อย่างที่เคยเล่ามาในตอนก่อนๆ ว่า หนึ่งในความสุขเล็กๆ ของพวกเราคือการได้ไปกินติ่มซำวันเสาร์ (อาจจะมีคนเติมว่าไม่เอาเผด็จการ) ซึ่งพวกถือเป็นภารกิจศักดิ์สิทธิ์ว่าถ้ามีแขกบ้านแขกเมืองต้องพาไปชิม ไม่ว่าจะเป็น อ. ยุกติ หรืออาจารย์ ดร. วีระยุทธ กาณจน์ชูฉัตร ที่อุตส่าห์เดินทางมาจากสถาบัน GRIPS จากโตเกียวเพื่อบรรยายให้โครงการไทยศึกษา
ก่อนวันท้ายๆ ของผมในบอสตัน ก็ได้มีโอกาสไปกินกุ้งล็อบสเตอร์และติ่มซำแสนอร่อยสั่งลากัน แล้วมุ่งไปสนามบิน
พวกเราต่างแยกย้ายกันไปตามทางกลับที่พำนักชั่วคราว
ผมกับ อ. ยุกติ แยกไปสนามบินโลแกน (Logan Airport) ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก เราเดินทางจากบอสตันไปลงที่ชิคาโก และต่อรถบัสจากชิคาโก ไปเมืองวิสคอนซิน
แม้ว่าผมจะเคยมาที่ชิคาโก แต่ไม่เคยไปเมืองวิสคอนซิน เพราะเมื่อครั้งที่ผมมาประชุมไทยศึกษา (Council of Thai Studies: COTS) ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นอิลลินอยส์ (Northern Illinois University) เป็นเจ้าภาพในปีนั้น จึงมีเวลาไม่มาก ส่วนหนึ่งเพราะปีนั้นไปแวะเที่ยวนิวยอร์คมาแล้ว จึงเหลือแค่เวลาชมเมืองชิคาโกด้วยการล่องเรือและฟังดนตรีบลูส์ ภาพฝังใจของผมจึงมีแต่ทุ่งข้าวโพดของโอไฮโอที่แห้งกรังหลังเก็บเกี่ยว
มาคราวนี้ได้โอกาสดี เพราะถือโอกาสมาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยวิสคอนซินที่เรียกได้ว่าเป็นเจ้าของย่านมหาวิทยาลัยทั้งแถบ
เมื่อเครื่องลงชิคาโกก็พากันไปซื้อตั๋วรถบัส จริงๆ ต้องขอบคุณอาจารย์ยุกติมากๆ ที่ยอมสละความสบาย ยอมลงชิคาโก ทั้งๆ ที่ฮาร์วาร์ดสามารถจ่ายค่าตั๋วลงเมืองวิสคอนซิน (ซึ่งแพงกว่า) ได้ เหตุผลหลักๆ คือพาผมมาเดินเที่ยว
รถออกจากเมืองชิคาโกเมื่อราวห้าโมงเย็น เราจะถึงวิสคอนซินราวสองทุ่มครึ่ง หมายความว่าเราจะต้องเตรียมหาอะไรกิน เราซื้อแซนด์วิชกับน้ำ กะว่าไปถึงวิสคอนซินอาจจะได้ทันชิมเบียร์ที่สโมสรของมหาวิทยาลัยก่อนเข้าบ้าน
รถบัสออกจากท่าตรงเวลา แต่พวกสังเกตเห็นสิ่งๆ แปลก คือมีคนขับคนหนึ่ง และชายร่างใหญ่อีกคนหนึ่งมานั่งเบาะหน้าสุด แต่ด้วยความที่รถบัสไม่ได้ระบุที่นั่งและมีคนเต็ม ชายร่างใหญ่คนนั้นต้องสละที่นั่งหน้าสุดให้เราสองคน ส่วนตัวแกเองนั่งลงพื้นบันไดด้านหน้านั่นเอง เรานึกสงสัยในที และค้นพบคำตอบในเวลาสั้นๆ หลังจากรถออกจากท่ารถของสนามบิน ชายคนที่ว่าคือโค้ชหรือพี่เลี้ยงของพนักงานขับรถที่เพิ่งจะรับหน้าที่ในวันนี้เป็นเที่ยวแรก
ท่านผู้อ่านที่ยังงๆ ลองนึกถึงนครชัยแอร์ (รถบริการขนส่งระหว่างจังหวัดในภาคเหนือและอีสาน) ที่มีโฮสเตสมากล่าวต้อนรับและแนะนำบริการ แต่บนรถคันนี้ พนักงานขับต้องทำหน้าที่นี้หมด
รถบัสแล่นผ่านย่านสนามบินโอแฮร์ มีช่วงหนึ่งที่คุ้นตา เหมือนโรงแรมที่ผมเคยมาพัก ใกล้ๆ สนามบิน โดยที่ความทรงจำช่วงนั้นพร่าเลือนไปหมด เหมือนจะคุ้นตา แต่ไม่คุ้นเคย เรื่องราวที่ฝังอยู่เบื้องลึกผุดพรายให้หวั่นไหวบ้าง
ผมมองไปที่โค้ชของคนขับรถมือใหม่ กว่าชายร่างใหญ่จะได้ที่นั่ง รถบัสก็แวะส่งผู้โดยสารสองสถานี โชคยังดีที่มีที่ว่างเหลืออยู่ พวกเราขยับมานั่งแถวหลัง เป็นเวลาพักจากการสนทนาของพวกเรา
ขณะที่ความมืดโรยตัวลงมา ผมมองไปที่ขอบฟ้ารางๆ ผ่านทุ่งข้าวโพดเวิ้งว้างไปไกลสุดตา ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถึงวันที่จะได้เพาะปลูกอีกครั้ง ผมไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับทุ่งกว้างที่เห็นรายทางเลย แต่บนรถของเรามีชาวเอเชียอยู่ไม่น้อย อาจารย์ยุกติบอกว่ามีเยอะมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งชาวจีนและเกาหลี ที่สำคัญเมืองทั้งเมืองเปลี่ยนไปมาก ในเแง่ของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นเจ้าของอยู่ไม่น้อยและมีผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจของรัฐแน่ๆ
ผมนึกถึงเชียงใหม่ที่โตอย่างต่อเนื่อง เพราะมีสถานศึกษาในทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาลนานาชาติ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาทั้งเก่าใหม่ โรงเรียนสายวิชาชีพและมหาวิทยาลัยเพิ่มนับหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับสามสิบปีก่อนที่ผมเคยพักอาศัย แต่ในยุคนั้น เพียงแค่การสอบเข้าโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยระดับมัธยมปลายก็พอจะทำให้รถติดไปทั้งเมืองเสียแล้ว นับประสาอะไรกับปัจจุบันนี้
แต่ที่วิสคอนซินมีการวางแผนการเติบโต อาคารใหม่ๆ ที่รองรับสายแพทย์และสาธารณสุขดูเหมือนจะเป็นจุดเด่น โดยที่สายการเกษตรและสังคมศาสตร์ก็ยังมีความสำคัญต่อมหาวิทยาลัย ทำให้เมืองขยายตัวอย่างน่าสนใจ
ขณะที่รถเข้าเขตเมือง อาจารย์ยุกติบอกว่าจำได้ว่าตอนมาครั้งแรกไม่มี perception เลยว่าเมืองนี้จะเป็นยังไง เมื่อแรกบินเข้าเมืองก่อนลงสนามบิน เห็นแต่ทุ่งเวิ้งว้าง สองสามีภรรยามองหน้ากันพลางคิดว่าว่าเราจะมาทำอะไรกันที่นี่
ประสบการณ์ส่วนตัวผมเองเมื่อแรกไปถึง University of Hawaii ในปี พ.ศ. 2543 ก็เช่นกัน ที่ผมต้องเก็บเสื้อผ้าประดามีบินมาลงโฮโนลูลู มีกระเป๋า cabin size กับกระเป๋าสะพายสีดำใส่เอกสารอีกหนึ่งใบ โดยไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร เพราะกว่าจะจัดการอะไรได้ มหาวิทยาลัยก็เปิดไปแล้วสองอาทิตย์ ผมเข้ามหาวิทยาลัยในชุดสูทสากลผูกเน็คไท พร้อมมองหาคณบดี ชายร่างผอมบอบบางกำลังจูงจักรยานออกจากห้องทำงานมองหน้าผมและแนะนำให้ผมคุยกับเจ้าหน้าที่ สองวันนรกของผมกำลังเริ่มต้นกับอาการงงๆ จากการเดินทางและแปลกที่ทาง คณบดีในชุดเสื้อโปโลย้วยๆ กับกางเกงขาสั้นเดินจากไป เหลือแต่ตัวผมที่วิ่งมารอบมหาวิทยาลัยไปรายงานตัวและสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษ พร้อมๆ กับหาที่พักคืนแรกใน Youth Hostel ที่มีแต่คนแปลกๆ หน้ามหาวิทยาลัยนั่นเอง แน่นอนว่าคนทั้งมหาวิทยาลัยเขาแต่งตัวลำลอง มีผมคนเดียวที่ใส่ชุดสูทสีเทาเขียวเดินพล่านไปทั่ว เพื่อนๆ บางคนยังจำเรื่องนี้ได้ดี
ผมคิดถึงเรื่องนี้ได้เพราะอาจารย์ยุกติเล่าเรื่องที่มาถึงวิสคอนซินใหม่ๆ หลายปีก่อน แน่นอน วันนี้อาจารย์คงไม่ใช่เมืองที่แปลกหน้าของเมืองอีกต่อไป
จะว่าไป คนยุคนี้โชคดีกว่าคนรุ่นเราเยอะ เพราะมีข้อมูลมากมายให้ค้นหาบนอินเตอร์เน็ต หรือแลกเปลี่ยนกันเรื่องการหาทางตั้งถิ่นฐานในเมืองใหม่ บางคนผู้ปกครองสามารถพาลูกหลานมา "ช็อปปิ้งมหาวิทยาลัย" เสียด้วยซ้ำ ขณะที่ยุคเราไม่มีโอกาสเลือกมากนัก
เมื่อรถมาถึงปลายทาง น้องคนหนึ่งมารอรับของพร้อมน้ำใจของเธอที่เป็นอาหารเย็นแสนอร่อยให้เราสองคน ราวกับรู้ว่าต้องหิวโฮกแน่ๆ ทั้งๆ ที่เราวางแผนจะไปดื่มเบียร์ที่สโมสรของมหาวิทยาลัย แต่ปรากฏว่าช่วง Spring Break เขาหยุดขาย เราสองคนจึงรีบขึ้นรถเมล์อีกคันที่ผ่านมาเพื่อกลับไปบ้านเอาของไปเก็บเสียก่อน
เมื่อเข้าบ้านเราเดินออกไปตุนกับข้าวและเครื่องดื่มจากศูนย์การค้าเล็กๆ ใกล้บ้าน พระจันทร์ส่องทางสว่างเหนืออาคารที่พำนัก ผมเห็นกระต่ายน้อยตัวหนึ่งออกมาวิ่งเล่นแสงจันทร์เพียงเดียวดาย เรามีพระจันทร์สุกสกาวเดินเป็นเพื่อนเราไปจนถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต ข้างๆนั้นมีร้านที่เราเข้าไปดื่มสบายๆ Great Dane เป็นชื่อหมาพันธุ์เกรทเดน นั่นเอง เบียร์อร่อยมากมาย
รุ่งขึ้นจะได้เดินเที่ยวรอบมหาวิทยาลัยและในวันถัดไปก็วางแผนว่าจะยืมรถอาจารย์แคทเธอรีน บาววีไปขับเล่น
อาจารย์ยุกติใช้อาจารย์ที่ปรึกษาคุ้มจริงๆครับ