ชีวิตนักวิชาการในเคมบริดจ์ แมสซาจูเส็ตส์ (16)

แม้จะเข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว แต่อากาศที่นี่ยังคงเย็นอยู่บ้าง ในคืนที่ผ่านมาอากาศเย็นสบาย เมื่อเราซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้ๆ ที่พัก เราเดินกลับบ้านได้สบายๆ

หลังอาหารเช้า เราออกไปเดินเล่นโดยนั่งรถบัสไปย่านมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ซึ่งเรียกได้ว่าทั้งแถบเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยที่กินอาณาบริเวณถึงรอบทะเลสาบบางส่วน เมื่อรถเมล์แล่นผ่านคณะเกษตรศาสตร์ที่มีโรงนาเก่าแก่เป็นสัญลักษณ์ อาจารย์ยุกติพาผมลงรถเมล์จากมุมที่ใกล้วิทยาลัยแพทย์และสาธารณสุขเพื่อเดินไปชมโบสถ์แห่งหนึ่งที่ออกแบบโดยแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frank Loyd Wright) สถาปนิกชื่อดังที่ส่งอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในยุคหลัง เรียกได้ว่ามองจากข้างนอกก็เห็นชัด โดยลักษณะการออกแบบที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติให้มากที่สุด มีวัสดุบางอย่างที่มาจากท้องถิ่น มีโทนสีเข้ากับภูมิทัศน์โดยรอบ ที่สำคัญมีขนาดพอเหมาะ ไม่ใหญ่โตเกินงาม แต่ก็ไม่เล็กเกินไปสำหรับการใช้สอย โบสถ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียสตางค์ (แต่รับบริจาคได้) พวกเราเดินเข้าไปบริเวณที่ศรัทธาทั้งหลายจะมาสวดภาวนากัน เพดานมีขนาดไม่สูงมาก บางคนบอกว่าอาจเพราะตัวสถาปนิกไม่สูงมาก ชายคาของโบสถ์ต้องเตี้ยลง ขณะที่บางคนเห็นว่าเพราะเขาต้องการให้คนแสดงความเคารพยำเกรงต่อพื้นที่ของพระเจ้า หากมองจากภายนอกก็เห็นความงดงามตามแบบนิยมของสถาปนิก เมื่อเดินออกจากโบสถ์

เราเดินตามทางเล็กๆ ผ่านสนามกีฬา มองออกไปจากถนนเส้นนี้ไปทางซ้ายราวสักหนึ่งกิโลเมตร จะเห็นหอพักนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาอยู่ลิบๆ อาจารย์ยุกติบอกว่าเคยใช้ชีวิตที่หอฝั่งโน้นและเดินไปปิคนิคริมทะเลสาบบ่อยๆ 

เราเดินผ่านสนามกีฬาและบริเวณชุมชนเก่าของอินเดียนแดง อาจารย์ยุกติเล่าว่าน่าจะมีหลุมศพใต้เนินดินที่เป็นรูปนกอินทรี เพราะการขุดค้นหลายแห่งก็พบหลักฐานมากมาย เนินดินรูปนกนี้อยู่ใต้แนวต้นโอ๊คเก่าแก่ ชวนให้ฝันและจินตนาการได้มากมาย เนินแห่งนี้อยู่ใกล้กับทะเลสาบและย่านหอพัก ซึ่งผมชอบมาก เพราะมีห้องที่สามารถมองเห็นวิวทะเลสาบได้

ระหว่างที่เราเดินผ่านเนินอินเดียนแดงนี้ ผมได้ยินเสียงเหมือนกระดาษถูกขยำ แต่เมื่อฟังไปก็คล้ายๆ เศษแก้วแตกเล็กๆ เบาๆ จึงชักงง ทีแรกผมคิดว่าเป็นเสียงลม เราจึงมองหาต้นเสียง และพบว่ามันคือเสียงของน้ำในทะเลสาบจับตัวเป็นแผ่นน้ำแข็งที่กำลังละลายและแตกออกจากกัน บวกกับแรงลมพัดยิ่งที่ให้เกิดเสียงน้ำแข็งกระทบ แตกตัวออก

เราเดินขึ้นไปบนเนิน ไปชมห้องเรียนและที่ทำงานของอาจารย์ยุกติที่ใช้ห้องทำงานของอาจารย์แคทเธอรีน บาววี (บอกแล้วว่าอาจารย์ยุกติใช้อาจารย์ที่ปรึกษาคุ้มมาก) ตึกอาคารที่นี่เก่าแก่ มีภูมิของการเป็นสถานศึกษาชั้นนำ มีการสร้างของใหม่โดยไม่ทิ้งรากเดิม นี่เองกระมังที่มหาวิทยาลัยใหม่แกะกล่องไม่มีแต่ถวิลหาและทดแทนด้วยการสร้างอาคารรูปแบบย้อนยุค

จากเนินดินหน้าอาคารบริหาร เรามองไปเห็นอาคารที่ทำการรัฐอยู่เบื้องล่าง เป็นแกนของการศึกษาและการปกครอง สื่อสะท้อนวิธีคิดทางสถาปัตยกรรมที่พยายามเชื่อมโยงความหมายทางสังคมและเส้นทางความสัมพันธ์ เหมือนให้ความรู้คอยควบคุมกำกับฝ่ายการเมืองและการบริหาร

เมื่อเดินเลาะลงมาจากเนินสูง เราเห็นอาคารหอจดหมายเหตุขนาดใหญ่และมีสโมสรของมหาวิทยาลัยที่ชมวิวทะเลสาบได้ ที่สโมสรมีอาหารอร่อยหลายอย่าง แต่ยังไม่ได้เวลาขายเบียร์ เลยกินไอติมคนละก้อน เราหมายตาเบียร์และรายการอาหารเอาไว้ก่อนจะมุ่งหน้าไปที่ทำการรัฐ

บนท้องถนนวันนี้ดูเงียบเหงาและคึกคัก เพราะทีมบาสเก็ตบอล Badger ของมหาวิทยาลัยกำลังลุ้นเข้าสู่รอบชิง เราเลยไปร้านขายของที่ระลึกของมหาวิทยาลัย ผมซื้อพวงกุญแจและของเล็กๆ ที่พอใส่กระเป๋าเดินทางได้มาฝากเพื่อนๆ เสียดายไม่ได้ซื้อเสื้อสีแดงสดที่มีตรามหาวิทยาลัย เพราะผมแอบหวังลึกๆ ว่าสักวันคงได้มาอีก

บนถนนไปที่ทำการรัฐมีร้านค้า ร้านกาแฟเล็กๆ ตามประสาย่านมหาวิทยาลัย เลยไปเป็นอาคารเก่าแก่ที่ผันมาเป็นอาคารแสดงศิลปะของเมืองน่าสนใจมาก เสียดายไม่มีเวลามากนัก จึงเดินเลยไป ก่อนจะถึงที่ทำการรัฐมีพิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกอยู่มุมถนน มีการจัดแสดงที่หน้าต่างน่าสนใจมากๆ เมื่อข้ามถนนไปจะพบกับเทพีแห่งความก้าวหน้าเป็นประติมากรรมรูปสตรีรูปร่างสมส่วนใส่เสื้อคลุมยาว มือขวาผายไปข้างหน้าสมชื่อ Forward เป็นที่ระลึกจากงาน Columbian Exposition เมื่อ ค.ศ. 1893 เอามาตั้งไว้ที่หน้าอาคารที่ทำการรัฐ

ผมแอบแปลกใจที่เราสามารถเดินเข้าไปชมที่ทำการรัฐโดยไม่ต้องตรวจบัตร หรือแลกบัตรให้ยุ่งยาก แน่นอนว่ามีคนพลุกพล่านพอสมควรแม้จะเป็นวันหยุด ในอาคารมีสัญลักษณ์ของเสรีภาพ ความยุติธรรม การปกครองหรือรัฐบาล และอำนาจในการตรากฎหมายแสดงไว้เด่นชัดอยู่บนยอดโดม ยืนยันว่าอำนาจในประเทศนี้เป็นของประชาชน มีความชอบธรรมมาจากประชาชนเท่านั้น

เมื่อเดินย้อนกลับมาจากอาคารที่ทำการรัฐ ก็ได้เวลาเปิดขายเบียร์ที่สโมสรพอดี เราลิ้มรสเบียร์ไปพลางถกเถียงเรื่องมหาวิทยาลัยไทยกับการดื่มแอลกอฮอล์ ที่ผมเขียนในบทนำวิภาษาฉบับที่ 63 ว่า การที่มีสโมสรขายเหล้าเบียร์ในมหาวิทยาลัยนั้น มี

 

“... หลักการพื้นๆ ของเรื่องที่ว่าคือ มหาวิทยาลัยพึงสอนให้นักศึกษาตระหนักรู้ด้วยตัวเองถึงขีดจำกัดในการดื่มแบบ “เข้าสังคม” และรู้จักรับผิดชอบตัวเอง มากกว่าใช้วิธีการบังคับและสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แบบของเรา...”

 

อากาศกำลังเย็นสบาย คนกำลังตื่นเต้นที่จะเชียร์บาสเก็ตบอลทีมแบดเจอร์ เราเห็นหนุ่มสาวเกาหลี จีนและชาวอเมริกันเข้ามาดื่มเบียร์แล้วคุยกันสนุกสนานจนความรู้สึกที่ว่าสปริงเบรคทำให้เมืองเงียบเหงานั้นหายไปในที่สุด

บนแก้วพลาสติกที่ใส่เบียร์มีข้อความว่า “Wisconsin Union: Experiences for a Lifetime”

ชีวิตเรามีความสุขได้ง่ายๆ เพียงมีมิตรสหายที่สามารถดื่มกินพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเช่นนี้

เราดื่มประสบการณ์ชีวิตข้างทะเลสาบอันกว้างใหญ่ ในมหาสมุทรของความรู้

ก่อนจะมุ่งหน้ากลับบ้านในค่ำคืนนี้