ในการสัมมนาครบรอบ 70 ปีการปลดปล่อยและแบ่งแยกดินแดนเกาหลี และโครงการสันติทัศนศึกษา
อิม แจซอง (Im Jae-Seong) เขียนถึงเรื่อง Conscientious Objectors’ Movement for Anti-militarism ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะสาธารณรัฐเกาหลีบังคับให้ชายเกาหลีทุกคนต้องเป็นทหาร แต่คนเกาหลีรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าไม่ต้องการไปเป็นทหาร ไม่อยากไปฆ่าใคร พวกเขาเป็นคนรักสันติภาพ ต่อต้านการทำสงคราม ดังนั้น รัฐควรจะมีทางเลือกให้พวกเขา
ในบรรดาชาวเกาหลีที่ปฏิเสธการเป็นทหารอย่างกล้าหาญ และถูกพิพากษาให้ติดคุก 18 เดือน เช่นเดียวกับตัวของอิม เมื่อเขาพ้นโทษออกมา เขาเลือกเรียนสังคมวิทยาและเริ่มเล่าเรื่องเกี่ยวกับการเป็น CO ของเขาและคนอื่นๆ
อิมเล่าว่า ความเห็นกระแสหลักให้ความเห็นว่า พวก CO (Conscientious Objector) เป็นพวกอ่อนแอ ไม่รู้จักสำนึกว่าบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม
ผลของคำอธิบายดังกล่าวทำให้ทหารกลายเป็นคนรักชาติ ขณะที่คนไม่ยอมเกณฑ์ทหารเพราะไม่อยากจะฆ่าใคร ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ด้วยอาวุธกลายเป็นคนไม่รักชาติ
มีรายนึงถึงกับยอมเดินทางจากบ้านต่างจังหวัดมารณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรุงโซลทุกสุดสัปดาห์ เพื่อพิสูจน์ว่าการบังคับเกณฑทหารเป็นเรื่องขัดรัฐธรรมนูญ แต่บรรดาศาลยุติธรรมต่างต้องตัดสินตามแนวทางเดิมๆ ที่ศาลธรรมนูญตัดสินว่าการบังคับเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พวกเขามีชะตากรรมอย่างเดียวกันคือติดคุก 18 เดือน
แย่ยิ่งกว่านั้น เขาไม่สามารถเป็นครูตามฝันได้ เพราะคนที่ต้องโทษอาญาไม่สามารถจะทำหน้าที่ครูได้
บรรดา CO ต่างๆ ยืนยันว่าการรักชาติไม่จำเป็นต้อง “รับใช้ชาติ” ด้วยการเป็นทหารอย่างเดียว แต่ควรจะมีช่องทางอื่นๆ ด้วย หรือรักชาติในทางอื่นๆ CO ยืนยันว่าควรจะมีทางเลือกอื่นให้พวกคนที่รักสันติ ไม่ชอบจับอาวุธ ไม่ชอบจับปืนเพื่อสังหารคนอื่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวเกาหลีเหนือก็เป็นคนชาติเดียวกัน)
แม้ว่าทางกระทรวงป้องกันชาติ (Ministry of National Defense หรือกระทรวงกลาโหม) ได้ประกาศนโยบายในเดือนกันยายน 2007 ว่าจะให้ทางเลือกอื่นแก่คนที่ไม่อยากจะรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหาร แต่ให้เลือกรับใช้หรือบริการสังคมแทนการเกณฑ์ทหาร แต่นโยบายนี้ถูกยกเลิกไปในยุคประธานาธิบดี อีเมียงบัค (Lee Myoung Bak) ด้วยเหตุผลว่ายังไม่มีความเห็นสาธารณะที่สอดคล้องกัน
ทุกวันนี้มีพวก CO ถูกจำคุกกว่า 700 คน
รักชาติไม่จำเป็นต้องเป็นทหารจึงเป็นเรื่องท้าทายสังคมเกาหลีไม่มากก็น้อย
และก็ส่งผลถึงคำถามเรื่องคนรักชาติและการผูกขาดการรักชาติในบางสังคม
ขอเพิ่มหมายเหตุครับ : ผมนึกถึงกรณีทิดสึกใหม่ที่จบปริญญาโทจากธรรมศาสตร์ ถูกกระทำในข้อหาหนีทหารจนเสียชีวิตในค่ายทหาร ผู้ตายน่าจะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มากกว่านี้ ถ้าไม่ถูกทำร้ายทารุณอย่างป่าเถื่อนจนเสียชีวิต ที่สำคัญ เขาเป็นลูกชายคนเดียวของแม่ผู้ชราคนหนึ่ง ชะตากรรมของสามัญชนแบบเขายากที่จะมีคนสนใจ เมื่อเทียบกับกรณีอุบัติเหตุบนโทลเวย์ที่เรารู้จักกันดีในกรณีแพรวา ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกระเหี้ยนกระหือถึงกับขอเป็นโจทก์ร่วมฟ้อง แต่กรณีมหาบัณฑิตของตัวเองถูกกระทำรุณแรงจนเสียชีวิต แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึงเลย