Skip to main content

ฝนเริ่มหยุดตกไปบ้างหลังจากพายุไต้ฝุ่นเอตาวพัดผ่านพ้นไป อีกาหลายตัวออกบินหาอาหาร บ้างก็ผึ่งปีกรับแดดยามสาย ในแคมปัสมีอีกามาก เข้าใจว่าเพราะมีแหล่งอาหารจากต้นไม้ อีกาบางตัวคาบจั๊กจั่นในปากมากินแล้วบินกลับเข้าไปในหมู่แมกไม้อีกครั้ง ในฤดูร้อนตอนปลายน่าจะเป็นเวลาที่บรรดาจั๊กจั่นผสมพันธุ์และวางไข่ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ที่สำคัญ อีกาสามารถรู้จุดของจั๊กจั่นจากเสียงกรีดปีกของมันนั่นเอง

ในช่วงพายุฝนที่ผ่านมาผมทำงานที่ห้องพักจนถึงสายๆ แล้วค่อยไปทำงานที่ห้องบนชั้นเจ็ดในตอนบ่าย ที่เมืองนี้อยู่บนเนินเขาเล็กน้อยและอยู่ห่างจากศูนย์กลางของพายุ จึงได้รับผลกระทบไม่มาก ต่างจากบางเมืองที่น้ำท่วมหลากและอันตราย

มีเพียงเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 5:59 ที่ผมรู้สึกตัวตื่นและเห็นเพดานขยับพร้อมเสียงกึกกัก เป็นแผ่นดินไหวที่มีความสั่นสะเทือนในระดับ 5.3 ซึ่งถือว่ารุนแรง แต่เดชะบุญไม่มีใครเป็นอะไร ต้องนับว่าโครงสร้างอาคารที่นี่ออกแบบแข็งแรงรับแรงสะเทือนได้ดีมาก ผมเตือนตัวเองว่าคราวหน้าต้องรีบมุดใต้โต๊ะ ไม่ใช่นอนลืมตานิ่งบนเตียงแบบนี้

นับว่าปีนี้เป็นปีที่คุ้มมากๆ เพราะผ่านประสบการณ์ในระดับแรงๆ สองครั้งแล้ว เมื่ออยู่ซัมเมอร์วิลล์ แมสซาจูเส็ทส์ก็มีพายุหิมะถึงสามครั้ง ความหนาแน่นของหิมะก็อยู่ในระดับทำลายสถิติในรอบร้อยปีมาแล้ว 

ตั้งแต่ผมมาที่นี่ บรรยากาศของมหาวิทยาลัยยังเงียบเหงาเพราะเป็นช่วงปิดเทอมอยู่ แต่เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา มีการประชุมประจำเดือนของคณะฯ ทางคณะจึงเชิญให้ผมและเพื่อนนักวิจัยเข้าร่วมประชุมเพื่อแนะนำตัวแก่คณาจารย์และเพื่อนร่วมงาน ดังได้กล่าวมาแล้วว่านักวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกในรอบนี้ นอกจากผมแล้วมีนักวิจัยอีกสองท่าน ท่านหนึ่งทำงานด้านภาษาในกรุงจาการ์ตา และอีกท่านเป็นชาวมองโกลเลียนในรัสเซีย ทั้งสองท่านทำงานวิจัยมานานจนได้รับความยอมรับในหมู่นักวิชาการ มีเพียงโครงการของผมที่แปลกออกไปเพราะทำงานภายใต้หัวข้อ Social Life of Things ซึ่ง ได้รับอิทธิพลจากงานของอรชุน อัพพาดูไร (Arjun Appadurai) นักวิชาการชาวอินเดียคนสำคัญ ผมสนใจเรื่อง “ชีวิต” ของจิตรกรรมไทยจากยุคสมัยใหม่จนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นงานที่ได้พัฒนา (อย่างช้าๆ) โดยลำดับ และจะมองเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของญี่ปุ่นอีกด้วย

ในระยะเวลาสี่เดือนคงทำอะไรได้ไม่มาก แต่ผมเชื่อว่าน่าจะผลิตงานได้สักสองสามชิ้น เพราะที่ผ่านมาได้ขบคิดเกี่ยวกับเเรื่องนี้มาพอสมควร

หลายคนสงสัยว่ามันคืออะไร เกี่ยวกับรัฐศาสตร์ตรงไหน? ตอบอย่างย่อว่างานวิชาการที่ผมสนใจเป็นงานในสาย cultural politics ที่ได้รับอิทธิพลจากแนว cultural studies ในสมัยที่ผมเรียนที่ฮาวายอิ โดยมุ่งสนใจการเมืองในระดับชีวิตประจำวัน หลายคนบอกมันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย (หรือเปล่า?) แต่พวกเรามองว่ามันฝังไปในระดับจิตสำนึกและโดยไม่รู้ตัว งานที่พวกเราทำก็คือเข้าไปสำรวจความสัมพันธ์เชิงอำนาจในปรากฏการณ์เหล่านั้น เพื่อชี้ให้เห็นสภาวะบางอย่างของมัน ในแง่มุมอื่นๆ เท่าที่ทฤษฎีทางวัฒนธรรมสายตา (visual culture) สามารถชี้ออกมาได้ ที่ผมเองเรียกว่า การเมืองทัศนา (visual politics) 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ จากขรัวอินโข่งมาถึงปัจจุบัน ศิลปินไทยได้ “ข้ามพ้น” หรือ “เอาชนะ” ทัศนยภาพแบบดั้งเดิมที่เราเขียนภาพแบบสองมิติได้หรือไม่ อย่างไร ทำไมศิลปินไทย หรือ อีกด้านหนึ่ง “ความเป็นไทยกระแสหลัก” จึงไม่สามารถพัฒนาปรับเปลี่ยนแนวทางการสร้างทัศนียภาพ (landscape) แบบวิทยาศาสตร์ (สามมิติ หรือมีจุดที่เป็นฉากทัศน์แบบตะวันตก) ตามแบบสายตามนุษย์มองไปยังทิวทัศน์ต่างได้ แต่กลับต้องหวนหาฉากทัศน์แบบสองมิติ ซึ่งปรากฏในงานศิลปะกลุ่มนวประเพณี (neo-traditionalism) จนถึงปัจจุบัน

หรือตอบแบบกำปั้นทุบดิน คือบรรพบุรุษ (ของเรา) ฉลาดและเก่ง คิดรอบคอบครบถ้วน จนไม่ต้องพัฒนาอะไรอีกแล้ว ความเป็นไทยที่มีอยู่คือความสุดยอดของยุคสมัย ที่เราทำอะไรไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือ “ทำซ้ำ” สิ่งที่ทำกันมาเป็นทอดๆ ไปเรื่อยๆ อย่างนั้นหรือ?

การปะทะกันระหว่างปฏิบัติการสมัยใหม่ (modern practice) แบบทัศนียภาพแบบเป็นเหตุเป็นผลกับแบบประเพณีจึงเป็นจุดวิกฤติที่ศิลปินไทยเผชิญ แต่ในที่สุดก็กลับมาหาภาพเชิงสองมิติ (ที่ปรับปรุงบ้าง) แต่กลิ่นอายยังคงเดิม

นี่เป็นประเด็นที่ผมสนใจประเด็นแรก

ประเด็นที่สอง บทบาทของ ศ.ศิลป พีระศรี ในฐานะผู้วางรากฐาน “ศิลปะสมัยใหม่” ในประเทศไทยเป็นการยกย่องที่มองข้ามประเด็นสำคัญบางอย่างไปหรือไม่? เช่น บทบาทของศิลปินชาวญี่ปุ่นที่สอนในเมืองไทยอย่าง Wasasei ที่ในยามสงครามผลัดเสื้อผ้าเป็นเครื่องแบบทหารพระจักรพรรดิ หรือจิตร บัวบุศย์ที่มาเรียนที่ญี่ปุ่นในสมัยสงครมโลก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องดูประสบการณ์ตรงที่ศิลปินชาวญี่ปุ่นไปเรียนที่ปารีสอีกด้วย เพราะศิลปินกลุ่มนี้มีบทบาทต่อแนวคิดของจิตร บัวบุศย์ (และศิษย์ของเขา คือ เฉลิม นาคีรักษ์) ไม่มากก็น้อย 

แล้วมันสำคัญอย่างไร? ผมคิดว่าการสำรวจเรื่องภาวะสมัยใหม่ของไทยจำเป็นต้องสำรวจในหลายๆ ด้าน เพราะมันเชื่อมโยงกับคำถามอื่นๆ เช่น ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา คือเรามีทุกอย่างที่สังคมอื่นมี แต่เราไม่สามารถเอาชนะขีดจำกัดของเรา เพื่อ “พัฒนา” ไปสู่สภาวะใหม่ หรือสภาวะอื่นๆ หรือแม้จะท้าทายกับการสร้างความทันสมัยว่า “การสร้างสภาพแบบตะวันตก” ใช่หรือไม่ ถ้าไม่ “มัน” จะเป็นอะไร นี่คือคำถามที่ค้างเติ่งมานับร้อยปี ส่งผลให้สุนทรียศาสตร์ของชีวิตและสังคมไทย “จำกัด” อยู่กับแนวคิดและทางปฏิบัติแบบเดิมๆ (ต้องเติมประโยคว่า..ใช่หรือไม่? ไปด้วย) แน่นอนว่ามันลงรากลึกถึงประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ติดกับวาทกรรมเดิมมาหลายปี

งานของผมจึง “ใช้” ศิลปะ เป็น “เวที/ฐาน” ที่จะปะทะเชิงความคิดกับเรื่องอื่นๆ ในทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ 

เช่น งานเขียนในวารสาร Third Text เรื่อง Deforming Thai Society as Read through Thai Contemporary Art  (2011) พูดถึงสัญญาณของการผิดรูปเปลี่ยนร่างของสังคมไทยโดยมองผ่านศิลปะร่วมสมัยกับ “ผีของทักษิณ” ที่หลอกหลอนสังคมไทย ผ่านงานของศิลปินร่วมสมัยไทย ได้แก่ อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล  พรทวีศักดิ์ ริมสกุล และ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ซึ่งปัจจุบัน ผมมีโครงการจะเขียนเรื่อง Deformed Thai Politics ที่เขียนต่อจากบทความชิ้นนี้

 

กลับมาเรื่องชีวิตต่อนะครับ

 

ตามที่สัญญาว่าจะไปดูจิบลิมิวเซียม (Ghibli Museum) นั้น ปรากฏว่าผมจองตั๋วไม่ได้นะครับ ระบบการจองตั๋วของพิพิธภัณฑ์จิบลินั้น เราจะต้องไปจองที่ร้านสะดวกซื้อ Lawson เพื่อเลือกวัน เวลาที่จะเข้าชมเสียก่อน แต่ปรากฏว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนมากันเยอะมาก ผมจองไม่ได้นะครับ

ผมก็เลยเปลี่ยนแผนไปเดินสวนสาธารณะอิโนะชาคิระ (Inokashira) ที่อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยออกไปสี่สถานี (นั่งรถไฟสองต่อ) ลงที่สถานีคิชิโจจิ (Kichijoji) 

เมื่อออกจากสถานีผมหลงทาง เพราะไม่มีป้ายบอกชัดเจน แต่คิดเสียว่ายอมหลงดีกว่า เพราะมันจะสนุกกว่าเมื่อเราพบอะไรใหม่ๆ นอกเส้นทาง 

ผมเดินตามฝูงชนไป พบว่ามีอะไรบางอย่างเคลื่อนไหวในหมู่คน เมื่อเห็นชัดจึงเตรียมกล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปเอาไว้ ผมเดินไปหาขบวนแห่ศาลเจ้าของย่านนี้ ซึ่งมารู้ทีหลังว่ามีกว่า 11 ศาลเจ้า แต่ที่ผมพบระหว่างทางไปและกลับราวสี่ขบวนศาลเจ้า ที่น่าประทับใจคือความเอาใจใส่ร่วมแรงของขบวนแห่ เพราะศาลเจ้าถูกวางอยู่บนคานไม้ขนาดใหญ่ ถึงศาลเจ้าที่นี่ไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็หนักไม่น้อย รายละเอียดที่ผมเห็นก็คล้ายๆ กันคือมีป้าย (ชื่อเทพ?) ประดับบนจั่ว แต่ที่เหมือนกันคือรูปนกยูงทองบนยอดศาลเจ้าที่คาบฟางข้าว ในตอนค่ำเริ่มเหนื่อยล้ากัน แต่ขบวนแห่ก็เดินไปรอบย่านนี้ มีการอุ้มเด็กให้ยืนบนคานและถือพัดโบกให้ศาลเจ้าเคลื่อนไปข้างหน้า ดูน่ารักและเร้าใจ ที่เขาให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วม เหมือนเป็นหลักประกันว่าเด็กๆ เหล่านี้เมื่อโตขึ้นก็จะเป็นกำลังสำคัญในการแบกศาลเจ้า หรือร่วมมือในรูปแบบอื่น เพราะงานนนี้ต้องใช้คนจำนวนมากทีเดียว หากชุมชนไม่เข้มแข็งก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะจัดการขบวนแห่

เมื่อดูขบวนแห่จนพอใจแล้ว ผมก็จับทิศไปสวนสาธารณะได้ สวนแห่งนี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1917 เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกที่ตั้งนอกเขตกรุงโตเกียว และมีบึงใหญ่ที่คนนิยมมาลงเรือถีบหรือเช่าเรือพาย แต่มีความเชื่อกันว่า คู่รักไหนที่มาลงเรือถีบหรือพายกันในบึงนี้จะเลิกรากันเสมอ จะว่าไปผมก็เห็นคู่รักหลายคู่ไม่สนใจตำนานที่ว่ามานี้ 

ในบึงยังมีเกาะเล็กๆ เป็นศาลเจ้าและที่ตั้งเดิมของสมาคมศึกษาวิชาการสมัยโบราณ เมื่อเดินข้ามสะพานไปสำรวจ ผมเห็นรูปสลักอยู่บนแท่นในฝั่งขวาของศาลเจ้า เป็นรูปงูขนดแบบพญานาคบนใบบัว แต่ศรีษะเป็นชายชรามีเครายาวและเกล้าผมมวย (ซึ่งไม่ใช่แบบชาวญี่ปุ่น?)  ผมเข้าใจว่านี่เป็นพญานาคญี่ปุ่น หรืออาจเป็นราศีเกิดของปีมะโรง 

บริเวณนี้มีวัดอยู่ใกล้ๆ แต่ผมไม่ได้เข้าไปดู ไม่ไกลจากสวนแห่งนี้เป็นลานบินทดสอบและโรงงานผลิตเครื่องบินนาคาจิมะ (Nakajima) สมัยสงครามโลก ผมนึกเดาทันทีว่าเหตุใดบ้านเรือนแถวนี้จะไม่ได้เก่าแก่มากนัก ส่วนใหญ่อายุคงประมาณไม่เกินห้าหกสิบปี อาจจะเป็นเพราะว่าจะถูกถล่มหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็เป็นได้ (อันนี้เดานะครับ) เพราะเมืองนี้ (มูซาชิโนะ Musashino City) ได้วางเส้นทางเดินสันติภาพให้ศึกษาประวัติศาสตร์ราว 4.5 กม. เอาไว้ให้รำลึกด้วย เอาไว้คราวหน้าคงได้มีโอกาสมาอีกแน่ๆ 

ในวันอาทิตย์มีคนมาสวนสาธารณะมาก มีทั้งคนที่มาเล่นมายากล หรือแสดงความสามารถต่างๆ เรียกความสนใจได้ ตั้งแต่ตัดกระดาษ ควงไม้ เต้นรำ เป็นหุ่นนิ่ง หรือเล่นดนตรี ผมเดินเรื่อยเปื่อยลัดเลาะมาถึงอีกด้านหนึ่งของสวนสาธารณะ พบป้ายชี้ว่าเดินไปอีกราว 800 เมตรจะถึงจิบลิมิวเซียม เห็นแล้วก็อดไม่ได้ เลยเดินต่อไปอีกจนถึงหน้ามิวเซียม ผมถึงบางอ้อว่าทำไมจึงเคร่งครัดเรื่องการซื้อตั๋วมาก เพราะขนาดของมิวเซียมไม่ได้ใหญ่โตอะไร และมีคนมารอคับคั่ง ที่นี่เปิดตั้งแต่ 10 โมงเช้า รอบละสองชั่วโมง จนถึงรอบสุดท้ายสี่โมงเย็น ประเมินว่าใช้เวลาไม่เกินสองชั่วโมงก็ดูจบ 

ผมเดินมาถึงรั้ว พบเจ้าโตโตโร่ สัตว์ในอนิเมชั่นที่เหมือนเทพของป่านั่งฉีกยิ้มตรงคอกหน้าประตู แต่ทางเข้าอยู่อีกทางหนึ่ง อีกทั้งผมไม่ได้ตั๋วอย่างที่บอกไว้ข้างต้น เลยเดินถ่ายรูปรอบๆ ภายนอกรั้ว จากนอกรั้วมองไปบนหลังคา เห็นหุ่นยักษ์จากอนิเมชั่นอีกเรื่องและมีบันไดเวียนข้างนอก

ผมนั่งมองจากนอกรั้ว เห็นคนมากมาย ทั้งนักท่องเที่ยวจีน ชาวตะวันตกและชาวญี่ปุ่น บ้างมาทั้งครอบครัว บ้างก็มาเป็นกลุ่มๆ หรือกับทัวร์ 

อย่างที่บอกว่าที่นี่อยู่ชิดกับสวนสาธารณะ จึงมีม้านั่งอยู่รอบๆ ผมนั่งมองหลังคามิวเซียมแล้วนึกขำอยู่ในใจ เหมือนชีวิตวัยรุ่นหนุ่มสาว ไม่ได้เห็นหน้าสาวเจ้า ก็ให้เห็นหลังคาบ้านก็พอใจ

วันหยุดนี้รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจไม่น้อย 

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
วันนี้ (31 พฤษภาคม) เป็นวันที่ 17 นับจากวันเลือกตั้งจบลง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีเวลาเหลืออีก กว่า 43 วัน ที่จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างน้อย ร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตและบัญชีรายชื่อ เพื่อให่้ระบอบการเมืองเดินไปอย่างต่อเนื่องและไม่ขาดต
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ช่วงที่พ่อแม่มาอยู่ด้วย ผมจะพาพ่อแม่ไปเที่ยวใกล้บ้าง ไกลบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง เพราะการพาคนแก่มาอยู่เมืองที่ไม่มีเพื่อนฝูงที่สนิทกันคงไม่ใช่เรื่องสนุกอาทิตย์ก่อนก็ขับออกไปพุทธมลฑลแล้วไปพระปฐมเจดีย์ วกออกไปทางบ้านแพ้ว ออกมาพระรามสอง ก็เจอรถติดยาว ในสั
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บทความนี้เขียนเร็วๆ จากบทสนทนาในไลน์กลุ่มที่ผู้เขียนเป็นสมาชิก เพื่อตอบคำถามสองส่วน ส่วนแรกคือเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นอยู่กับความได้สัดส่วนระหว่างขีดความสามารถของรัฐกับความคาดหวังจากสังคม ส่วนที่สองคือรัฐกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญขึ้นเรื่อยๆ 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อเช้ายังงัวเงียอยู่ (เพราะนอนดึก) มิตรสหายในไลน์กลุ่มก็ชวนคุยว่า จะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปทำไม่ ดูอย่างอเมริกาสิ ขนาดเปลี่ยนทรัมป์ออกไปเป็นโจ ไบเด็น ถึงวันนี้คนยังติดโควิดสูง แม้กระทั่งในทำเนียบขาว ผมเลยชวนดีเบตว่าเอาไหม ในที่สุด บทสนทนาก็มาถึงจุดที่ว่า เราไม่ควรเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 คนเราจะวัดความเป็นรัฐบุรุษที่แท้ได้ก็เมื่อวิกฤตการณ์มาถึง แล้วเขาสนองตอบต่อวิกฤตการณ์นั้นอย่างไร
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในวันที่ 2 มีนาคม 1757 (2300) เดเมียนส์ผู้ปลงพระชนม์ถูกตัดสินว่าให้ "กระทำการสารภาพผิด (amende honorable) หน้าประตูอาสนวิหารแห่งปารีส" เป็นที่ซึ่งเขาจะถูกเอาตัวไปและส่งไปกับล้อเลื่อน โดยสวมแต่เพียงเสื้อเชิ้ต ถือคบเพลิงที่มีขี้ผึ้งเป็นเชื้อหนังสองปอนด์ (ราว 1 กิโลกรัม) จากนั้นเขาจะถูกนำตัวไปบนล้อเ