Skip to main content

 

ผมไม่คิดว่าจะได้ดูละคร "คือผู้อภิวัฒน์" เพราะผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ปี 2531 ขณะที่ "คือผู้อภิวัฒน์" แสดงเป็นครั้งแรกในปี 2530 แต่ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2531

แต่ผมยังจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าเดินผ่านท่าพระจันทร์พอดี  ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2529 ซึ่งทันเห็นขบวนแห่อัฐิของท่านปรีดี พนมยงค์มาถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นปีที่มีกิจกรรมหลายอย่างที่น่าสนใจ ที่จำได้คือได้ดูภาพยนต์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกที่หอประชุมใหญ่ด้วย

ถึงไม่เคยพบท่านปรีดี แต่ก็อยู่ในธรรมศาสตร์ตั้งแต่เรียนตรีจนจบโท รวมเป็นเวลาสิบปี สมัยเรียนปี 1 ก็ได้ไปสัมมนาที่อยุธยา ได้พักนอนค้างที่อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ตรงข้ามวัดพนมยงค์นั่นเอง ผมจึงนับตัวเองว่าเป็นคนในแวดวงธรรมศาสตร์อยู่

เมื่ออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ในฐานะผู้ผลิต (producer) เชื้อเชิญให้ไปดูละครแลกด้วยการพูดคุยหลังละครจบจึงยินดียิ่ง เพราะผมได้พ่วงลูกศิษย์ไปด้วยถึงหกคน ต้องขอบคุณอาจารย์ที่อนุญาตให้มีคณะผู้ติดตามไปด้วย

และยังได้พบกับอาจารย์สินีนาฏ เกษประไพ ผู้กำกับการแสดง ถึงรถจะติดแบบต้องลุ้น เพราะเป็นคืนวันศุกร์ แต่คณะของเราก็ไปถึงโรงละคอนแบบฉิวเฉียด

เวลาในการชมผ่านไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผมทำบันทึกย่อไปด้วย ก็เสียดายที่ประเด็นต่างๆ อาจจะหายไป เลยนำมาบันทึกและเผยแพร่ในวงกว้างอีกครั้ง

 

I. คือชีวิตของชายคนหนึ่ง

ละคอนคือผู้อภิวัฒน์เป็นละคอนเวทีที่ใช้ฉากแบบจำกัด รวมถึงเสื้อผ้าของตัวละครที่เรียบง่ายและสามารถปรับให้เข้ากับบทบาทของแต่ละคนได้ง่าย มีเพียงผู้แสดงเป็นนายปรีดีเท่านั้นที่ไม่เปลี่ยนบทบาท ขณะที่ตัวละครอื่น ผลัดเปลี่ยนกันสำแดงเป็นตัวละคร ผู้เล่าและดำเนินเรื่อง กระทั่งเป็นรถถัง 

จึงเป็นการจัดการที่กระชับ ฉับไว ไม่เยิ่นเย้อจนลุกนั่งไม่สนุก

ตัวเอก ก็คือชีวิตของนายปรีดี แต่ด้วยที่นายปรีดีเป็นนักการเมืองคนสำคัญ เป็นรัฐบุรุษอาวุโส จึงผูกพันกับชะตากรรมของสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง

 

นายปรีดี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2443 ไปเรียนชั้นปริญญาเอกที่ฝรั่งเศสเมื่อายุ 20 ปี กลับมาอายุ 26 ก่อการอภิวัฒน์เมื่อ พ.ศ. 2475 หรือเมื่ออายุ 32 ปี

นายปรีดีเป็นนักการเมือง 15 ปี หากนับจาก 2475-2490 แต่ถ้านับรวมเอากบฏวังหลวง 2492 ก็นับรวมเป็นเวลา 17 ปี 

แต่นายปรีดีอยู่ในจีนถึง 21 และพำนักในฝรั่งเศส ตั้งแต่ 2513-2529 รวมเวลา 16 ปี เรียกได้ว่านายปรีดีมีช่วงชีวิตในฐานะนักการเมืองสั้นมาก

 

ที่น่าสนใจคือนายปรีดีคิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อไหร่ ในแง่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์คงสืบค้นได้ไม่ยากนัก แต่เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูประบบราชการ ใน พ.ศ. 2435 นั้นนายปรีดียังไม่เกิด แต่นายปรีดีต้องทันการ "เก๊กเหม็ง" ในประเทศไทย คือ กบฏ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455) ซึ่งนายปรีดีอายุ 12 ปี และเมื่อเข้ามาอยู่กรุงเทพก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบราชการที่เขาสังกัดอยู่จนกระทั่งไปเรียนฝรั่งเศส และแน่ชัดว่าการสร้างเครือข่ายนักเรียนและข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องกิจการบ้านเมืองตอนเรียนที่ฝรั่งเศสก็น่าจะมีผลอย่างสำคัญ จนตัดสินใจแน่วแน่ที่จะก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งใช้เวลา 6 ปีเขาและคณะราษฎร ก็สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จเมื่ออายุเพียง 32 ปี! นับว่าเป็นวัยที่มีกำลังแรงเหลือเฟือ 

 

II. เพดานของความรู้

คำรณ คุณะดิลกและพระจันทร์เสี้ยวการละคอน ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละคอนนี้และจัดแสดงในปี พ.ศ. 2530 ยังคงมีเพดานความคิดและการค้นพบทางวิชาการเกี่ยวกับ 2475 ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเวลานี้

งานสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ งานเรื่องการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ยังไม่คลอดมา แต่การรับรู้ของผู้เขียนที่พยายามชี้ว่าสามัญชนและชนชั้นนำสยามคิดอย่างไร ผ่านการเล่าของแม่พลอย ตัวละครสำคัญใน สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช   

ดังนั้นจึงแนวคิดบางอย่างที่ต้องการคำอธิบายขยายความ เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีสถานะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากราชาธิปไตยมาเป็นราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ หรือตามรัฐธรรมนูญ เรียกย่อๆ ว่าระบอบรัฐธรรมนูญ

โดยคนยุคนั้นจะคุยทับศัพท์กันตั้งแต่ constitution, republic, monarchy, absolute (monarchy), parliament, democracy ซึ่งในหลายกรณีจะเห็นได้ว่ามีการใช้ศัพท์ รีปับลิก คอนสติตูชั่น ดีโมกราซี ราวกับเป็นคำและความหมายเดียวกัน การใช้ความว่าระบอบรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นคำกลางๆ เพราะไม่อย่างนั้น คนจะเข้าใจว่าเป็นรีปับลิก หรือมหาชนรัฐ หรือสาธารณรัฐ

แต่กระนั้น ก็มีคนเอาไปบิดกระบวนให้คำว่ารัฐธรรมนูญ หมายถึงลูกพระยาพหลฯ

 

ในประกาศของคณะราษฎรเมื่อครั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงใช้คำว่า ขอเชิญให้กษัตริย์ "อยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" 

 

III. ข้อถกเถียงทางการเมือง

ประการแรก นโยบายสำคัญของคณะราษฎรตามหลัก หกประการ เช่น แนวคิดเรื่องเอกราช จะเห็นได้ว่าหลายคนอ้างความสำเร็จในการทวงคืนเอกราช ต้องกล่าวด้วยว่า หลักคิดที่คณะราษฎรให้ความสำคัญมากคือการทวงคืนเอกราชในทางารศาลที่ถูกพรากไปด้วยสนธิสัญญาบาวริ่งใน ปี พ.ศ. 2398 ว่าจะแก้ไขได้สำเร็จ ก็หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยความพยายามของนายปรีดี และบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งคือนายดิเรก ชัยนาม

ประการที่สอง แนวคิดเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งสมัยนั้นเกิดความแตกตื่นจนถึงกับทำให้นายปรีดีต้องถูกส่ง "ไปดูงาน" ​ต่างประเทศ ในยุคนี้ไม่มีใครตื่นตกใจ เพราะเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ร่างขึ้นและประกาศใช้ในสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยิ่งไปกว่านั้น ยุคนี้มี ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งหนักหนาสาหัสกว่าเค้าโครงเศรษฐกิจฯ ของนายปรีดีด้วยซ้ำ แต่ก็ยังนิ่งเฉย 

ประการที่สาม คณะราษฎรล้มจ้าวจริงหรือ? ความข้อนี้ในทางประวัติศาสตร์อาจจะยุติแต่คำประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 นั้นเองที่ระบุไว้ว่าคณะราษฎรไม่ประสงค์จะชิงราชสมบัติ ดังนั้นจึงขอเชิญให้เป็นกษัตริย์ต่อ คณะราษฎรมีโอกาสจะล้มเจ้าอีกอย่างน้อยสองครั้ง คือ กรณีการสละราชสมบัติของในหลวงรัชกาลที่ 7 แต่ก็หันมากราบบังคมทูลสายสกุลมหิดลขึ้นสืบราชสมบัติ และครั้งที่สามก็คือ กรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 แต่ก็ได้กราบบังคมทูลให้พระเจ้าน้องยาเธอขึ้นเสวยราชสมบัติ

สัจจะที่นายปรีดีให้ไว้ และว่ากันว่ามีบันทึกส่วนตัวของนายปรีดีจะเผยต่อสาธารณชนได้ในปี พ.ศ. 2567 (2024) ชื่อว่า "Dossier de Pridi Panomyong" อยู่ในหอจดหมายเหตุของฝรั่งเศสจึงน่าตื่นเต้นมาก

ประการที่สาม กรณีพรรคการเมือง คณะราษฎรได้เตรียมการตั้งพรรคการเมือง แต่ถูกโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะพระยามโนปกรณ์นิติธาดาซึ่งคัดค้านอย่างรุนแรง ถึงกับออกคำสั่งห้ามข้าราชการสมัครเข้าสมาคม และในฝั่งอนุรักษ์นิยมก็ได้เตรียมการตั้งพรรคการเมืองเป็นการตอบโต้ ผลของการคัดค้าน น่าจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดจุดยืนของข้าราชการประจำในปัจจุบัน และที่น่าสนใจก็คือ หากกิจการพรรคการเมืองของเราได้วิวัฒนาการตามธรรมชาติและครรลองของสถาบันการเมือง ปัจจุบันนี้ก็น่าจะเข้มแข็งไม่น้อย หากแต่พรรคการเมืองไทยถูกแทรกแซงด้วยอำนาจระบบราชการที่มีกองทัพเป็นแกนนำ อำนาจพิเศษ พิสดารอีกหลายส่วน ทำให้พรรคการเมืองไทยมิอาจสถาปนาความเป็นสถาบันการเมืองที่ยึดโยงเหนียวแน่นกับประชาชนได้ แต่กลายเป็นพรรคการเมืองของอภิสิทธิชน ดังที่เห็นอยู่ว่าหากจะมีพรรคการเมืองใดที่ประกาศตนว่ายึดโยงกับประชาชนก็มักจะถูกสลายไปในที่สุด

 

ประการที่สี่ โครงการของคณะราษฎร ถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งในหมู่คณะราษฎรตั้งแต่วันแรกจนถึงข้อถกเถียงที่ยังไม่เผยต่อสาธารณชนได้ เราจะเห็นได้ว่าสมาชิกคณะราษฎรที่ยังมีบทบาท ต่างยึดเอาความก้าวหน้าของ "ชาติ" เป็นสำคัญ บทบาทของจอมพล ป. หรือกัปตันในละคอนคือผู้อภิวัฒน์ อาจจะยัไม่เด่นชัดเท่ากับการเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แต่เพื่อความเป็นธรรม เราจะพบว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามมีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมกองทัพ การสร้างกองทหารหญิงเพื่อความเสมอภาค การ "ปติวัตน์ภาสาไทย" การสร้างมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อสร้างและส่งเสริมศิลป สถาปัตยกรรมใหม่ รวมถึงการอุทิศที่ดินเพื่อการศึกษาและโอนถ่ายความเป็นเจ้าของที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

และในความเป็นจริง “มรดก”ของจอมพล ป. ที่หลายคนรังเกียจแต่หวงแหนอย่างน่าสมเพช ไม่ว่าจะเป็นการยืนตรงเคารพธงชาติเช้าเย็น คำว่า “สวัสดี” การแต่งกายแบบตะวันตกและเครื่องแบบ เป็นต้น

ถ้าหากละคอน "คือผู้อภิวัฒน์" ได้ปรับเปลี่ยนบท ตามสถานะขององค์ความรู้ ก็อาจจะชวนให้คิดได้มากขึ้น

 

IV. ความลงท้าย

ในช่วงที่มี "สาย สีมา" จาก "ปีศาจ"​ของเสนีย์ เสาวพงษ์ และ แม่ช้อย "จากสี่แผ่นดิน" ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เป็นบทสนทนาที่ชวนใคร่ครวญอย่างยิ่ง

เพราะในยามที่ผมชมละคอนเรื่องนี้ ผมกลับไม่คิดว่า "คือผู้อภิวัฒน์" เป็นเรื่องของนายปรีดีในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองอันไกลโพ้นเลย แต่ผมกลับไพล่ไปนึกถึงการเมืองบนท้องถนนตอนนี้เสียมากกว่า

 

ป.ล. ขอขอบคุณภาพจากคุณ Aey Siriphorn ครับ

 

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
วันนี้ (31 พฤษภาคม) เป็นวันที่ 17 นับจากวันเลือกตั้งจบลง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีเวลาเหลืออีก กว่า 43 วัน ที่จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างน้อย ร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตและบัญชีรายชื่อ เพื่อให่้ระบอบการเมืองเดินไปอย่างต่อเนื่องและไม่ขาดต
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ช่วงที่พ่อแม่มาอยู่ด้วย ผมจะพาพ่อแม่ไปเที่ยวใกล้บ้าง ไกลบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง เพราะการพาคนแก่มาอยู่เมืองที่ไม่มีเพื่อนฝูงที่สนิทกันคงไม่ใช่เรื่องสนุกอาทิตย์ก่อนก็ขับออกไปพุทธมลฑลแล้วไปพระปฐมเจดีย์ วกออกไปทางบ้านแพ้ว ออกมาพระรามสอง ก็เจอรถติดยาว ในสั
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บทความนี้เขียนเร็วๆ จากบทสนทนาในไลน์กลุ่มที่ผู้เขียนเป็นสมาชิก เพื่อตอบคำถามสองส่วน ส่วนแรกคือเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นอยู่กับความได้สัดส่วนระหว่างขีดความสามารถของรัฐกับความคาดหวังจากสังคม ส่วนที่สองคือรัฐกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญขึ้นเรื่อยๆ 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อเช้ายังงัวเงียอยู่ (เพราะนอนดึก) มิตรสหายในไลน์กลุ่มก็ชวนคุยว่า จะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปทำไม่ ดูอย่างอเมริกาสิ ขนาดเปลี่ยนทรัมป์ออกไปเป็นโจ ไบเด็น ถึงวันนี้คนยังติดโควิดสูง แม้กระทั่งในทำเนียบขาว ผมเลยชวนดีเบตว่าเอาไหม ในที่สุด บทสนทนาก็มาถึงจุดที่ว่า เราไม่ควรเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 คนเราจะวัดความเป็นรัฐบุรุษที่แท้ได้ก็เมื่อวิกฤตการณ์มาถึง แล้วเขาสนองตอบต่อวิกฤตการณ์นั้นอย่างไร
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในวันที่ 2 มีนาคม 1757 (2300) เดเมียนส์ผู้ปลงพระชนม์ถูกตัดสินว่าให้ "กระทำการสารภาพผิด (amende honorable) หน้าประตูอาสนวิหารแห่งปารีส" เป็นที่ซึ่งเขาจะถูกเอาตัวไปและส่งไปกับล้อเลื่อน โดยสวมแต่เพียงเสื้อเชิ้ต ถือคบเพลิงที่มีขี้ผึ้งเป็นเชื้อหนังสองปอนด์ (ราว 1 กิโลกรัม) จากนั้นเขาจะถูกนำตัวไปบนล้อเ