอำนาจรัฐอย่างเปิดเผย มีการตั้งกลุ่มประจันกับฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะในวันรับสมัครการเลือกตั้งที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่นเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ฝ่ายตำรวจถูกยิงเสียชีวิตหนึ่งนาย บาดเจ็บไม่น้อย อาวุธยุทโธปกรณ์ถูกช่วงชิงโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำอะไรได้มาก
และขณะเดียวกันฝ่ายทหารก็ออกมาตั้งแนวตามจุดสำคัญ อ้างว่าเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของประชาชน เป็นหน่วยรักษาพยาบาลเสนารักษ์มากกว่าติดอาวุธนั้น เป็นสัญญาณว่าระบอบประชาธิปไตยเหลืออายุน้อยลงทุกที
แต่ความรุนแรงยังไม่หยุด ฝ่าย กปปส. ที่ออกไปตามจุดต่างๆ ก็พบกับการต่อต้านจากมวลชน
ยังต้องทบทวนรวมไปถึงการบุกยึดสถานที่ราชการสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานสำคัญอื่นๆ
บางกระทรวงเป็นที่ทราบกันดีว่ามีข้าราชการบางส่วนสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตา ไม่ว่าจะเปิดประตูรับ หรือชี้เป้าหากมีข้าราชการที่ทำหน้าที่อย่างซื่อตรงหลบเข้ามาทำงาน บรรดาข้าราชการหน่วยสำคัญจึงต้องคอยสับหลีก บ้างก็เช่าสถานที่สำรอง หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงานก็มี
แต่สัญญาณที่กล่าวมาเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม ผมเชื่อว่าพวกเราต่างคนต่างรู้ดีว่า ในไม่ช้าก็ต้องถึงวันที่มีการยึดอำนาจ กระนั้นก็แอบหวังว่าสังคมจะคืนสู่สติและเหตุผลโดยเร็ว ก่อนจะสายเกินไป
สปป. จัดกิจกรรมเวทีวิชาการใหญ่ 2 ครั้ง ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต “คนเท่ากัน เดินหน้าเลือกตั้ง ร่วมกันปฏิรูป” ในวันที่ 22 ธันวาคม 2556 และ มีการไปร่วมเวทีที่ภูมิภาคในจังหวัดต่างๆ เช่น จ. เชียงใหม่ จ. จันทบุรี จ. สงขลา จ. ปัตตานี จ. อุบลราชธานี นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการทั้งในสถาบันของรัฐและเอกชนจำนวนมากที่เข้าร่วม ยังมีภาคประชาชน นักกิจกรรมสังคมและวัฒนธรรมเข้าร่วมโดยไม่แสดงตัวอีกมากมาย
นักวิชาการและนักกิจกรรมบางส่วนเริ่มจัดตั้งกลุ่มแสดงความไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มจุดเทียนพอกันที กลุ่ม We Vote กลุ่ม ANT's Power ที่ออกมาปล่อยลูกโป่งขาวเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะใช้สันติวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง และรณรงค์ให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เกิดขึ้นได้ แนวทางการจุดเทียนและปล่อยลูกโป่ง และการใช้สื่อยูทูบสัมภาษณ์บุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงวัฒนธรรมของ We Vote สร้างผลกระทบไม่มากก็น้อย ดังจะเห็นได้จากการจุดเทียนและปล่อยลูกโป่งแพร่กระจายไปตามมหาวิทยาลัยและจังหวัดต่างๆ อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ถูกโจมตีว่าเป็นกลุ่มแดงลอกคราบใส่เสื้อขาวปล่อยลูกโป่ง
เราจึงได้เห็นภาพของประชาชนจำนวนมากเดินออกจากบ้าน พร้อมเทียนคนละเล่มออกมาจุดในมหาวิทยาลัย สวนสาธารณะ เพื่อจะร้องกู่ก้องว่า “เลือกตั้ง เลือกตั้ง เลือกตั้ง” แต่ยังมีการขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างเปิดเผย แม้ประชาชนชนจำนวนมากพยายามเข้าไปใช้สิทธิ บางแห่งสามารถเข้าไปใช้สิทธิได้ บางแห่งถูกกีดกัน บางหน่วยมีเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจให้ยึดหน่วยเลือกตั้ง ประชาชนบางคนใช้ไฟฉายส่องสติของผู้ชุมนุมแต่ก็ล้มเหลว
ถึงแม้ว่าจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ผ่านไปได้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 43,024,042 คน (100.00%) มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้สำเร็จจำนวน 20,530,359 คน (47.72%) ผู้ที่ไม่มาใช้สิทธิและ/หรือผู้ไม่สามารถใช้สิทธิได้จำนวน 22,494,427 คน (52.28%) แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าการจัดเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถจัดให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบตามกฎหมาย (แต่ไม่ได้วินิจฉัยบอกว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ดังวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งได้จัดไปแล้วหนึ่งครั้ง)
ขณะที่รัฐบาลรักษาการก็พยายามจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ แต่ก็มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าระหว่างที่รักษาการนายกฯ เป็นรัฐบาลนั้น โยกย้ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่โดยมิชอบ จึงวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่ง ผลก็คือไม่สามารถรักษาการในตำแหน่งนายกฯ ได้ต่อไป พร้อมๆ กับอดีตรัฐมนตรีอื่นๆ ที่อยู่ในการพิจารณาคราวนั้นไปด้วย จึงต้องให้รักษาการรัฐมนตรีคนอื่นทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี
มิพักต้องเอ่ยถึงบทบาทอันน่าภาคภูมิใจของ กกต. ที่แสดงท่าทีอย่างเปิดเผยว่าไม่ต้องการจัดการเลือกตั้ง และไปดูงานในยามที่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองอันอยู่ในหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง
ไม่นับบทบาทอันเงียบเฉยขององค์กรอิสระอย่าง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ยังไม่นับรวมว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์
สภาพการณ์กดดันให้เกิดสูญญากาศทางการเมืองสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของฝ่าย กปปส. อย่างมากที่จะให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่าเป็นการรบกวนเบื้องสูง และขัดกับหลักการประชาธิปไตย
ในระหว่างที่ถกเถียงกันหาทางออก ฝ่ายทหารโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ. ทบ. ขณะนั้นได้ประกาศกฎอัยการศึก 20 พฤษภาคม โดยให้ฝ่ายรัฐบาล ฝ่าย กปปส. ฝ่าย นปช. เข้าร่วมประชุมที่หอประชุมกองทัพบกในวันที่ 21 แต่การเจรจาไม่เป็นผล จึงต้องเจรจาในวันที่ 22 ขณะที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ผบ. ทบ. ก็ทำการยึดอำนาจควบคุมตัว และเริ่มเรียกบุคคลรายงานตัว
ในวันเวลาเดียวกันนั้น ขณะที่ สปป. กำลังจะแถลงข่าวเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกที่หน้าลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก็รู้ข่าวรัฐประหาร การเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกกลายเป็นการประท้วงรัฐประหารแทบจะในทันที เราเขียนป้ายกันอย่างเร่งรีบ มีเพื่อนคนหนึ่งเอาผ้าลายพรางมา เราก็ใช้ผูกปิดปาก นับว่าเป็นการประท้วงรัฐประหารกลุ่มแรกๆ
พร้อมๆ กับบทบาทของ สปป. ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้หลังการยึดอำนาจ
บันทึกนี้เขียนจากความทรงจำและไม่มีเอกสารอ้างอิงนะครับ หากใครจะช่วยเสริมเติมบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการเคลื่อนไหวก็ยินดีครับ