ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรามีการประชุมกลุ่มไทยศึกษาทุกวันพุธ โดยมีคนทั้งจากในฮาร์วาร์ดเอง และจากมหาวิทยาลัยข้างเคียง เช่น MIT มาร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานทางวิชาการของพวกเรา
ผมได้มีโอกาสนำเสนอรายงานวิจัยของผม เช่นเดียวกับนักวิชาการท่านอื่นๆ ที่นำเสนอรายงานบางส่วนของตัวเองไปแล้ว เช่น ผศ. ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), ดร. อรัญญา ศิริผล (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) และ ผศ. ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ซึ่งต่างก็ทำวิจัยในเรื่องที่น่าสนใจมาก ผมจะขอเล่าเท่าที่จำรายละเอียดได้จากมุมมองของผมก็แล้วกันครับ ข้อผิดพลาดประการใดจากความทรงจำและการตีความของผมก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผมและขออภัยอาจารย์ทั้งสามท่านไว้ที่นี้
งานของอาจารย์พิชญ์เป็นการวิจัยเรื่องเมืองชายแดน พัฒนาต่อจากงานดุษฎีนิพนธ์ที่สนใจเมืองชายแดนทางเหนือ เช่น แม่สายและแม่สอด แต่คราวนี้อาจารย์พิชญ์ใจเด็ด ลงทุนลงแรงไปศึกษาเมืองชายทะเล และสนใจเรื่อง sea borders ที่มีความน่าสนใจทั้งในแง่ของทรัพยากรทางทะเล และสิทธิเหนือน่านน้ำในมหาสมุทร รวมไปถึงชีวิตของคนที่ทำงานเป็นลูกเรือในเรือประมง เป็นคนงานคัดปลา แยกปลาและสัตว์ทะเลอื่นๆ
ความน่าสนใจนอกจากชีวิตของคนแล้วยังรวมไปถึงมูลค่าทางการค้าอีกมหาศาลด้วย
อันที่จริง หากรัฐบาลสนใจแก้ปัญหาเรื่องค้ามนุษย์จริงๆ จังๆ พอๆ กับภาคเอกชนที่ใกล้จะเดือดร้อนจากมาตรการของสหภาพยุโรป ก็น่าจะใส่ใจงานวิจัยของอาจารย์พิชญ์มากขึ้นและสนับสนุนการวิจัยในด้านนี้ให้มาก เพราะอาจารย์พิชญ์ตั้งข้อสังเกตุเรื่องการค้าแรงงานมนุษย์หรือแรงงานทาสน่าจะลดลงมากกว่าที่เราเข้าใจ ปัญหาที่แท้จริงของแรงงานประมงน่าจะอยู่ที่พวกเขาไม่ได้พักผ่อนกลับบ้านในเวลาอันควร เพราะการจับปลาต้องอาศัยการขนส่งที่รวดเร็วเพื่อรักษามูลค่าของสินค้าจากทะเลเอาไว้ให้ได้มากที่สุด จึงต้องส่งเรือขนาดเล็กออกไปหาปลา และใช้เรือบรรทุกปลาส่งกลับฝั่งเพื่อกระจายสินค้าก่อนจะเสื่อมสภาพลง
ผมฟังงานของอาจารย์พิชญ์ด้วยความเพลิดเพลินและมองเห็นการศึกษาเรื่องยุทธศาสตร์การค้า การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งยังต้องรวมไปถึงการสร้างระบบรองรับไม่ว่าจะเป็นการดูแลคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมประมง ซึี่งไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่เป็นพี่น้องจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ ระบบการกำกับการเคลื่อนย้ายแรงงานจึงสำคัญพอๆ กับการรักษาตลาดสินค้ามูลค่ามหาศาลในตลาดโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอนาคตของประเทศไทยมาก
ส่วนงานของอาจารย์อรัญญาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นงานศึกษาการค้าชายแดนไทยพม่าและอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของกลุ่มจีนคณะชาติที่อยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่ามานับหลายสิบปี จนพวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย
คนกลุ่มนี้ก็คือกลุ่มจีนยูนนานที่เคยเป็นพลพรรคของกองพล 93 ซึ่งถอยร่นมาจากตอนใต้ของจีน จนมาอยู่ในเขตรอยต่อไทยพม่า และมีความผูกพันกับพรรคก๊กมินตั๋ง หรือ พรรค KMT มายาวนาน ในยามที่พรรค KMT เรืองอำนาจก็มีการช่วยเหลือเกื้อกูลตามสมควร แต่รัฐไทยเองก็พยายามกำกับความเคลื่อนไหวของพวกเขา และเคยแม้กระทั่ง “ใช้” พวกเขาสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาแล้ว
ในปัจจุบัน กลายเป็นว่ารัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เองพยายามเข้ามามีบทบาทในการผูกใจของลูกหลานจีนพลัดถิ่นเหล่านี้ผ่านหลักสูตรภาษาจีน ซึ่งเป็นที่รู้ดีว่าพรรค KMT ถอนร่นไปยังเกาะไต้หวัน การศึกษาภาษาจีนตามแบบไต้หวันก็เป็นระบบหนึ่ง การศึกษาภาษาจีนในแผ่นดินใหญ่ก็เป็นอีกระบบหนึ่ง การแทรกซึมผ่านนโยบาย “เฉียวป้าน” จึงน่าสนใจมาก สำหรับคนที่สนใจเรื่องอิทธิพลจีนในอาเซียน
อาจารย์อรัญญาเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฟังด้วยความน่าสนใจและมีคนสนใจไต่ถามมากมาย
ส่วนผมเองนอกจากจะทึ่งในเรื่องการเก็บข้อมูลแล้วยังสนใจเรื่องความทรงจำของลูกหลานกองพล 93 ว่าพวกเขาสนใจประวัติศาสตร์ของบรรพชนอย่างไร ปัจจุบันน่าจะเข้าสู่รุ่นที่สามหรือสี่แล้ว ความทรงจำที่พวกเขามีต่อแดนเกิดของบรรพชนจะเป็นอย่างไร ยังอยากกลับไปหรือมองว่าตัวเองน่าจะเชื่อมโยงกับไต้หวันมากกว่าแผ่นดินใหญ่ อนาคตของพวกเขาอยากอยู่กับรัฐไทยแค่ไหน เป็นต้น
ส่วนงานของอาจารย์ปิ่นแก้วเป็นเรื่องการจัดประเภทของบัตรประจำตัวบุคคลในประเทศไทย การจัดบุคคลแบ่งประเภทเป็นผู้ถือบัตรประชาชน บัตรชาวเขา เป็นต้น ในเรื่องนี้ผมจำอะไรไม่ได้มากนักเพราะมีอาการป่วยเล็กน้อย กึ่งหลับกึ่งตื่น จึงไม่สามารถจับใจความสำคัญได้ตลอด แต่โดยรวมแล้วได้รับความสนใจจากผู้ฟังทั้งสามท่าน
งานวิชาการทั้งสามเรื่องเป็นภาพสะท้อนการดิ่งลึกในสนามที่ตัวเองศึกษาเพื่อสะท้อนมุมที่นักวิชาการเห็น และเปรียบเทียบกับข้อมูลชุดอื่นที่ได้จากการศึกษาที่ใช้กรอบความคิดทั้งคล้ายคลึงและแตกต่างกัน เมื่อได้ขบคิดวิเคราะห์จึงนำเสนอออกมาเป็นงานวิจัยที่แต่ละคนสนใจ
ในงานของผมเองเป็นเรื่องการศึกษาเรื่องประวัติย่อของคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงในประเทศไทย ซึ่งผมมีประสบการณ์ในฐานะที่เคยเป็นอนุกรรมการ คอป. ที่ตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตของคนในพื้นที่บ่อนไก่ สีมและซอยรางน้ำกว่า 53 รายและการเผากรุงเทพกว่า 32 จุด พบว่าการทำงานมีข้อจำกัดมากมายจึงได้ร่วมกับกลุ่มมรสุมชายขอบทำการรวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้น และในเวลาต่อมาร่วมกับศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีเมษายน- พฤษภาคม 2553 (หรือ ศปช.) จัดทำรายงานออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ
ผมเลยต้องการศึกษาให้ลึกลงในรายละเอียดว่าการตรวจสอบและค้นหาความจริงในหลักการสากลนั้นเขาทำกันอย่างไร ที่สำเร็จ คือมีความจริงเป็นที่ประจักษ์ยอมรับกันและสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้นเขาเริ่มและมีกระบวนการอย่างไร โดยมองไปที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนและเกาหลีใต้
แต่ก่อนจะเข้าถึงตรงนั้น ผมได้นำเสนอในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ของไทยว่า เรามีคณะกรรมการตรวจสอบความจริงอยู่หรือไม่ และผลการทำงานเป็นอย่างไร
หากมองในแง่มุมประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย มีคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงอยู่สองชุดที่น่าสนใจ ชุดแรกคือคณะกรรมการตรวจสอบว่านายปรีดี พนมยงค์เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ และชุดที่สองก็คือกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงกรณีสววรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8
ชุดแรกตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรและมีการนำเสนอรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร ส่วนชุดที่สองตั้งโดยรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ส่งมอบรายงานต่อองคมนตรี
นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงภายหลังจากเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอันนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บของประชาชนจำนวนมาก ชุดแรกคือ กรณีพฤษภาคม 2535 แต่ไม่มีการเปิดเผยผลการตรวจสอบค้นหาความจริง ชุดที่สองคือกรณีตากใบ ชุดที่สามคือกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 ทั้งสามชุดตั้งโดยรัฐบาล
แต่ยังมีกรรมการตรวจสอบกรณีพฤษภาคม 2535 ชุดหนึ่งที่ตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรและส่งรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร และมีการตั้งกรรมการตรวจสอบกรณีสงครามต่อต้านยาเสพติดโดยวุฒิสภา
ยังมีข้อน่าสังเกตว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามกรณีผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน และนำเสนอให้มีการเยียวยาผู้เสียหายเป็นครั้งแรก และเป็นความสำเร็จขั้นต้นในการที่จะคืนความเป็นธรรมให้ญาติของผู้เสียหาย แม้ค่าตอบแทนเยียวยานั้นไม่มาก และน่าจะเป็นแบบแผนในทางปฏิบัติว่าหากรัฐกระทำเกินกว่าเหตุทำให้เกิดการสูญเสียและสูญหายอันเชื่อได้ว่าเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองก็น่าจะได้รับการเยียวยาในเวลาต่อมา
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาสำคัญของประเทศไทยก็คือการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือ blanket amnesty ที่มำให้ผู้กระทำผิดลอยนวลปราศจากความรับผิด ไม่ว่าจะเป็นกรณี 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, และพฤษภาคม 2535 ซึ่งรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูรออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมตัวเองก่อนจะลาออก
กรณี 14 ตุลาคม 2516 ไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ มีเพียงกรณี พฤษภาคม 2535 ที่มีการตั้งคณะกรรมการโดยรัฐบาล ส่วนกรณี 6 ตุลาคม 2519 นั้น มีการตั้งคณะกรรมการฝ่ายนักศึกษาและญาติเพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในแง่ของการแสวงหาผู้รับผิด เพราะมีกฎหมายนิรโทษกรรมในภายหลังจากเหตุการณ์ในยุคพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์
และยังต้องเข้าใจด้วยว่า ความพยายามเอาใจกองทัพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ผลักดันร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ออกมาก็เป็นชนวนของการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้สำเร็จในเวลาต่อมา ส่งผลสะเทือนต่อการเมืองไทยจนถึงวันนี้
เรื่องคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงจึงเป็นเรื่องที่ต้องค้นหาคำตอบต่อไปว่าจะเป็นรูปแบบใด ทำงานแบบใดจึงจะสร้างความปรองดองขึ้นได้อย่างแท้จริง มิใช่เรื่องที่ฝันเอาลมๆ แล้งๆ ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ