ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง ในบรรดามหาวิทยาลัยเหล่านั้นได้แก่ วิทยาลัยสมิธ (Smith College) และ เมาท์โฮล์โยค (Mount Holyyoke) ซึ่งเป็นวิทยาลัยสตรีของสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินกิจการด้านวิชาการมาต่อเนื่องยาวนานที่สุดของประเทศ สองสถาบันนี้เป็นสอง (มหา) วิทยาลัยในกลุ่ม เจ็ดพี่น้องสตรี ได้แก่ เมาท์โฮล์โยค, วาสซาร์ (Vassar College), สมิธ (Smith College), เวลส์ลีย์ (Wellesley College), บริน มาวร์ (Bryn Mawr College), บาร์นาร์ด (Barnard College), และแรดคลิฟ (Radcliffe college). แต่ทุกวันนี้เหลือเพียงห้าวิทยาลัย ส่วนอีกสองวิทยาลัยได้แก่ Vassar กลายเป็นสหศึกษาวิทยาลัยไปแล้ว ส่วน Radcliffe รวมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกลายเป็นสถาบัน Radcliffe Institute for Advanced Study (ที่อาจารย์ไทเรล ฮาร์เบอร์กรมาเป็นภาคีนักวิจัยอาคันตุกะ)
นอกจากจะตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามของภูมิทัศน์วิทยาลัยเล็กๆ เหล่านี้แล้ว ความสำคัญของวิทยาลัยเหล่านี้คือการเป็นวิทยาลัยสำหรับสตรี (เท่านั้น) และอยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับ Ivy league ของวิทยาลัยชายในครั้งอดีต และยังคงมีชื่อเสียงมาถึงปัจจุบันนี้
ชื่อเจ็ดพี่น้องสตรีมาจากปกรณัมกรีกโบราณ หมายถึงบรรดาธิดาของ Atlas ที่เป็นยักษ์ยืนค้ำฟ้ามิให้ถล่มลงมา ต่อมาเทพซุส (Zeus) เปลี่ยนธิดาทั้งเจ็ดให้เป็นดวงดาว
แม้กระทั่งทุกวันนี้ วิทยาลัยกลุ่มนี้ยังเป็นวิทยาลัยในฝันของบรรดาหญิงสาว ในเว็บเพจของวิทยาลัยเมาท์โฮล์โยคยกเอาเรื่อง The Simpsons ที่ลิซาเข้าแข่งขันการสะกดคำในระดับมลรัฐ แต่เพราะผู้จัดงานเห็นว่าเรทติ้งของผู้ชมทางทีวีต่ำ และต้องการให้คู่แข่งอีกคนหนึ่งที่มีเรทติ้งผู้ชมดีกว่าชนะ จึงเสนอเงินทุนให้ลิซาเข้าเรียนในวิทยาลัยกลุ่มนี้ แน่นอนว่าสาวน้อยลิซาปฏิเสธข้อเสนอนี้แต่ยังฝันที่จะเข้าเรียนในวิทยาลัยเจ็ดพี่น้องอยู่ดี
การสร้างวิทยาลัยขนาดเล็กนี้ทำให้ผมได้รับแรงบันดาลใจที่อยากจะทำวิทยาลัยการเรียนรู้ขนาดเล็ก เป็นฝันลมๆ แล้งๆ ว่าอยากทำวิทยาลัยแบบนี้ เพื่อเป็นฐานให้ผู้สนใจที่จะเรียนต่อในชั้นสูงระดับมหาบัณฑิตได้มีความรอบรู้ เพราะวิทยาลัยขนาดเล็ก เอาจริงเอาจังกับการบ่มเพาะบัณฑิตที่เน้นการคิด การถกเถียง การอ่านตำราในระดับตัวบทดั้งเดิม การเขียน และการพูด ซึ่งทักษะเหล่านี้แทบจะไม่สามารถกระทำได้ในมหาวิทยาลัยไทยปัจจุบัน นอกเสียจากเป็นความสนใจส่วนตัวของนิสิตนักศึกษาแต่ละคน
ผมมั่นใจว่าหากมีคนจริงจังการการสร้างวิทยาลัยศิลปศาสตร์มนุษยศาสตร์เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับที่กล้าได้กล้าเสีย ตามแบบที่ผมว่า ไม่เกินสิบปี เราจะมีสถานศึกษาติดอันดับเอเชียหรือระดับโลกได้ไม่ยาก เพราะหากจะเล่นเกมส์ Ranking แล้ว เกณฑ์จริงๆ มีไม่กี่อย่าง
ที่สำคัญไม่ใช่ทำแบบสุกเอาเผากินกัน เพราะสิ่งที่จะชี้วัดความเป็นเลิศนั้น ไม่ได้อยู่ที่การมีสถานศึกษาที่โอ่อ่างดงามหรือมีกองกระดาษประกาศเกียรติคุณ แต่เป็นผลงานทางวิชาการของคณาจารย์ นักศึกษาและศิษย์เก่า
ซึ่งไม่เพียงความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ต้องเป็นเลิศในการสร้างคนที่มีจิตใจเป็นมนุษย์ เห็นคนเป็นคน ที่เท่าเทียมเสมอหน้ากัน เคารพซึ่งความหลากหลายและแตกต่าง โดยไม่เอาอคติเรื่องสีผิว ชาติพันธุ์หรือฐานะทางสังคมมาโอ่อวดประชันกัน
เพราะหลายปีมานี้ เรามุ่งแต่สร้างสัมฤทธิผลทาง “กระดาษ” ลองไปพิจารณาดูว่าการสร้างเกณฑ์ประกันคุณภาพเชิงเดี่ยวและเป็นเส้นตรงนั้น ทำให้มหาวิทยาลัยต้องหลอกลวงผู้ตรวจประกันคุณภาพและหลอกตัวเองไปวันๆ แทนที่ผู้บริหารจะใส่ใจนักศึกษาและการพัฒนาระบบห้องสมุด การเข้าถึงและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ กลับพากันเห็นดีเห็นงามกับการสร้างเอกสารกองมหึมาเพื่อ “ชี้วัด” ตามเกณฑ์ประกันคุณภาพ
หนักกว่านั้นเริ่มสร้างแนวคิดเรื่อง “ต้นทุนการผลิตบัณฑิตต่อหัว” ซึ่งจะทำให้การจัดการศึกษาถูกบิดเบือนด้วยกลไกตลาดแบบทื่อๆ
ลองนึกเอาว่ามหาวิทยาลัยทุกวันนี้ที่สร้างระบบ admission รับตรงในทุกมหาวิทยาลัย ทั้งรับตรงในส่วนกลางและแยกคณะกับโครงการพิเศษต่างๆ ผลักภาระให้ผู้ปกครองและนักศึกษาอย่างชัดเจน ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องคิดคำนวณตัวเลขคุ้มทุนในการจัดการศึกษา
ผมได้ยินว่าสถานศึกษาบางแห่งจัดสอบระบบรับตรงในแต่ละปีมีคนสมัครกว่าสองหมื่นคน คิดง่ายๆ ว่าคนละ 600 บาท มหาวิทยาลัยจะมีรายรับ 12,000,000 ล้านบาทในการจัดการสอบอย่างเป็นกอบเป็นกำ นี่ยังไม่รวมถึงการรับตรงในระดับคณะและโครงการภาษาอังกฤษ
ลองคิดอีกที บรรดาโครงการพิเศษต่างๆ ในมหาวิทยาลัยของรัฐจะเข้าข่าย “ใช้สถานที่หลวงจากภาษีประชาชน หากินเซ็งลี้กันอย่างเป็นระบบหรือไม่” ?
บางแห่งปรากฏว่าถีบลูกคนจน คนธรรมดา โครงการไพร่ไปเรียนบ้านนอก ลูกคนมีสตางค์เรียนในวิทยาเขตกลางใจเมือง เพราะเขาจ่ายแพงกว่า
ไม่ลองคิดบ้างหรือว่า นี่คือการผลักภาระต้นทุนการจัดหอพักสวัสดิการนักศึกษาไปสู่ระบบตลาด ขณะเดียวกันอาจารย์ก็ต้องเร่หาบ้านพักเอาตามยถากรรม แล้วก็มีปัญหาอื่นๆ ตามมาจนต้องไปไล่ purify รอบรั้วมหาวิทยาลัยให้ปลอดเหล้าและอบายมุข?
ทำกันมาตามๆ กัน อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่? นี่เป็นคำถามเชิงจริยธรรมนะครับ
กลับมาเรื่องวิทยาลัยเจ็ดพี่น้อง ผมลองดูค่าเรียนต่อปี 56,746 เหรียญซึ่งเป็นค่าที่พักและอาหาร ค่าธรรมเนียมการศึกษาและกิจกรรมนักศึกษา ไม่รวมค่าประกันสุขภาพอีกราว 1755 เหรียญ รวมทั้งหมดประมาณ 57,501เหรียญต่อปี ไม่รวมค่ากิน
ปีที่ผ่านมามีผู้สมัครราวสามพันคน มีนักศึกษาที่คัดเลือกเอาไว้แล้วกว่าสามร้อยคน โอนย้ายจากสถาบันอื่นเกือบสองร้อยคน มีคนสมัครสามพันสองร้อยคน รับได้ประมาณ 1700 คน อัตรารับนักศึกษาอยู่ราวร้อยละ 50 หากมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ประเมิน ค่า SAT score, IELTS หรือ TOEFL ได้ตามเกณฑ์ก็มีโอกาสเข้าได้สูง และพบว่ามีนักศึกษาจากประเทศไทยด้วย
ศิษย์เก่าของสถาบันเจ็ดพี่น้องก็มีมากมายหลายวงการ ล้วนแล้วแต่สร้างคุณประโยชน์ไม่น้อย
นอกเหนือจากอาคารสวยงามขรึมขลังแล้ว บางสถาบันก็มีเรือนกระจกปลูกต้นไม้เมืองร้อนให้ผู้มาเยือนได้เชยชม
เมื่อพวกเราเดินเข้าไปชมในเรือนกระจกก็ได้กลิ่นหอมจรุงใจ ติดตรึงในความรู้สึกไม่รู้ลืม
ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้มาเยือนอีก