ผมพยายามตั้งสถานีทำงานให้เร็วที่สุด แต่ดูเหมือนว่าระบบที่นี่จะเข้มงวดในบางเรื่องเป็นพิเศษ เช่น ระบบอินเตอร์เน็ตเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่ผมต้องมีบัญชีผู้ใช้และรหัสแยกจากการเข้าระบบและอีเมล แต่กว่าจะได้ก็ล่วงมาถึงศุกร์ที่ 12 กันยายนนี้
แต่การค้นเอกสารหนังสือก็ไม่วุ่นวายเพราะเขาจัดระบบรอไว้แล้ว ผมไปยืมหนังสือภาษาอังกฤษที่จะใช้มาเตรียมไว้จำนวนหนึ่ง
ในวันอังคารที่ผ่านมามีการปฐมนิเทศน์พวกเราที่เริ่มขึ้นอย่างเรียบง่าย เมื่ออาจารย์เรียวโกะพาผมเข้าไปในห้องประชุมที่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศของมหาวิทยาลัยรออยู่แล้ว เราทักทายและส่งเอกสารที่จำเป็น ได้แก่ หนังสือรับรองการลงทะเบียนที่พำนักจากเมือง สมุดบัญชีธนาคารที่จะโอนเงินเดือนให้ บัตรประจำตัวผู้พำนักที่ทาง City Hall ลงตราประทับที่แสดงที่พำนักอาศัย
เมื่อนักวิจัยพร้อมอาจารย์อีกสองท่าน รวมผมกับอาจารย์เรียวโกะพร้อม เจ้าหน้าที่ได้อธิบายระเบียบ เวลาทำงานและการลงเวลาทำงาน การใช้ทุนวิจัย เช่น ค่าหนังสือ ค่าคอมพิวเตอร์ ที่ซื้อโดยทุนนี้จะไม่สามารถนำกลับได้ แต่จะใช้ในกิจกรรมอื่นก็ได้ เช่น การไปเดินทางทำวิจัยหรือบรรยายในประเทศ (ซึ่งผมมีโครงการอยู่ว่าจะไปที่ไหนบ้างแล้ว)
เมื่ออธิบายและชี้แจงแล้วก็ให้พวกเราลงนามในสัญญาที่ระบุเงื่อนไขและระยะเวลาตามที่ได้ประสานงานกันไว้ก่อนหน้านี้
มหาวิทยาลัยแห่งนี้เริ่มจากการเป็นสถาบันวิจัยเพื่อการวิจัยเอกสารภาษาต่างประเทศในยุคโชกุนโทกุกาวะที่ตั้งหน่วยนี้ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2390) จากนั้นจึงได้พัฒนาโดยลำดับเป็นโรงเรียนภาษาต่างประเทศโตเกียวใน ค.ศ. 1899 และสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยในที่สุด ซึ่งได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองฟุฉุ (Fuchu) ในเวลาต่อมา
ส่วนสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งเอเชียและอาฟริกา หรืออิลก้านั้นตั้งมายาวนานกว่า 50 ปีแล้ว จึงเรียกได้ว่าอยู่ยาวนานมาพอสมควรทีเดียว
นอกจากการทำสัญญาแล้ว ผมยังต้องเข้ารับการตรวจร่างกาย ระบบของที่นี่ค่อนข้างละเอียดและน่าสนใจจึงขอนำมาเล่าดังนี้
พวกเราได้รับแบบฟอร์มที่ต้องระบายแถบด้วยดินสอดำสำหรับให้เครื่องคอมพิวเตอร์อ่าน ในแบบฟอร์มมีโรคภัยไข้เจ็บที่พึงมี หากมีรายการใดก็ระบุด้วยว่าหายแล้ว หรืออยู่ระหว่างการรักษา จากนั้นยังให้เรากรอกว่าพ่อแม่มีใครป่วยด้วยอาการใด เช่น เบาหวาน โลหิตจาง หรือโรคอื่นๆ ส่วนด้านหลังเป็นพฤติกรรมของเรา เช่น สูบบุหรี่ไหม สูบจัดหรือไม่ วันละกี่มวน ดื่มเหล้าหรือเบียร์ไหม ปริมาณเท่าใด ออกกำลังกายบ่อยไหม น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติหรือไม่ ยังมีส่วนสุดท้ายที่ผู้หญิงต้องกรอก เช่น อาการตั้งครรภ์ หรือผ่าตัดอื่นๆ
ในวันตรวจต้องเตรียมตัวอย่างปัสสาวะไว้เพื่อการตรวจ ในชุด package ที่ได้รับก็จะมีกรวยกระดาษรองปัสสาวะและหลอดบรรจุตัวอย่าง และถุงปิดผนึก เราได้รับอนุญาตให้กินอาหารเช้าได้ แต่ต้องงดอาหารเครื่องดื่มหลัง 9:00 น.
ระบบแบบนี้ก็แปลกดีเหมือนกัน เพราะเทียบกับของประเทศไทย อินโดนีเชียและเพื่อนจากรัสเซียต่างใช้ระบบเดียวกัน คือห้ามดื่มน้ำและกินอาหารหลังเที่ยงคืน ทำให้เราต้องตื่นเช้าและงดอาหารจนกว่าจะตรวจเลือด
เมื่อถึงเวลานัดผมและเพื่อนนักวิจัยจากออสเตรเลียก็เดินไปที่สถานีทามะ เพื่อรอเพื่อนนักวิจัยอีกคนหนึ่ง และมีเจ้าหน้าที่ของสำนักวิเทศสัมพันธ์มาช่วยอำนวยความสะดวก เหตุผลสำคัญเพราะเรื่องภาษาและการเดินทางที่ออกจะยุ่งยาก
โชคดีที่เช้านี้ฝนตกไม่หนักมาก เพราะเราอยู่ชานเมืองโตเกียว ขณะที่หลายๆ จังหวัดประสบภัยน้ำท่วมฉับพลัน สายน้ำพัดพาบ้านไปอย่างที่เห็นในข่าว แต่เมืองที่ผมอยู่ไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลางของพายุ จึงนับว่าโชคดี แม้จะรำคาญอยู่บ้างเพราะผมต้องตากฝนออกไปออฟฟิศ หรือซื้อของในบางครั้ง
เราออกจากสถานีทามะตรงเวลานัดประมาณ 12:20 น. (ที่สถานีนี้มีรูปปั้นแมวเหมียวเรียกว่า “ทามะจัง” อยู่ในตู้กระจกให้คนดู และเปลี่ยนท่าทางของตุ๊กตาทามะจังอยู่ทุกสองสามวัน พอกลางคืนก็จะปิดตู้กระจก เข้าใจว่าทามะเลิกงานแล้ว) จากนั้นก็ต่อรถไฟสาย JR ไปทางเมืองฮาชิโอจิ (Hashioji) เพื่อลงสถานีทาชิกาวา (Tachigawa) ที่ไกลออกไปพอสมควร
เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่ทั้งสองพาเราเดินทะลุไปยังอาคารที่เป็นสถานตรวจร่างกาย โดยต้องขึ้นลิฟต์ไปชั้น 9 แต่พบว่าเป็นชั้นตรวร่างกายสำหรับสตรี เราต้องลงมายังชั้น 6 การแยกชั้นผู้ตรวจหญิงและชายไปเลยแบบนี้ก็มีข้อดีคือเราไม่มีความเคอะเขินเวลาตรวจร่างกาย
เจ้าหน้าที่เรียกชื่อของเราไปตรวจตามคิว เริ่มตั้งแต่วัดส่วนสูงความดันโลหิต จากนั้นก็ส่งเราพบแพทย์เพื่อตรวจการหายใจ ต่อมทอนซิลใต้คอ หลังจากพบแพทย์แล้วก็ไปเจาะเลือด พยาบาลถามว่าถนัดมือข้างไหนก็เลือกเจาะอีกข้าง ผมยื่นแขนข้างซ้ายแต่คุณพยาบาลหาเส้นเลือดไม่เจอ เลยขอเจาะด้านขวาผมยืนยันว่าคุณพยาบาลมือนุ่มมาก ผมไม่รู้สึกเจ็บเลย สำหรับคนไม่กลัวเข็มและเลือดนับว่าเป็นความโชคดี เพราะผมมองเลือดที่ไหลตามสายและพุ่งราวกับน้ำพุในหลอดเก็บเลือด ผมถูกเก็บเลือดไปสามหลอด จำได้ว่าเมื่อคราวที่ผมไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่สามย่าน มีหนุ่มน้อยคนหนึ่งน่าจะราวยี่สิบกว่าๆ ร่างกายมีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ แต่กลัวเข็ม เขาร้องครางเสียงดัง พลางเอามืออีกข้างปิดตา แล้วเร่งคุณพยาบาลว่า "เร็วๆ หน่อยครับ ฮือๆๆๆ ผมกลัวๆๆ" ผมได้แต่เห็นใจ เพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีใครอยากจะเป็นแน่ๆ
จากนั้นยังมีการตรวจการมองเห็น โดยให้ดูวงกลมที่มีช่องว่าง บนล่าง ขวาซ้าย ให้เราระบุทิศ โดยใช้ joystick มีการวัดคลื่นหัวใจโดยใช้เซ็นเซอร์มาแปะบริเวณหน้าอก จากนั้นเป็นการวัดการฟัง โดยให้กดปุ่มในมือถ้าได้ยินเสียง ปล่อยเมื่อไม่ได้ยินเสียง และสุดท้ายคือการเอ็กเรย์ปอด เมื่อเสร็จขั้นตอนที่ว่ามานี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้น
หลังจากตรวจร่างกายผมก็กลับมาทำงานต่อโดยแวะซื้อข้าวกล่องหรือเบ็นโตะหน้าสถานีรถไฟทามะ ที่นี่ราคาไม่แพง (490 เยน หรือ 160 บาทโดยประมาณ) และมีบริการเพิ่มข้าวสำหรับนักศึกษาต่างชาติฟรี ผมและเพื่อนนักวิจัยจากออสเตรเลียจึงสั่งอาหารเข้าไปกินในที่ทำงาน
ระหว่างนี้ก็มีแต่งานเอกสารและการแก้ไขงานเขียน งานวิจัยที่ค้างอยู่ ผมจำเป็นต้องเข้าโตเกียวเพื่อซื้อซิมโทรศัพท์ แต่เป็นโทรศัพท์แบบไม่มีหมายเลข ใช้เป็นซิมระบบข้อมูล คือใช้อินเตอร์เน็ตเป็นหลัก โดยรวมก็พอราคาสมควรครับ เป็น package 5GB ต่อเดือน ราคา 1520 เยน แต่ซิมราคาเกือบสามพันเยน ที่หนักกว่านั้นคือการตั้งค่า ซึ่งต้องไปตั้งทางเว็บไซต์ ผมโชคดีที่เพื่อนนักเรียนจากฮาวายอิคนหนึ่งคอยช่วยดูแลจัดการให้เรียบร้อย ซึ่งเป็นความมีน้ำใจมากๆ ของเธอ ผมเปรยๆ ว่าพวกเรารู้จักกันมาก็เกือบ 15 ปีแล้วนะ มันยาวนานไม่น้อยจริงๆ
ผมยังมีเวลาพอจะอัดรายการ รัฐธรรมนูญไทย 101 ให้กับประชาไท ความจริงตั้งใจแค่ว่าจะอัพขึ้นเฟซบุ๊คเล่นๆ แต่น้องๆ จากประชาไท มีน้ำใจช่วยเอาไป edit ตัดต่อให้ ผมคาดว่าจะทำเป็นรายการสั้นๆ สักสิบตอนเพื่อให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของไทยครับ ฝากติดตามกันด้วยนะครับ
เรื่องที่เหนื่อยและกินเวลาทุกครั้งที่มาตั้งถิ่นฐานใหม่ก็คือ การซื้อของเข้าบ้านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมีดทำครัว ไม้กวาด ไม้ถูพื้น ที่ล้างห้องน้ำ พรมกันลื่น เครื่องเขียนและอีกหลายๆ อย่าง ผมเพิ่งจะเจอร้านร้อยเยนเมื่อเย็นวันศุกร์นี้เอง ชีวิตจึงค่อยยังชั่วครับ
ยังมีวันเสาร์ที่ 12 นี้ ที่ผมต้อง skype ไปเมืองไทยเพื่อรายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัย จากนั้นชีวิตคงปกติมากขึ้น
ต้องขออภัยผู้อ่านนะครับ หากว่าตอนนี้จะเครียดไปบ้าง ชีวิตคนก็แบบนี้ละครับ มีเรื่องสุข สนุก เศร้า เคร่งเครียดปะปนกันไปครับ
เพื่อเป็นการชดเชย เอาเป็นว่า ถ้ามีเวลาวันอาทิตย์ ผมจะไปเยี่ยมชม Ghibli Museum ของฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้กำกับคนโปรดของผม ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนักจาก TUFS แล้วผมจะถ่ายรูปมาให้ดูนะครับ