ชีวิตนักวิชาการในเคมบริดจ์ แมสซาจูเส็ตส์ (2)

ผมมาอยู่ที่นี่ได้สองเดือนกว่าแล้ว ขณะที่เพื่อนๆ มาอยู่ได้ราวครึ่งปี นาฬิกาและตารางชีวิตเราจึงต่างกันบ้างด้วยความผูกพัน ภาระที่แต่ละคนพึงมี

ผมมาที่นี่เพื่อเขียนงานเกี่ยวกับการศึกษาเปรียบเทียบคณะกรรมการตรวจสอบค้นหาความจริง โดยอิงจากประสบการณ์ในอาเซียน รวมเกาหลีใต้ด้วย เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเรื่องความจริงและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่ผมได้เข้าไปเกี่ยวข้องนับตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา

โดยเฉพาะหลังกรณี 10 เมษายน 2553 ทำให้ผมไม่อาจนิ่งเฉยและได้เข้าร่วมกับเพื่อนนักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรมประณามการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการกำลังทหารที่ใช้ป้องกันประเทศมาเป็นเครื่องมือคุมฝูงชน มีการใช้อาวุธสงครามกับประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งนับแต่นั้น กองทัพถูกแยกออกจาก "ประชาชน" แล้วก็ว่าได้

หลังจากนั้น ผมถูกทาบทามและแต่งตั้งให้ไปเป็นอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง คณะที่ 4 ของ ศ.ดร. คณิต ณ นคร ซึ่งต้องศึกษาความจริงกรณี บ่อนไก่ สีลม ซอยรางน้ำและการเผากรุงเทพ 32 จุด มีคนตายกว่า 53 ศพ ซึ่งในระหว่างการทำงานมีขีดจำกัดมากมาย ผมเองมีความเห็นแตกต่างในการทำงาน ผมจึงพยายามรวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยหวังว่าจะเป็นฐานข้อมูลเรื่องความจริงและความยุติธรรมในอนาคต ในที่สุดก็ได้รวบรวมลูกศิษย์ (และเพื่อนๆ ของพวกเขา ซึ่งบัดนี้เติบโตในหน้าที่การงานหลายแห่งแล้ว) พวกเขาเรียกตัวเองว่ากลุ่มมรสุมชายขอบเพื่อจัดนิทรรศการและแถลงข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่มูลนิธิ 14 ตุลาคม 2516 โดยได้รับการสนับสนุนการจัดนิทรรศการบางส่วนจาก ศ. ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งมาจากเบี้ยประชุมครั้งละ 1,200 บาทที่ผมได้จากอนุกรรมการฯ นั้นเอง และที่เหลือเป็นเงินส่วนตัวของผมที่ได้จากงานวิจัยต่างๆ (เพราะฉะนั้น ไม่ต้องสงสัยว่าใครจ้างนะครับ)

เอกสารเผยแพร่ชุดนั้นสามารถ download ได้จากลิงค์นี้ครับ

http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/wp-content/uploads/2011/05/เอกสารฉบับสมบูรณ์-small-file-size.pdf

หรือจาก

http://fringer.org/wp-content/writings/13-20May-Facts.pdf

 

ในขณะนั้นที่เห็นคือความยุ่งยากในการจัดการความจริงเบื้องต้น เพราะต้องการหาคำตอบว่าอะไรคือความจริงจากมุมต่างๆ เพราะความจริงไม่ได้เป็นอิสระจากตัวมันเอง หากแต่มีอุดมการณ์ทางการเมือง อคติทางการเมือง ความรัก ความเกลียด ผสมปนเปกันอยู่

 

ในแง่นี้ผมจึงเห็นว่าควรจะต้องรวบรวมเอกสารเบื้องต้น เพื่อหาลำดับเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น ตั้งแต่เช้าจรดเย็นของวันที่เกิดการปะทะกับ ใครบาดเจ็บ เสียชีวิต พฤติการณ์แห่งความบาดเจ็บหรือเสียชีวิตนั้นเพราะเหตุใด และในการเสียชีวิตนั้นระดับความรุนแรงของบาดแผลเป็นอย่างไร

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมสามารถเขียนข้อสังเกตเบื้องต้นที่ได้เผยแพร่ใน blog นี้เอง (ดูบทความย้อนหลัง "ข้อสังเกตเรื่องกายภาพของความขัดแย้ง และการยกระดับความรุนแรงในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553" ได้ที่ http://blogazine.in.th/blogs/pandit-chanrochanakit/post/4728)

หลังจากนั้น ผมก็ได้เข้าร่วมกับ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) เพื่อจัดทำรายงานร่วมกับเพื่อนพี่น้องนักวิชาการจากต่างสถาบันจนเป็นรายงานฉบับที่หนากว่า 500 หน้า พร้อม คลิป vdo และมีข้อมูลเผยแพร่ดังนี้

http://www.pic2010.org 

ความคับข้องใจของผมก็คือ รายงานสุดท้ายของ คอป. และ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องเพราะรายงานทุกฉบับที่ว่ามานั้น ถูกมองและถูกใช้แตกต่างกัน ส่งผลสะเทือนต่อความรับรู้ของสาธารณชนต่อกรณีดังกล่าวไม่น้อย และขยายผลมาถึงการชุมนุมต่อต้านร่าง พรบ. นิรโทษกรรม และทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้ง และถูกมวลมหาประชาชน กปปส. ที่ยกระดับจนถึงขั้นต่อต้านการเลือกตั้ง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 การปะทะกันประปราย มีผู้บาดเจ็บ ล้มตายไม่น้อย แม้กระทั่งหลังรัฐประหาร จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดการปรองดอง

งานวิจัยของผมเริ่มจากการตั้งคำถามในสิ่งเหล่านี้มานานหลายปี จนกระทั่งได้เขียนโครงการสมัครทุน US-ASEAN Visiting Scholar 2014 ก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยผมได้รับการตอบรับจากโครงการไทยศึกษา Asia Center แห่ง Harvard University ให้มาทำวิจัยเป็นเวลา 4 เดือน แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ผมถือว่านี่เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ทำความเข้าใจกับแนวคิดเรื่องคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงในระดับสากล และมองย้อนกลับมาในอาเซียน เพื่อทบทวนบทเรียนประกอบกัน

ถึงตอนนี้ขอพักเรื่องงานวิจัยก่อนนะครับ

เมื่อมาถึงใหม่ๆ ผมต้องรีบหาบ้านพักโดยเร็ว ค่าเช่าบ้านที่นี่สูงมาก เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ในสหรัฐ แต่ผมมองถึงขีดจำกัดเรื่องเวลาที่มีไม่มาก ต้องรีบตั้งหลัก ปรับตัว ทำงานให้เร็วที่สุด ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนจึงได้บ้านที่ดี เดินทางสะดวก ปลอดภัย เหมาะสมกับการพักผ่อนและทำงาน หลังจากนั้นก็ต้องรีบไปประชุมที่วอชิงตัน ดีซี และได้พบกับเจ้าหน้าที่ของ US Department of State ด้วย เพราะพวกเขาต้องการเชื่อมโยงกับนักวิชาการจาก ASEAN ในโครงการนี้นี่เอง

เผื่อบางคนสงสัย ผมได้พบกับเจ้าหน้าที่ยุทธศาสตร์ด้านเอเชียแปซิฟิค คุณคริสตี้ เคนนี่ อดีตเอกอัครรราชทูตประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตไทยและในงานเลี้ยงรับรองได้พบกับคุณ Daniel Russel ที่ได้ address งานวิจัยผมด้วยเล็กน้อยว่านักวิชาการ US ASEAN รุ่นสองนี่มีความหลากหลายมากตั้งแต่ transitional justice, wild life traficking, ELS, maritime law เป็นต้น แถมยังได้ไปงานเลี้ยงถวายพระพร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่สถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี จัดขึ้นด้วย

การเดินทางครั้งนี้จึงไม่ได้หลบๆ ซ่อนๆ แต่ประการใด

ในระหว่างนั้นเป็นช่วงเทศกาลตั้งแต่วันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving day) วันคริสต์มาสที่หยุดยาวเลยมาถึงหลังปีใหม่ มหาวิทยาลัยถึงได้เริ่มเปิดเทอมอีกครั้งหนึ่ง

ยังไม่ทันไรก็เข้าสู่ช่วงพายุหิมะ Juno ที่พัดเอาความหนาวเย็นในระดับ -18 องศาเซลเซียสมาเยือน และยังแถมพายุหิมะขนาดย่อมที่ความสูงเกือบสองฟุตมาให้ผมชมระหว่างกำลังเขียนบทความนี้

ความหนาวเย็นยังไม่เท่าไหร่ แต่ปุยหิมะที่งดงาม ในยามที่มันเปียกชื้นและเริ่มละลาย จากหิมะ ตกมาเป็นเกล็ดน้ำแข็งช่างทรมานใจสำหรับคนเมืองร้อนอย่างผม แม้สมัยเรียนจะเรียนที่สหรัฐฯ แต่ก็เป็นเมืองชายขอบเขตร้อนอย่าง Honolulu เป็นชาวเกาะลั้ลลาสบายใจไม่มีอากาศเหน็บหนาวแบบนี้ ไม่นับเรื่องผดผื่นที่เกิดอาการแพ้อากาศและต้องชโลมตัวด้วยโลชั่นรักษาอาการ

ผลของพายุหิมะ ทำให้ไปไหนไม่ได้หลายวัน ดีที่มีการแจ้งเตือนภัย และต้องย้ำด้วยว่าระบบการเตือนภัยที่นี่ดีมาก การพยากรณ์อากาศเรียกได้ว่าแม่นยำมาก ผลของการอุดอู้ในบ้านและต้องเปิดเครื่องทำความอุ่นต่อเนื่องทำให้ค่าไฟฟ้าของผมทะลุไปที่สองร้อยกว่าเหรียญ!

ในอีกด้านหนึ่ง การใช้ชีวิตที่นี่ต้องวางแผน เตรียมตัวล่วงหน้าพอสมควร ความวุ่นวายในการเดินทางในพายุก็เป็นเรื่องใหญ่ เสื้อผ้าก็เรื่องใหญ่ อาหารการกินก็ต้องเตรียม

ชีวิตที่นี่ไม่ง่ายอย่างที่คิด โชคดีที่ผมชอบทำกับข้าวกินเอง รสชาติก็พอใช้ได้ และเพื่อนๆ เองก็ชอบทำ โดยเฉพาะอาจารย์พิชญ์ ผมก็เลยสบายท้องไปหลายมื้อเลย

ผมมีเวลาเหลือไม่มาก จึงพยายามตุนหนังสือที่ต้องใช้เอาไว้ที่บ้าน แต่ก็ต้องไปทำงานที่ห้องสมุดบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ในวันที่อากาศดีจึงเหมาะกับการไปทำงานนอกบ้าน และถือโอกาสเดินชมเมืองบ้างตามประสา

แต่งานที่คิดไว้ ก็เพิ่งจะเริ่มต้น

ไม่ทันไรก็จะต้องกลับ อนิจจา!