เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมาได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องศิลปะกับศาสนาที่จัดโดยคณะกรรมาธิการศาสนาศิลปะวัฒนธรรม ของสภาผู้แทนราษฎร ที่กระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากมีงานตอนเช้า ผมเลยไม่ได้รับฟังผู้ร่วมงานท่านอื่น (ผมเสียดายมากๆ ที่ไม่ได้ฟังโดยเฉพาะช่วงของคุณภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ที่ผมติดตามมาตลอด) แต่ก็ได้นำเสนอประเด็นที่เตรียมไปตามที่ผู้จัดงานร้องขอ
ผมเริ่มการบรรยายด้วยการพูดถึงเวลาและความเข้าใจเรื่องเวลา
เราเริ่มจากการนิยามตัวเองว่าสมัยใหม่ (modernity) ทันสมัย (modern) และในที่สุดก็ใช้คำว่าร่วมสมัย (contemporary) ทั้งสามคำ ยังเกี่ยวกันกับคำอื่นๆ อีก เช่น คำว่าล้าสมัย ล้ำสมัย ล้าหลัง
แต่ปรากฏการณ์ที่เราคิดว่าเราร่วมสมัย และอยากร่วมสมัยกับเขาก็คือการตั้งสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเมื่อราวสองทศวรรษก่อน
ก่อนหน้านั้น วัฒนธรรมถูกมองว่าเป็นเรื่องดีงาม งดงาม ส่วนอื่นนอกเหนือจากนี้ล้วนแล้วแต่เป็น "อวัฒนธรรม" หรือไม่ดีงาม
ขณะเดียวกันก็มีความต้องการธำรง อนุรักษ์ของเก่าที่สืบทอดกันมา และกลัวเกรงว่าจะสูญสลายมลายสิ้น จนถึงกับต้องมี "สำนักเฝ้าระวังทางวัฒธรรม" แต่เราก็เห็นผลพวงของการกำกับความดีงามซึ่งผมไม่ได้กล่าวในที่สัมมนาเนื่องจากมีเวลาน้อย ก็คือการกำกับทางวัฒนธรรมยังรวมมาถึงเรื่ืองราวทางศีลธรรมและสุขภาพในนามของรัฐและความปรารถนาดี
ทุกครั้งที่ผมดูรายการโทรทัศน์ที่มีการแบน เซ็นเซอร์ และเบลอภาพ เหล้า บุหรี่ ปืน อาวุธอื่นๆ จึงเป็นเรื่องขบขันและเศร้าใจมากๆ
เพราะเป็นการฝืนมโนธรรมสำนึกของการเรียนรู้ และรวมไปถึงการ "ห้ามการดื่มเหล้าเบียร์ในสถานศึกษาทุกประเภท รวมถึงมหาวิทยาลัย" ที่หลายคนดีอกดีใจว่ากีดกันสิ่งชั่วร้ายอบายมุขออกไปจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
การกระทำเช่นนี้ ทำให้สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษากลายเป็นเพียงโรงเลี้ยงเด็กทางศาสนาเท่านั้น แต่ก็เหมือนว่าท่านทั้้งหลายมิได้นำพา เพราะเชื่อว่าพลังทางศีลธรรมนั้นย่อมแข็งแกร่งกว่าอวิชชาในรูปอบายมุข
ผมจึงไม่แปลกใจนักที่รายการพุทธพาณิชย์ทั้งหลายสามารถงอกงามได้ในสังคมไทย และอวิชชาเครื่องรางวัตถุมงคลต่างๆ ขายดิบขายดีเป็นเศรษฐกิจที่เดินได้ด้วยความงมงายล้วนๆ
กระทั่งรายการทีวีคนส่องผีอย่างที่มีข่าวกัน ผมเชื่อว่ารายการนี้สร้างหายนะให้กับความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทยมากกว่ารายการหรือกิจกรรมใดๆ แต่การลงโทษก็ทำได้แค่จอดำ และถูกแบนจากช่องทีวี
ภาระที่เหลือจึงตกแก่นักวิชาการประวัติศาสตร์ ต้องมานั่งแก้ความเข้าใจให้ถูกต้องเสียใหม่ ให้พ้นจากความงมงายไร้สาระของพิธีกรหลัก
กลับมาที่เรื่องศิลปะร่วมสมัยต่อ
ผมได้อ้างงานของวอลเตอร์ เบนยามิน Walter Benjamin. ‘the work of art in the age of mechanical reproduction’, Illuminations ว่า
ศิลปะมีหน้าที่/รับใช้ในทางพิธีกรรม (ritual function) ซึ่งมี aura ที่ไม่เคยแยกจากหน้าที่ในทางพิธีกรรมของมัน คือต้องเป็นของแท้ ดั้งเดิม
ศิลปะกลายมาเป็น “ศิลปะ” ที่มีฐานะเป็นสิ่งหนึ่งโดยตัวมันเอง หรือเป็นศิลปะบริสุทธิ์ (pure art) art for art’s sake (l’art pour l’art) ราวหนึ่งศตวรรษหลังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
หลังจากนั้น ศิลปะไม่ได้มี “หน้าที่ในทางพิธีกรรมหรือทางสังคมอีกต่อไป”
ศิลปะถูกผลิตซ้ำด้วยเทคนิคเชิงกลไก ที่ทำให้การผลิตศิลปะแยกออกจากความดั้งเดิมแท้จริง (authenticity) เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน ทำให้รูปแบบของการผลิตศิลปะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ขณะเดียวกัน ศิลปะเมื่อข้ามพ้นจากพรมแดนทางศาสนาและพิธีกรรม ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสมัยใหม่ ศิลปะกลายมาเป็นเครื่องมือหล่อหลอมอุดมการณ์ ทำหน้าที่การกล่อมเกลาทางสังคม
แต่เราก็เห็นได้ว่าระบอบเผด็จการ ทั้งอำนาจนิยม (authoritarian) และฟาสซิสม์ (fascist) ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda)
ในทางตรงกันข้าม ศิลปะทำหน้าที่วิจารณ์ส่องสะท้อนสังคมให้ได้ทบทวนตัวเอง และศิลปะยังช่วยจรรโลงใจอีกด้วย
แต่เมื่อพรมแดนของศิลปะร่วมสมัยของไทยผูกติดอยู่กับพรมแดนทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและชีวิตทางสังคมอื่นๆ จึงหลีกไม่พ้นที่เราจะต้องปะทะสังสรรค์กับการใช้สัญญะทางศาสนาและวัฒนธรรมไทย
ซึ่งในด้านหนึ่งก็จะสงวนเอาไว้สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องถูกพูดถึงในทางที่ดีเท่านั้น ห้ามแตะต้อง ห้ามตั้งคำถามที่จะสะเทือนความศรัทธาและความเชื่อ
เรากำลังเผชิญความท้าทายของภาวะสมัยใหม่กับศรัทธา การใช้ศาสนาเชิงพาณิชย์ที่เห็นกันดาษดื่น กับการใช้แรงบันดาลใจจากศาสนาเพื่อสร้างงานศิลปวัฒนธรรมที่หนีไม่พ้นจากรากของตัวเอง แต่ก็มีผู้แสดงความเป็นเข้าเข้าเจ้าของอยู่ตลอดเวลา
ยังรวมถึงปัญหาการตอกย้ำชายเป็นใหญ่ ที่ทำให้การสร้างสรรค์งานศิลปวัฒธรรมร่วมสมัยเป็นไปอย่างยากเย็น
ขณะที่สังคมอื่นสามารถตีความและใช้เรื่องราวที่เป็นรากฐานในเชิงพาณิชย์ได้อย่างน่าสนใจ เช่น การสร้างไซอิ๋วกี่ หรือการเดินทางของพระถังซำจั๋งที่สร้างเป็นทั้งละคร ภาพยนตร์ รายการทีวีซีรี่ส์ หรือล่าสุดที่เกาหลีเอาไปตีความร่วมสมัยได้น่าสนใจมากๆ
เพราะฉะนั้น ทางแยกระหว่างศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ผูกพันกับศาสนาอย่างแยกจากกันมิได้ กับศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทยที่เกิดในยุคนี้และงอกงามร่วมกับวัฒนธรรมอื่นๆ ในสังคมอื่นๆ เป็นสิ่งที่เผชิญกับความท้าทายของสังคมไทยเองว่า เราจะยอมรับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกและสังคมร่วมสมัย หรือคิดว่าวัฒนธรรมประเพณีของเราเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวและไม่ต้องปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับโลก
นอกจากนี้ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจขชองไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมาตลอดก็เผชิญกับการถูกขัดจังหวะพลิกผัน (disruption) จากโรค Covid-19 ที่เป็นการแพร่ขยายในระดับโลก (global scale pandemic) ทำให้กลจักรสำคัญนี้ต้องหยุดชะงักลงและไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวในเร็ววัน
การเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์รอบนี้จัดว่าเป็นภัยพิบัติในระดับที่หนักหนาสาหัสที่เรียกว่า มหาวิกฤตเศรษฐกิจ และในระดับของผลสะเทือนไม่น่าจะน้อยไปกว่ามหาวิกฤตเศรษฐกิจ the Great Depression ในทศวรรษ 1930 ที่เปลี่ยนพลิกประเทศไทยมาแล้ว
เมื่อเทียบกับปี 2540 เรายังมีโครงสร้างสถาบันทางการเมืองที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่สร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปโดยมีคนรับผิดรับชอบ มีการการตรวจสอบ ถ่วงดุลและโปร่งใส แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้สร้างให้เกิดความเชื่อมั่นในระดับนั้นเลย
กลไกที่รัฐบาลคาดว่าจะสร้างธุรกิจ start up ก็ต้องอาศัยการพัฒนาระบบวิจัยให้ทุนวิจัยเพื่อสร้าง unicorn ซึ่งต้องล้มเหลวอีกกี่ครั้งจึงจะได้ unicorn หนึ่งตัว
กลไกของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) จึงเสมือนความหวังสุดท้ายที่จะขยับกลไกเศรษฐกิจของไทยให้เดินหน้าไปได้
แต่ถ้าหากเครื่องจักรนี้ติดหล่มโคลนอย่างที่ผมว่ามา เราจะสร้างชาติด้วยศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้อย่างไร?
ผมทิ้งท้ายการสัมมนาด้วยคำถามเหล่านี้
และชวนคิดว่าเราจะก้าวข้ามพ้นจากหล่มโคลนของภาวะร่วมสมัยได้อย่างไร?