Skip to main content
 

"1,000 people yell
Shouting my name
But I wanna die in this moment
I wanna die"

- 1,000 People -

Aviv Geffen เกิดและเติบโตในช่วงสงครามเลบานอนครั้งแรก ที่กองทัพอิสราเอลคิดจะเข้ายึดครองเลบานอนเพื่อยุติสงครามกลางเมือง แต่ความขัดแย้งนี้ดูจะห่างไกลจากตัวเขารวมถึงหนุ่มสาวคนอื่น ๆ ซึ่งต่างก็ดำเนินชีวิตคู่ขนานกับความขัดแย้งนี้จนแม้ปัจจุบันก็ยังไม่จบไม่สิ้น ข้อตกลงหยุดยิงไม่อาจทำให้ความตึงเครียดลดลงได้ ระเบิดนิรนามยังคงถูกยิงมาจากที่ไหนสักแห่ง

ภาพที่ดูขัดแย้งกันอย่างชัดเจนในตัว Geffen คือ ขณะที่เขาแต่งเพลงและเผยความคิดเห็นในแบบอิสราเอลฝ่ายซ้าย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพทางดนตรี ทั้งยังได้รับความนิยม...โดยเฉพาะจากหมู่วัยรุ่นหนุ่มสาว

มีบางครั้งที่ Geffen ต้องไปแสดงในเขตของชาวมุสลิม เขาบอกว่าแม้เขาจะไปในฐานะชาวอิสราเอล แต่ก็มีความเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวมุสลิม แม้จะระแวงในความปลอดภัยอยู่บ้าง แต่เขาคิดว่าเขาแยกออกระหว่างคนที่มาฟังเพลง กับพวกบ้าเลือดที่จ้องแต่จะเอาชีวิตคน

จากเท่าที่ได้อ่านเนื้อหาเพลงต่าง ๆ ของ Aviv Geffen ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ (ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ) แล้ว พบว่าในแต่ละอัลบั้มเขาก็ไม่ได้มีแต่เรื่องของสังคมหรือการเมืองอย่างเดียว แต่มันมีเพลงรัก ๆ ใคร่ ๆ เรื่องความสัมพันธ์ ที่แฝงมุมมองแบบนักเสรีนิยมผู้เศร้าสร้อย ซึ่งน่าจะถูกใจวัยรุ่นยุคปัจจุบัน บ้างก็สะท้อนความแปลกแยก เบื่อหน่ายยุคสมัย ซึ่งมันคงตอบสนองความรู้สึกของหนุ่มสาวทั้งหลายได้เช่นเดียวกัน

ถ้าให้พูดถึงรูปแบบทางดนตรี หลายเพลงของ Geffen แม้เขาจะร้องเป็นภาษาฮิบรู แต่สำเนียงดนตรีมันก็ชวนให้นึกถึงร็อคสีทึม ๆ ของ Roger Waters อย่างเสียมิได้ ยิ่งไม่ต้องบอกว่า เนื้อหาการเมืองจากผลงานยุคแรก ๆ ของ Aviv Geffen แม้จะสะท้อนภาพกว้าง ๆ ของความขัดแย้ง แต่ก็มีกลิ่นอายความโกรธขึง ประชดประชัน ของ Waters อยู่ไม่น้อยทีเดียว

กระนั้นดนตรีของเขาก็ไม่ได้มีเพียงเงาทะมึน Roger Waters เท่านั้น บางเพลงก็เป็นเพลงป็อบหรือเพลงโฟล์คอารมณ์สบาย ๆ ขณะที่บางเพลงก็แฝงไปด้วยอิทธิพลของโปรเกรสซีฟร็อคสมัยใหม่ จนกระทั่งเมื่อความชื่นชอบส่วนตัวของ Geffen ที่มีต่อวง Porcupine Tree ทำให้เขาได้มารู้จักกับ Steve Wilson แล้วจึงได้ให้กำเนิดวงโปรเจกท์ที่ชื่อว่า Blackfield ขึ้นมาในที่สุด

ถึง Blackfield จะไม่ใช่วงที่วางแนวทางในเนื้อหาเอาไว้ชัดเจน แต่การฟอร์มวงนี้ก็ได้ช่วยให้เนื้อเพลงภาษาฮิบรูของเขาบางเพลงได้รับการแปลและดัดแปลงให้เป็นภาษาอังกฤษในนามของวง Blackfield เพลงหนึ่งของ Geffen ที่โด่งดังมากในประเทศคือ Achshav Meunan นั้นได้รับการแปล(ง) เป็นเพลง Cloudy Now ซึ่งมีซาวน์ที่เนียนขึ้นกว่าเดิม และเนื้อหาคงจะได้รับการเผยแพร่อย่าง กว้างขวางกว่าเก่า

"ผมไม่ได้แยกดนตรีของผมออกจากข้อความที่ผมต้องการสื่อเลย สำหรับผมแล้วมันเป็นสิ่งเดียวกัน และข้อความของผมมันก็ง่าย ๆ คือ ทุกคนควรจะมีอิสระที่จะเลือกชีวิตตัวเอง นั่นล่ะ คือทุกอย่างที่ผมอยากบอก"

There Are No Angels In Paradise

"There are no angels in paradise,
here there is only hell that allows only dreams that
there are angels in paradise
But there are no angels
And there is no paradise"

- There are no angels in Paradise -

จากที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า Aviv Geffen เป็นศิลปินผู้มีความเชื่อมโยงกับฝ่ายซ้ายของอิสราเอล คือขบวนการสันติภาพ (Peace Camp) ซึ่งขบวนการนี้ได้เคลื่อนไหวทั้งด้วยการผลักดันการเมืองและการเชื่อมต่อกับพลเรือน

กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในนี้คือองค์กรเอกชนที่ชื่อ Peace Now ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเซ็นสัญญาข้อตกลง Oslo แต่ชาวอิสราเอลบางส่วนก็ได้วิจารณ์ในความโปร่งใสขององค์กรนี้เหมือนกัน เพราะรู้มาว่าองค์กรนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป

ขณะเดียวกันก็มีนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่ชื่อ Uri Avnery เกิดไม่พอใจในการทำงานของกลุ่ม Peace Now เลยได้ออกมาก่อตั้งกลุ่มของตัวเองที่ชื่อ Gush Shalom ซึ่งเป็นกลุ่มที่สุดแสนจัดจ้านและ Radical เอามาก ๆ แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งจัดจ้านก็ทำให้พวกเขาแข็งกร้าวดี โดยเฉพาะในเรื่องการทวงสิทธิ์ให้ชาวปาเลสไตน์การกลับเข้ามาอาศัยในฉนวนกาซ่าและเขตเวสแบงค์อีกครั้ง ทั้งยังบอกอีกว่า การเข้ามาถือครองของอิสราเอลถือเป็นอาชญากรรมทางสงคราม (War Crime) เลยทีเดียว

กลุ่มที่เป็นที่รู้จักอีกกลุ่มหนึ่งคือ National Census (มีอีกชื่อคือ พีเพิ้ลส์วอยซ์) ซึ่ง Sari Nusseibeh ผู้แทนฯ จากปาเลสไตน์ และ Ami Ayalon จากพรรคแรงงานอิสราเอล ร่วมกันตั้งขึ้นมา National Census ได้ร่างข้อตกลงซึ่งตั้งใจจะทำให้ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ยอมรับได้โดยอาศัยตัวเนื้อหาที่มีลักษณะประนีประนอมกับทั้งสองฝ่าย ล่าสุดจากการล่ารายชื่อสนุบสนุนผ่านเว็บไซต์ มีตัวเลขผู้สนุบสนุนเป็นชาวอิสราเอลจำนวนกว่าสองแสนห้าหมื่นคน และชาวปาเลสไตน์อีกกว่าแสนหกหมื่นคน

อย่างไรก็ดี นี่คือโลกที่ไม่มีใครเป็นเทวดาอันดีเลิศไร้ที่ติ ขบวนการเพื่อสันติภาพเหล่านี้ก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบจากหลาย ๆ ฝ่าย เรื่องหลัก ๆ ที่ Peace Camp ถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ต่างไปจากขบวนการเพื่อสันติภาพในบ้านเราเลย อย่างเช่นเรื่องแนวคิดการขาดความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ การให้อภัยต่อความรุนแรงจากผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์ แต่ไม่สนใจต่อสู้เพื่อสิทธิของคนอิสราเอล

พวกซ้ายที่ออกไปในทางโปรปาเลสไตน์ วิจารณ์ข้อตกลงออสโลว่าเป็นแค่การหลอกชาวปาเลสไตน์และเป็นสัญญาลวงโลก ผู้ได้ประโยชน์คือกลุ่มทุนไซออนนิสท์เท่านั้น ขณะเดียวกันฝ่ายขวาเองก็เห็นว่าสนธิสัญญานี้เป็นเพียง "ม้าไม้โทรจัน" ในการช่วยลำเลียงกลุ่มก่อการร้ายให้เข้ามาปฏิบัติการได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง

ส่วนพวกฝ่ายซ้ายโปรอิสราเอลก็วิจารณ์ขบวนการณ์เพื่อสันติภาพไว้หลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องของการพยายามสร้างภาพลบให้กับทหารรักษาความปลอดภัยมากเกินไป การทำให้ชาวยิวรู้สึกเกลียด (ความเป็นยิวใน) ตัวเอง มุ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากเกินไปทำให้ขาดฐานคิดทางสังคมและเศรษฐกิจ ไม่สามารถจูงใจฝ่ายที่สนับสนุนอิสราเอลได้เพราะขาดการใส่ใจในฝ่ายที่โปรอิสราเอล

นักปฏิบัตินิยมทั้งหลายก็มองคล้าย ๆ กันในเรื่องของการไม่ใส่ใจพื้นฐานทางเศรษฐกิจและความมั่นคง (ของคนระดับล่างจริง ๆ คนละอย่างกับ "ความมั่นคง" ในรัฐธรรมนูญของประเทศเรา) การไร้ผลในทางปฏิบัติของข้อตกลงออสโล และคิดว่ามันอันตรายเกินไปหากขบวนการมัวแต่ไปเอาใจฝ่ายปาเลสไตน์ (ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์คงไม่พ้นพวกชนชั้นนำ)

คำวิพากษ์วิจารณ์นี้บางส่วนมันก็ชวนให้นึกย้อนกลับมามองขบวนการสันติภาพในบ้านเราอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องในทางปฏิบัตินิยมและมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่ละเลยไป

แต่ขณะที่บางคนอาจวิพากษ์วิจารณ์บางกลุ่มว่าไม่ออกมาพูดเพื่อผู้บริสุทธิ์ (บริสุทธิ์จริงหรือเปล่า?) ที่ถูกทำร้ายบ้าง ผมอยากขอแสดงความเห็นเสียหน่อยว่าเรื่องพวกนี้ถูกสื่อกระแสหลักเล่นข่าวกันเยอะ และเล่นไปในด้านเดียวจนเละเทะไปหมดแล้ว มันเปล่าประโยชน์ที่จะลงไปร่วมซ้ำเติมด้วย

ผมเองก็ยังเป็นปุถุชนที่ยังมีความหวาดระแวง ผมกริ่งเกรงเรื่องความไม่มั่นคงในชีวิตของคนที่บริสุทธิ์จริง แต่การจะเคลื่อนคล้อยไปกับ Majority ที่กุมวาทกรรมหลักของสังคมไว้อยู่แล้วนั้น

มันฟังดูน่ากลัว และชวนให้หวาดระแวงไม่แพ้กัน

 

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…