ชีวิตนักวิชาการในเคมบริดจ์ แมสซาจูเส็ตส์ (18)

รถบัสนำผมมาถึงเมืองชิคาโกในเวลาสองทุ่มครึ่ง รถจอดที่สถานีปลายทาง Union Station แม้จะเคยมาเมืองนี้ แต่คราวนี้มาคนเดียว และนัดเพื่อนที่ไม่เจอกันเกือบยี่สิบปีมาพบกัน เพื่อนคนนี้เป็นพลเมืองอเมริกัน เพราะเขาเกิดที่นี่ เมื่อเรียนจบปริญญาตรีและทำงานได้พักหนึ่ง เขาข้ามน้ำข้ามทะเลหอบความฝันมาใช้ชีวิตและใกล้ถึงเป้าหมาย เพื่อนผมกำลังจะเริ่มชีวิตการเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารในย่านเล็กๆ ปลายทางรถไฟสถานีฮาร์เล็ม ที่กำลังถูกฟื้นให้เป็นย่านคนเดินเมืองทั้งหลายมาจับจ่ายใช้สอย

ชิคาโกเป็นเมืองใหญ่อันดับสาม รองจากนิวยอร์คและลอสแองเจลีส เป็นเมืองหนึ่งของมลรัฐอิลลินอยส์ที่เป็นฐานที่มั่นของบารัค โอบามา ซึ่งกำลังเตรียมแผนลงจากอำนาจ โดยการตั้งมูลนิธิประธานาธิบดีโอบามา เมื่อต้นปีมีการประเมินว่าจะตั้งสำนักงานที่ไหนดีระหว่างฮาวายอิ ที่เป็นบ้านเกิด กับเมืองชิคาโกที่เป็นฐานเสียงและที่ทำงาน 

 

หลายคนไม่รู้นะครับ ว่าผมเป็นเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่ง (ในหลายๆ คน) ของน้องสาวและน้องเขยของท่านประธานาธิบดี รักและสนิทสนมกัน เวลาไม่ได้หอพักในมหาวิทยาลัยก็ได้พึ่งพาอาศัยเพื่อนคนนี้นี่เอง

 

ในงานแต่งของเพื่อนทั้งสอง ผมได้สัมผัสมือกับพี่โอบามา ก่อนที่ท่านจะเป็นประธานาธิบดีเสียอีก เพราะขณะนั้น โอบามากำลังเตรียมตัวสมัครแข่งขันตำแหน่งวุฒิสมาชิกมลรัฐอิลลินอยส์ในนามพรรคเดโมแครท  พวกเราเองเห็นรัศมี (aura) ของ Charisma แต่ไม่มั่นใจว่าจะชนะได้หรือไม่ เพราะเป็นการลงสมัยแรก เพื่อนผมเองก็บอกว่าการลงสมัครแข่งขันนั้นพรรคเก่าที่ครองเก้าอี้มักจะมีภาษีดีกว่า และได้รับเลือกตั้ง เว้นแต่ว่าจะห่วยแตกและดีแต่พูด (อ้าว) 

 

จะว่าไป โอบามาก็มีโชคอำนวย เพราะคู่แข่งของเขาห่วยแตกจากการแพ้ภัยตัวเอง ด้วยเรื่องอื้อฉาว จนต้องถอนตัวจากการแข่งขัน ทำให้เขาได้รับคะแนนจากคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ดังสโลแกน Change ของเขา

 

ในที่สุดก็มีการประกาศว่า แผนการลงจากอำนาจชัดเจนแล้ว มูลนิธินี้จะตั้งที่ชิคาโก มีเงินก่อตั้ง 5.4 พันล้านเหรียญ เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ ซึ่งน่าจะเป็นที่มั่นของกิจกรรมทางสังคมหลังการลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีที่เรียกว่าเป็น Presidential Center นั่นเอง โดยมีการวางแผนกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคม แม้จะตั้งที่ชิคาโกแต่ก็ยังมีข่าวว่าจะมีกิจกรรมที่มลรัฐฮาวายอิบ้านเกิดไปด้วย 

 

เรื่องนี้ก็น่าคิดครับ เพราะมีคนถามเสมอว่าการถอนตัวของทหารจากการเมืองไทยเป็นอย่างไร มีอะไรที่สำคัญต่อการแทรกแซงการเมืองของทหารบ้าง และอนาคตเป็นอย่างไร ผมคิดว่าการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร (military ’s political intervention) ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะกองทัพนับเป็น “สถาบันการเมือง” ที่ทรงพลานุภาพที่สุดในสังคมไทย นับแต่การปฏิรูประบบราชการเมื่อ พ.ศ. 2435 เพราะมีทั้งงบประมาณ กำลังคน (ในแง่ที่เป็นกองกำลังทางกายภาพจริงๆ) และการปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาที่ช่วยกล่อมเกลาสร้างภาพลักษณ์เก็บแต้มต่อได้ คำถามง่ายๆ ที่น่าสนใจเช่น การช่วยประชาชนในยุคน้ำท่วมนั้นเป็นการกระทำภายใต้คำบัญชาของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลพลเรือน หรือ กองทัพปฏิบัติการโดยอิสระ? ซึ่งการปฏิบัติการจิตวิทยานี่เรียกได้ว่าทำอย่างต่อเนื่อง แม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดลงก็ตาม ดังนั้น การ “แทรกแซงการเมือง” ของกองทัพไม่ใช่เรื่องยากเลย ดังการประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และยึดอำนาจรัฐในอีกสองวันต่อมา ด้วยวลีง่ายๆ “ถ้าอย่างนั้นผมขอยึดอำนาจ” (http://www.komchadluek.net/detail/20150522/206712.html)

ดังนั้น เรื่องการเข้ายึดอำนาจผมไม่ค่อยห่วง เพราะทำกันมาจนเรียกแบบภาษาวัยรุ่นได้ว่า “พอจะเห็นทรง” แต่การลงจากอำนาจเป็นเรื่องใหญ่ ผมคิดว่าการลงจากอำนาจของ คสช. นั้นน่าห่วงเอามากๆ หนักกว่านั้น ที่ผมสงสัยก็คือ ประสบการณ์ในระดับนานาชาติของคณะรัฐประหารรุ่นนี้มีอยู่มากน้อยเพียงใด เพราะเท่าที่รู้จากประวัติสาธารณะทหารรุ่นนี้จบการศึกษาทุกระดับจากสถาบันทหารและสถาบันภายในประเทศทั้งสิ้น มีน้อยรายที่ผ่านการศึกษากับพลเรือนและ/หรือสถาบันระดับนานาชาติ ซึ่งจำเป็นต่อความเข้าใจสถานการณ์โลกและการวางยุทธศาสตร์บ้านเมือง ไม่รวมถึง geopolitics ที่เปลี่ยนไปอันเป็นผลมาจากการกระชับแน่นของเวลาและสถานที่ (time and space compression) 

 

หรือในทางกลับกัน “คนทำงาน” ข้างๆ ที่คอยรายงานข้อมูลเป็นผลผลิตจากหน่วยงานใด สถาบันใด มีความเข้าใจในเรื่องที่อ่อนไหวเอามากๆ อย่างไร อย่างน้อย การฟังพวกเดียวกันอวยกันบ่อยๆ ก็น่าจะ “เลี่ยน” ไม่น้อย เว้นเสียแต่ว่าจะเสพติดอำนาจจนไม่อยากลงหลังเสือ

 

พูดแค่นี้ก็คงจะพอเพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นการวิเคราะห์รัฐบาล แต่เอาสั้นๆ ว่า ยุทธศาสตร์การถอยจากการเมือง (wtihdrawal strategy) หรือการปลดตัวเอง (discharge) ออกจากการเมืองของทหารรอบนี้น่าจะต่างไปจากการถอนตัวของทหารในรุ่นก่อนๆ

 

แต่อยากให้ข้อมูลเพื่อขบคิดต่อนะครับว่าการแทรกแซงการเมืองของทหารในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมานั้นลงเอยด้วยความรุนแรงมากกว่า เช่น การแทรกแซงของ รสช. ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 แม้จะได้วางยุทธศาสตร์ด้วยการตั้งพรรคสามัคคีธรรม โดยมี น.ท. ฐิติ นาครทรรพ เป็นเสนาธิการ วางตัวนายณรงค์ วงศ์วรรณเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เกิดความผันผวนทางการเมืองจนทำให้ พล. อ. สุจินดา คราประยูร เข้ามาเป็นนายกฯ เพียงชั่วเวลาสั้นๆจากวันที่ 10 เมษายน 2535 ในเวลาเดือนเศษๆ ก็เพียงพอที่จะถล่มรัฐบาลของพรรคสามัคคีธรรมลงได้ 

 

ฉากหนึ่งที่ผมจำติดตาจนถึงวันนี้คือการไปตรวจราชการที่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสานที่น้ำบาดาลเค็มมากจนดื่มไม่ได้ ชะรอยท่านนายกฯจะถูกวางยา ท่านบอกว่าจะลองดื่มน้ำดู แต่เพียงจิบแรกก็ต้องบ้วนออกมา ถูกนำไปขยายว่าท่านนายกฯ นอกเครื่องแบบทหารเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อถูกขยายผลอย่างรวดเร็ว การแทรกแซงฯ ครั้งนั้นจบลงที่กรณี 17-20 พฤษภาคม 2535

 

เพราะฉะนั้น ผมก็เป็นห่วงเป็นใยท่านนายกฯ ของผมเหมือนกัน (แต่คงไม่บังอาจไปเรียกท่านแบบนับญาติกับท่านหรอกครับ) เพราะผมไม่เชื่อว่าการอวยกันแบบสุดลิ่มทิ่มประตู จะช่วยให้ท่านลงจากหลังเสือ (ตัวไหน?) ได้อย่างสง่างามได้อย่างไร?

 

ยังจำเรื่อง “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกฯ ต้องเป็น...” หรือ “ฝนแล้งไม่ว่า ขอให้...เป็นนายกฯ”  ได้ไหมครับ? ว่าในท้ายที่สุดมีการถวายฎีกาที่แหลมคมจนตอกลิ่มเสาหลักของอำนาจของอำมาตยาธิปไตยคนสุดท้ายลงได้ แต่เหมือนว่าประวัติศาสตร์มันล้อเล่นกับเรา เพราะประดาคนที่ลงชื่อในระดับนำนั้น ก็กลายเป็นฟูกหมอนรองฝัน หรือ stepping stone ของท่านอีกรอบหนึ่งเหมือนกัน

 

การแทรกแซงทางการเมืองของทหารกรณีล่าสุดคือการแทรกแซงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่น่าสนใจคือเป็นการแทรกแซงการเมืองระยะสั้นที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับจากการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2520 ที่เป็นการรัฐประหารเพื่อให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2521 หรือไม่เกินสามเดือนแรกของปีถัดไป ซึ่งในการรัฐประหาร 19 กันยายนฯ นั้น ได้วางยุทธศาสตร์การถอยหรือ roadmap ชัดเจนพอสมควรและระมัดระวังมาก เพราะใช้อดีตข้าราชการระดับสูงมากำกับกระทรวงต่างๆ ถึงกับมีฉายาว่ารัฐบาลขิงแก่ ( 3 พ.ย. 2549-6 กุมภาพันธ์ 2551) พร้อมทั้งการจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมทางการเมืองแบบที่พยายามอยู่ในขนบตามการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และย้ำความชอบธรรมด้วยการลงประชามติอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งนับว่าการถอนตัวของทหารยุค คมช. ลงแบบ “สวย” คือตัวเองปลอดภัยและไม่ถูกรุกจนหลังพิงฝา แต่ไม่ได้ระงับความรุนแรงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอีกสองปีถัดมา คือกรณีเมษายน- พฤษภาคม 2553 และสะเทือนมาถึงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ยังไงก็ลองขบคิดเรื่องยุทธศาสตร์การถอนตัวจากการเมืองดูนะครับ 

 

พูดได้สั้นๆ ว่า “กู๊ดลักษณ์” ครับ

 

…….

 

เมื่อมาถึง Union Station ยังไม่ถึงเวลานัดสามทุ่ม ผมเลยอยากนั่งเล่นระหว่างรอเพื่อน จึงเดินเข้าไปในสถานีเพื่อหากาแฟดื่ม ในสถานีมีคนพลุกพล่าน แม้จะเป็นเวลากว่าสามทุ่ม

 

เมื่อเพื่อนมาถึง ผมลากกระเป๋าและสะพายเป้ออกไปพบที่ริมถนน ความที่ไม่ได้พบกันกว่ายี่สิบปี บทสนทนาคืนนี้จึงยาวไกล...แม้ผมจะต้องทำงานที่ค้างส่งเพื่อนนักวิชาการคนหนึ่งที่เมืองอัลบานี มลรัฐนิวยอร์ค ผมทำงานไปด้วยคุยไปด้วย

 

ในเมืองฝั่งที่เพื่อนผมอยู่เป็นฝั่งที่บรรดามาเฟียอย่างอัลคาโปนเคยพำนัก ปัจจุบันสภาพเมืองก็เปลี่ยนไปมาก แต่คงสภาพเป็นย่านของคนผิวสี แต่เพื่อนบอกว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง คืนนี้มีพ่อครัวและหุ้นส่วนที่ร้านของเพื่อนมาทำกับข้าวแสนอร่อยทานร่วมกัน

 

ในความมืดมิดของท้องฟ้าเมืองชิคาโก บทสนทนาเกี่ยวกับชีวิตวัยรุ่นของพวกเราพรั่งพรูมากมาย พร้อมๆ กับความห่วงใยในชะตากรรมของบ้านเกิดเมืองนอน แม้เพื่อนจะจากมาไกลและเป็นพลเมืองอเมริกัน แต่ก็ยังคิดว่าจะมาใช้ชีวิตที่เหลือที่เชียงใหม่ที่เราโตมาด้วยกัน ผมรู้ว่าเมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงอดคิดถึงบ้านไม่ได้แน่ๆ

 

มาชิคาโกคราวนี้เป็นคืนพระจันทร์ลอยเด่นสวยงาม แม้ไม่ได้ฟังเพลงบลูส์หรือเพลงแจ๊สเลย แต่ถ้าใครมาฟังชีวิตของวัยรุ่นตอนปลายสองคนก็คงรู้ว่าเข้าข่ายบทเพลงชีวิตที่ผ่านห้วงทุกข์และสุขมาไม่น้อย ชีวิตของเราสองคนต่างมีความเศร้าและสนุกสนานดั่งท่วงนำนองของเพลงบลูส์ เมื่อพระจันทร์ลอยต่ำลง ชีวิตของพวกเราก็ล่วงพ้นวัยหนุ่มสาวเข้าสู่วัยที่ความผิดพลาดมีราคาสูงขึ้น กระทั่งไม่มีโอกาสพลาดในบางสิ่งอีกแล้ว บางทีเสียงกีตาร์รัวๆ ย้ำตัวโน๊ตน่าจะหมายถึงความทุกข์ที่เวียนกันมาเยี่ยมยิ่งกว่าเพื่อนสนิท

 

กว่าจะได้นอนก็ล่วงผ่านถึงยามเช้า เราพักผ่อนเพื่อจะเดินชมเมืองในวันรุ่งขึ้น