ผมออกจากกรุงเทพเมื่อยามบ่ายแก่ๆ จนรถเริ่มเข้าสู่เขตป่าเขา ก็เริ่มมีต้นไม้หนาตามากขึ้น แรงลมจากการสัญจรของรถและลมธรรมชาติเร่งเร้าให้ใบไม้ปลิดปลิวจากก้านกิ่ง พลิ้วลอยลงมาเป็นระยะ บ้างหมุนคว้างบนพื้นตามแรงลมที่โบกพัด บ้างก็พุ่งมายังกระจกหน้าแล้วโดนแรงลมส่งไปข้างหลัง ผมขับรถโดยลำพังเพื่อมุ่งไปยังจุดหมายแห่งหนึ่งโดยมีเพลงเป็นเพื่อนร่วมทาง มองไปที่ข้างทางมีไฟป่าเป็นระยะ เพราะใบไผ่ติดไฟง่ายมากในยามแล้งอย่างนี้
ผมชินกับการขับรถเพียงลำพัง แต่บางทีก็อยากจะเล่าให้คนอื่นได้เห็นในสิ่งที่เห็น บางทีเรื่องราวประหลาดก็เกิดขึ้น บางทีก็ได้พบภาพสวยงามจับใจและไม่สามารถเก็บไว้ด้วยภาพถ่าย จึงพยายามเล่าผ่านตัวอักษร
จนถึงวันนี้ผมจากญี่ปุ่นมาหลายวันแล้ว แต่บันทึกการเดินทางยังไม่เสร็จ ขณะที่ผมขับรถและฟังเพลงสายตาจ้องไปข้างหน้า ก็นึกทบทวนเรื่องราวในช่วงท้ายๆ ที่พำนักในญี่ปุ่นไปพลางๆ
….
รถไฟสายชูโอ (Chio Line) จากสถานีมุซาชิซากาอิ (Musashi-Sakai) มุ่งไปที่มิโอ (Mio) ผมมีเป้าหมายที่จะเดินทางไปชมทิวทัศน์ของมิตาเกะ (Mitake) โดยลำพัง เพราะเชื่อว่าใบไม้น่าจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเพลิงกว่าเมื่อครั้งมากับเพื่อน
เมื่อถึงปลายทาง ผมพบว่าผมเดาผิด เพราะใบไม้สีแดงมาอย่างรวดเร็วและหลงเหลือเพียงใบไม้แดงแห้งกรอบ ที่เหลืออยู่คงเป็นต้นกิงโกะ หรือสนแปะก๊วยที่ตระหง่านอยู่ริมฝั่งน้ำยังคงขับเน้นใบสีเหลืองออกมาให้เด่นสดใส
แม้จะผิดหวังเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากมาย เพราะวันนี้ผมทำงานทั้งวันเลยอยากออกไปสัมผัสธรรมชาติ บนรถไฟมีคนมากพอสมควร แต่ไม่หนาตามาก บ้างทะยอยลงตามสถานีปลายทางของพวกเขา การสัญจรด้วยรถไฟในญี่ปุ่นถือว่าสะดวกและประหยัดที่สุดแล้ว เพราะเมื่อคิดถึงความคุ้มทุนของการจัดการขนส่งมวลชนระดับนี้ในแง่ความตรงเวลาและความสามารถในการรับส่งคนถือว่ายอดเยี่ยมมาก
การมามิตาเกะเพียงลำพังนี้ทำให้ผมได้คิดถึงอะไรมากมาย แต่ก็ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงจนล้มป่วย แต่ถึงจะรู้ตัวอยู่ว่าอาจจะป่วย อย่างไรเสียผมก็จะมาอยู่ดี เมื่อคิดอย่างนี้ก็ไม่กังวลอะไร เป็นส่วนหนึ่งของการตามใจตัวเอง ไม่เมตตากับสังขารเอามากๆ
ผมมีเวลาเดินทอดน่องตามลำพัง ออกจากสถานีมาผมเดินข้ามละพานสูง มองไปยังข้างล่าง และแอบผิดหวังเล็กน้อยที่มาไม่ทันสีแดงสดของใบไม้ก่อนจะเข้าหนาว ถึงอย่างไรก็ยังสวย ผมเลือกจะลัดเลาะเส้นทางที่ยังไม่ได้ไป โดยเดินตัดลงจากอีกฝั่งของลำธาร ผ่านพิพิธภัณฑ์ศิลปะ แต่ไม่มีแก่ใจจะชมงาน เพราะผมต้องการอากาศบริสุทธิ์มากกว่า และเวลาก็ไม่มาก เดินลงจากไหล่ทางผ่านดอกไม้และต้นกิงโกะ จากนั้นมาข้ามสะพานแขวนแล้วเดินลงไปที่หาด
ผมสัมผัสสายน้ำเบาๆ แล้วเดินขึ้นมาข้างบน กินขนมรองท้องแล้วเตรียมตัวกลับ ความสุขง่ายๆ คือการได้เดินและสัมผัสธรรมชาติ
เมื่อมารอรถไฟบนชานชาลา ผมมองไปยังเพื่อนร่วมทาง ทุกคนต่างมากับเพื่อนหรือครอบครัว มีจำนวนมากที่เป็นคู่รัก พวกเขาหลายคนไปบนเขามิตาเกะมาก่อนจะกลับมาที่สถานีรถไฟแน่ๆ เพราะผมเห็นว่าแบกเป้ซึ่งน่าจะเป็นเสื้อผ้าค้างคืน อดรู้สึกเสียดายไม่ได้ว่าไม่ได้ค้างคืน ปลอบใจตัวเองว่ารอไว้ครั้งหน้าก็แล้วกัน ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่
ผมตัดสินใจแวะสถานีกลางทางเพื่อกินข้าว ก่อนจะกลับมาที่หอพักในยามอาทิตย์ลับฟ้า และเริ่มทำงานก่อนจะเข้านอนในยามดึกสงัดของคืน
…..
ในช่วงที่เงียบสงัดของกลางคืน ผมใช้เวลาว่างด้วยการแปลหนังสือเล่มเล็กๆ จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เป็นหนังสือเกี่ยวกับการลุกฮือของประชาชนในเกาหลีใต้ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการที่สมคบคิดกันยึดอำนาจจากประธานาธิบดี พัค ชุง ฮี (หรือ ปาร์ค จุง ฮี) เริ่มจากการสังหารพัคแล้วเริ่มกระชับอำนาจเข้าสู่กลุ่มของนายชอน ดู ฮวาน (หรือชุน ดู ฮวาน) ซึ่งปราบปรามขบวนการประชาชนอย่างเข้มข้นและรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มหาย การจับกุมตามอำเภอใจและการสอบสวนด้วยวิธีการทารุณกรรม จนถึงการล้อมเมืองเพื่อสังหารประชาชนชาวกวางจู ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทำให้คนกวางจูถูกมองจากเมืองข้างเคียงอย่างดูแคลน ผมทำหน้าที่ถ่ายทอดชะตากรรมของชาวกวางจูที่ถูกทหารล้อมปราบ พร้อมกับการโฆษณาชวนเชื่อจึงจบลงด้วยการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากและถูกประณามว่าเป็นพวกแดงคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกจึงทำให้เกิดการเรียกร้องให้รื้อฟื้นศักดิ์ศรีและเกียรติยศของชาวกวางจูอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้เสียสละและเริ่มต้นต่อสู้กับเผด็จการทหารจนนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยในเกาหลีใต้
การแปลเป็นภาษาไทยไม่ยากเท่ากับการตรวจสอบบริบทที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และตระหนักถึงขีดจำกัดทางภาษา จากการแปลเกาหลีเป็นภาษาอังกฤษและจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยจึงทำให้เกิดความยุ่งยากไม่น้อย
แต่การแปลหนังสือเล่มดังกล่าวก็ทำให้คืนที่เงียบเหงาของผมมีความหมายอยู่บ้าง
ถึงจะเงียบเหงาเดียวดาย แต่ผมเห็นใบหน้าของคนจำนวนมากที่รอความยุติธรรมอย่างมีความหวัง
….
เพราะชีวิตนักวิชาการต้องเดินต่อไป นอกจากที่ผมได้ทำงานตามสัญญากับมหาวิทยาลัยโตเกียวศึกษาต่างประเทศ ผมได้รับเชิญไปบรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยวาเซดะปลายเดือนพฤศจิกายน และเข้าร่วมสัมมนาที่เกียวโต จากนั้นก็เข้าร่วมกับการประชุมวิชาการที่มหาวิทยาลัยเกียวโตในเดือนธันวาคม โชคดีว่ามีร่างบทความเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือจึงเป็นเพียงการแก้ไขเพิ่มเติมบางประเด็น แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังต้องแก้ไขเพื่อนำเสนอตีพิมพ์ต่อไป
ในการเดินทางในญี่ปุ่น ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวที่มาระยะสั้นสามารถซื้อบัตร Japan Rail Pass ได้ แต่กรณีของผมเป็นผู้พำนักอาศัยต่างด้าวประเภททำงานที่จ้างโดยมหาวิทยาลัยของรัฐจึงไม่สามารถใช้ตั๋วประเภทนี้ได้ ต่างไปจากนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่ยังสามารถซื้อตั๋วลดราคาล่วงหน้าได้ที่ร้านของตั๋วคอนเสิร์ท และตั๋วประเภทต่างๆ รวมถึงตั๋วรถไฟล่วงหน้า ซึ่งผมพบว่าราคาถูกกว่าราคาปกติในระดับที่สามารถกินข้าวได้หลายมื้อ การเดินทางไปเกียวโตจึงถูกวางแผนเอาไว้อย่างดี เสียอย่างเดียวคือไม่สามารถหาห้องพักราคาประหยัดได้ เพราะช่วงที่ผมไปเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว (ปกติเกียวโตมีคนไปเที่ยวตลอดปีอยู่แล้ว) แต่เมื่อมีการประชุมวิชาการใหญ่จึงทำให้ห้องพักเต็ม ผมต้องจ่ายราคาแพงขึ้นพอสมควร แต่ก็ได้รับเงินสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยอย่างดี โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยโตเกียวศึกษาต่างประเทศและมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่จัดแจงค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ผมจึงไม่ต้องกังวลมากนัก
ผมเคยมาเกียวโตครั้งหนึ่งแล้วจึงไม่ค่อยกังวลอะไรมาก จะหงุดหงิดแต่ก็โปรแกรมแผนที่ที่ไม่ระบุทิศทาง ทำให้ผมหลงทางเสียเวลาไปพักใหญ่กว่าจะเข้าที่พักได้ แต่เมื่อเข้าที่พักแล้วก็เริ่มติดต่อพี่น้องเพื่อนฝูงเพื่อไปหาอาหารเย็นทาน ผมเดินไปสมทบกับทีมนักวิชาการไทยกลุ่มหนึ่งที่สวนบริเวณพระราชวังเกียวโต จากนั้นไปหาราเม็นร้านเก่าแก่หลายร้อยปี เป็นราเม็นปลาย่างที่อร่อยมาก จากนั้นผมแยกตัวไปดื่มกินในร้านเหล้าบ้านๆ แถวโรงแรม เป็นร้านขายเต้าหู้สดแกล้มเบียร์ พวกเราสั่งปลาดิบเพิ่มอีกหนึ่งเซ็ต จบลงด้วยสาเกก่อนเดินกลับโรงแรม
รุ่งขึ้นจึงเป็นการสัมมนาทางวิชาการ Southeast Asia Studies in Asia (SEASIA) ซึ่งได้พบเพื่อนเก่ามากมาย และได้รู้จักนักวิชาการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ยกพวกมากันเป็นทีม สื่อสะท้อนว่ามหาวิทยาลัยภูมิภาคให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาจารย์ไม่น้อย
จริงๆ เรื่องนี้ชวนให้ผมคิดถึงข้อบังคับที่ล้าสมัย เช่น บางแห่งกำหนดว่า ห้ามอาจารย์ไปประชุมวิชาการในงานเดียวกันเกินสองคน เพราะเกรงว่าจะไปเที่ยวสรวลเสเฮฮา แต่ในความเป็นจริง ต้องคิดด้วยว่าโครงการดูงานต่างๆ นั้นสิ้นเปลืองงบประมาณมากมายก่ายกองและไม่สามารถนับ “แต้ม” หรือคะแนนในการประกันคุณภาพการศึกษาได้เลย แถมท่านเหล่านั้นก็ไม่ต้องเขียนรายงานใดๆ ให้มีการตรวจสอบเลย การไป “ดูงาน”คือ “การท่องเที่ยวต่างประเทศ” ล้วนๆ (absolute sight seeing) ต่างไปจากการมาประชุมวิชาการซึ่งอย่างน้อย ก็ได้เครือข่ายทางวิชาการและนำเสนอผลงาน หรือแสวงหาลู่ทางการทำงานร่วมกัน นัดแนะกันทำงานวิจัยในกรอบเดียวกันเพื่อจะได้นำเสนอในการประชุมวิชาการครั้งต่อไป หรือฟังความก้าวหน้าในสาขาวิชาที่ตัวเองสังกัด ล้วนแล้วแต่ได้ประโยชน์มากมากกว่าการไปดูงานดาษๆ เกลื่อนบ้านเมือง
ไม่นับการคำนวณเวลาว่าต้องออกนอกบ้านเกิน 8 ชั่วโมงถึงจะมีสิทธิเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง หรือค่าที่พักตาม “ซี” หรือ “ระดับ” ซึ่งล้าหลังชวนให้ท้อถอยเหนื่อยหน่ายกับระบบราชการแบบไทยๆ เอามากๆ
บางแห่งก็ผลักภาระค่าลงทะเบียนให้กับอาจารย์ ซึ่งลำพังเงินเดือนเพียงน้อยนิด ยังต้องกระเบียดกระเสียรซื้อตำราเอง จ่ายค่าสมาชิกสมาคมวิชาชีพนานาชาติในอัตราด้อยพัฒนาให้สะเทือนใจในสถานะนักวิชาการจากโลกที่สามตลอดเวลา
คงไม่มีวันที่นักวิชาการไทยจะเดินไปอย่างสง่างามว่า “เราคือหน้าตาและมันสมองของประเทศชาติ” ที่ทัดเทียมประเทศอื่นที่เคารพในความรู้และให้เกียรติอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย
ถึงตอนนี้คงต้องก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเองต่อไป หรือหาอาชีพใหม่รองรับแทนการรับจ้างสอนไปวันๆ
….
ความสุขเล็กๆ ในการประชุมวิชาการคือการได้พบปะครูอาจารย์ที่เคยสอนกันมา และตามความก้าวหน้าของเพื่อนฝูงที่เคยเรียนด้วยกัน ผมได้พบกับอาจารย์บาร์บารา และอาจารย์เลียวนาร์ด อันดายา สองสามีภรรยาที่ส่งลูกศิษย์ลูกหาถึงฝั่งกันหลายคน พบกับนักวิชาการในแวดวงเดียวกัน ดูหนังสือ สิ่งพิมพ์ในวงการ ดูเกณฑ์การให้ตำแหน่งทางวิชาการ การประเมินองค์ความรู้ ในสาขาวิชา เป็นต้น
หลังจากเบรคทานกาแฟ จึงได้พูดคุยลึกๆ ถึงชีวิตการงานอื่นๆ
ผมเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสองวัน ก่อนจะออกไปเดินเล่นในหุบเขาใกล้ๆ กับเพื่อนนักวิชาการที่คร่ำเคร่งมาถึงสองวันแล้ว
พวกเราเดินออกจากศูนย์สัมมนานานาชาติที่อยู่ทิศเหนือของเมืองออกมาตามถนนเพื่อไปขึ้นรถไฟไปนอกเมือง ระหว่างที่รอรถไฟเราก็ถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก
รถไฟแล่นช้าๆ ออกจากสถานีเหมือนในการ์ตูนของฮายาโอะ มิยาซากิ เพราะคนขับรถไฟเก็บตั๋วและทอนเงินด้วยตัวเอง รถไฟแล่นไปช้าๆ และมีหน้าต่างเป็นกระจกใส มองไปยังป่าเขารอบๆ เห็นใบไม้เปลี่ยนสีสันเข้าสู่ฤดูหนาวในไม่ช้า
ในยามที่ผมมองเพลิดเพลินตาไปกับทิวทัศน์สองข้างทางก็ได้รับข่าวจากเพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งว่า อาจารย์เบเนดิคต์ แอนเดอร์สัน หรือ เบน แอนเดอร์สัน เสียชีวิตอย่างสงบที่อินโดนีเชีย...
พวกเราบางคนพอจะรู้ข่าวแล้ว ถึงจะทำใจได้ แต่เราก็อดเสียดายไม่ได้ เพราะหากนักวิชาการคือคนที่เอาจริงเอาจังกับการศึกษาค้นคว้า และมีจิตใจกว้างขวาง มีจุดยืนทางสังคมไม่โอนเอียงกับอามิสสินจ้าง หรือค้อมหัวให้เผด็จการ พร้อมจะเรียนรู้อยู่เสมอและไม่หยุดนิ่งเป็นไม้ตายซากแล้ว อาจารย์เบนนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยม
ถึงผมไม่ใช่ศิษย์โดยตรง แต่ก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาไม่น้อย จึงอดรำพึงถึงอาจารย์ท่านนี้ไม่ได้
ผมมองไปที่ภูเขา มองใบไม้ที่เปลี่ยนสีสันและร่วงโรย ในฤดูหนาวแม้จะไม่มีใบไม้เหลือติดต้น แต่เมื่อฤดูกาลใหม่มาถึง ผมเชื่อว่ามันจะผลิบานอีกครั้งอย่างแน่นอน