ถ้าหากจะศึกษาประวัติศาสตร์ว่าด้วยหนังสือวิชาในโลกหนังสือไทยมีนิตยสารวิชาการอยู่สองฉบับ ได้แก่อักษรสาส์นกับวิภาษาเท่านั้น ส่วนสังคมศาสตร์ปริทัศน์ถูกวางในรูปวารสารวิชาการของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย หนังสือแต่ละหัวก็มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามบุคลิกของภารกิจและบรรณาธิการแน่นอนว่า นิตยสารวิภาษาคงไม่อาจเปรียบเทียบกับหนังสือที่มีอิทธิพลทางความคิดอย่างอักษรสาส์นกับสังคมศาสตร์ปริทัศน์ได้ โดยเฉพาะสังคมศาสตร์ปริทัศน์ภายใต้ยุคของสุชาติ สวัสดิ์ศรี (สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการคนแรกของสังคมศาสตร์ปริทัศน์)
ในยามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังสามารถโอบอุ้ม ฟูมฟักงานวิชาการ ศิลปะ วัฒนธรรม และอื่นๆ มีกิจกรรมด้านหนังสือและวิชาการที่ท่าพระจันทร์บ่อยๆ ผมจึงได้พบเห็นสุชาติ สวัสดิ์ศรีในโอกาสต่างๆ ทั้งยังได้อ่านหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ภายใต้การบรรณาธิกรณ์ของคุณสุชาติ เพราะในกิจกรรมต่างนั้นมักจะมีร้านหนังสือเอาสังคมศาสตร์มาลดราคาขายถูกเพียงเล่มละสิบบาท (ในยามที่ข้าวจานละ 15 บาท) ผมจึงได้อ่านค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ ที่ถกเถียงกันในสมัยก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 มาจนถึงก่อน 6 ตุลาคม 2519
จนกระทั่งเรียนหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิตและติดตามครูอาจารย์ไปร่วมสัมมนาในหลายๆ เวทีจึงได้เห็นและฟังความคิดของสุชาติที่หลายคนเรียกว่า “สุซาร์ต” อันมาจากความรู้และความลุ่มลึกในแนวความคิดของ ฌอง ปอล ซาร์ต ในระยะแรกผมรู้จักสุชาติหรือสิงห์สนามหลวงผ่านนิตยสารโลกหนังสือ ช่อการะเกดมากกว่า จึงนับว่าผมรู้จักสุชาติผ่านโลกวรรณกรรม
แต่เมื่อได้ย้อนกลับไปศึกษาวิธีคิดและชีวิตงานของสุชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคสังคมศาสตร์ปริทัศน์ได้ ก็คงเป็นเรื่องสนุกสนานและทำให้เราเข้าใจสังคมไทยผ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์ในยุคสุชาติได้มากขึ้น ผมได้อ่านบทปาฐกถา “จาก “อักษรสาส์น” ถึง “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ” ที่สุชาติกล่าวในปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ประจำปี พ.ศ. 2548 วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธ์ุทิพย์ อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เห็นภาพจากมุมของเจ้าตัวเอง
จากปากคำสุชาติ สังคมศาสตร์ปริทัศน์เกิดขึ้นในช่วงเฉื่อยของเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506) เมื่อสุชาติมารับช่วงต่อจากสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2512-2519 โดยรวมเป็น “...การตอบรับ “พลังใหม่” ในบริบทสังคม-การเมืองของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่เติบโตมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ที่มุ่งให้มีมหาวิทยาลัยใหม่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค...” แต่อีกด้านหนึ่ง บทบาทสำคัญของสุชาติอยู่ที่การเชื่อมรอยต่อที่ขาดหายไปนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขบวนการเสรีไทย กบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน กบฏสันติภาพ ซึ่งอยู่ในสภาพเหมือนตาบอดคลำช้าง เพราะภายใต้ยุคเผด็จการอันยาวนานต่อเนื่องทำให้เรื่องราวเมื่อคราวอดีตถูกกลบฝังพร้อมๆ กับการผลิตซ้ำความถูกต้องและความสำเร็จของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแข็งขัน
ภารกิจของสุชาตินอกจะต้องหา “missing link” แล้ว ยังต้องมองหา “ตัวเชื่อมทางประวัติศาสตร์” ในสภาพ “ตาบอดคลำช้าง” จนได้พบกับอักษรสาส์นจึงสามารถเชื่อมต่อความทรงจำบางอย่างได้ในที่สุด
ในเวลาต่อมาสังคมศาสตร์ปริทัศน์ปรับตัวเข้าสู่นิตยสารมากกว่าจะเป็นวารสารวิชาการอย่างในยุคแรกๆ ฐานผู้อ่านยิ่งขยายไปกว่าเดิม มีบทความประจำ มีบทความจร มีกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น เรื่องแปล และศิลปะ
สังคมศาสตร์ปริทัศน์สะท้อน “โครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัย” อยู่หลายครา ดังเช่นฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2516 ที่ปรากฏในบทบรรณาธิการว่า
“…ฉบับนี้ถึงจะเป็นฉบับเดือนกรกฎาคม แต่ก็ต้องออกมาภายในเดือนมิถุนายน จึงมีเรื่องอด รำลึกถึงวันที่ 24 มิถุนายน ไม่ได้ เพราะเป็นวันสำคัญวันหนึ่งเมืิ่อ 41 ปีก่อน ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองจากระบอบที่เป็นอยู่ก่อนหน้านั้น มาเป็นระบอบใหม่ที่ขนานนามให้ว่า ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งผลที่ มองเห็นอยู่ในปัจจุบัน ความพยายามที่เป็น ‘ประชาธิปไตย’ ดังกล่าว ไม่ได้ช่วยให้เราก้าวไปไกลกว่า เท่าใดนัก บางครั้งผลในทางลบบางประการ อันเนื่องมาจากรัฐประหาร 2490 หรือการยึดอำนาจตัวเอง ครั้งหลัง สุด เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 และการจัดบทบาทใหม่ของคณะปฏิวัติแต่ละครั้งก็ล้วนเห็น มีข้อสรุปแต่เพียงว่า อำนาจการปกครองประเทศนั้นผูกขาดอยู่ที่ผู้นำทางทหาร และการแก้ปัฐหาต่างๆ ของชาติก็ขึ้นอยู่กับการรักษาความพอใจในหมู่คณะเดียวกันเป็นใหญ่ แทนที่จะเรียกร้อง ส่งเสริม หรือ ขยายรูปแบบของการปกครองให้ดำเนินตามแนวทาง ‘ประชาธิปไตย’ การปฏิวัติรัฐประหาร (จอม ปลอม) ทุกครั้งที่ผ่านมา แม้จะมีสมมติฐานตั้งอยู่บนรากฐานที่ว่า รัฐจะให้ความสำคัญแก่การศึกษาเกี่ยว กับความรู้ความคิดทางการเมืองแก่ประชาชน แต่ขณะเดียวกันรัฐก็กลัวประชาชนจะเล่นการเมือง กลัว นักศึกษาจะเดินขบวน ข้ออ้างในการรักษาอำนาจและการสร้างรูปแบบของสถาบันทางการเมืองในบ้าน เรา จึงมิได้คลี่คลายออกไปในทางแง่ที่จะรองรับอำนาจของประชาชนเท่าที่ควร และรูปแบบของสถาบัน ทางการเมืองบางลักษณะก็กลายเป็นเพียงเครื่องมือที่จะเข้าขึ้นครองอำนาจทางการเมืองของบุคคล เพียงกลุ่มเดียว...”
บทบรรณาธิการฉบับนี้เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่นาน และน่าคิดทบทวนเอามากๆ เมื่อเอามาวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมสมัย
และหลัง 14 ตุลาฯ ในสภาวะของการจัดตั้งของฝ่ายซ้าย สุชาติถูกประณามจากทั้งสองฝ่ายฟ้า จนเกิดกรณีสังหารประชาชนวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
หลังจากนั้นคงจะเป็นยุคของโลกหนังสือและช่อการะเกดที่ผมได้เห็นระหว่างเรียนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ผมเองได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาวรรณกรรมของช่อการะเกดที่เชียงใหม่หลายปีก่อน บรรดาคนในวงการหลายคนเข้าร่วมกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ไม่ว่าจะเป็นกวีและนักเขียนในเชียงใหม่อย่างแสงดาว ศรัทธามั่น ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร ถนอม ไชยวงศ์แก้ว รวมถึงวีระศักดิ์ ยอดระบำที่ขณะนั้นพำนักอยู่ที่ทุ่งหลวงลำพูน
ในสายตาของเด็กหนุ่มอย่างผม สุชาติ คือสิงห์สนามหลวงผู้องอาจท่ามกลางกวีและนักเขียนผู้ต่างมีอหังการ์ไม่แพ้กัน แต่เคารพในท่วงทีและรักนับถือกัน
เสียดายเหลือเกินที่พี่น้องบางคนในวงนั้น ปัจจุบันห่างหายกันไปตามวิถีชีวิตและรสนิยมทางการเมือง บางคนเรียกว่ากู่ไม่กลับเสียแล้ว
เมื่อนึกถึงงานของเขาในยุคสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ผมยังจดจำความตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่เห็นปกของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เช่น ฉบับ “ประชาธิปไตยตายเสียแล้ว?” ที่เป็นภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใช้เทคนิคไดคัท (die cut) วางบนพื้นเหลืองและมีคนชุมนุมเบื้องหน้าอนุสาวรีย์ (มิถุนายน 2515) หรือฉบับ “ธนาคารพาณิชย์ : ปลิงดูดเลือดสังคมไทย?” เป็นภาพชายในชาวนาสวมงอบ ถ่ายภาพครึ่งตัวโดยมีตะขอเกี่ยวเนื้อจ่ออยู่ใต้คางของชาวนา (มิถุนายน 2517) เป็นต้น ทั้งปกและเรื่องราวในสังคมศาสตร์ปริทัศน์สื่อสะท้อนได้เป็นอย่างดี นั่นหมายความว่าบรรณาธิการต้องสื่อสารเรื่องราวกับศิลปินที่ออกแบบปกด้วย (เข้าใจว่าคือคุณนิวัฒน์ กองเพียร)
จะว่าไปแล้ว สังคมศาสตร์ปริทัศน์ก็เป็นแรงบันดาลใจหนึ่งของวิภาษา เพราะเมื่อผมเรียนจบและกลับมาจากฮาวายอิได้หารือกับคุณธัญลักษณ์ เหลืองวิสุทธิ์ ว่า วงวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ของไทยช่างล้าหลังเอามากๆ เราขาดหนังสือที่เชื่อมระหว่างโลกวิชาการอื่นๆ ที่อ่านและถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆ ที่กำลังถกเถียงกันมาสู่สังคมไทย นิตยสารวิภาษาจึงกำเนิดขึ้น โดยที่วิภาษาไม่เคยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากแหล่งทุนใดๆ นอกจากบรรณาธิการก่อตั้งของวิภาษาเท่านั้น
ผลงานของสุชาติมีขอบข่ายกว้างขวางมาก ไม่ว่าจะเป็นงานแปล บทกวีทดลอง หรือกระทั่งงานวิชาการ แต่โดยความเป็นบรรณาธิการน่าจะดึงเอาเวลาสร้างสรรค์ของเขาไปมาก ในปีหลังๆ มานี้เองที่ผมได้มีโอกาสเห็นผลงานศิลปะเชิงทดลองจำนวนมากของสุชาติ ทั้งภาพเขียน ภาพสีน้ำมัน ภาพสีสเปรย์ วีดีโอ ขนาดและจำนวนงานทั้งหมดที่ผมเห็นเรียกว่าอาจต้องใช้อาคารแสดงทั้งหลังทีเดียว
ผมประทับใจพลังของสุชาติที่ผมได้เห็นผ่านงานศิลปะของเขา ผมเชื่อเหลือเกินว่าเขาคนนี้จะสร้างสรรค์งานที่น่าสนใจขึ้นมาได้อีกไม่น้อยทีเดียว ขณะที่ผลงานในฐานะบรรณาธิการหนังสือสำคัญในวงวิชาการสังคมศาสตร์และวรรณกรรมเขาก็ประจักษ์ให้เห็น
ในวาระอายุครบ 70 ปี ขอคารวะสุชาติ สวัสดิ์ศรีและสิงห์สนามหลวง ครับ