Skip to main content

 

ถึงแม้งานจะไม่มากนัก แต่หากคำนวณกับสัดส่วนที่แปรผกผันกับเวลาที่น้อยลงแล้ว ผมต้องรีบทำงานให้เร็วขึ้น แม้ผมยังรู้สึกว่าทัน แต่ก็ประมาทไม่ได้

ชีวิตที่นี่ไม่มีใครมาตามงาน มาบังคับ ชีวิตที่เป็นอยู่จึงเป็นวินัยตัวเองล้วนๆ มหาวิทยาลัยกำหนดให้ผมรายงานการปฏิบัติงานด้วยการทำเครื่องหมายในช่องที่ระบุว่า ทำงานที่บ้าน (working at home) อยู่ในมหาวิทยาลัย (on campus) ฝึกฝนตัวเอง (self-training) ทำงานพิเศษ (side job) วันหยุดงาน (day off) หรือไปธุระนอกมหาวิทยาลัย และมีช่องหมายเหตุให้เขียนอธิบายสั้นๆ

จะว่าไปผมก็อยู่มหาวิทยาลัยทุกวัน เพราะที่พักห่างจากห้องทำงานราวสี่ร้อยเมตรเท่านั้น

ผมยังนอนดึก ตื่นสาย แต่พยายามออกกำลังกายทุกวัน เท่าที่จะทำได้ วิธีการออกกำลังกายของผมก็ง่ายที่สุด คือเปลี่ยนชุดวอร์มแล้วออกไปเดินบ้างวิ่งบ้าง เหนื่อยก็เดิน ไหวก็วิ่ง เดินบ้างไปเรื่อยๆ เป็นการสำรวจชุมชนไปในตัวให้รู้ว่ามีอะไรอยู่แถวนี้ ติดเสียว่าผมออกวิ่งก็ยามค่ำเสียแล้ว หากวิ่งตอนสี่โมงเย็นอาจจะได้เห็นอะไรมากขึ้น วิ่งเสร็จก็กลับมาที่ห้อง เตรียมอาหารเย็น แล้วอาบน้ำอาบท่า หรือทานก่อนอาบน้ำตามสภาพครับ

ทำงานบ้าง เล่นเฟซบุ๊คกับเพื่อนๆ บ้าง ถึงตีสองก็นอน

เช้ามาก็ตื่น ก่อนออกไปที่ห้องทำงานก็นั่งทำงาน เผื่อติดลมก็อาจทำอาหารเที่ยงกินที่ห้องง่ายๆ

ผมคุยกับเพื่อนนักวิจัยว่าเราอาจจะต้องประหยัดค่าไฟฟ้าในฤดูหนาวด้วยการไปนั่งทำงานในออฟฟิศหรือห้องสมุดให้มากขึ้น เหมือนสมัยผมอยู่ที่ฮาร์วาร์ดแน่ๆ เดือนแรกผมจ่ายไปราวสี่พันเยน เดือนที่สองเจ็ดพันกว่าเยน คาดว่าเดือนที่สามนี่คงเกือบหมื่นหรือแตะหมื่นเยนแน่ๆ ถ้าเข้าฤดูหนาวต้องใช้ heater ในยามกลางคืน แต่ถึงจะแพงยังไงคงยังไม่เท่าสถิติที่ผมทำไว้ที่ซัมเมอร์วิลล์ แมสซาจูเส็ทส์ เมื่อเหมันต์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปถึง 200 USD หรือ 7 พันบาท! หนาวนี้จะมีความเสียหายอย่างไรขนาดไหนจะรายงานให้ทราบครับ

ตอนนี้ผมเริ่มทำงานที่สัญญากับ ILCAA ไว้ คือการนำเสนอเรื่องงานวิจัยและบรรยายสาธารณะรวมสองครั้ง แต่ยังมีงานบรรยายที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ มหาวิทยาลัยนานาชาติอาคิตะและมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งยาวไปถึงกลางเดือนธันวาคมนี้

ธรรมชาติของคนทำงานวิชาการที่ยังไม่อยู่ในร่องในรอยแบบผมก็คงต้องใช้ชีวิตแบบไร้ระเบียบไปอย่างนี้สักพัก บางทีก็ยากจะอธิบาย เพราะคนรักของเพื่อนนักวิชาการชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งก็บ่นว่าอยากมีคนรักที่รับผิดชอบดูแลความรู้สึกเธอบ้าง การมีคนรักในอาชีพแบบนี้เหมือนมีกำแพงกั้นขวางบางๆ เหมือนไม่ใส่ใจในความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ผมฟังแล้วก็พยายามบอกเธอว่าธรรมชาติของคนทำงานในวัยในนี้ ก็คงต้องเว้นช่องระยะกัน แต่เขาคงไม่ได้ไปเกเรนอกใจที่ไหน เพราะเคยถูกต่อว่าอย่างนี้มาบ้าง หรือกระทั่งว่าเห็นแก่ตัวบ้าง บางทีก็ต้องฝืนยิ้มไปและคิดในใจว่าแล้วจะให้เปลี่ยนอาชีพไหม? แล้วเวลาก็พัดพาเราห่างหายจากกันไปในที่สุด

ถึงวันนี้แม้จะลดภาระงานลงบ้าง แต่มรสุมที่ก่อตัวเบื้องหน้าก็ยังไม่พัดผ่าน เวลานี้เหมือนงานวิชาการด้านรัฐศาสตร์เป็นอาชีพที่ไร้ความหมายมาก เพราะความรู้ทางทฤษฎีกลายเป็นเรื่องที่ล่องลอยเอามากๆ ในสังคมที่สามารถบิดเบือนหลักการหรือตรรกะทางสังคม ลดทอนความซับซ้อนให้เหลือเพียงความขัดแย้งในรหัสสีหรือบุคคลบางคนได้อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกันก็เชื่อในปาฏิหารย์ว่าการกระทำบางอย่างให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์พอใจจะนำพามรสุมลูกนี้ผ่านพ้นไปโดยที่ตัวเองอยู่รอดปลอดภัย 

คิดไปก็เห็นด้วยกับที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์พูดถึงอวสานของนักวิชาการ มันมีข้อดีอยู่มาก แต่ก็ยังข้ามไม่พ้นการฉกฉวยของผู้คนที่อวดอ้างคุณวิเศษทางวิชาการหรือใช้เป็นบันไดพาดไปสู่อำนาจและเกียรติยศ บางครั้ง บันไดที่พาดก็เป็นทั้งชีวิตคนและเลือดเนื้อจริงๆ ก็มีให้เห็น หากมนต์คาถาของนักวิชาการสิ้นแล้วน่าจะเป็นการดีกว่าที่คนหันมาเชื่อตัวเอง หาคำตอบด้วยตัวเอง มีเครื่องมือ หรือหลักคิดน่าจะเป็นเป้าหมายของคนในสังคมอารยะ กล่าวคือเป็นชุมชนของมนุษย์ที่แสวงหาความสมบูรณ์กว่าเดิมในทุกวัน มนุษย์ในอุดมคติก็น่าจะเป็นคนที่เรียนรู้และเข้าใจความทุกข์ยากความเจ็บปวดของผู้อื่นแม้ในยามที่ตัวเองอยู่ท่ามกลางความสุข

เมื่อมีเวลาว่าง ผมมักจะออกไปชมเมืองตามแต่โอกาสและความเป็นไปได้ ผมเดินทางไกลครั้งแรกโดยเลือกไปเมืองกิฟุที่มีปราสาทของขุนพลโอดะ โนบุนากะ ในช่วงรับฤดูใบไม้ร่วงก็จะมีการจัดขบวนพาเหรดของเหล่านักรบของโนบุนากะ มีคนแต่งชุดเกราะซามูไร และขบวนเกียรติยศ เพราะชาวกิฟุถือว่าตัวเองเป็นลูกหลานของโนบุนากะ

สำหรับขุนศึกโนบุนากะ (1534-1582) เป็นบุคคลที่น่าสนใจมาก เพราะเขาเป็นคนที่พยายามรวมญี่ปุ่นจากบรรดาขุนศึกต่างๆ ที่ครอบครองแคว้นต่างๆ ในยุคสงครามกลางเมือง แต่งานของเขาไม่สำเร็จจนกระทั่งโทโยโทมิ (Toyotomi Hideyoshi) สามารถรวมประเทศได้ในปี ค.ศ. 1590และโตกุกาวา อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu) ผู้ก่อตั้งระบอบโชกุนโตกุกาวาใน ค.ศ. 1603 ทั้งสามคนนี้เป็นพันธมิตรกันและมีคำกล่าวว่า โนบุนากะเป็นคนตำข้าวให้แหลก, ฮิเดโยชิเป็นคนนวดแป้ง ส่วนอิเอยาสุเป็นคนนั่งและกินขนมโมจิ (อันนี้เดาเอานะครับ เพราะการตำข้าวส่วนใหญ่ก็ทำ rice cake ประเภทโมจิ หรือเป็นขนมที่ทำจากแป้ง)

ชื่อเสียงในวัยเด็กของเขาไม่ดีนัก แต่เมื่ออายุสิบห้าเขาแต่งงานกับท่านหญิงโนะ (Nohime) จากตระกูลอินาบะยามะ ซึ่งต่อมาเมื่ออายุ 34 ปี เขาโจมตีและครอบครองปราสาทอินาบะยามะได้และเปลี่ยนชื่อเป็นปราสาทกิฟุ (Gifu Castle) จากที่นี่เองที่เป็นฐานในการทำศึกให้เขา

โนบุนากะเป็นคนเปลี่ยนโฉมหน้าของการรบในสมรภูมิด้วยการใช้หอกยาว ปืนไฟที่เขาได้จากโปรตุเกส และการสร้างปราสาทเพื่อเป็นป้อมปราการในการตรึงกำลังและสั่งสมไพร่พล 

แต่ถึงจะเป็นนักรบ แต่เขาก็สนใจศิลปวัฒนธรรมอย่างมาก เช่น ปราสาทอาซูชิริมทะเลสาบบิวะ ถึงไม่นับถือศาสนาแต่เขาก็สนับสนุนพวกเยซูอิตให้เผยแพร่ศาสนา โดยเฉพาะการตั้งโบสถ์ในเกียวโต ค.ศ. 1576 ทั้งนี้น่่าจะเป็นเหตุผลทางการทหารที่เอาวิทยาการของชาวตะวันตกมาปรับใช้มากกว่าศาสนาแน่ๆ

ประวัติศาสตร์มักล้อเล่นกับโชคชะตาเสมอ เมื่อเขาถูกก่อกบฏโดยขุนศึกอาเกชิ มิตซึฮิเดะ (Akechi Mitsuhide) เมื่อ ค.ศ. 1582 ที่เรียกกันว่า กรณีฮอนโนจิ (Honno-ji Incident) และถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายเมื่ออายุเพียง 49 ปี ปิดฉากวีรบุรุษเจ้าสงครามรวมญี่ปุ่น

ประวัติและบทบาทในประวัติศาสตร์ของโนบุนากะมีสีสันมาก จนทำให้บุคลิกภาพของเขาถูกสร้างเป็นนวนิยาย การ์ตูน ละคร กระทั่งกลายเป็นต้นแบบของตัวเอกในหนังเรื่องคาเงมูชา (Kagemusha) ของผู้กำกับชื่อดัง อาคิระ คูโรซาวา (Akira Kurosawa) เป็นต้น

ถึงอย่างไร ชาวกีฟูก็ถือกันว่าเขาเป็นผู้สถาปนาเมืองกิฟุ จึงจัดให้มีรูปปั้นสีทองของเขาตระหง่านหน้าสถานีรถไฟของเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนพาเหรดฤดูใบไม้ร่วงที่จัดกันในวันเสาร์อาทิตย์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี ขบวนพาเหรดนักรบของโนบุนากะจะเป็นเป็นอาทิตย์

ในเมืองนี้ยังมีเรื่องราวน่าสนใจมากๆ เช่น การใช้นกกาน้ำจับปลาในยามค่ำคืนจนเป็นสัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเมือง และจัดให้มีการจับปลาแสดงให้นักท่องเที่ยวชมในช่วงฤดูร้อน ในเมืองยังมีวัดเก่าแก่ชื่อวัดโชโฮจิ (Shoho-ji) ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปมหาพุทธแห่งกิฟุ (The Great Buddha) องค์พระเป็นมีไม้เป็นแกนและใช้โครงเป็นไม้ไผ่สานประกอบกันลงรักปิดทองเป็นพระพุทธรูปที่เป็นเครื่องเขินที่มีขนาดใหญ่ที่สุด องค์พระผนึกด้วยพระสูตร (น่าจะเป็นกระดาษโบราณ) จากทั่วประเทศซึ่งพระอาจารย์อิคชิว (Ichyuu) เดินทางจาริกไปรวบรวมจากวัดต่างๆ มาผนึกองค์พระก่อนลงรักปิดทองใน ค.ศ. 1790 และใช้เวลาหลายปีจนพระอาจารย์อิคชิวมรณภาพใน ค.ศ. 1812 ลูกศิษย์ผู้สืบทอดคือพระอาจารย์โคชู (Kohshuu) สร้างต่อจนสำเร็จเมื่อ ค.ศ. 1832 คนทั่วไปเรียกว่าพระตะกร้า เพราะการสานโครงไม้ไผ่นั่นเอง

ผมเองเข้าไปในยามเย็นก็ยังทึ่งในความงดงามและใหญ่โตขององค์พระและประทับใจมากๆ แม้ในยามที่ผมรู้สึกอ้างว้างอย่างถึงที่สุด แต่สัจธรรมบางประการปรากฏให้ผมรับรู้ต่อหน้าองค์พระ

ออกจากวิหารพระพุทธผมเดินไปอย่างไร้จุดหมายเพราะแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ผมเดินเรื่อยเปื่อยหาทางขึ้นไปบนปราสาทบนเขาคินกะ (Kinka) จนพบทางขึ้นรถกระเช้า แต่ขณะจะซื้อตั๋วน้องผู้หญิงที่ดูแลกระเช้าบอกว่าถ้าผมรอหลังหกโมงเย็นจะได้ราคาถูกลงกว่าครึ่ง เวลาขณะนั้นห้าโมงห้าสิบห้า ผมจึงไม่ลังเลที่จะรอ ระหว่างนั้นก็มานั่งทบทวนเรื่องราวและสิ่งที่ได้พบเห็นทั้งวัน เมื่อถึงเวลาซื้อตั๋วลดราคาผมเดินไปที่ตู้ขายตั๋วและเดินไปที่รถกระเช้าที่คนยังแน่นอยู่ เพราะโปรโมชั่นตั๋วคู่รัก ทำให้ทั้งรถกระเช้าเต็มไปด้วยคู่รัก

ระหว่างรถกระเช้าเคลื่อนตัวผมมองไปยังเมืองกีฟูเบื้องล่าง และเมื่อไปถึงยอดเขาก็ต้องเดินขึ้นไปชมปราสาทที่สร้างบนฐานเดิมของปราสาทสมัยโนบุนากะบนปราสาทเป็นนิทรรศการแสดงอาวุธจำลอง เกราะ และเรื่องราว เสียดายที่เป็นภาษาญี่ปุ่นเสียส่วนใหญ่ ผมมองไปยังขอบฟ้าเมืองกีฟุ นึกถึงชีวิตคนมากมายที่ต้องสังเวยให้กับยุคสมัยแห่งความวุ่นวายและช่วงชิงอำนาจแล้วพลันนึกถึงเพลงหนังกำลังภายในทางทีวีที่เคยดูและชอบมาตอนเด็กๆ ก็คือเรื่องจอมโจรจอมใจที่มีพระเอกคือชอลิ่วเฮียง ซึ่งในยุคนั้นคนพากันเอามือลูบจมูกแบบชอลิ่วเฮียงกันเป็นแถว ว่ากันว่าโด่งดังไม่แพ้กระบี่ไร้เทียมทานทีเดียว

ผมเรียบเรียงคำแปลจากที่คุณ Sulley Monster ทำเอาไว้ และขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ (ลิงค์ของเพลงและซับไตเติลคือ https://www.youtube.com/watch?v=9Z-DIBUH2Y0) ผมประทับใจมากๆ เพราะเพลงนี้ทำให้ผมเห็นและเข้าใจความหมายของเพลงภาษากวางตุ้งในวัยเด็ก ฉากเรื่องราวต่างๆ ซ้อนทับกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจจนผมอดไม่ได้ที่จะเรียบเรียงออกมาดังนี้ครับ

 

 

 

 

ทะเลสาบชำระกายและห้วงใจ
ความมืดมิดลอยไปกับห้วงน้ำ
หมู่เมฆ แม้ต้องลมกลับเฉยชา
มีเพียงข้าที่รับรู้สายลมเย็นชุ่มในใจ
 
มลทินใดไม่อาจแปดเปื้อนดวงใจข้า
สิ่งใดๆ เล่าจะมากล้ำกราย 
พบหรือจากต่างไร้กังวล
เมื่อปล่อยวางความร้าวรานในชาตินี้
 
ผ่านมาชั่วพริบตาแล้วพรากจาก
จะฝ่าวายุร้ายดังผู้กล้า
เมื่อละวางแล้ว ซึ่งลาภยศ สรรเสริญ
ก็นับว่าสิ้นภัยจากคมกระบี่
 
เที่ยวละล่องเพียงลำพังในขุนเขา
เมื่อเดียวดายแล้ว จึ่งไร้ซึ่งอาลัย

 

เมื่อละวางแล้ว ซึ่งลาภยศ สรรเสริญ
ก็นับว่าสิ้นภัยจากคมกระบี่

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
วันนี้ (31 พฤษภาคม) เป็นวันที่ 17 นับจากวันเลือกตั้งจบลง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีเวลาเหลืออีก กว่า 43 วัน ที่จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างน้อย ร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตและบัญชีรายชื่อ เพื่อให่้ระบอบการเมืองเดินไปอย่างต่อเนื่องและไม่ขาดต
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ช่วงที่พ่อแม่มาอยู่ด้วย ผมจะพาพ่อแม่ไปเที่ยวใกล้บ้าง ไกลบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง เพราะการพาคนแก่มาอยู่เมืองที่ไม่มีเพื่อนฝูงที่สนิทกันคงไม่ใช่เรื่องสนุกอาทิตย์ก่อนก็ขับออกไปพุทธมลฑลแล้วไปพระปฐมเจดีย์ วกออกไปทางบ้านแพ้ว ออกมาพระรามสอง ก็เจอรถติดยาว ในสั
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บทความนี้เขียนเร็วๆ จากบทสนทนาในไลน์กลุ่มที่ผู้เขียนเป็นสมาชิก เพื่อตอบคำถามสองส่วน ส่วนแรกคือเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นอยู่กับความได้สัดส่วนระหว่างขีดความสามารถของรัฐกับความคาดหวังจากสังคม ส่วนที่สองคือรัฐกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญขึ้นเรื่อยๆ 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อเช้ายังงัวเงียอยู่ (เพราะนอนดึก) มิตรสหายในไลน์กลุ่มก็ชวนคุยว่า จะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปทำไม่ ดูอย่างอเมริกาสิ ขนาดเปลี่ยนทรัมป์ออกไปเป็นโจ ไบเด็น ถึงวันนี้คนยังติดโควิดสูง แม้กระทั่งในทำเนียบขาว ผมเลยชวนดีเบตว่าเอาไหม ในที่สุด บทสนทนาก็มาถึงจุดที่ว่า เราไม่ควรเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 คนเราจะวัดความเป็นรัฐบุรุษที่แท้ได้ก็เมื่อวิกฤตการณ์มาถึง แล้วเขาสนองตอบต่อวิกฤตการณ์นั้นอย่างไร
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในวันที่ 2 มีนาคม 1757 (2300) เดเมียนส์ผู้ปลงพระชนม์ถูกตัดสินว่าให้ "กระทำการสารภาพผิด (amende honorable) หน้าประตูอาสนวิหารแห่งปารีส" เป็นที่ซึ่งเขาจะถูกเอาตัวไปและส่งไปกับล้อเลื่อน โดยสวมแต่เพียงเสื้อเชิ้ต ถือคบเพลิงที่มีขี้ผึ้งเป็นเชื้อหนังสองปอนด์ (ราว 1 กิโลกรัม) จากนั้นเขาจะถูกนำตัวไปบนล้อเ