เมื่อเครื่องแตะรันเวย์ของสนามบินเมืองอัลบานี มลรัฐนิวยอร์ค ผมรับกระเป๋าและออกมารออาจารย์สุดารัตน์ มุสิกวงษ์ ที่เชื้อเชิญให้ผมมาบรรยายเรื่องประวัติย่อของคณะกรรมการตรวจสอบค้นหาความจริงในประเทศไทย ให้กับวิทยาลัยเซียนาที่เธอเป็นผู้อำนวยการโครงการศึกษานานาชาติอยู่ อาจารย์สุดารัตน์เป็นนักวิชาการเชื้อสายไทยที่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงและความทรงจำเกี่ยวกับตุลาคม 2519 ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เธอทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องการผลิตทางวัฒนธรรมของความทรงจำในทศวรรษ 1970 เธอยังสนใจเรื่องแรงงานชาวไทยพลัดถิ่นในภาคการเกษตรที่อเมริกาอีกด้วย กล่าวได้ว่าเป็นนักวิชาการที่ทำงานหนักและมีงานอย่างต่อเนื่องคนหนึ่งทีเดียว
อาจารย์สุดารัตน์มีภารกิจมากมายทั้งงานวิชาการและงานบริหาร ในวิทยาลัยขนาดเล็กที่มีการจัดการศึกษาเข้มข้นอย่างนี้ ถือว่าภาระงานหนักมากๆ
ผมได้รับการเชื้อเชิญจากอาจารย์สุดารัตน์ให้มาบรรยายเรื่องประวัติย่อของคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงในประเทศไทยและวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้าระหว่างมารับทุนวิจัย ผมมองเห็นความสัมพันธ์บางประการในแนวทางการทำงานค้นหาความจริงในประเทศไทย และปัญหาสำคัญก็คือการเว้นโทษไม่เอาความผิดด้วยเหตุเรื่องการปรองดองและให้อภัยซึ่งมักอ้างอิงอยู่เสมอ
เมื่อมาถึงวันแรก ผมมีเวลาเดินเล่นในตัวเมืองอัลบานี ก่อนจะทานอาหารค่ำง่ายๆ และเตรียมตัวบรรยายในวันพรุ่งนี้ สารภาพตามตรงว่างานที่ทำออกมายังไม่เสร็จ จึงค่อนข้างเกร็ง แต่คิดในใจว่า่จะพยายามให้ถึงที่สุด เพื่อจะเล่าสภาพปัญหา
ครั้นถึงเวลาบรรยายจริงๆ ก็มีอาจารย์หลายท่านและนักศึกษาส่วนหนึ่งมานั่งฟัง ผมเองทำได้ไม่ดีนัก ด้วยความคิดยังไม่ลงตัวหลายประการ ประกอบกับรายละเอียดของการค้นหาความจริงในระยะแรกเป็นเรื่องการเมืองภายในของเราเสียมาก ถึงผมเองจะไม่พอใจ แต่อย่างน้อยนับได้ว่าได้ทดลองเสนอแนวคิดของตัวเอง
ตอนค่ำอาจารย์สุดารัตน์จองตั๋วการแสดงที่โรงละครของเมืองอัลบานี ที่คนเรียกว่าอาคารรูปไข่ หรือ The Egg เพราะเหมือนไข่ครึ่งซีกวางอยู่บนฐาน ซึ่งมีรูปทรงแปลกตา โดยเฉพาะในยามค่ำคืนเรียกว่าสามารถใช้ถ่ายหนังแบบอนาคตได้เลย เพราะอาคารนี้รายล้อมไปด้วยหมู่อาคารทรงกล่องสูงชะลูดเป็นแท่งแบบอนาคต เพราะเป็นศูนย์ราชการของรัฐนิวยอร์คด้วย เสียดายที่ไม่มีเวลามากพอจะไปเที่ยวชมส่วนอื่นๆ ของเมือง เพราะเราต่างก็ยุ่งด้วยกันทั้งคู่ แถมพรุ่งนี้เราต้องไปทำ workshop ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมืองอิทากะอีกด้วย
การเดินทางจากอัลบานีไปอิทากะใช้เวลาขับรถประมาณสามชั่วโมงเศษ ๆ เราออกจากที่อัลบานีประมาณเจ็ดโมงเช้า โดยผมอาสาขับรถให้ ความที่ไม่ชินทางและกลัวโดนจับ ผมจึงขับรถค่อนข้างช้าและรักษาความเร็วในระดับที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด จนอาจารย์สุดารัตน์บอกว่าไม่จำเป็นต้องรักษาความเร็วเป๊ะๆ เอาแค่บวกลบไม่เกิน 10 ไมล์ แต่ผมเองห่วงว่าจะโดนจับเอามากๆ เพราะตำรวจที่นี่ตรงไปตรงมา และหลายครั้งที่รถผ่านย่านชุมชน ในจุดที่การจราจรโล่ง มักมีรถตำรวจดักรอคนต่างถิ่นที่ขับรถเร็วเสมอ มีช่วงหนึ่งที่ผมเกือบเหยียบคันเร่งเพลิน แต่นึกได้ว่าต้องถอนคันเร่ง พอมองด้านซ้ายก็พบรถตำรวจดักรออยู่ หรือบางทีก็เห็นคนโดนใบสั่งก็มี
รถแล่นผ่านภูเขา แม่น้ำ ฟาร์ม และชุมชน จนเข้าเขตอิทากะ มหาวิทยาลัยคอร์แนลอยู่บนเนินสูง มองลงมาเห็นเมืองซ่อนตัวอยู่ เสียดายที่ไม่มีโอกาสไปไหนนอกจากในห้องประชุม
ผมกับอาจารย์สุดารัตน์เรามาร่วม workshop เรื่องมองการพัฒนาและเติบโตของเมืองผ่านภาพยนต์ในเอเชีย ที่จัดโดย อ. ลอเรนซ์ ฉั่ว แห่งมหาวิทยาลัยเซราคิวส์ และอาจารย์อานีคา ฟูร์มัน แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยมีนักวิชาการจากทั้งคอร์แนล เซราคิวส์ และพวกเรา
แต่ละคนจะเลือกเอาหนังที่ตนสนใจและสะท้อนพัฒนาการของเมืองมาบอกเล่า วิเคราะห์
ในระหว่างพักเที่ยง เราได้แลกเปลี่ยนกันมากมาย ขณะที่เวลาของผมและอาจารย์สุดารัตน์เป็นช่วงท้ายๆ บ่ายๆ ของการประชุม ระหว่างนั้นได้ดูหนังบางตอนของโหวเสี่ยวเสียนและคนอื่นๆ ตามแต่ใครจะเลือกเพื่อมานำบทสนทนาและสร้างภาพรวมของสิ่งที่เรียกว่าเอเชีย
ผมเลือกเรื่อง “ตั้งวง” ที่ผมชอบมาก เพราะเป็นหนังที่ดำเนินเรื่องวิกฤติของวัยรุ่นสี่คนที่กำลังสู่ระยะเปลี่ยนผ่านกับวิกฤติของ “เมือง” หรือประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน
เรื่องตั้งวงเป็นหนังที่ผมชอบมาก เพราะพูดถึงเรื่องสำคัญหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่อง “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” คุณธรรมน้ำมิตรและสัจจะระหว่างเพื่อน ตลอดจนการแสวงหาตัวตนของคนจนรุ่นใหม่ในเมือง แต่ถึงที่สุดหนังเรื่องนี้ตีแสกหน้าสังคมไทยในช่วงวิกฤติต่อเนื่องได้ตรงไปตรงมา
คำเตือน: ต่อไปนี้จะเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนต์ ใจไม่ถึง หรือยังไม่ได้ดูหนัง ควรไปดูหนังเสียก่อนนะครับ ของเขาดีจริงๆ หรือไปซื้อหนังแผ่นลิขสิทธิ์มาดูกันนะครับ
ในตัวละครวัยรุ่นทั้งหมด มีคู่หนึ่งที่เป็นเด็กเรียน หรือเด็กเนิร์ดประจำโรงเรียนที่เป็นตัวแทนไปแข่งขันความสามารถทางด้านตอบปัญหาวิชาการวิทยาศาสตร์กับโรงเรียนอื่นๆ ต้องพบกับวิกฤติที่อาจจะแพ้โรงเรียนอื่น และมีคนหนึ่งที่มุ่งมั่นจะชิงทุนไปเรียนต่อ ทั้งคู่เลือก “บน” กับศาลพ่อปู่ ขณะที่วัยรุ่นนักเต้นบีบอยคนหนึ่งเลือก “บน” ขอให้ “เมีย/แฟน” กลับมาหา อีกรายเป็นนักปิงปองตัวโรงเรียนแต่กำลังลุ้นว่าจะได้เป็นตัวโรงเรียนหรือเปล่า ขณะที่เด็กสาวเพื่อนสนิทคะยั้นคะยอให้เขาบนบานศาลกล่าวกับพ่อปู่ ทั้งสี่คนมีศูนย์กลางอยู่ที่ศาลประจำแฟลตของชนชั้นกลางระดับล่างในเมือง
หนุ่มนักกีฬาปิงปองดูจะมีอาการหนักสุด เพราะมีพ่อเป็น “เสื้อแดง” ที่ไปทำหน้าที่ “พลเมือง” บนท้องถนน เรื่องเล่าไปถึงการสลายการชุมนุมที่เขาต้องออกไปหาพ่อท่ามกลางห่ากระสุน
พ่อของเขาเลือกไปชุมนุม ขณะที่เขาต้องทำหน้าที่ “แม่” ดูแลตัวเองและน้อง
ในขณะที่หนึ่งในคู่ตอบปัญหาเป็นเด็กร่างท้วมที่สนใจคนฝึกสอนรำ ถึงขั้นกอดจูบและสารภาพรัก แต่เมื่อพบความจริง เขาถอนตัวกลับมาเป็นผู้ชายอีกแบบหนึ่ง ผมชอบฉากเด็กอ้วนสารภาพรักหญิงสาวข้ามเพศบนดาดฟ้าของแฟลตชนชั้นกลางว่าเป็นฉากที่บ่งบอกถึงความไม่สมบูรณ์ และเป็นไปไม่ได้ของความรักระหว่างชาย/ไม่ชายไม่หญิงแท้ และมีขอบฟ้ากรุงเทพเป็นฉากหลัง สื่อถึงอาการกึ่งดิบกึ่งดีของเมืองแห่งทวยเทพ
เรื่องเล่าหักมุมแบบวิกฤติที่นำไปสู่วิกฤติครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อบางคนรักษาสัญญากับเรื่องที่บนบานศาลกล่าวไว้ บางคนที่เลือกทรยศเพื่อนเพราะความอาย แต่ก็ยังแอบไปรำแก้บนคนเดียวกลางดึก ทั้งๆ ที่เป็นตัวแทนโรงเรียนไปตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ ตอนนี้ช่างเสียดสีสังคม “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ได้เจ็บแสบที่สุด และทำให้เราคิดต่อไปถึงการสร้างอะไรใหญ่ๆ โตๆ เพื่อแก้บนของเหล่าขุนทหารนักการเมืองและคนบางกลุ่มที่เชื่อว่า ถ้าสร้างอะไรใหญ่ๆ โตๆ ก็แก้กรรมของประเทศได้
คิดอีกนัยหนึ่ง มันเกิดจากการที่คุณไปทำกรรมอะไรไว้กับประชาชนตาดำๆ มากมายใช่ไหม และเป็นกรรมที่หนักหนาสาหัสใช่ไหม ถึงต้องสร้างอะไรมากมายถึงขั้นสูงเท่านกเขาเหินแบบพระปฐมเจดีย์?
ในตอนท้าย ไอ้เด็กแว่นที่ทรยศเพื่อนกลับแสดงอาการก้าวร้าวอย่างถึงที่สุด และประกาศว่าเขาคืออนาคตของสังคมไทย ถ้าเขาคือคนประเภททิ้งเพื่อนเพื่อความอยู่รอด ทำอะไรก็ได้เพื่อความก้าวหน้าทั้งๆ ที่ขัดกับหลักการวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองสังกัด ไม่เห็นหัวใครในสายตา เอาตัวรอดเก่งและไม่สนใจหลักการอะไร นอกจากให้ตัวเองได้ (ฟังแล้วคุ้นๆ)
ไอ้เด็กแว่นยังพูดทำนอง พวกเขาคงไม่มีวันได้พบกันอีก สังคมของพวกเราจะถ่างห่างออกไป สังกัดก็จะเปลี่ยนไป การพัฒนาเมืองก็จะอยู่ในมือของเขา
ฉากในตอนนี้ ยังทำให้ผมคิดถึงเรื่อง “บึงหญ้าป่าใหญ่” ของเทพศิริ สุขโสภา ที่เพื่อนในวัยเด็กเมื่อออกไปอยู่ในเมืองก็ไม่สามารถคุยกันได้เหมือนเดิมอีกต่อไป
หรือเจ้าอ้วนท่าทางใจดีและหลงรักสาวข้ามเพศ ก็ตะคอกหญิงสาว (ที่ตัวเองเคยชอบ) ให้รำแก้บนต่อไป
ส่วนสาวข้ามเพศก็ถูกฝรั่งหลอกเอาเงินสะสมไปหมด เรียกว่า ถูกกระทำทั้งจากภายนอก และภายใน
ถ้าผู้อ่านมีเวลาว่างลองไปหามาชมนะครับ หนังเรื่องนี้ผมแนะนำให้โครงการไทยศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเก็บเอาไว้เพื่อฉายในอนาคตร่วมกับหนังอื่นๆ ในอนาคตครับ
เมื่อ workshop สิ้นสุด ผมเดินดูรอบๆ ห้องประชุม พบว่ามีรูปหล่อโลหะรูปจิตร ภูมิศักดิ์ เลยถ่ายไว้เป็นที่ระลึกก่อนจะรีบไปขึ้นรถเพื่อเข้านิวยอร์ค
ผมบอกลาเพื่อนร่วมกิจกรรมเพื่อไปขึ้นรถ ณ จุดนัดหมาย รถบัสคันนี้เป็นรถบริการของมหาวิทยาลัยสีแดงสดมี 24 ที่นั่ง บนรถสัญญาณไวไฟ พร้อมขนมของว่าง กาแฟร้อนและน้ำดื่ม ใช้เวลาราวสามสี่ชั่วโมง
มองนั่งมองทิวทัศน์ความงามของอิทากะ ก่อนแสงสุดท้ายของวันจะจากลาเข้าสู่แสงสีของนิวยอร์ค นึกถึงใครบางคนที่เคยมาสอนหนังสือที่นี่ เธอคนนั้นบอกผมหลายเรื่องที่น่าสนใจแต่คงไม่สามารถบอกเล่าในที่นี้ได้ ผมได้แต่คิดว่าไม่นานเราคงได้พบกันเป็นครั้งสุดท้ายก่อนผมจะกลับบ้านเกิดเมืองนอน
รถบัสเลี้ยวลัดไปตามหุบเขา แสงแห่งวันลับหายไปเหลือเพียงแสงไฟจากรถราและบ้านช่อง แต่เมื่อรถเข้าสู่นิวยอร์คเมืองที่ไม่เคยหลับใหล แสงของเมืองเจิดจ้า ผมลงจากรถลากกระเป๋าเดินทางมุ่งสู่โรงแรมที่ย่านไทม์สแควร์ ย่านนี้พลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยว ตัวการ์ตูนมิเนียม ไอ้แมงมุม และตัวละครอื่นๆ ที่ออกมาบนท้องถนนเพื่อแลกกับเงินเล็กน้อยที่นักท่องเที่ยวหยิบยื่นให้ บ้างก็ยื่นใบปลิวเชิญชวนไปชมละคร
เมื่อได้ห้องพัก ผมอาบน้ำและพักผ่อน เป็นคืนแรกในรอบหลายวันที่อยู่เพียงลำพังจริงๆ แม้ในห้องจะนิ่งเงียบ แต่ยังมีเสียงของเมืองดังแทรกมาเป็นระยะ ผมรู้สึกผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูก นึกถึงวันพรุ่งนี้ว่าอยากทำอะไรในนิวยอร์คบ้าง แม้จะมาที่นี่เป็นครั้งที่สามแล้ว แต่มีความหลังเล็กๆ น้อยๆ พอให้คิดถึง ผมครวญเพลงเถียนมีมี่ พลางคิดถึงหนังเรื่อง Comrade, Almost a Love Story ที่ชอบมากๆ นึกถึงรอยยิ้มในเวลาสั้นๆ ที่เมืองนี้ ก่อนจะผล็อยหลับไป