เมื่อมองสถาบันเพื่อนบ้านอย่าง MIT แล้ว ผมเองอดคิดไม่ได้ ว่าหากย้อนเวลาได้ อยากเรียนที่ไหน คำตอบนี้ชวนให้ฝันเพ้อยิ่งนัก แม่จะไม่มีทางเป็นจริงได้ แต่ก็คิดถึงลูกหลานของเพื่อนๆ และตัวเองว่าหากได้มีโอกาสมาผ่านพบอย่างที่ผมได้เห็น คงเป็นความรู้สึกที่พวกเขาจะได้เรียนรู้เอง
ผมมองคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อย่างมีความหวัง แม้ในยามที่แสงสว่างนั้นช่างลางเลือนจนไม่มีความมั่นใจใดๆ ว่าพวกเขาจะฝ่าพ้นยุคสมัยนี้ไปได้อย่างไร แต่ก็เชื่อว่าด้วยความมุมานะ และเอาจริงเอาจังเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขาไปถึงฝั่งฝัน เหมือนที่ผมได้ผ่านพ้นมา
ในยามค่ำคืนผมได้พบกับคนกลุ่มหนึ่งชูธงและป้ายผ้ารณรงค์ให้จีนปลดปล่อยธิเบตเป็นอิสระ และให้เสรีภาพ พวกเขาเอาจริงเอาจังมาก แม้ในยามที่หิมะโปรยปรายมาเป็นสาย จนกระทั้งหิมะคลุมลานที่พวกเขาปักหลักอยู่จึงหยุดกิจกรรม แต่เมื่อหิมะละลายจากลานข้างสถานี Harvard Square พวกเขาก็กลับมาใหม่ ยืนยันว่าความปรารถนาของพวกเขาส่งผ่านไปยังคนมากมาย แม้กระทั่งคนนอกแบบผม
ข้างๆ ฮาร์วาร์ดมีคนไร้บ้านมากมาย (อาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา ว่าที่ ดร. แห่งวิสคอนซินอาจจะสนใจมาทำวิจัยในอนาคต หลังจากไปคลุกคลีกับคนไร้บ้านที่ฟิลิปปินส์มาพักใหญ่) พวกเขาอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว บางทีผมเห็นวัยรุ่นที่หนีออกจากบ้านมาพร้อมกระเป๋าใบโต บางคืนก็มีรถเมล์ขนาดใหญ่ที่มาจอดใกล้ๆ กับย่านที่พวกเขายืนนั่งเพื่อแจกจ่ายยาและอาหาร หรือให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ
ทุกครั้งที่คนเดินผ่าน พวกเขาจะเสนอขายหนังสือพิมพ์แลกกับเศษเงิน หรือบางคนก็ขอเศษเงินเอาดื้อๆ ก็มี แต่โดยรวมไม่ได้ก่อปัญหาคุกคามอะไร
เพื่อนบางคนบอกว่าคนไร้บ้านเหล่านี้เหมือนนกจร ที่ไหนอุ่น ที่ไหนมีอาหารก็จะไปอยู่ที่นั่น หมายความว่าในเมืองที่เศรษฐกิจดี หรือมีนักท่องเที่ยวก็จะเป็นเป้าหมายหนึ่งของพวกเขา
ในคืนหนาวเหน็บ ผมเห็นพวกเขาซุกกายในกล่องกระดาษ บางคนมีผ้าห่มพอจะผ่านพ้นความทุกข์ไปได้ มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องเข้าไปหลบหนาวในบริเวณตู้กด ATM ของธนาคาร แน่นอนว่าบางคนส่งกลิ่นไม่พึงปรารถนาออกมา
ถ้าพวกเขามีสตางค์ ก็จะไปนั่งในร้านกาแฟ Au Bon Pain ที่เปิดถึงเที่ยงคืน เล่นหมากรุกหรือสนทนากัน จนเหมือนสมาคมของคนไร้บ้าน
มีบ้างที่พบเห็นวณิพกบางคนที่เล่นดนตรีในสถานีรถไฟใต้ดิน แต่มีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับมหานครนิวยอร์ค บางทีก็เป็นนักดนตรีเปิดหมวก
มีครั้งหนึ่ง ชายชราชาวจีนคนหนึ่งบรรเลงซอเอ้อร์หูในคืนหนาว สำเนียงเพลงบ่งชัดว่านั่นคือเพลงคู่รักผีเสื้อ (Butterfly Lovers) ที่ผมชอบมาก ธนบัตรหนึ่งเหรียญจึงถูกหย่อนลงข้างๆ กระป๋องของลุง
ชีวิตของผู้คนเหล่านี้ก็ชวนคิดว่า คนเรามีทางเลือกกี่มากน้อย ก่อนจะมาเป็นคนไร้บ้าน หรือพวกเขาความรักเสรีไม่ยึดติดกับอะไรในแบบใด ถึงออกมาอยู่บนท้องถนน หรือหนักกว่านั้น พวกเขาผ่านอะไรมาจึงเลือกเส้นทางของชีวิตแบบนี้
ผมคงไม่มีคำตอบใดๆ เพียงแต่อดคิดไม่ได้ว่า หากไร้ซึ่งความพันผูกกับสิ่งใดๆ ไม่ว่าคน สถานที่ สัตว์เลี้ยง บางทีการล่องลอยอาจจะเป็นความสุขแบบหนึ่ง
แต่ในโลกของความเป็นจริง ชีวิตนักวิชาการผูกพันกับหน้าที่ ความรับผิดชอบบางประการ ไม่ต่างไปจากอาชีพอื่น เราอาจโชคดีที่มีอาชีพถูกสาปให้จมจ่อมกับตำราและเรื่องราวที่เราสนใจ จากนั้นก็กลั่นกรองมันออกมาให้คนได้อ่าน บางทีก็อาจรันทดบ้างว่าสิ่งที่เราอ่านและเขียนนั้นถูกแจกจ่ายหมุนเวียนในวงแคบยิ่ง
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยีก็เปลี่ยนชีวิตของงานเขียนให้อยู่ในรูป pdf ebook หรือเสียง ซึ่งทำให้ชีวิตของงานวิชาการงอกงามไปได้อีกระยะหนึ่ง
หากโชคดี มีคนเอ่ยถึงหรือขบคิดตาม ก็เพียงพอจะให้มีแรงอ่านเขียนต่อไปบ้าง
แต่นักวิชาการก็มีด้านที่ต้องทำ เช่น งานธุรการ งานสอน การตรวจข้อสอบ หนักกว่าคงจะเป็นการคุมสอบที่สร้างความร้าวรานใจกับหลายคน รวมทั้งผม เพราะรู้สึกเวลาสูญเปล่าเอามากๆ เพราะต้องคอยตรวจเอกสาร จับผิดบางกรณี หรือเมื่ออ่านข้อสอบอัตนัยก็ต้องคอยระวังว่าไม่มีการคัดลอกหรือทุจริต ซึ่งบางครั้งลำบากใจจริงๆ ที่จะให้คะแนนน้อยๆ หรือต้องให้ตก
งานที่หนักใจที่สุดคงเป็นการทำงานเอกสารตามระเบียบใหญ่น้อย ซึ่งดึงเอาพลังงาน เวลาของนักวิชาการไปมากโข บ้างถึงกับบั่นทอน เพราะโลกของงานธุรการนั้นตัดสินกันด้วยระเบียบ ข้อบังคับแบบราชการไทย ซึ่งทำให้ระเบียบกลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน มากกว่าจะช่วยคุ้มครองคุ้มภัยผู้ปฏิบัติงาน
แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งมีจุดอ่อน เพื่อนของผมคนหนึ่งก็เล่าให้ฟังว่าสถานะของเธอในฐานะผู้ช่วยฝึกสอนภาษาในฮาร์วาร์ดต้องทำงานหนักมาก เธอทำงาน 9:00-17:00 น. ก็จริง แต่โดยภาระที่ต้องตรวจข้อสอบ กรอกคะแนน และติวภาษาให้กับนักศึกษาทำให้เธอต้องทำงานถึงสามสี่ทุ่มประจำ
แต่อย่างน้อย เธอก็ยืนยันว่าระบบของที่นี่ดีกว่าที่ทำงานเก่า ซึ่งไม่มีระบบอะไรเลย
ล่าสุด เธอย้ายไปทำงานที่สถาบันแห่งใหม่แล้ว ผมหวังว่าเธอจะโชคดีและพบกับชีวิตที่ดีขึ้น และผมหวังว่าจะพบกับเธออีกครั้งหนึ่ง ที่ไหนก็ตามในโลกใบนี้ ในเวลาที่เราต่างมีเวลาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันมากกว่านี้
ในมหาวิทยาลัยอเมริกัน ใครที่เป็นศาสตราจารย์เต็มขั้น ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างดี ให้เกียรติและมีการอำนวยความสะดวก แต่ก็ยังต้องทำงานหนักอยู่ดี
มองกลับมาที่บ้านเรา ผมละลานตาไปกับกฎระเบียบมากมาย ที่ไม่รู้ว่าจะพาเราไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ หรือเป็นการบั่นทอนพลังงานของคนวิชาการกันแน่
เราอยู่บนโลกใบเดียวกัน มองพระจันทร์ดวงเดียวกัน แต่ใยชีวิตและเส้นทางของเราช่างแตกต่างกันเหลือเกิน