Skip to main content
 

"ผมคงจัดเป็นพวกปีกซ้ายนั่นแหละ และพอเวลาผ่านไปผมก็รู้สึกแข็งแกร่งขึ้น ผมให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์มากกว่าอิฐบล็อกหรือกำแพงศักดิ์สิทธิ์ ผมเชื่อในการมีชีวิตอยู่ ผมคิดว่าแทนที่คำถามจะเป็นพวกคุณเชื่อในพระเจ้าหรือเปล่า' มันควรจะเป็นว่า พระเจ้าเชื่อในพวกเราหรือเปล่า' ต่างหาก ใครจะรู้ได้"

- Aviv Geffen -

 

Memento Mori

"Officer, it's better to be a coward that is alive
than to be a dead hero
You fight with tanks and guns
I fight with pen and paper
You call me a draft dodger
Memento Mori..."

- Memento Mori (2)

จริงๆ แล้ว ไม่เพียง Aviv Geffen เท่านั้นที่เป็นที่รู้จักของชาวอิสราเอลโดยทั่วไป พ่อของเขาเอง Yehonatan Geffen (เป็นที่รู้จักในนาม Jonathan Geffen เสียมากกว่า) ก็มีชื่อเสียงอยู่เหมือนกัน

ผู้คนรู้จักพ่อของ Aviv ในฐานะของ นักเขียน, กวี, นักหนังสือพิมพ์, นักแต่งเพลง และ ผู้แต่งบทละคร ซึ่งเขาได้แต่งเอาไว้ ทั้งเรื่องสำหรับเด็กและสำหรับผู้ใหญ่

ประวัติของโจนาธานผู้เป็นพ่อก็มีอะไรเศร้าๆ ปนอยู่ หนึ่งในนั้นคือเรื่อ่งที่แม่ของ Jonathan (ย่าของ Aviv) เสียชีวิตเพราะกินยามากเกินขนาด ขณะที่เขามีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเขาเชื่อว่าแม่เขาฆ่าตัวตาย หลังจากนั้นสองปี เขาก็เลิกเป็นทหารแล้วย้ายมาอยู่ที่เมือง Tel-Aviv เริ่มต้นเขียนบทกวี ก่อนที่ต่อมาโจนาธานจะหันมายึดอาชีพเป็นผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ชื่อ Maariv เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เขามักจะโดนวิจารณ์ในเรื่องทัศนะซ้ายจัดของเขาอยู่เสมอ จนบางครั้งก็ถึงขั้นถูกข่มขู่เอาชีวิต ซึ่งนอกจากรุ่นพ่อเขาจะโดนแล้ว Aviv Geffen ผู้เป็นรุ่นลูกก็โดนอย่างเดียวกัน แต่พวกเขาทั้งสองต่างก็ไม่แคร์ในคำขู่ ยังคงยืนยันทำในสิ่งที่ตนเชื่อต่อไป

Aviv Geffen เคยพูดไว้ว่า "มีการขู่เอาชีวิตผมอยู่หลายครั้งมาก บางคนก็ขอให้เพลงของผมถูกแบนไปเสีย แต่ผมคิดว่าผมมีข้อความสำคัญมากๆ ที่จะส่งไปยังผู้คน"

พ่อของ Aviv Geffen มีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่ความขัดแย้งเรื่องดินแดนทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้น และคนรุ่นเดียวกันที่ดำรงชีวิตอยู่ร่วมยุคสมัย ต่างก็มีบาดแผลความทรงจำจากการประหัตประหารกัน เช่นเดียวกับที่รุ่นปู่ของเขาก็มีความทรงจำจากสงครามโลก

ก่อนหน้าที่จะมาร่วมกับโปรเจกท์วง Blackfield ตัว Aviv Geffen ได้เป็นปากกระบอกเสียงให้วัยรุ่นหนุ่มสาวระบายความคับข้องใจจากคนในยุคสมัยเดียวกันผ่านทางบทเพลง และบทเพลงหนึ่งในนั้นคือ Cloudy Now ซึ่งเพลงนี้ทำให้มีเสียงตอบรับจากวัยรุ่นอิสราเอลจำนวนมากหันกลับมาถามเขาว่า "คุณต้องการจะเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า?"

ผมรู้สึกเฉยๆ กับการประกาศจุดยืนที่จะอยู่กับฝ่ายซ้ายของเขา แต่กลับรู้สึกดีกว่าในแง่ของการที่เขาใช้ความป๊อบปูล่าให้เป็นประโยชน์ ใช้มันเป็นกระบอกเสียงให้กับอุดมการณ์ที่ตนมี เพราะผมเชื่อทั้งในแนวทาง "ศิลปะเพื่อศิลปะ" และ "ศิลปะเพื่อสังคม" ขณะที่ "ศิลปะเพื่อศิลปะ" ที่เน้นด้านรูปแบบและการแสดงออกทางความรู้สึก ไม่จำเป็นต้องเป็นที่นิยมก็ได้ จะสามารถตอบสนองคนจำนวนมากหรือน้อยเพียงใดก็ไม่มีปัญหา แต่โดนส่วนตัวคิดว่า "ศิลปะเพื่อสังคม" มันต้องมีรูปแบบที่เป็น Mass Appeal เพื่อที่จะสื่อสารกับคนในสังคมให้เข้าใจได้ และผมจะเกลียดมากถ้ามันเป็นศิลปะกึ่งขู่เข็ญแข็งกระด้างไร้ความเป็นมนุษย์

พอมาถึงรุ่นลูก กระแสการเรียกร้องสันติภาพในหมู่หนุ่มสาว อาจจะทำให้ภาพเสมือนฝันร้ายแต่ครั้งก่อนพร่าเลือนไป แต่จะแน่ใจได้ล่ะหรือว่าฝันร้ายจบลงแล้วจริงๆ หรือเพียงแค่เปลี่ยนโฉมหน้า ให้คนในยุคปัจจุบันรับกับมันได้เพียงเท่านั้น เพราะไซออนนิสท์ ที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่าตนถูก และแฝงฝังด้วยความคิดเชื้อชาตินิยมก็ยังคงมีอยู่

ถ้ามองในอีกทาง จะไปโทษชาวอิสราเอลในรุ่นหลังๆ คงไม่ได้เหมือนกัน เพราะพวกเขาไม่ได้มีส่วนในประวัติศาสตร์ทำให้เกิดความวุ่นวายนี้ขึ้น แค่บังเอิญมีเชื้อชาตินี้มาตั้งแต่เกิดเท่านั้น นอกจากนี้ชาวอิสราเอลในระดับล่างยังเชื่อว่า บาดแผลของพวกเขาจากสงครามโลกครั้งที่สองมีมากพออยู่แล้ว แค่อยากมีแผ่นดินอยู่ไว้ทำมาหากินอย่างสงบสุขบ้าง และดูเหมือนแรงงานข้ามชาติที่อพยพเข้าไปอยู่ในสถานที่นั้นคงต้องการอย่างเดียวกัน

การที่ Geffen ไม่เห็นด้วยกับการที่ชาวอิสราเอลเข้ายึดครองปาเลสไตน์ ถึงควรถูกตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วชาวอิสราเอล รวมถึงแรงงานอพยพหลายคน ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือเปล่า

Cloudy Now

"In a violent place we call our country
Is a mixed up man and I guess that's me
The sun's in the sky but the storm never seems to end"

-Cloudy Now -

ในภาพยนตร์ฮอลลิวูดหลายเรื่อง มักจะพูดถึงชาวยิวที่ถูกกระทำจากสงครามโลกครั้งที่สอง และประเด็นที่ยกมาเล่นกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการล่าล้างเผ่าพันธุ์จากเผด็จการเชื้อชาตินิยมนาซี ถ้าพูดในเชิงมนุษย์ธรรม มันเป็นเรื่องที่ชวนให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเขาอยู่ไม่น้อย แต่ต้องไม่ลืมว่าการผลิตซ้ำความรู้สึกเห็นอกเห็นใจแบบนี้ออกมา มันจะกลายเป็นการให้ความชอบธรรมไซออนนิสท์ที่หลายคนก็มีแนวคิดแบบเชื้อชาตินิยมเช่นเดียวกันหรือไม่ และคงไม่ต้องนับว่าประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยผู้ชนะสงครามนี้ ต้องอาศัยการตรึกตรองกันเสียหน่อยว่ามันจะไม่กลายเป็นโฆษณาชวนเชื้อของประเทศมหาอำนาจประเทศใดไปเสีย

และหากใครศึกษาประวัติศาสตร์มาบ้างคงพอจะทราบว่า แต่เดิมชาวยิวไม่ได้อยู่ในแผ่นดินผืนนี้อย่างหนาแน่น จะมีอยู่ก็เพียงเป็นชุมชนเล็กๆ ที่กระจัดกระจาย จนกระทั่งชาวยิวได้ถูกรวมเข้ามาในดินแดนครั้งหนึ่งเมื่อสมัยตุรกีเข้ามามีอำนาจ

ก่อนที่ต่อมาประเทศในยุโรป (รวมที่ไม่ใช่ยุโรปอย่างรัสเซียไปอีกหนึ่งประเทศ) ได้พยายามเข้ามามีอำนาจในปาเลสไตน์ เพราะในสมัยก่อนบางประเทศในยุโรปต้องการดินแดนนี้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าไปสู่ทวีปเอเชีย แต่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้มาก ทำให้ประเทศเหล่านี้ (โดยเฉพาะอังกฤษ) หันมาผลักดันสนับสนุนการถือสิทธิครองดินแดนของชาวยิวในอิสราเอลแทน กลุ่มขบวนการไซออนนิสท์เอง ก็เกิดจากการหนุนหลังของประเทศอังกฤษด้วยเช่นกัน

แต่ผมก็ไม่อยากให้มองว่าใครเป็นฝ่ายดี ใครเป็นฝ่ายร้าย เพราะเกมการแย่งชิงที่ชนชั้นนำใช้พวกเราเป็นตัวเบี้ยตัวหมากมาต่อสู้กันเอง ได้ทำให้เราต้องมาละเลงเลือดและน้ำตา มากมายเกินอสงไขย ผ่านยุคสมัยมาถึงปัจจุบัน มันก็ได้กลั่นตัวขึ้นไปเป็นเมฆทึบหนา มันบดบังสายตาจนมองเห็นได้ยากว่าอะไรดี? อะไรร้าย? อะไรที่ควรปกป้อง? อะไรที่ควรทำลาย? อะไรคือฉัน? อะไรคือเธอ? อะไรคือพวกเรา? อะไรคือพวกมัน? อะไรคือความสงบสุข? อะไร...อะไรกันที่มันเดือดพล่านอยู่ในใจเรา!?

ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหนุ่มสาวร่วมสมัยเดียวกัน ถึงนึกอะไรไม่ออก นอกจากการเฝ้าฝันถึงสันติภาพลมๆ แล้งๆ เพราะว่า เมฆหมอกทึบๆ มันทำให้อะไรๆ มืดดำเกินกว่าจะมองได้ชัดแจ้งว่าพวกเขาควรจะไปทางทิศไหน ตัวผมเองก็อยากให้ทุกคนตื่นขึ้นมา ลุกขึ้นมา มาช่วยกันมองหาทางภายใต้ท้องฟ้ามืดครื้มนี้

แต่ถ้าหากคุณบอกว่านักสันติภาพทั้งหลายกำลังเพ้อฝันแล้วล่ะก็ ผมก็อยากจะบอกว่า พวกเราล้วนเพ้อฝันพอๆ กันหมด

ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่กระทำการโดยไม่นึกถึงว่าใครเป็นศัตรูใครเป็นผู้บริสุทธิ์ ใช้ความเจ็บปวดของผู้คนเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการตอบโต้อีกฝ่าย รวมถึงคนที่คลั่งชาติแล้วเกลียดชังแบบเหมารวมอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่เลือกที่จะแยกแยะ และคิดว่าว่าหากพวกนี้ถูกกำจัดไปให้หมด (โดยรัฐที่ไม่ค่อยน่าไว้วางใจ) ไปแล้วความสงบสุขจะบังเกิดได้

มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ น่ะหรือ จะบอกไว้ตรงนี้ก็ได้ว่า

...พวกคุณก็เพ้อฝันสิ้นดี!

 

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…