ผมมักเอ่ยถึงเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วอยู่หลายครั้ง ด้วยความรู้สึกสามัญธรรมดาเหมือนกับหลายๆ คนที่เชื่อว่า วันเวลาแห่งความสุขช่างผ่านไปรวดเร็ว แต่วันเวลาแห่งความทุกข์กลับผ่านไปอย่างเชื่องช้า
ครั้งก่อนผมเอ่ยว่าฤดูใบไม้ผลิจักต้องมาถึง ก็มีมิตรสหายส่งปกหนังสือในชื่อนี้ของอดีตปัญญาชนท่านหนึ่งมาให้
มิตรสหายท่านนั้นคงคิดถึงหนังสือเล่มนั้นไม่มากก็น้อย แต่ขอบอกว่าตอนที่เขียนก็ไม่ได้คิดถึงเขา เพราะในยามที่ผมเขียนเรื่องฤดูหนาวอันยาวนั้นมีที่มาจากการเดินทางทางของผมเมื่อปี 2556 ด้วยความรู้สึกว่าฤดูหนาวปีนั้นยาวนานเหลือเกิน ประกอบกับได้ยินชื่อหนังสือชุดกระท่อมน้อยในป่าใหญ่ตอนฤดูหนาวอันยาวนาน ก็ประทับใจ เพราะผมยังจำความรู้สึกที่เปิดหน้าต่างบนห้องใต้หลังคาแล้วหิมะโปรยลงมาเป็นสาย แม้ในยามปลายเดือนมีนาคมที่น่าจะเข้าฤดูใบไม้ผลิในยุโรปก็ตาม
ในปีนี้ฤดูหนาวของผมก็เป็นฤดูหนาวที่ยาวนานที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ เพราะนับเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนมาจนถึงบัดนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าความหนาวจะเลือนจากไปง่ายๆ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาก็มีหิมะโปรยลงมาเป็นสาย ราวกับจะสั่งลาความหนาวเย็นที่แผ่มานานหลายเดือน
แต่ในยุโรปที่ผ่านสายตาของผม เมื่ออากาศอบอุ่นเข้าฤดูใบไม้ผลิ ดอกไม้จะงอกโผล่พ้นดินมาและเบ่งบานให้เห็น
การบังคับฤดูกาลเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในขีดความสามารถอันจำกัดของมนุษย์ อย่างไรก็ยังต้องพ่ายแพ้แก่ธรรมชาติ
ระบอบการเมืองก็เช่นกัน
ผมจึงเห็นว่าในที่สุด ฤดูใบไม้ผลิจักต้องมาถึงในที่สุด
อีกเรื่องหนึ่งที่ฉุกคิดมาได้ระหว่างเขียนบทนำวิภาษาฉบับที่ 61 ก็คือ ตกลงแล้วผมเห็นว่าการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้น เป็นการยุติความรุนแรงที่มีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่
ขอขยายความในที่นี้เลยว่า ผมไม่เคยเห็นไปในทางที่ว่าการรัฐประหารจะแก้ปัญหาใดๆ ได้เลย ประวัติศาสตร์ของไทยที่ผ่านมา หรือกระทั่งในหลายๆ มุมของโลกนั้น ชี้ให้เห็นว่าการเข้าสู่อำนาจของทหารไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเป็นกองกำลังติดอาวุธที่มีพลานุภาพมากที่สุดของทุกสังคม แต่การออกจากการเมืองของทหารไม่ใช่เรื่อง่าย และไม่ได้จบแบบเทพนิยายให้เราเห็น
การเข้าสู่การเมืองของทหารด้วยการใช้กำลังควบคุมและพยายาม "ปฏิรูป" เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น การปฏิรูปวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 จบลงด้วยการปะทะกันอย่างรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2535 มาถึงการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ทำให้ระบอบการเมืองของไทยเริ่มบิดผันผิดรูป (deform) มาอย่างต่อเนื่อง
สรุปเบื้องต้นว่า การเข้าสู่การเมืองของทหารไม่ใช่เรื่องยาก เพราะสรรพกำลังและการสนับสนุนระเบียบสังคมจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมและคนชั้นกลางที่ฝักใฝ่ระเบียบอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทำให้การเข้าสู่การเมืองของทหารไม่ใช่เรื่องยาก ดังที่ผู้นำกองทัพถึงกับบอกว่า อย่ามาสู้กับทหารเลย สู้ยังไงก็ไม่ชนะ
อันที่จริงฝ่าย นปช. น่าจะเข้าใจได้ชัดเจนที่สุดว่าเงื่อนไขของความพ่ายแพ้ทางการเมืองของนปช.และพรรคเพื่อไทยก็คือการขาดฐานสนับสนุนจากคนชั้นกลางตลอดจนเครือข่ายอนุรักษ์นิยม
แต่ทหารมักจะลืมอีกด้านหนึ่งของเหรียญคือ การถอนตัวออกจากการเมืองอย่างไร ไม่เพียงให้ตัวเองดูสง่างาม แต่ยังหมายถึงการมีที่ทางในสังคมภายหลังจากลงจากอำนาจอีกด้วย
การถอนตัวออกจากการเมืองจึงเป็นปริศนาที่รอคอยคำตอบเมื่อเวลาคลี่คลายของมันมาถึง ถึงแม้จะพอเดาได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะต้องเดา เพราะทิศทาง แนวโน้มความเสื่อมทรามของการกำกับด้วยสรรพกำลังนั้นมักปรากฏออกมาในรูปของความล้มเหลวเชิงนโยบาย ความไม่สามารถผลิตนโยบายที่ดีกว่าออกมาได้ หรือกระทั่งความล้มเหลวในการกุม "หัวใจ" ของคนชั้นกลางและฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ที่สำคัญ การใช้กำลังอาวุธกับประชาชนของตัวเองไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้ทหารสามารถควบคุมกำกับการเมืองไทยแต่ฝ่ายเดียวได้อีกต่อไป แม้จะใช้กำลังอย่างถึงที่สุด ก็สามารถทำได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น
หากมองในแง่ร้าย ทหารสามารถกำกับความเคลื่อนไหวด้วยการเรียกคนไปปรับทัศนคติ ก็กระทำได้ในระดับจุลภาค แต่ก็ต้องแลกกับภาพพจน์เผด็จการในสายตาของชุมชนอารยะประเทศ ที่สำคัญ ประเทศไทยไม่ใช่สามจังหวัดชายแดนใต้
หากจะยกระดับถึงขั้นการใช้อาวุธข่มขู่คุกคามหรือกำจัดฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมืองนั้น จะส่งผลสะเทือนในระยะยาวอย่างไรบ้างก็คงจะเกินสติปัญญาของผมในเวลานี้