Skip to main content

ประโยคหนึ่งที่ถูกสลักจารึกที่ชานปลายบันได บนทางเดินก่อนเข้าอนุสรณ์สถานลินคอล์น (Lincoln Memorial) ที่ซึ่งถือกันว่าเสมือนวิหารแห่งประชาธิปไตยอันเป็นที่ตั้งของรูปสลักอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา สลักเอาไว้ว่า “ข้าพเจ้ามีความฝัน“ (I have a dream) ประโยคนี้เป็นบทเริ่มต้นของสุนทรพจน์ของ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) เพราะมันถูกบรรจงสลักเอาไว้ ณ จุดที่เขาเคยยืนกล่าวปาฐกถาในวาระที่เรียกว่า March on Washington เพื่อหยุดยั้งการแบ่งและกีดกันอันเนื่องมาจากสีผิว ในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) มีผู้สนับสนุนกว่าสองแสนห้าหมื่นคน 

 

ณ ที่นี้ ดร. คิง ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากที่ที่สุดในชีวิตของเขาชื่อว่า “ข้าพเจ้ามีความฝัน” อันมีความตอนหนึ่งว่า

 

“…ข้าพเจ้ามีความฝัน ความฝันที่มีรากอยู่บนความฝันแบบอเมริกัน ว่าวันหนึ่งชาตินี้จะยืนขึ้นและธำรงอยู่บนหลักการของศาสนา พวกเรายืนหยัดในสัจจะที่ชัดแจ้งโดยตัวมันเองว่า มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาให้เท่าเทียมกัน...”

 

ก่อนจะถึงสุนทรพจน์ชิ้นสำคัญนี้ ดร. คิง ผ่านการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง (civil rights movement) ของสหรัฐอเมริกามาไม่น้อย เขาเป็นนักเทศน์เมื่ออายุเพียง 25 ปี ก่อนจะเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) ในปีถัดมา 

ในเวลานั้นเองเขาเริ่มมีบทบาทในการต่อสู้เพื่อบอยคอตรถบัส ของเมือง Montgomery รัฐอัลบามา ที่ยึดการแบ่งแยกที่นั่งบนรถสาธารณะตามสีผิวอย่างเคร่งครัด การแบ่งแยกนี้เดินมาถึงวันที่ 1 ธันวาคม 1955 นางโรซา ปาร์คส์ (Rosa Parks) เนื่องจากเธอปฏิเสธคำสั่งของคนขับรถให้เธอสละที่นั่งให้คนผิวขาวและย้ายไปนั่งในแถวที่นั่งสำหรับคนผิวสีจนทำให้เธอถูกจับและกักขัง 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับโรซ่า ปาร์คส์เป็นกรณีที่สร้างความไม่พอใจจากชาวผิวดำมากที่สุด ชาวผิวดำทำการบอยคอตโดยไม่ขึ้นรถเมล์ เดินทางไปทำงานไปไหนมาไหนด้วยการเดินยาวนานถึง 385 วัน (ข้อมูลบางแห่งก็ว่า 381 วัน) ส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อขบวนการสิทธิพลเมืองและนำไปสู่การสิ้นสุดการแบ่งแยกสีผิวตามกฎหมายในที่สุด

แม้กรณีของโรซา ปาร์คส์จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนผิวดำและคนผิวขาวผู้รักความเป็นธรรมหันมาใส่ใจเรื่องสิทธิพลเมืองและการแบ่งแยกกีดกันสีผิว แต่ดูเหมือนว่าการแบ่งแยกกีดกันอันเนื่องมาแต่สีผิวยังไม่ได้หยุดลง สิ่งสำคัญที่พึงพิจารณาก็คือความหมายของการแบ่งแยกกีดกันสีผิวคือการปฏิเสธคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันจากภูมิหลังทางสังคมการเมืองและสีผิว 

ดร. คิง ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการที่บ้านของเขาถูกปาระเบิดระหว่างการรณรงค์บอยคอตรถบัส แต่กระนั้นเขาก็ยึดแนวทางสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรง ต่างไปจากกลุ่มอื่นๆ ที่เห็นว่าสันติวิธีไม่ใช่ทางออก เช่น พวก Black Panther 

ในที่สุด ดร. คิงตัดสินใจรณรงค์เพื่อสิทธิพลเมืองครั้งใหญ่ด้วยการเดินเข้าสู่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในวันที่ 28 สิงหาคม 1963 

เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในขณะที่อายุเพียง 35 ปีวันที่ 14 ตุลาคม 1964 นับเป็นผู้รับรางวัลที่อายุน้อยที่สุด ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ 

ดร. คิงกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสนี้ว่า

 

“…ผมรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในห้วงเวลาที่ชาวนิโกร 22 ล้านคนในสหรัฐอเมริกากำลังง่วนอยู่กับการต่อสู้เพื่อจะยุติห้วงยามแห่งความอยุติธรรมที่ยาวนานและมืดมิดอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ

ผมรับรางวัลนี้ในนามของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวด้วยการตัดสินใจที่มีภยันตรายและความเสี่ยงเพื่อจะสร้างยุคสมัยแห่งเสรีภาพและกฎแห่งความยุติธรรม

แม้ในยามนี้ เมื่อวานก็ยังเกิดเหตุการณ์ในเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐอัลบามา ลูกหลานของเราที่กำลังเรียกร้องเพื่อภราดรภาพ ถูกตอบรับด้วยสายฉีดน้ำดับเพลิง สุนัขตำรวจ หรือกระทั่งความตาย

ในฟิลาเดลเฟีย มิสซิสซิปปี คนหนุ่มสาวกำลังหาหนทางที่จะสร้างหลักประกันในสิทธิที่จะเลือกตั้งกลับถูกทำร้ายอย่างป่าเถื่อน บ้างก็ถูกสังหาร

เฉพาะเมื่อวานนี้ ในรัฐมิสซิสซิปปีเพียงรัฐเดียว โบสถ์กว่า 40 แห่งถูกวางเพลิง เพียงเพราะว่าให้ที่พำนักพักพิงแก่คนที่ร่วมต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ผมสนใจว่าการหารือและลดปัญหาความยากจนอันเป็นเรื่องที่ทำให้พี่น้องของผมทุกข์ทรมานและถูกพันธนาการเข้ากับการเป็นบันไดขั้นต่ำสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจ

หลังจากที่ได้ไตร่ตรองแล้ว ผมสรุปว่า รางวัลที่ได้รับนี้ เป็นการรับแทนขบวนการเคลื่อนไหวที่ยึดถือหลักการไม่ใช้ความรุนแรงว่าเป็นคำตอบของคำถามทางการเมืองและศีลธรรมที่สำคัญในยุคสมัยของเรา เป็นความจำเป็นที่มนุษย์ต้องเอาชนะการกดขี่และความรุนแรง โดยไม่ใช้ความรุนแรงและการกดขี่ในแบบเดียวกัน...”

 ดร. คิง มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสงครามเวียดนามและร่วมต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1968 แต่ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1968 เขาถูกยิงเสียชีวิตในขณะที่อายุได้เพียง 39 ปีเท่านั้น

แผ่นป้าย ณ จุดที่ ดร. คิงกล่าวสุนทรพจน์ข้าพเจ้ามีความฝันนั้นได้รับการติดตั้งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 2013 ในวาระครบรอบ 40 ปีของเหตุการณ์เดินสู่วอชิงตัน ดีซี เพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมือง โดยมีคนเข้าร่วมนับพันคน ในบรรดาคนที่มีชื่อเสียงนั้นรวมถึงอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ประธานาธิบดีบารัค โอบามาและครอบครัวของ ดร. คิง

นับถึงวันนี้ ผ่านไปกว่าสี่สิบปี แต่สุนทรพจน์ของ ดร. คิง ทั้งจากเรื่องข้าพเจ้ามีความฝันกับสุนทรพจน์ในการรับรางวัลโนเบลยังก้องกังวานถึงปัจจุบัน และดูเหมือนเรื่องสิทธิพลเมืองยังเป็นปัญหาในระดับเส้นประสาท (nerve) ของประเทศนี้ไปอีกนาน

 

หมายเหตุ: ข้อมูลเรื่องการจราจลในเมืองเฟอร์กูสันเก็บความจากรายงานข่าวของ ccn.com, ข้อมูลเรื่อง ดร. คิง มาจาก wikipedia บางส่วน และสุนทรพจน์ในโอกาสรับรางวัลโนเบลจาก http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/peace/laureates/1964/king-acceptance_en.html

 

 

 

 

 

 

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
วันนี้ (31 พฤษภาคม) เป็นวันที่ 17 นับจากวันเลือกตั้งจบลง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีเวลาเหลืออีก กว่า 43 วัน ที่จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างน้อย ร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตและบัญชีรายชื่อ เพื่อให่้ระบอบการเมืองเดินไปอย่างต่อเนื่องและไม่ขาดต
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ช่วงที่พ่อแม่มาอยู่ด้วย ผมจะพาพ่อแม่ไปเที่ยวใกล้บ้าง ไกลบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง เพราะการพาคนแก่มาอยู่เมืองที่ไม่มีเพื่อนฝูงที่สนิทกันคงไม่ใช่เรื่องสนุกอาทิตย์ก่อนก็ขับออกไปพุทธมลฑลแล้วไปพระปฐมเจดีย์ วกออกไปทางบ้านแพ้ว ออกมาพระรามสอง ก็เจอรถติดยาว ในสั
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บทความนี้เขียนเร็วๆ จากบทสนทนาในไลน์กลุ่มที่ผู้เขียนเป็นสมาชิก เพื่อตอบคำถามสองส่วน ส่วนแรกคือเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นอยู่กับความได้สัดส่วนระหว่างขีดความสามารถของรัฐกับความคาดหวังจากสังคม ส่วนที่สองคือรัฐกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญขึ้นเรื่อยๆ 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อเช้ายังงัวเงียอยู่ (เพราะนอนดึก) มิตรสหายในไลน์กลุ่มก็ชวนคุยว่า จะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปทำไม่ ดูอย่างอเมริกาสิ ขนาดเปลี่ยนทรัมป์ออกไปเป็นโจ ไบเด็น ถึงวันนี้คนยังติดโควิดสูง แม้กระทั่งในทำเนียบขาว ผมเลยชวนดีเบตว่าเอาไหม ในที่สุด บทสนทนาก็มาถึงจุดที่ว่า เราไม่ควรเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 คนเราจะวัดความเป็นรัฐบุรุษที่แท้ได้ก็เมื่อวิกฤตการณ์มาถึง แล้วเขาสนองตอบต่อวิกฤตการณ์นั้นอย่างไร
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในวันที่ 2 มีนาคม 1757 (2300) เดเมียนส์ผู้ปลงพระชนม์ถูกตัดสินว่าให้ "กระทำการสารภาพผิด (amende honorable) หน้าประตูอาสนวิหารแห่งปารีส" เป็นที่ซึ่งเขาจะถูกเอาตัวไปและส่งไปกับล้อเลื่อน โดยสวมแต่เพียงเสื้อเชิ้ต ถือคบเพลิงที่มีขี้ผึ้งเป็นเชื้อหนังสองปอนด์ (ราว 1 กิโลกรัม) จากนั้นเขาจะถูกนำตัวไปบนล้อเ