ชีวิตนักวิชาการในเคมบริดจ์ แมสซาจูเส็ตส์ (19)

ว่ากันว่าชื่อเมืองชิคาโกได้มาจากการออกเสียงของชาวฝรั่งเศสจากสำเนียงพื้นถิ่น shikaakwa ซึ่งหมายถึงต้นหอมป่า ฉายาเมืองนี้ถูกเรียกว่าเป็น Windy City มาจากการที่นักการเมืองช่างขายฝันพูดมากหรือออกไปทางโม้เก่ง อันนี้ผมไม่ยืนยันนะครับ แต่อ่านจากหลายๆ แหล่งอธิบายทำนองนี้ (http://www.encyclopedia.chicagohistory.org/pages/6.html

บางคนก็บอกว่าเพราะเมืองนี้ลมแรง อันเป็นผลจากการอยู่ริมทะเลสาบมิชิแกน เมื่อผมเองมาเมืองนี้ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนได้มีโอกาสล่องเรือชมสถาปัตยกรรมชั่วโมงกว่าๆ อากาศที่ยังหนาวและลมที่พัดโต้แรงทำให้ผมเกือบป่วยทีเดียว จะว่าไปคราวนั้นก็ได้ดูเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็น Navy Pier, รูปประติมากรรมโลหะที่ Cloud Gate หรือดนตรีบลูส์

 

มาคราวนี้มีวัตถุประสงค์หลักจริงๆ คือมาคุยกับเพื่อนที่พลัดพรากกันมานาน (ฮา)

 

เพื่อนพาไปเยี่ยมบ้านและน้องสาวที่เป็นครูสอนเปียโน แถมเลี้ยงหมาและแมวไว้หลายตัว ผมเองมีโอกาสสัมผัส “ม็อคค่า” หมาพันธุ์คอร์กี้ที่ผมชอบเอามากๆ เพราะนัยน์ตาใสซื่อของมันกับหูที่ตั้งชี้เหมือนตื่นตัวตลอดเวลา ความน่ารักของเจ้าม็อคค่าทำให้ผมเกือบใจอ่อนกลับมาเลี้ยงหมาทีเดียว

 

เวลาที่เหลือเราขับรถเข้าเมือง ผมขอเพื่อนไปดูร้านขายของที่ระลึกฮาร์ลีย์ เดวิดสัน เพราะพลาดมาแล้วที่เมืองวิสคอนซิน คราวนี้จึงรบกวนเพื่อนพาไปให้ถึง

 

แม้จะไม่อยากไปไหนมากมาย แต่พวกเราก็อดไม่ได้หรอกที่จะออกไปดูเมือง ผมกับเพื่อนมีโอกาสได้ไปดูพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองชิคาโก (Chicago History Museum) ที่กำลังแสดงนิทรรศการ Vivian Maier’s Chicago ของวิเวียน ไมเยอร์ ช่างภาพสตรีที่ผลงานของเธอถูกค้นพบจากการประมูลขายของเก่ามือสองโดยบังเอิญ

 

จากประวัติเท่าที่มีการสืบค้นได้ของวิเวียน เธอเกิดเมื่อ ค.ศ. 1926 ในนิวยอร์ค รับจ้างเป็นพี่เลี้ยงเด็กตามเมืองต่างๆ ชีวิตพี่เลี้ยงเด็กมีเวลาส่วนตัวไม่มาก แต่เธอก็มีงานอดิเรกที่ไม่มีคนรู้มากนักคือการถ่ายภาพ วิเวียนเอากล้องติดตัวไปตามที่ต่างๆ และถ่ายรูปเอาไว้มากมาย ในดินแดนที่เธอไปนอกอเมริกานั้นมีกรุงเทพ อียิป อิตาลี อยู่ด้วยและยังมีอีกนับพันๆ ม้วนที่ยังไม่ได้ล้างอัดภาพออกมา 

 

วิเวียนตั้งรกรากในชิคาโกเมื่อ ค.ศ. 1956 จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2553) (ข้อมูลจาก http://chicagohistory.org/planavisit/exhibitions/vivian-maiers-chicago)

 

ช่างภาพคนหนึ่ง ชื่อ จอห์น มาลูฟ (John Maloof) ค้นพบงานของวิเวียนโดยบังเอิญ จากการที่เขาและเพื่อนร่วมงานกำลังต้องการหาภาพเก่าของชิคาโก และบังเอิญเขาเสี่ยงดวงซื้อจากงานประมูลทรัพย์สินจำนวนหนึ่งในราคา 400 เหรียญ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เห็นภาพข้างในกล่อง แต่เขาเสี่ยงดวง หลังจากนั้น เขาไม่ได้ใส่ใจนัก จนกระทั่งมีเวลาสำรวจสิ่งที่อยู่ในกล่องและพบว่ามีฟิล์มจำนวนมากที่ยังไม่ได้ล้างและอัดภาพออกมา เขาต้องประหลาดใจและหลงใหลในสิ่งที่เขาค้นพบอย่างมาก ภาพของวิเวียนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขากลับมาถ่ายรูปอีกครั้ง

 

หลังจากค้นพบว่าภาพถ่ายของช่างภาพสตรีคนนี้น่าสนใจ เขาจึงตามไปซื้อ ตามหาภาพและสมบัติที่เหลืออยู่ของวิเวียน จนสามารถเก็บหรือตามไปซื้อของที่เหลือกว่าร้อยละ 90 ได้ ในจำนวนนี้มีฟิล์ม 100,000-150,00 ภาพเนกาทีฟ มีภาพอัดแล้วกว่าสามพันภาพ และฟิล์มอีกนับร้อยๆ ม้วน ภาพยนต์ทำเอง  คลิปข่าว และสมบัติอื่นๆ อีกมากมาย และส่วนที่เหลืออีกราว 10 เปอร์เซ็นต์ถูกซื้อโดย John Goldstein ซึ่งเป็นที่มาของภาพชุดที่ผมดูนี่เอง

 

แม้จะตายไปอย่างคนไร้ญาติ แต่ชื่อเสียงหลังความตายของวิเวียนในฐานะช่างภาพที่ถ่ายภาพชีวิตบนท้องถนน (street photographer) กลับหอมหวนและทำให้เกิดการแย่งชิงภาพทั้งหมดของเธอ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าภาพจำนวนร้อยละ 90 อยู่ในมือของมาลูฟและสหาย ส่วนอีกราวร้อยละสิบอยู่ในมือของโกลสไตน์ (Jeffrey Goldstein) ที่ขายให้กับสตีเฟน บัลเกอร์ (Stephen Bulger) เจ้าของแกลอรี Stephen Bulger Gallery ในเวลาต่อมา ว่ากันว่ามีฟิล์มเนกาตีฟในครอบครองถึง 17,000 ภาพ

 

จากข่าวระบุสาเหตุสำคัญที่โกลสไตน์ขายภาพทั้งหมดให้บัลเกอร์ด้วยเหตุที่ว่ามีนักกฎหมายชื่อเดวิด ดีล (David C. Deal) อ้างว่าสามารถระบุทายาทของวิเวียนได้ นั่นทำให้เกิดปัญหาความเป็นเจ้าของภาพ ฟิล์ม และสมบัติอื่นๆ ของวิเวียน และทำให้ภาพชุดของโกลสไตน์ตกอยู่ในมือของบัลเกอร์ และไม่สามารถแสดงต่อสาธารณชนได้ด้วยเหตุผลเดียวกัน (ข่าวนี้ปรากฏในเดือนธันวาคม 2557, http://petapixel.com/2014/12/21/toronto-gallery-buys-entire-collection-vivian-maier-negatives-owned-jeffrey-goldstein/)

 

ขณะที่มาลูฟที่ครอบครองผลงานส่วนใหญ่ได้ระบุว่าเขาจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ญาติใกล้ชิดที่เป็นทายาทของวิเวียนในฝรั่งเศสแล้ว จึงมีสิทธิครอบครองและเผยแพร่ผลงาน แม้เดวิด ดีลจะยืนยันว่าเขาพบญาติ “สนิทกว่า” ที่มีสิทธิเป็นทายาทตามกฎหมายของวิเวียน

 

ผมโชคดีมากที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองชิคาโก ได้นำเอา Goldstein Collection มาแสดงโดยคัดเอาภาพเกี่ยวกับชิคาโกผ่านเลนส์ของวิเวียนมาให้ชม โดยการคัดสรรและเลือกเอาฟิล์มเนกาตีฟมาล้างและอัดขยายภาพเสียใหม่ เพราะฟิล์มของวิเวียนที่ไม่ได้ล้างยังมีอีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ว่ามีการ “จัดการปัญหาในทางกฎหมาย” เรียบร้อยแล้ว 

ภาพถ่ายของวิเวียนเป็นมุมมองของเธอที่มีต่อเมืองและชีวิตบนท้องถนน หลายๆ ภาพเป็นภาพเธอในเงากระจก เหมือน “คนนอก” ที่อยากเป็น “คนใน” เปลี่ยนจากผู้สังเกตุการณ์มาเป็นผู้ร่วมเหตุการณ์

 

หลายๆ ภาพสะท้อนความเป็นเธออย่างชัดแจ้ง ภาพของหญิงวัยกลางคนที่ถือกล้องไปตามที่ต่างๆ บางครั้งจูงมือเด็กๆ ที่เธอรับจ้างเลี้ยง

 

การเป็น “พี่เลี้ยงเด็ก” มืออาชีพทำให้เธออยู่ “นอก” ชีวิตครอบครัวปกติตลอดกาล จากครอบครัวหนึ่ง สู่อีกครอบครัวหนึ่ง เธอเดินทางจากบ้านสู่บ้าน จากเด็กคนหนึ่งไปหาเด็กอีกคนหนึ่ง

 

ในภาพยนต์เกี่ยวกับเธอ เล่าถึงนิสัยส่วนตัวที่น่าสนใจคือการตัดข่าวหนังสือพิมพ์เอาไว้และเข้าแฟ้มเป็นระเบียบ มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นข่าวอาชญากรรมประเภทการละเมิดทางเพศ ในหนังพูดสั้นๆ ว่าเธออาจจะเกรงกลัวหรือผ่านประสบการณ์ทำนองนั้น

 

ชีวิตส่วนตัวของวิเวียนดูลึกลับเอามากๆ เพราะเธอถ่ายรูปอย่างเอาจริงเอาจังมาก หากประเมินจำนวนภาพเนกาตีฟและฟิล์มที่ยังไม่ได้ล้างน่าจะมีจำนวนเกือบสองแสนภาพทีเดียว

 

ผมชอบภาพที่วิเวียนถ่ายใบหน้าของคนในยุคนั้น ภาพชีวิตที่ไม่มีวันกลับคืนมาบนถนนของชิคาโกและเมืองอื่นๆ เธอมีมุมภาพแปลกๆ เหมือนแอบมองคนอื่น ในบางครั้งเหมือนกับคนที่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนั้นๆ แต่ไม่สามารถเข้าร่วม อาจเป็นเพราะความขลาดกลัวที่จะเผชิญอะไรใหม่ๆ หรืออาจเป็นเพราะกำแพงของเธอที่สร้างเอาไว้หนาทึบ

 

ชีวิตของหญิงพี่เลี้ยงเด็กผู้เปลี่ยวเหงาและลึกลับนี้ยังมีอะไรให้ค้นหาอีกมาก

 

นอกจากภาพชีวิตในชิคาโกผ่านสายตาของวิเวียน ในพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงนิทรรศการถาวร เรื่องระบบรถรางของเมือง การเป็นชุมทางรถไฟ ประวัติคราวไฟไหม้ครั้งใหญ่ของเมือง อุตสาหกรรมของเมือง การกีฬา การเมืองในชิคาโก และการเป็นเมืองที่มีการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง (civil rights movement) โดยการนำของ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ประวัติการกีฬา รวมไปถึงบรรดาแก๊งสเตอร์ที่มีชื่อเสียงเช่น อัล คาโปน (Al Capone) 

 

ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง The Untouchable ที่เควิน คอสเนอร์แสดงเป็นสรรพสามิตหนุ่มที่เอาชนะเจ้าพ่อของชิคาโกด้วยข้อหาเลี่ยงภาษี อัล คาโปนมีชื่อเสียงในฐานะหัวหน้าแก๊งค์อันธพาล ทำการละเมิดกฎหมาย ร่ำรวยด้วยการติดสินบนและกำจัดคู่แข่งทางการค้าด้วยความตาย เขาถูกจับด้วยข้อหาเลี่ยงการปรากฏในศาลด้วยการแจ้งเท็จว่าป่วย ในที่สุดเขาถูกพิพากษาว่าเลี่ยงภาษีและติดคุก จากนั้นจึงเสียชีวิตด้วยอาการหน้ามืด หัวใจวาย

ในนิทรรศการมีคำโปรยที่คาโปนพูดถึงตัวเองว่า “ทุกคนเรียกผมว่าพวกธุรกิจนอกกฎหมาย ผมเรียกตัวเองว่านักธุรกิจ เมื่อผมขายเหล้า พวกเขาเรียกว่าพวกขายเหล้าเถื่อน แต่เมื่อมันถูกเสิร์ฟในแก้วบนถาดเงิน มันเรียกว่าการต้อนรับขับสู้” 

 

น่าคิดเหมือนกันว่าในบ้านเราจะมีคนอยู่ทำตัวหลบเลี่ยงกฎหมายโดยไม่มีความผิดแบบนี้จะกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักธุรกิจไหม

 

คืนวันในชิคาโกผ่านไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่คงเดิมคือมิตรภาพ ผมกับเพื่อนสัญญากันว่าคราวหน้ามีโอกาสจะมาขับรถข้ามรัฐกัน ค่ำไหนนอนนั่น เอาสักหนึ่งสัปดาห์คงกำลังดี ตอนนี้ได้แค่ฝันไปก่อน

 

เหมือนจะยังคุยแลกเปลี่ยนกันไม่จุใจ เพราะไม่พบกันเกินสิบปี ชีวิตของพวกเราผ่านความระห่ำเล็กๆ น้อยๆ ตามประสา คืนนี้ผมนั่งทำงานขณะที่เพื่อนทำกับข้าว เราดื่มกินอย่างเงียบๆ เพราะเหนื่อยกันมาทั้งวัน วันรุ่งขึ้นผมยังต้องเดินทางขึ้นเครื่องบินไปพบเพื่อนรักอีกคนหนึ่งที่เมืองชัททานูกา  (Chattanooga) มลรัฐเทนเนสซี  ที่อยู่ห่างออกไปราวหนึ่งชั่วโมง