หลังจากผมมาถึงเมืองเคมบริดจ์เป็นเดือน เริ่มจากการหาที่พัก ไปประชุมที่วอชิงตัน ดีซี หาซื้อเสื้อผ้ารับความหนาว รองเท้า จัดการเรื่องอาหารการกิน มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ งานเอกสาร ตลอดจนตั้งสถานีทำงานที่บ้าน จนได้ห้องใต้หลังคาของบ้านอายุกว่าร้อยไป ห่างจาก Harvard University สองสถานีรถไฟใต้ดิน ก็เริ่มตั้งหลักทำงานได้เป็นเรื่องเป็นราว
ในช่วงแรกผมได้ความช่วยเหลือจากอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ สละที่นอนแสนนุ่มให้นับสิบวัน แถมด้วยอาหารรสชาติอร่อยอีก อาจารย์พิชญ์นับว่าเป็นยอดฝีมือด้านการทำกับข้าวจริงๆ (แผล่บๆ)
บ้านผมอยู่ใกล้สถานี Davis Square มาก โชคดีที่ อาจารย์พิชญ์ และอาจารย์อรัญญา ศิริผล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาอยู่ก่อนผม การหาบ้านเลยเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น ถึงที่สุดเราอาจช่วยกันเขียนคู่มือการใช้ชีวิตที่นี่สำหรับนักศึกษาและนักวิชาการรุ่นถัดไปได้แน่ๆ อาจารย์อภิวัฒน์ รัตนะวราหะจากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์ก็เป็นผู้รอบรู้ที่ช่วยให้ผมตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น แถมยังเป็นพหูสูตรด้านความเป็นมาของเมืองและการผังเมือง ผมเลยได้ความรู้มากมาย ต้องขอบคุณเพื่อนอาจารย์ทั้งสาม ณ ที่นี้ ด้วยครับ
การหาบ้านพักระยะสั้นสำหรับคนที่มาทำวิจัยเพียงสี่เดือนไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนใหญ่เจ้าบ้านมักจะขอให้เช่าทั้งปี หรืออย่างน้อยหกเดือน ราคาก็ไม่ถูกเลยครับ ส่วนใหญ่เกิน 1600 เหรียญทั้งนั้น ยิ่งใกล้ ยิ่งดี ยิ่งแพง
นิสัยอย่างหนึ่งของผมก็คือไม่อยากแชร์ผนังบ้านแบบร่วมกับใครอีกก็เลยยุ่งยากขึ้น โชคดีที่ Craiglist ซึ่งเป็นเว็บไซต์ประกาศเรื่องสารพันรวมทั้งเรื่องบ้านเช่า หารูมเมท ขายของ หาของ ฯลฯ ช่วยทำให้ผมได้ห้องใต้หลังคาห้องนี้ ทั้งชั้นอยู่คนเดียวจึงเงียบเหงาหน่อย
ย่านที่ผมอยู่มีร้านอาหาร ร้านกาแฟและใกล้มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) จึงน่าอยู่มากครับ ติดอย่างเดียวว่าบ้านเก่ามาก พื้นบ้านก็เอียงกะเท่เร่ จนต้องหามุมทำงาน ผมเลือกมุมส่วนรับแขกตั้งโต๊ะทำงาน ทิ้งส่วนครัวและห้องน้ำไว้โล่งๆ กับโต๊ะวางหนังสือ ส่วนห้องนอนเป็นห้องเล็กๆ ด้านหลัง ซึ่งมีข้อดีเพราะขนาดพอดีที่จะเปิดเครื่องทำความร้อนเครื่องเดียวทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น (ประหยัดเงินได้นิดหน่อย)
วันนี้มีเวลา ผมก็ได้ฤกษ์ทำงานในวันเหมายัน (เห-มา-ยัน หรือ Winter solstice) ที่ห้วงกลางวันจะสั้นกว่าปกติในรอบปี ผมเข้าไปยืมหนังสือจากชั้นหนังสือของหอสมุด (Widener Library) หรือหอกลางที่ฮาร์วาร์ดและหอสมุดลามองต์ (Lamont Library)
ห้องสมุดไวด์เนอร์ยังมีส่วนที่เป็นห้องหนังสือของนาย Widener ที่เสียชีวิตไปกับเรือไตตานิค แต่รักฮาร์วาร์ดมาก ดังนั้นครอบครัวของเขาจึงบริจาคเงินก้อนใหญ่เพื่อรำลึกถึงเขา
บรรยากาศที่นี่ต่างไปจากบ้านเราแน่ๆ ห้องสมุดที่นี่ไม่อนุญาตให้คนนอกเข้าใช้ เพราะถ้าปล่อยให้เข้าก็อาจจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะจนอาจรบกวนผู้ใช้ห้องสมุดแน่ๆ จึงมีระบบ scan บัตรอย่างเข้มงวดที่ประตูหอสมุด
ทุกวัน ผมเห็นนักท่องเที่ยวมาชมมหาวิทยาลัยและพยายามขอเข้าชมห้องสมุดเป็นระยะๆ ซึ่งได้แค่ถ่ายที่บันไดเท่านั้น
หากจะเข้าไปหยิบหนังสือจากชั้นวางหนังสือ (stacks) เองก็ต้อง scan บัตรอีกครั้งหนึ่งที่ทางเข้า
ที่นี่มีชั้นใต้ดินเก็บหนังสืออย่างเป็นระเบียบและมีทางใต้ดินไปยังห้องสมุด Pusey Library ที่เก็บหนังสืออีกสามชั้นอีกด้วย
หนังสือที่ผมใช้อยู่ใต้ดิน ฝั่ง Pusey จึงต้องลงลิฟต์ เดินไปอุโมงค์ใต้ดินสั้นๆ จนถึงชั้นวางหนังสือ
ในบรรดาชั้นวางหนังสือเหล่านั้น มีระบบไฟอัตโนมัติคอยเปิดเมื่อมีคนเดินผ่าน และปิดเมื่อไม่มีการเคลื่อนไหว
ในส่วนเก็บวารสารมีตู้แบบรางเลื่อนไฟฟ้า ที่ช่วยให้ประหยัดเนื้อที่ได้มากทีเดียว
ปกติแล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปหยิบหนังสือที่ชั้นครับ เพราะสามารถเรียก (request) หนังสือให้ไปไว้ที่ชั้นตามหอสมุดต่างๆที่เราต้องการเข้าไปรับหนังสือได้ทั่ว campus เพียงแต่ผมอยากลองดูว่าการหาหนังสือที่นี่จะยุ่งยากไหม ถ้าเทียบกับที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฮาวายอิที่ผมเคยเรียนก็ต่างกันพอสมควร เพราะที่ฮาวายอิเป็นชั้นเปิด ผู้ใช้ห้องสมุดสามารถเข้าไปถึงชั้นหนังสือได้เลย แต่ก็เปลืองพื้นที่จัดเก็บกว่า ระบบที่นี่ช่วยประหยัดเวลาของนักวิจัยและนักศึกษา แต่ก็ต้องใช้ระบบการค้นหาออนไลน์เพื่อเรียกหนังสือแล้วไปรับหนังสือ
นอกจากนี้ยังมีบริการ scan หนังสือเป็นบางบทให้ด้วย (scan ทั้งเล่มไม่ได้เพราะเหตุผลเรื่องลิขสิทธิ์ครับ)
สำหรับเอกสารที่เป็นบทความก็สามารถ load ได้จากที่บ้านก็ได้ โดยใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตผ่าน browser ที่มีระบบ log in โดยใช้ id ของที่นี่
อันที่จริงผมไปเดินร้านหนังสือมือสองของที่นี่ ชื่อร้าน Raven Books ไปสองครั้งก็ตัวเบาเลย มีหนังสือดีๆ มากมาย ผมซื้อเพราะคิดว่าต้องเอากลับไปใช้ที่เมืองไทยสำหรับการเรียนการสอนและวิจัยแน่ๆ ไม่่นับว่าวันก่อนไปซื้อหนังสือลดราคาจาก MIT อีก (คงต้องไปเสียสตางค์อีกแน่ๆ) วันนี้ก็ออกไปร้านของมือสองข้างบ้านได้หนังสือมาอีกสี่เล่ม อยู่นานๆ ไปคงไม่ต้องเดาว่าเงินจะหมดไปกับอะไร
ตอนนี้มีหนังสือพร้อมทำงานแล้วครับ
ป.ล. ขอเล่าอีกทีนะครับว่า ผมขออนุญาตชี้แจงเล็กน้อยนะครับว่าผมมาทำวิจัยที่ Harvard University เป็นเวลาประมาณ 4 เดือน และกลับมาปีหน้านั้นเป็นเรื่องที่ผมเตรียมการไปนานแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 (2013) เป็นการเตรียมการวิจัยที่ผมสนใจมาตลอดในหลายปีมานี้ (เดี๋ยวจะอธิบายในโอกาสหน้าครับ) แต่ผมได้สมัครทุนฟุลไบรท์ที่ให้โอกาสนักวิชาการระดับ mid carreer ไปวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนและสหรัฐในระยะเวลาสั้นๆ จึงเป็นทุนที่เรียกว่า US-ASEAN visiting Scholar ประจำปี 2014 ซึ่งผมได้รับการตอบรับหลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
เนื่องจากผมสอนหนังสือเป็นเวลา 8 ปีแล้ว จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมต่อการหาความรู้เพิ่มเติมจึงขอใช้สิทธิ sabbatical leave เป็นเวลา 12 เดือน แล้วจะกลับมาทำงานที่รามคำแหงต่อครับ ทั้งนี้ผมยังอยู่ในระยะการชดใช้ทุนรัฐบาลตามเงื่อนไขที่จบปริญญาเอกมาจาก University of Hawaii นะครับ
การลาครั้งนี้ได้รับอนุมัติตามขั้นตอนจากทางราชการจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงและคณะรัฐศาสตร์
และผมได้รับความสนับสนุนจากผู้บริหารรามคำแหงเป็นอย่างดีครับ
จึงเท่ากับว่าผมเดินทางไปทำวิจัยที่สหรัฐอเมริกาสี่เดือนเศษ (รวมเวลาเดินทาง) แล้วจะกลับมาตามสัญญานะครับ
ในโอกาสนี้ขอขอบคุณมูลนิธิการศึกษาไทยอเมริกัน Fulbright Thailand Tusef มาด้วยนะครับ ที่ให้โอกาสผมไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ขอขอบคุณ อ. Michael Herzfeld แห่งโครงการ Thai Studies Program, Harvard University ที่ให้การรับรองผมในฐานะ Thai Visiting Scholar คนแรกของโปรแกรม