บทนำจากนิตยสารวิภาษา ฉบับที่ 61
(ในการเผยแพร่ครั้งนี้ มีการแก้ไขการสะกดชื่อคุณจำกัด พลางกูร จากคำนำวิภาษาฉบับที่ 61 ที่ผมเขียนผิดเป็น "กำจัด" ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)
ในรอบเกือบสองปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสดูละครหลายเรื่องด้วยความกรุณาของมิตรสหายหลายท่าน แต่ติดค้างหนี้สินมายาวนานตั้งแต่ละครเรื่องไต้ฝุ่น (The Remains) ในวาระครบรอบ 40 ปี ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นละครของนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แสดงไปเมื่อปี 2556 โดยความอนุเคราะห์ของ ดร. ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ คณบดี ที่เชื้อเชิญให้ผมไปดู ผมเพิ่งมีโอกาสทบทวนเรื่องราวของไต้ฝุ่นที่ได้สะท้อนจุดเริ่มต้นของความบิดผันผิดรูปที่กำลังดำเนินอยู่ (deforming) ของการเมืองไทย
ไต้ฝุ่นเป็นเรื่องราวของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับผลพวงของการเปลี่ยนแปลงเมื่อสี่สิบปีก่อน ความทรงจำ แบบเรียนแบบชาตินิยมที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง อัตลักษณ์ทางเพศของคนรุ่นใหม่ถูกกดปิด บ้างก็ระเบิดมันออกมา บ้างเก็บเงียบในเบื้องลึกอย่างเงียบงันท่ามกลางมรสุมทางการเมืองระลอกแล้วระลอกเล่า
เรื่องที่พวกเขาได้ยินจากปากคำพ่อแม่ กับเรื่องราวนำตำราที่ยังไม่ลงตัว ไหนจะความสับสนระหว่าง 14 ตุลาคน 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 จนบางคนเอามารวมกันเป็น 16 ตุลาคม 2514, 14 ตุลาคม 2519 หรือกระทั้ง 14 กุมภาพันธ์ก็มี
ไม่นับว่าผมเคยตั้งคำถามหลอกล่อว่า จอมพล ส. ธนะรัชต์มีราชทินนามเป็นหลวงประดิษฐ์รัฐธรรมนูญ ก็มีคนเลือกคำตอบข้อนี้มากมาย!
ถ้าจะนับอายุของเหล่านักแสดงรุ่นนี้คงอยู่ราว 18-21 ปี หมายความว่า พวกเขาเกิดหลัง 14 ตุลาฯ กว่ายี่สิบปี ประเมินคร่าวๆ ได้ว่าพวกเขาอาจอยู่ใต้เงื้อมเงาของพ่อแม่ที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ มา เพราะฉะนั้น การตีความ 14 ตุลาฯ ของคนรุ่นนี้ว่าเติบโตมากับความสุขสบายที่พ่อแม่พยายามประเคนให้ และกันพวกเขาออกจากการเมืองก็เป็นได้
ส่วนผู้ใหญ่อาจเห็นว่าพวกเขาเป็นศูนย์กลางของโลก อ่อนแอ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ แต่ก็แอบห่วงลูกหลานไม่ได้
แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือ คนรุ่นนี้โตมากับชัยชนะของขบวนการเสื้อเหลืองและการยกย่องบทบาทกองทัพว่ามีส่วนสำคัญในการปราบพวกเสื้อแดง
ที่น่าสนใจก็คือมีครูอาจารย์ของพวกเขาไม่น้อยที่สนับสนุนการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แม้ในปี พ.ศ. 2556 ยังจะไม่ร้าวลึกมากนัก แต่เมื่อพวกเขาเข้ามหาวิทยาลัยราว พ.ศ. 2552-2556 พวกเขาย่อมเป็นพยานรู้เห็นกรณีเมษายน- พฤษภาคม 2553 เพราะฉะนั้น พวกเขาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองบนท้องถนนด้วยตัวเอง ไม่นับข้อถกเถียงระหว่างฝ่ายต่างๆ ในสังคม
ในท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ ผมเห็นพลังงานของพวกเขาที่ได้รับการกำกับอย่างดีเยี่ยมของคุณธีระวัฒน์ มุลวิไล หรือคาเงะ สมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม B-floor ที่ทำให้นักแสดงใช้ทักษะทางร่างกายอย่างมากมายเพื่อสื่อความตึงเครียด กดดันภายใต้สภาวะทางการเมืองและความสับสนของพวกเขาที่มีต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ผมนึกเสียดายที่ไม่ได้เขียนถึงเรื่องไต้ฝุ่นเมื่อได้ดูใหม่ๆ เพราะผมถูกภาระงานด้านอื่นดึงดูดเข้าไป จนสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง ราวกับเป็นการพยากรณ์มรสุมทางการเมืองลูกใหม่ที่จะหวนเข้ามาอีกครั้ง เพราะไม่นานนัก ความตึงเครียดทางการเมืองก็เพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ เพราะอีกไม่กี่วันก็เกิดกรณีการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 และเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน การชุมนุมของทั้งสองฝ่ายนำไปสู่การปะทะกัน โดยเฉพาะวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ที่มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตหลายคน
การคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมขยายตัวเป็นวิกฤตการณ์ของความพยายามล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ตามหลักการประชาธิปไตยสากล แต่ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า กปปส. หรือมวลมหาประชาชนยืนยันว่าต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยการตั้งตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์บ้าง การแช่แข็งประเทศ หรือประกาศตัวเป็นรัฐบุคคลบ้าง ในระหว่างนั้น ต้องไม่ลืมว่าสังคมไทยเดินเข้าสู่ความขัดแย้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับแต่ 6 ตุลาคม 2519 กล่าวได้ว่าต่างฝ่ายต่างไม่สงวนท่าทีในจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง เหลือแต่ฟางเส้นสุดท้ายเท่านั้นที่จะเดินไปสู่ทางมืดดับ
หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และการต่อต้านในรูปแบบใดๆ ก็ตามถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหารเกือบหมด มีไม่น้อยที่ไม่ยอมไปรายงานตัวที่ค่ายทหาร
ภายใต้ความกดดันนี้ มีเพียงศิลปะ ดนตรี การละคอน และวรรณกรรมเท่านั้นที่ช่วยปลอบประโลมจิตใจของผู้ที่ยังเชื่อมั่นในประชาธิปไตยและสันติวิธี
ในเดือนสิงหาคม 2557 ผมได้มีโอกาสไปชมละครเรื่อง “ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา” ในวาระครบรอบ40 ปีแห่งการจากไปของกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ผู้ใช้นามปากกาว่า “ศรีบูรพา” ก็ได้มีละครที่เขียนบท กำกับ และร่วมแสดงโดยประดิษฐ์ ปราสาททอง เป็นละครร้องที่เล่าเรื่องในวัยหนุ่มที่ถูกจองจำภายใต้การเมืองแบบเผด็จการตั้งแต่ยุคจอมพล ป. พิบูลสงครามจนถึงสมัยจอมพล ส. ธนะรัชต์ ผ่านสายตาของผู้ภรรยา ชนิด สายประดิษฐ์ ที่สวมบทบาทโดยมณฑกานต์ รังสิพราหมณกุล ที่จัดเวทีเรียบง่าย ในคุกอันเป็นที่จองจำ “กุหลาบ” และในบ้านที่เป็นที่ “จองจำ” ชนิด ผมไปชมรอบท้ายๆ ของละครและได้มีโอกาสพบเพื่อนพี่น้องหลายคน พอจะช่วยปลอบใจกันได้บ้าง
ที่ผมประทับใจมากก็คือบทโต้ตอบระหว่างกุหลาบกับนายมั่นนายคง อันเป็นตัวแทนของท่านผู้นำ และความเข้มแข็งของชนิด ที่นักแสดงได้สื่อออกมาได้งดงาม ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป
ที่สะเทือนใจก็คือกุหลาบดอกนี้ได้ร้างลาห่างบ้านเกิดเมืองนอนจนวาระสุดท้าย เพราะสังคมไทยตกอยู่ใต้เงื้อมเงาเผด็จการยาวนานมาก
นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม 2557 ผมยังได้รับเชิญจากปิยศิลป์ บุลสถาพร ผู้กำกับและนักแสดงเอก ให้ไปชมละครเรื่อง “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” อันเป็นเรื่องของนายจำกัด พลางกูรที่เขียนบทโดย ศ.ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา แม้จะดูขัดเขินไปบ้าง ด้วยนักแสดงส่วนใหญ่เป็นนักแสดงสมัครเล่น อาสามาแสดงโดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ โดยหวังจะฉลองชาตกาลหนึ่งศตวรรษของวีรบุรุษที่ได้รับการยกย่องน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จากการค้นคว้าของอาจารย์ฉัตรทิพย์นั้น จำกัดเป็นโซ่ข้อต่ออันสำคัญที่ยอมเสียสละความก้าวหน้าของชีวิต ทิ้งคนรักไว้ข้างหลังเพื่อแสวงหาทางออกให้กับประเทศชาติในยามศึกสงคราม เขาไม่หยุดยั้งความพยายาม แม้ในยามสิ้นหวังอย่างถึงที่สุด ในยามที่ขัดสนในต่างแดน จำกัดได้แต่เพียรพยายามสร้างความมั่นใจให้ฝ่ายจีนและสัมพันธมิตรยอมรับขบวนการเสรีไทยในฐานะใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะ
ชีวิตของจำกัดเป็นต้นทุนหนึ่งแลกกับการพลิกบทบาทเป็นฝ่ายชนะสงครามของประเทศไทย เป็นชีวิตที่สูญเสียไปอย่างเดียวดาย ไกลจากคนรักและบ้านเกิดเมืองนอนของเขา
ในเดือนเดียวกัน ยังได้รับเชิญให้ไปดูละครของคาเงะ ธีระวัฒน์ มุลวิไล เรื่อง สถาปนา (ถังแดง) และภาคต่อของสถาปนาชื่อ Iceberg ทั้งสองเรื่อง แสดงต่างสถานที่ ต่างเวลากัน ขณะที่สถาปนาหรือถังแดงแสดงที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ แต่ Iceberg แสดงที่โรงละครสดใส พันธุโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่องสถาปนาหยิบเอากรณีถังแดงที่เป็นข้อเท็จจริงที่ยังมีข้อถกเถียงมากมายมาเป็นตัวเริ่มต้น จากสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าอันตรายอย่างถังน้ำมัน ตัวนักแสดงโผล่ออกมาจากถัง ราวกับไม่รู้เดียงสา มีความสุขสนุกสนานตามวัยวัน แต่พลันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป นักแสดงได้ใช้ร่างกายแสดงให้เห็นถึงความอึดอัด คับข้องใจภายใต้แรงกดดันอย่างถึงที่สุด แม้บางครั้งจะเหมือนว่าตัวละครผ่อนคลายด้วยการกลิ้งไปมากับถังแดง แต่การนอนบนถังแดงก็ไม่ได้ปลอดภัย แถมยังต้องลุ้นกันตัวโก่งในบางฉากว่าจะโดนหางเลขจากถังแดงด้วย
ฉากที่ผมประทับใจที่สุดก็คือฉากที่ตัวละครเดินไปมา แต่ราวกับมีมนุษย์ล่องหนเอาปืนจี้ให้เขาเดินไปข้างหน้า บ้างก็ราวกับถูกกระทืบทำให้เขาต้องล้มลุกคลุกคลานราวกับสัตว์ ท่ามกลางความวิปริตของกลุ่มถังแดงที่รายรอบอยู่ บุคคลลึกลับก็ปรากฏตัวเข้ามาจัดระเบียบ นั่นคือยุคสันติสุขของถังแดง
ฉากภาพยนต์ที่ปรากฏขึ้นมาเป็นภาพของชายลึกลับคนนั้นลากเก้าอี้ขนาดใหญ่ที่แสดงถึงอำนาจและการควบคุม เชือกที่คล้องตัวเขาเป็นบ่วงใหญ่ที่พันธนาการเขาเอาไว้และสาสมใจที่ได้นั่งบนเก้าอี้ใหญ่ยักษ์นั้น
ทิ้งระยะเวลากว่าสิบวันก็ถึงรอบการแสดง Iceberg หรือภูเขาน้ำแข็ง ในชุดนี้ต่างไปจากชุดสถาปนาภาคแรกหรือภาคถังแดง ภาคนี้กลับเย็นยะเยือกเพราะเต็มไปด้วยน้ำแข็งใหญ่น้อยที่นักแสดงเอามา ใบหน้าที่สวมหน้ากากนั้นเหมือนฆาตกรโรคจิตที่กำกับความเป็นไปของจักรวาลน้ำแข็งรอบตัวเขา การเจาะเข้าไปในน้ำแข็ง สลับกับภาพที่ถ่ายจากกล้องที่ติดหน้าอกของตัวละครฉายเป็นฉากหลัง ทำให้เห็นความสยดสยองของภาพและเสียงจากสว่านเจาะและเติมสีแดงของน้ำหวานเข้าไป
แม้ในบางช่วงนักแสดงเอาเพลงแม่สายที่เล่นจากแผ่นเสียงเปิดแล้วนั่งฟังอย่างสบายใจราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ภาพรวมของ Iceberg ช่วยเติมเติมให้เห็นภาพของยุคสงครามและยุคสันติสุขในสายตาของผู้กุมอาจที่พยายามไม่ให้นำ้แข็งละลาย แต่ก็พยายามจัดระเบียบน้ำแข็งที่ค่อยๆ กร่อนเซาะด้วยมือของเขาและด้วยอากาศรอบตัว
การปรากฏตัวของชายในหน้ากากและเก้าอี้อันทรงอำนาจนั้น หลอมรวมกันให้สถาปนาทั้งสองตอนเป็นเอกภาพของความขัดแย้ง สงครามและสันติสุขในระเบียบชุดหนึ่งที่เต็มไปด้วยความร้อนแรง กับระเบียบอีกชุดหนึ่งที่พยายามหยุดไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่อาณาจักรน้ำแข็งกำลังเซาะกร่อนด้วยมือของผู้จัดระเบียบ
ในรายละเอียดที่ว่ามาเหล่านี้ เป็นภาพร่างจากความทรงจำของผมทั้งสิ้น และชวนให้คิดย้อนไปถึงคราวที่ผมพยายามสร้างชุดของคำอธิบายว่าสังคมสมัยใหม่คืออะไร สังคมที่เรียกว่าร่วมสมัยคืออะไร
ในคำตอบหนึ่งมาจากแนวคิดของเรย์มอนด์ วิลเลียมส์ที่เห็นว่า ในพื้นที่ของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นวรรณคดี เพลง ละคร หรือศิลปะแขนงอื่นๆ มักจะเกิดการก่อตัวของบางสิ่งบางอย่างที่เป็นตัวแทนของสิ่งที่จะถูกติดฉลากในอนาคต แต่ยังไม่มีชื่อเรียกโดยตัวมันเอง วิลเลียมส์เรียกสภาวะนี้ว่า”โครงสร้างของความรู้สึก” (structure of feelings) ซึ่งก่อตัวขึ้นมาในสภาวะหนึ่งที่แยกออกจากโครงสร้างก่อนหน้านี้ แม้จะไม่มีชื่อเรียกในขณะดังกล่าว แต่มันก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
ในสภาวะที่สิ่งใหม่ๆ กำลังจะเกิดขึ้นนี้เอง เป็นธรรมดาที่ผู้ที่พยายามควบคุมความเปลี่ยนแปลงมักจะลงลึกมาถึงพรมแดนของศิลปวัฒนธรรม และหากมันมาถึงเมื่อไหร่ แสดงว่านั่นคือภาวะที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง
ในเดือนมกราคม 2558 ได้มีการเสนอร่างกฎหมายหลายๆ ฉบับที่มีผลในการจำกัดเสรีภาพของประชาชน รวมถึงการไป “เยี่ยม” ละครเวทีของกลุ่ม B-floor เรื่อง “บางละเมิด” โดยเหล่าทหารหาญ (บางละเมิดแสดงโดยอรอนงค์ ไทยศรีวงศ์) สะท้อนให้เห็นการบิดผันผิดรูปของสังคมไทยทั้งๆ ที่ในช่วงเวลานี้ เป็นเวลาที่เรากำลังแสวงหาทางออกใหม่ๆ ให้กับสังคมในนามของการปฏิรูป แต่ทางออกที่ถูกกำกับอย่างยิ่งยวดนี้สะท้อนให้เห็นมรดกของมรสุมทางการเมืองที่สั่งสมกันมานาน และไม่พร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลงใหม่เอาเสียเลย
หน้าที่หรือบทบาทของศิลปะการแสดง ถ้าจะมีก็คือกระจกสะท้อนความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
เศร้าที่สุด แย่ที่สุด ก็คือคนจำนวนไม่น้อยกลับมองเห็นว่าเป็นเรื่องปกติไปเสีย
อาจกล่าวได้ว่าการบิดผันผิดรูปยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ขณะที่โครงสร้างของความรู้สึกใหม่กำลังก่อตัว