Skip to main content

    

Arnold Schoenberg

(นักประพันธ์เพลงคนโปรดของ Adorno)

ดูเหมือนความตายของ Adorno ในปี 1969 จะทำให้ผู้ที่ใช้แนวคิดของ Adorno มาวิพากษ์ Popular Music หยุดเติบโตไปด้วย พวกเขามักจะมองดนตรีที่มีอิทธิพลตั้งแต่ยุค 70's เป็นต้นมาอย่างเหมารวมและติ้นเขิน พวกเขาถึงขั้นจัด The Beatles, Nirvana และ Linkin Park ไว้ในประเภทเดียวกัน

ผมไม่ปฏิเสธความเป็นป็อบและร็อคของทั้งสามวงที่ยกตัวอย่างมานี้ หากความเป็นร็อคคือความหนัก และการมีจังหวะที่ชัดเจน หากความป็อบคือความติดหู ฟังง่าย ผมก็เชื่อว่าทั้ง สี่เต่าทอง, กรันจ์เจอร์นิพพาน และ สวนสาธารณะของลินคอร์น ต่างก็มีความเป็นป็อบและความเป็นร็อคทั้งสิ้น (หลายเพลงของ Nirvana ฟังแล้วติดหูมาก ผมยอมรับตรงนี้เหมือนกัน) เพียงแต่การนำคุณสมบัติบางอย่างที่เหมือนกันมาตัดสินว่าดนตรีร็อค ไม่ว่าจะในยุค 60's, 90's หรือยุคปัจจุบัน ล้วนเป็น Popular music ที่ผลิตอะไรซ้ำๆ เหมือนๆ กันไปหมด มันก็ฟังดูทุเรศทุรังไม่น้อย

ดนตรีพวก Classical music เองก็หยิบยืมอะไรจากกันและกันมาเหมือนกันไม่ใช่หรือ แม้ผมไม่อาจจะชี้ชัดในรายละเอียดแบบลึกๆ ลงไปได้ แต่ขอบอกด้วยสามัญสำนึกของคนธรรมดาทั่วไปก็ได้ว่า สำหรับคนที่เคยฟัง Popular music มาตั้งแต่เกิด (ไม่ต้องไปหาที่ไหน คนที่เราเดินเฉียด เดินสวนกัน 98 ใน 100 ล้วนเป็นผู้ที่ฟัง Popular Music มาตั้งแต่เกิดทั้งสิ้น) จะแยกไม่ออกว่าเพลงคลาสสิคเพลงนึงเป็นของยุค Baroque (ค.ศ.1600-1750) หรือยุค Renaissance (ค.ศ.1450-1600) ก็เป็นเรื่องธรรมดามาก ฉันใดก็ฉันนั้น คนที่ไม่ได้ฟังดนตรี Rock อย่างจริงจังจะเห็นว่า Nirvana กับ Linkin Park มันก็เหมือนๆ กันก็ไม่แปลก

พวกที่เอาแนวคิดของ Adorno มาจับ Popular music ของยุค 70's เป็นต้นไปนั้น ก็มักจะมองด้วยกรอบที่ตีมาแล้วว่า "ขึ้นชื่อว่าเป็น Popular music มันต้องเหมือนกันแน่ๆ" โดยไม่เคยได้สนใจบริบททางวัฒนธรรมที่ประกอบสร้างดนตรีแนวย่อยๆ ทั้งหลายขึ้นมาเลย

พวกเขาจะรู้หรือเปล่าว่าเหตุใดวัยรุ่นชนชั้นล่างในอังกฤษถึงลุกขึ้นมาเล่นเพลงง่ายๆ แต่งตัวแสบๆ จนกลายเป็นแนวพังค์

พวกเขาจะรู้หรือเปล่าว่าทำไมถึงชอบมีคนโยงดนตรี grunge (ดนตรีร็อคแบบของ Nirvana, Pearl Jam ฯลฯ ) เข้ากับ Generation X

พวกเขาจะรู้หรือเปล่าว่าทำไมทั้ง Damon Albarn (ตอนนั้นเป็นนักร้องนำวง Blur) และ Noel Gallagher (แห่ง Oasis) ต่างพร้อมใจพากันออกมาด่าพวก grunge ถ้าไม่ทางตรงก็แอบสอดลงไปในเนื้อเพลง

แน่นอน...ไม่ว่าพวกเขาจะปฏิเสธเรื่องความเป็น Elite ในแนวคิดของ Adorno มากขนาดไหน แต่การละทิ้ง ไม่ยอมลงมาศึกษาสิ่งที่พวกเขาเอาแต่วิพากษ์วิจารณ์อยู่บนหอคอย มันก็โชยกลิ่น Elite มาให้เหม็นหืนอย่างช่วยไม่ได้

สิ่งที่ Adorno เชิดชูเป็นอย่างมากอีกอย่างหนึ่งในดนตรีคือ Atonality ซึ่งพูดง่ายๆ คือดนตรีที่ไม่มีฐานตัวโน๊ตและบันไดเสียงหลัก บ้างก็เรียก Twelve-tone คือ บันไดเสียง 12 เสียง และทั้ง 12 เสียงมีความสำคัญเท่าเทียมกัน เวลาบรรเลงจึงทำให้เกิดซาวน์ดนตรีที่มีลักษณะขัดหู หัวเรือใหญ่ของดนตรีแนวนี้คือนักประพันธ์ที่ชื่อ Arnold Schoenberg และอีกคนที่ผมพอจะเคยฟังบ้างคือ Bela Bartok ซึ่ง Adorno รวมถึงผู้ที่เชื่อใน Adorno บางคน ได้เชิดชูดนตรีที่มีลักษณะนี้ไว้ว่าเป็นดนตรีที่ช่วยปลดปล่อย (Liberate) ออกจากแบบแผนการวางตัวโน๊ตแบบเดิมๆ ซึ่งหมายความว่า มันคือดนตรีที่เต็มไปด้วยเสรีภาพ และจิตวิญญาณอิสระ ไม่ได้ทำการล้างสมองใครด้วยสรรพสำเนียงซ้ำซาก

ผมขอขยายความก่อนหน้าที่จะพูดถึงนิทานกล่อมเด็กอันแสนยิ่งใหญ่ของ Adorno เขาได้เขียนถึง Popular Music ไว้ว่า มันเต็มไปด้วยการเรียบเรียงแบบซ้ำๆ (Repetitive) และทำให้คนฟังติดอยู่กับการฟังตัวโน้ต- คอร์ด-จังหวะหรืออะไรก็ตามแบบซ้ำๆ ตรงนี้ไม่ต่างจากการบริโภคผลผลิตที่ซ้ำซากจากโรงงานอุตสาหกรรม และข้อความที่แฝงมาในเนื้อหาของเพลงประเภทนี้ก็เป็นการบีบให้ผู้ฟังได้แต่รับสารโดยไม่ต้องตีความ เนื่องจากทำนองเพลงอันมีลักษณะตายตัวช่วยทำให้ผู้ฟังเคลิ้มไปกับมันจนไม่ต้องได้ตีความใดๆ - นี่คือสิ่งที่ผมเรียบเรียงได้จากความพยายามใช้โวหารรำพึงรำพันของ Adorno เพื่อดิสเครดิตดนตรีป็อบ 

 

Bela Bartok

ผมได้บอกไว้ในคราวที่แล้วว่า Adorno ดันตายไปก่อนในปี 1969 การที่ผู้ศึกษา Adorno เอาแนวคิดเขามาพูดถึงดนตรีหลังยุค 70's จึงชวนให้ต้องชั่งใจเสียเล็กน้อย มีดนตรีอยู่แขนงหนึ่งที่ค่อยๆ เฟื่องฟูขึ้นมาในช่วงต้น 70's มันคือดนตรีที่เรียกว่า Progressive Rock ผมไม่เข้าใจว่า ทำไม Adorno ถึงคิดว่าผู้บริโภคดนตรีทั้งหลาย มันจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ความเบื่อหน่าย" เอาเสียเลย จากดนตรีพวก Folk-rock , Blues-rock , Psychedelic ในช่วงก่อนหน้า ทำให้มีศิลปินบางกลุ่มเริ่มอยากจะหลุดจากพื้นที่ตรงนั้น และก้าวเดินต่อไปเพื่อปลูกสร้างสิ่งใหม่โดยอาจจะทั้งหยิบยืมและต่อต้านสิ่งเดิม พลวัตทางศิลปะวัฒนธรรมมันมีตรงนี้อยู่ทั้งสิ้น

โดยเริ่มต้นแล้วดนตรี Progressive Rock มีส่วนหนึ่งของความทะเยอทยาน ในการที่จะทำให้ดนตรี Rock เทียบชั้นได้กับพวก (ที่เขาเรียกกันว่า) Art Music อย่างดนตรี Classic หรือดนตรี Jazz บางสายที่เต็มไปด้วยความแพรวพราว คุณสมบัติของดนตรีดังกล่าวจึงถูกผสมผสานลงไปในดนตรี Rock สมัยนั้นได้อย่างกลมกลืน จนทำให้เกิดวงอย่าง Yes, Genesis, King Crimson หรือบ้างก็พัฒนามาทางสาย Psychedelic อย่าง Pink Floyd ฯลฯ

ฟังดูแล้วเหมือนดนตรี Progressive จะเป็นเพลงของคนหัวสูง ต้องปีนกระไดฟัง (ข้อหาเดียวกับดนตรีคลาสสิก) แต่เท่าที่ผมพบเจอมา คนฟังแนวนี้ก็เป็นคนฟังเพลงธรรมดา ฟังป็อบ ฟังร็อค อะไรทั่วไป เพียงแต่อาจจะมีจำนวนน้อยหน่อย บางคนเคยฟัง Classic บางคนก็มาจากสาย Jazz บางคน (ส่วนใหญ่) ซึ่งรวมผมด้วยเป็นพวก Rock เพียวๆ มาก่อน บางคนเคยเป็น Metalhead ดุๆ แต่เบื่อหน่ายการพยายามจะแข่งกัน "โหด" อย่างเดียวเลยหันมาหาอะไรวิจิตรๆ เสียบ้าง

ผมอยากรู้ว่า Adorno จะอธิบายปรากฏการณ์ตรงนี้ว่าอย่างไร?

และคนฟัง Prog (ชื่อเรียกย่อของ Progressive Rock) ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปิดกั้นตัวเองเลย พวกเขายังคงฟัง Pop Rock ฟัง Jazz ฟังอะไรที่ตัวเองเคยฟังมาก่อนโดยไม่จำเป็นต้องสมาทานตัวเองแบบคนฟังดนตรี Classic บางคนที่ถึงขั้นไม่อยากแตะแนวอื่น หรือคนฟัง Extreme Metal บางคนที่คอยแต่จะด่าเหยียดดนตรีแขนงอื่น

นั่นอาจจะเป็นเพราะ Progressive Rock เป็นแนวดนตรีที่ไม่มีรูปแบบการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม พวกเขาคิดว่าดนตรีก็คือดนตรี ก็คือศิลปะ ขณะเดียวกันก็เป็นความบันเทิง คอนเสิร์ตสำหรับพวกเขามันก็คือโชว์อย่างหนึ่ง ซึ่งบางทีก็มีการประดิษฐ์ประดอยเวทีจนราวกับฉากโรงละคร ไม่ได้เป็นพิธีกรรมอะไรมากกว่านั้น

Adorno จะอธิบายว่าอย่างไร เมื่อได้รู้ว่าคนฟังดนตรี Pop ที่เขาเคยด่า ไม่ได้กลายเป็นทาสอุตสาหกรรมวัฒนธรรมอย่างที่เขาพูดถึง?

และยิ่งกว่านั้น Adorno จะอธิบายอย่างไร หากเขามีโอกาสได้มาฟังเพลงบางเพลงของ King Crimson แล้วพบว่ามันเป็น Atonal music ที่เขาชื่นชมนักชื่นชมนักหนา... ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนัก เพราะนักวิจารณ์เองยังบอกเลยว่าวงนี้ได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจาก Bela Bartok นั่นแหละ!!

King Crimson

(ไม่ใช่ Line-up ในปัจจุบันแน่นอนเพราะวงนี้เปลี่ยนสมาชิกบ่อยมาก)

ก่อนที่ผมจะโดนข้อหา Romantized ดนตรี Prog (ฮิๆ) ผมก็ขอออกมาบอกว่า ไอ่ดนตรีที่ไม่มีฐานตัวโน้ตแน่นอน ไม่ได้มีแต่ใน Progressive หรือ Avant-garde (ดนตรีแนวทดลอง) เท่านั้น แม้แต่ในพวก Noise rock, Brutal, Grindcore หรืออะไรอีกหลายๆ แนวที่ผมอาจจะตกสำรวจไป มี Atonality นี้อยู่เต็มไปหมด

หากทุกท่านจำได้จากตอนที่แล้ว Adorno ได้บอกไว้ว่าดนตรี Popular Music นั้น มันได้สร้างแต่มวลชนที่เฉื่อยชา ไม่สนใจสังคม ไม่คิดจะลุกขึ้นมาปลดปล่อยตัวเองหรืออะไรอื่น

ผมอยากรู้ว่า Adorno จะอธิบายอย่างไรเมื่อได้เห็นวัยรุ่นมีการศึกษาจำนวนหนึ่ง เริ่มลุกขึ้นมาท้าทายค่านิยมเก่า เดินขบวนต่อต้านสงคราม เอาดอกไม้ทัดหูเป็นบุปผาชน พวกนี้ "เลือก" ใช้ Folk-Rock, Pop-Rock เป็นพื้นที่ประท้วง เป็นสาส์นของความรักและสันติภาพ ขณะเดียวกันก็ "เลือก" Psychedelic เป็นพาหนะเพื่อการปลดปล่อยตัวเอง

เขาจะอธิบายอย่างไรเมื่อรู้ว่าพวกพังค์ดั้งเดิมชวนกันทำอะไรห่ามๆ ท้าทายอำนาจรัฐกันอย่างกระจัดกระจาย

เขาจะอธิบายอย่างไรเมื่อได้ยินว่าชาว Black Metal ผู้อยู่ในประเทศที่ถูกกดขี่ทางศาสนามาก่อนพากันออกไปเผาโบสท์

ทั้งหมดนี้ หากเป็นพวกที่มัวเชิดชูแต่ดนตรีคลาสสิค ไม่ได้เป็นผู้ที่มาศึกษารับรู้เรื่องดนตรีป็อบจริงๆ คงเอาแต่มองว่า "พวกนี้มันหัวรุนแรง" บ้างล่ะ "ถูกดนตรีครอบงำ" บ้างล่ะ โดยไม่สนใจศึกษาเลยว่ามันมีบริบทแวดล้อมทางสังคมอยู่ด้วย แล้วอย่าทำเป็นลืมไปว่า เพลงคลาสสิคบางเพลงมันก็กลายเป็นเพลงเชิดชูสงครามและเผด็จการทหารมาเหมือนกัน

แล้วผมก็ไม่รู้ว่าทำไม Adorno ถึงโยงเรื่องความเป็น Atonality กับการปลดแอก หรือการหลุดพ้น ไปได้

เพราะไม่ว่าจะเป็น Hippies, Proghead, Metalhead, Punk, Grunger, Hardcore, Nu Metal, Emo ฯลฯ

พวกนี้เขาก็ล้วนพยายามจะ "หลุดพ้น" ไปจากอะไรบางอย่างทั้งนั้น

เพียงแต่ไอ่อะไร บางอย่าง' นั่นมันต่างกันเท่านั้นเอง

 

-------------

เนื่องจาก Blogazine ใส่เพลงไม่ได้ ผมจึงขอทำลิ้งค์คลิป youtube มาให้ดูและฟังแทน

คลิปเพลงของวง King Crimson ที่ผมอยากแนะนำให้ฟัง

http://www.youtube.com/watch?v=DJQHOFJs6mw

อันนี้ของ Bela Bartok ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=A1PK3lkIAI4

 

 

 

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…