กลิ่นหอมของดอกไม้ลึกลับโชยมาตลอดทางที่ผมขี่จักรยานไปรอบๆ มหาวิทยาลัย มันหอมอ่อนๆ สดชื่น รัญจวนใจ ไม่รู้จะเปรียบอย่างไร เอาเป็นว่าเหมือนได้กลิ่นหอมจากเส้นผมที่เคลียคลออยู่บนแก้มนุ่มๆ ของหญิงสาว (หุๆๆ) กระทั่งผมโพสต์รูปช่อดอกไม้สีส้มบนหน้าวอลล์เฟซบุ๊คก็มีน้องสาวชาวญี่ปุ่นมาเฉลยว่ามันคือ ดอกคินโมกูไซ (Kinmokusei) ซึ่งผมค้นต่อพบว่าเป็นดอกไม้ในตระกูลหอมหมื่นลี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่ากลิ่นหอมของมันโชยมาจนผมต้องหาคำตอบ และยิ่งทึ่งต่อไปว่าดอกไม้สีส้มขนาดเล็กนี้ เมื่อรวมเป็นช่อชูจะมีสีสันงดงามบนพื้นใบเขียวขจีอย่างยิ่ง กลิ่นของมันเป็นสัญลักษณ์ว่าสิ้นสุดฤดูร้อนและเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงนั่นเอง
ผมลองค้นต่อเล่นๆ ก็พบว่าเจ้าดอกสีส้มกลิ่นหอมนี้เป็นพืชที่ “นำเข้า” จากเมืองจีนในสมัยเอโดะนี่เอง ราว ค.ศ. 1600-1868 โดยไม่แน่ชัดว่ามีรายละเอียดอย่างไร แต่ในที่สุดดอกหอมหมื่นลี้นี้ก็ได้รับความชื่นชมและนับว่าเป็นสัญญาณสิ้นสุดฤดูร้อนนับแต่นั้น
ด้วยกลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกคินโมกูไซทำให้การขี่จักรยานชมเมืองสำรวจพื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัยเป็นเรื่องเพลิดเพลิน แม้จะเกิดอาการหิวบ้าง อยากหยุดพักบ้าง แต่สวนสาธารณะของญี่ปุ่น หรือห้างร้านต่างๆ ก็มักจะมีห้องน้ำบริการ มีอาหารราคาสมเหตุผลให้ทานในราคาไม่แพงมาก (มีเพื่อนให้ข้อมูลว่าอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นคงที่มานับสิบปี จึงไม่แปลกใจที่ราคาสินค้ายังคงเกือบเท่าสมัยที่ผมมาทำงานศิลปะในราวปี 1998 เงินร้อยเยนมีค่าร้อยเยนจริงๆ ในร้านร้อยเยนมีของที่สมราคาเอามากๆ แต่ลองคิดดูว่าในเมืองไทยเป็นราคาสองเท่าของราคาในญี่ปุ่น แสดงว่าค่าเงินของเราเฟ้อกว่ามาก ทั้งๆ ที่ขนาดเศรษฐกิจของไทยก็โตวันโตคืน แต่คงไม่เท่าญี่ปุ่น) พูดถึงอาหาร ผมเห็นคนใช้เหรียญร้อยเยนสามสี่เหรียญจ่ายค่าอาหารมื้อหนึ่งๆ ได้สบาย ยิ่งชี้ให้เห็นว่า “เงิน” มีราคาจริงๆ
จักรยานสีแดงพาผมไปเที่ยวรอบมหาวิทยาลัยในยามว่างหรือต้องการพักสมอง บ้างไปซื้อของใช้หรือจับจ่ายตลาด วันหนึ่งผมพามันไปถึงศาลเจ้าเมืองฟุชู ก่อนออกเดินทาง ผมใช้ google map สำรวจเส้นทางคร่าวๆ และให้มันนำทางไป ตามคำอธิบายของ ระหว่างทางได้พบกับสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น อุโมงค์สำหรับพรางเครื่องบินขนาดเล็กที่พอจะใส่เครื่องบินรบขนาดเล็กได้หนึ่งลำ ศาลเจ้าเล็กๆ บางแห่งซ่อนอยู่ในป่าขนาดเล็ก บางแห่งอยู่ตามมุมของถนนที่ตัดผ่านพาดไปมา แต่ก็มีคนเข้าไปไหว้อยู่ตลอดเวลาแม้ศาลเจ้าจะปิดก็ยังมาขอพรกันอยู่
เมื่อผมไปถึงก็เกือบเย็น เพราะนั่งทำงานแต่เช้าโดยไม่คิดว่าจะไปไหน แต่กลิ่นหอมอ่อนๆ และแสงแดดก็ชวนให้ผมออกไปจนได้ เมื่อเดินในเขตเมือง ผมเลือกจอดรถใกล้ๆ ห้างที่มีคนพลุกพล่าน ในญี่ปุ่นคนจอดรถจักรยานเป็นที่เป็นทาง มีบ้างที่ฝ่าฝืน แต่ก็ไม่มาก ผมเองถือคติว่าเราเป็นคนต่างชาติมาพำนักอาศัยก็ต้องระวังไม่ทำอะไรให้เขาดูถูกดูแคลน หรือทำให้มองว่าเราละเมิดกฎหมายหรือระเบียบสังคมของเขา ซึ่งจะส่งผลให้คนรุ่นหลังๆ ลำบากมากขึ้น
ในศาลเจ้าเมืองฟูชู เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ จากถนนเดินเข้าไปไกลพอสมควร เมื่อลอดซุ้มประตูหลัก ก็พบอนุสรณ์เรียงรายก่อนจะถึงประตูของศาลเจ้า มีอนุสรณ์อันหนึ่งน่าจะทำอุทิศสำหรับทหารและติดรูปเรือรบซึ่งน่าจะเป็นเรือรบสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าใจว่าคงมีคนจากเมืองนี้ไปรบและเสียชีวิตกันมากมาย เลยทำอนุสรณ์ไว้ที่นี่ มีเวทีซูโม่ (เสียดายมาไม่ทัน) มีห้องจัดเลี้ยงแต่งงานอยู่ข้างๆ
ที่นี่มีเทพพิทักษ์อยู่หน้าศาลสองคน แต่งตัวเป็นขุนนางโบราณ เสียดายที่ไม่มีข้อมูลอื่นๆ ผมเดินไปล้างมือ เอาน้ำจากปากมังกรเหนือน้ำพุมาบ้วนปากตามธรรมเนียม จากนั้นก็เดินเข้าศาล เขามีข้อแนะนำว่าให้โค้งคำนับหนึ่งครั้ง แล้วตบมือสามครั้ง จากนั้นก็อธิษฐาน เมื่อเสร็จแล้วก็คำนับอีกครั้งหนึ่ง หากจะโยนเหรียญไปในกล่องไม้ขนาดใหญ่และมีช่องให้เงินร่วงลงไปเพื่อทำบุญก็ได้
เสียดายที่ใกล้เวลาปิดศาล ผมเลยไม่มีเวลาชมศาล เอาไว้คราวหน้าคงได้ออกมาเดินเล่นอีกครั้งในยามสายๆ น่าจะดี
คิดได้อย่างนั้นก็เดินออกมาอีกฝั่งและซื้อโอโกโนมิยากิ หรือปลาหมึกห่อแป้งเป็นลูกกลมๆ ย่าง ชุดหนึ่งมีหกลูก ราคาราวหกร้อยห้าสิบเยน (ประมาณสองร้อยบาท) นั่งกินอยู่หน้าร้าน เมื่อรองท้องแล้วก็มีแรงเลยปั่นจักรยานสำรวจรอบๆ เมือง เมื่อแดดลับไปก็ถึงเวลากลับบ้าน ก่อนกลับผมก็แวะซื้อผักผลไม้ไว้ทำอาหารในวันพรุ่งนี้และวันถัดๆ ไป
การขี่จักรยานในญี่ปุ่นมีความปลอดภัยสูงมาก ตั้งแต่เด็กนักเรียนต่างปั่นจักรยานเป็นกลุ่ม คนทำงานปั่นมาจอดไว้ที่สถานีรถไฟฟ้า คนแก่ปั่นมาซื้อของ หรือครอบครัวที่มีเบาะให้เด็กๆ ซ้อนท้าย ทั้งนี้ยังมีจักรยานไฟฟ้าก็เป็นที่นิยมไม่น้อย ชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ครั้งหนึ่งก็สามารถขี่ได้เป็นสิบกิโลเมตร จึงเห็นคนใช้กันแพร่หลายทีเดียวเพราะสะดวกและประหยัดมากๆ
อย่างที่ผมเคยบอกไว้ว่าคนญี่ปุ่นจะมัธยัสถ์มาก คือรู้คุณค่าของสิ่งของต่างๆ รักษาของเป็นอย่างดี ดังนั้นแม้จะเป็นเครื่องใช้เสื้อผ้ามือสองก็จะอยู่ในสภาพดีเสมอ การมัธยัสถ์คือการรู้คุณค่าของสิ่งต่างๆ และรู้จักใช้ประโยชน์จากมัน การรีไซเคิลก็ต้องรู้จักแยกขยะออกเป็นขยะเผาได้ ขวด PET ที่ต้องลอกเอาพลาสติกออกก่อน กระป๋อง ขยะเผาไหม้ได้ ซึ่งกติกาเหล่านี้จะมีระบุไว้ในแต่ละเมือง ทำให้ “ขยะ” ไม่ใช่ขยะที่ต้องทิ้งหรือทำลายอย่างไร้ประโยชน์ บางเมืองถึงกับระบุประเภทของขยะในแต่ละวัน การทิ้งของบางอย่างเช่น เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ หรืออุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ต้องดูเวลาและค่าธรรมเนียม บางกรณีอาจต้องไปซื้อแสตมป์จากร้านสะดวกซื้อเพื่อจ่ายค่าขนย้ายให้เมืองก็มี
ฝนยังพรำมาบ้าง แต่ในที่สุดกลิ่นหอมของคินโมกูไซก็พาเอาฤดูใบไม้ร่วงมาถึง ผมเริ่มทำงานได้บ้างแล้ว เริ่มจากการแก้ไขงานวิจัยที่ค้างอยู่ คิดถึงงานที่หอบมาเขียนด้วย เริ่มหาเอกสารเพิ่มเติมสำหรับการบรรยายซึ่งตอนนี้มีราวสองสามแห่งต้องการเชิญผมไปบรรยายหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ ซึ่งจะได้เขียนเล่าต่อไปข้างหน้า
เมื่อฝนจางหายไป ผมเริ่มเห็นทิวทัศน์ที่อยู่ไกลออกไปบ้าง บนตึกที่ทำงานของผมอยู่บนชั้นเจ็ด มองออกไปจากหน้าลิฟต์ก็จะเห็นฟูจิซังหรือภูเขาไฟฟูจิ เวลาที่สวยงามที่สุดก็คือเวลาเย็น ราวห้าโมงถึงหกโมงเย็น เมื่อพระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า ก็จะเห็นลุงฟูจิเด่นเป็นสง่า แม้จะอยู่ห่างจากผมมากๆ แต่สีสันของเพลาเย็นนั้นช่างงามจับใจเอามากๆ
ผมนึกถึงบทสนทนาระหว่างเจ้าชายน้อยกับนักบินที่พบกันในทะเลทราย ความว่า
โอ เจ้าชายน้อย! ผมเข้าใจความลับของชีวิตน้อยๆ ที่แสนเศร้าของเธอแล้ว
นานแล้วสินะ ที่เธอพบว่าความสุขเดียวที่เธอมีคือการได้ดูพระอาทิตย์ตกอย่างเงียบๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมได้เรียนรู้ในเช้าวันที่สี่ เมื่อเจ้าชายน้อยกล่าวกับผมว่า
“ฉันชอบพระอาทิตย์ตก มาสิ พวกเราไปดูพระอาทิตย์ตกกันตอนนี้เลย”
“แต่เราต้องรอให้ถึงเวลาก่อนนะ” , ผมตอบ
“รอเหรอ? ทำไมต้องรอ?”
ทีแรก เหมือนเธอจะแปลกใจมาก แต่เธอก็หัวเราะใส่ตัวเองแล้วพูดกับผมว่า
“ฉันคิดว่าฉันอยู่ที่บ้านตลอดเวลา!”
มันเหมือนว่า ใครๆ ก็รู้ว่าถ้าเป็นเวลาเที่ยงที่สหรัฐอเมริกา พระอาทิตย์กำลังจะตกที่ฝรั่งเศส
ถ้าหากคุณสามารถบินไปฝรั่งเศสในนาทีนั้น คุณก็สามารถไปดูพระอาทิตย์ตกในเวลาเที่ยงวันได้เลย
แต่โชคร้าย ที่ฝรั่งเศสไกลออกไปมาก แต่บนดาวดวงน้อยของเธอ, เจ้าชายน้อยของฉัน, เธอก็แค่ย้ายเก้าอี้ไปไม่กี่ก้าวก็สามารถเห็นยามเย็นและความมืดที่คืบคลานเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจเธอ....
“ในวันหนึ่งๆ” เธอบอกฉันว่า “ฉันเห็นพระอาทิตย์ตกสี่สิบครั้ง!”
และเธอกล่าวเสริมอีกว่า
“คุณรู้ไหม--หากมีใครก็ตามที่ชอบพระอาทิตย์ตก , เมื่อนั้นเขาช่างเศร้ายิ่งนัก...”
“แล้วเธอล่ะ, เศร้าไหม?” ผมถาม, “ในวันที่พระอาทิตย์ตกถึงสี่สิบครั้ง?”
แต่เจ้าชายน้อยไม่ตอบ
(บทสนทนาจากต้นฉบับเจ้าชายน้อยภาษาอังกฤษแปลโดยผมเอง ผมไปค้นต่อ พบว่าผู้เขียน แซ็งเต็ก ซูเปรี เขียนเรื่องนี้เมื่อเขาอายุได้ 42 ปี และเขียนระหว่างอยู่ที่นิวยอร์ค)
หากชีวิตของคนเราผ่านทุกข์สุข ผ่านหนาวเหน็บแบบผมมาถึงวันนี้ คงรับรู้ความรู้สึกนี้ และเขียนออกมาจากสิ่งที่เห็นอยู่จริง เพราะบางเรื่องราวนั้นมันยากที่จะพรรณาออกมาถึงความรัก ความสุข ความทุกข์ได้ สำหรับผมแล้ว เรื่องเจ้าชายน้อยเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่แฝงปรัชญาการมองชีวิต ความรัก และการเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างกล้าหาญ แถมยังเป็นหนังสือที่เศร้าอย่างร้ายกาจด้วย
ในเรื่องเจ้าชายน้อยสะท้อนจินตนาการถึงความรู้สึกเหล่านั้น ในชีวิตคนบางเรื่องรักนั้นทุกข์จนไม่อาจเอ่ยอ้าง แม้ในยามรักจะเอิบอิ่มไปด้วยสุข แต่คนถูกรักไม่รับรู้ด้วย ยามจากพรากคงได้แต่ยอมจำนน ธรรมชาติของชีวิตคนคงเป็นเช่นนี้เอง ผมจึงอยากแบ่งปันความรับรู้ไว้ที่นี้ด้วยครับ
ยามเย็นมองไปทางฟูจิซัง
แดดสุดท้ายของวันยังเหลืออยู่ ระบายฟ้าจากน้ำเงินเข้ามาเป็นสีเหลืองจากและเฉดสีส้มเป็นพื้นฉากให้ฟูจิซังเด่นชัด แม้จะอยู่ไกลจากที่นี่
ลมหนาวมาถึงแล้ว บนฟ้าเห็นดาวกระพริบ วิบๆไหว
เสียงใบไม้ ไกวตามลม กระชากใบ
กลิ่นดอกหอมหมื่นลี้ผ่านมาให้เชยชม
บอกคิมหันต์ลาจากสู่ใบไม้ร่วง