Skip to main content

รูป Ad จาก http://www.electthedead.co.uk/

วง System of a Down เป็นวงดนตรีอเมริกันที่สมาชิกทั้ง 4 คนล้วนเป็นชาวอาร์เมเนียน ดนตรีของพวกเขา บางคนก็เรียกว่าเป็นอัลเตอร์เนทีฟ บ้างก็ว่าเป็นนูเมทัล บ้างก็พยายามจำกัดความง่ายๆ ว่าเป็นฮาร์ดร็อค แต่ถ้าให้เรียกแบบกินความหมายครอบคลุมที่สุดล่ะก็ คงต้องบอกว่าพวกเขาเป็นวงร็อคที่แพรวพราว สอดผสานดนตรีในพรมแดนอื่นๆ เข้ากับซาวน์พื้นฐานแบบยุค 90's และขณะเดียวกันก็มีพลังขับเคลื่อนแบบพังค์

นอกจากจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะของวงร็อคหลากกลิ่นแล้ว แฟนเพลงหลายคนยังชอบเนื้อหาวิจารณ์สังคมและการเมืองของพวกเขาที่เข้าใจทำให้ถูกจริตคนบางกลุ่มได้ บวกกับดนตรีหนักๆ จากหลายๆ เพลงแล้ว มันใช้เป็นยาแก้เครียดได้ดีทีเดียว

แต่หลังจากที่วง System of a Down หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า SOAD ทำงานกันมาได้ราวสิบปี ก็ประกาศแยกย้ายกันไปชั่วคราว เปิดโอกาสให้แต่ละคนไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไซด์โปรเจกท์นาม Scars on Broadway ของมือกีต้าร์ Daron Malakian หรืองานเดียวของนักร้องนำ Serj Tankian ที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้

แน่นอนว่าใน Elect the Dead งานเดี่ยวของ Serj Tankian ในชุดนี้ เรายังคงได้ยินเสียงร้องในสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ของ Serj อยู่เช่นเคย ขณะเดียวกันก็ยังมีดนตรีหลากกลิ่นและรสเคยคุ้นในแบบ SOAD เพียงแต่มันก็ยังไม่เต็มพลัง ไม่ถึงใจเท่ากับ System of a Down ยกขบวนมาเองอยู่ดี อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าอัลบั้มนี้กลับเปิดพื้นที่ทางอารมณ์ให้เต็มมากกว่าตอนที่ Serj ร่วมงานกับวง

เพลงเปิดอัลบั้มอย่าง Empty Wall ก็เป็นร็อคที่ใส่มาเต็มสูบ บรรเลงความโกรธและผิดหวังได้ถึงใจ เนื้อเพลงพูดถึงการที่รัฐบาลปิดข่าวการเสียชีวิตของทหารอเมริกันที่ออกปฏิบัติหน้าที่ เปรียบเสมือนกักขังเราไว้ในกำแพงที่แสนว่างเปล่า ปิดกั้นไม่ให้เรามองเห็นความจริง

Tankian ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคนที่ต่อต้านจักรวรรดิ์นิยมอเมริกามาแต่ไหนแต่ไร เขาได้เคยเขียนบทความที่ชื่อ Understanding Oil ออกมาเพียงสองวันหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งมันไม่ใช่บทความที่น่ามองข้ามเลยในช่วงนั้น เพราะบทความมีเพียงแค่การเรียกร้องสันติภาพแบบตื้นๆ แต่มีความเห็นทางการเมืองที่ตรงไปตรงมา ทั้งยังมีการออกมาชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้นำสหรัฐฯ กับ ผู้นำในโลกตะวันออกกลาง ว่ามี Power installment (การสร้างความสัมพันธ์ลับด้วยการเกื้อหนุนทางอำนาจ) ที่สหรัฐฯ จะนำพวกเขามาใช้ประโยชน์ในภายหลัง

บทความนี้ ทำให้ Serj ถูกมองอย่างเข้าใจผิดว่าเป็นพวกหาความชอบธรรมให้กับการก่อการร้าย อย่างไรก็ตามขณะที่ Serj ตอบโต้วิธีการของอเมริกา แต่เขาก็ยังต่อต้านกลุ่มศาสนนิยมสุดโต่ง รวมถึงผู้นำที่เขาบอกว่ามาจาก Power Installment ของสหรัฐฯ เองด้วย ใครที่มีแนวคิดแบ่งขั้วแบบล้าหลังอาจจะบอกว่าไอ่หมอนี่แค่สองไม่เอา แต่ไม่ได้คิดเอาเสียเลยว่าเขาก็แค่มีจุดยืนทางการเมืองอีกแบบหนึ่งที่อาจจะไม่สามารถไปเหมารวมเข้ากับฝ่ายไหนได้เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม Understanding Oil ก็มีจุดด้อยสุด ๆ อยู่ที่วิธีการแก้ปัญหาที่เขาเสนอยังดูห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่ดี

โยงใยมาสู่อัลบั้ม Elect the Dead เพลงหนึ่งที่ Serj ตั้งคำถามกับการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือคือ Praise the Lord and Pass the Ammunation ที่ออกเป็นนูเมทัลมีท่าทีประชดประชัน ขณะที่ Feed us พูดถึงการปฏิบัติการทางการทหารว่า แทนที่จะช่วยปลดปล่อยและทำให้ประชาชนกลับมาเลี้ยงชีพตัวเองได้ แต่กลายเป็นว่าพวกเขาถูกทำให้พ้นจากการครอบงำเก่า เพื่อไปสู่การครอบงำอย่างใหม่เท่านั้น ดนตรีในเพลงนี้แอบสอดผสมโฟล์กเศร้าๆ เข้ามาก่อนจะโยงไปสู่ท่อนร็อคหนักๆ

"You lead us,
When you need to feed us,
You comfortable delete us,
When you need your fetus..."

- Feed Us

เพลงที่ผมชอบมากในอัลบั้มนี้ คือเพลงธรรมดาๆ ที่ Serj ทำออกมาได้อย่างเต็มอารมณ์คือ Saving Us กับ Sky is Over

เพลง Sky is Over เป็นร็อคหมองๆ ที่แอบใส่ลูกเล่นแบบ SOAD ในท่อนแยก เนื้อเพลงเหมือนจะพูดถึงโลกร้าย แต่ก็แอบเล่นคำในประโยคสุดท้าย ส่วนเพลง Saving Us นั้นสวยทั้งทำนองและภาษาในเนื้อเพลง ขณะที่หากดูเนื้อผ่านๆ จะสามารถตีความเป็นเพลงรักธรรมดา แต่เสียงประสานที่เป็นแบกกราวน์ในเพลงนี้กลับชวนให้รู้สึกว่ามันพูดถึงอะไรที่ใหญ่กว่านั้น และเมื่อได้ดูมิวสิควิดีโอของเพลงนี้แล้วก็ชวนให้เจ็บจี๊ดขึ้นมาทันที

MV เพลง Saving Us ฉายภาพคนไร้บ้านคนหนึ่ง เดินเข็นรถไปตามที่ต่างๆ ในเมือง ทุกคนเมียงมองในใจก็คิดอะไรต่างกันไป และดูเหมือนแต่ละคนต่างก็สนใจแต่ในประเด็นของตัวเอง จนไม่มีใครมีที่ทางเผื่อเหลือให้กับเขาเลย ส่วนตัวผมชอบ MV นี้มาก แม้ว่าช่วงกลางเพลงมันจะมีฉากเว่อร์แดกและตอนจบอาจจะน้ำเน่าสำหรับบางคนก็ตาม

ความสนุกอีกอย่างหนึ่งของอัลบั้มนี้คือ การที่มันมีมิวสิควิดีโอสำหรับทุกเพลงและในแต่ละเพลงก็มีผู้กำกับต่างกันไป ทำให้เราได้เห็นการตีความเพลงต่างในมุมต่าง ๆ หลากหลาย โดยที่เราอาจจะยังไม่เคยนึกถึงก็ได้

อย่างเพลง Sky is Over ก็มีมิวสิควิดีโอถึงสองเวอร์ชั่น หรือเพลง Honking Antelope ที่เนื้อเพลงมันพูดถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมถิ่นที่หายไป (ของอินเดียแดง?) แต่มิวสิควิด๊โอมันกลับทำออกมาเป็น CG กับเรื่องราวล้ำยุค ดูแล้วขัดแย้งกันดี

อย่างไรก็ตามกับบางเพลงคงต้องดูบริบทด้วยว่ามันพูดจากมุมมองวิพากษ์อเมริกัน ที่เป็นเสรีนิยมใหม่มาจนพรุนแล้ว เพลงอย่าง The Unthinking Majority จึงอาจจะใช้วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอเมริกาได้ แต่กับประเทศที่ยังไม่แม้แต่จะหลุดพ้นจาก "ยุคมืด" ยังไม่มีเสรีในเรื่องสำคัญ ๆ คงไม่ได้อยู่ในบริบทที่จะเอามาวิจารณ์กันได้ อย่างไรดีการใช้จังหวะขัด ลูกเล่น กับอารมณ์หนักหน่วงในเพลงนี้คงถูกใจขา SOAD ไม่น้อย (ขอโทษด้วยผมชอบแยก "เนื้อหา" กับ "รูปแบบ" ออกจากกันน่ะ)

ขณะที่เพลง Money ที่ดนตรีจากเปียโน สลับกับท่อนร้องและการเปลี่ยนจังหวะกระทันหันทำให้มีสีสันดี แต่เนื้อเพลงก็ไม่มีมุมมองอะไรใหม่ หรือลึกไปกว่าการโทษเงินอย่างเดียว (ทั้งที่ยังไงคนเราก็ยังต้องใช้เงิน)

Serj Tankian อาจจะเป็นศิลปินที่เข้าใจในสังคม เข้าใจในการเมืองระดับหนึ่ง แต่ยังมีอะไรบางอย่างทางความคิดที่เขายังก้าวไม่พ้น เลยอาจกลับกลายเป็นการพูดถึงเรื่องเดิม ๆ ที่ไม่ได้มีแง่มุมก้าวหน้าไปกว่าเดิมอย่าง Money หรือเพลง Honking Antelope ที่ออกแนวอนุรักษ์แบบโรแมนติกไปหน่อย (ทั้งที่ดนตรีมันไม่โรแมนติกเลย ดูเหมือนมันกำลังแอบวิพากษ์อะไรที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดเชิงอนุรักษ์อยู่ด้วยซ้ำ) ผมเข้าใจว่าการเขียนเนื้อเพลงที่พูดเรื่องซับซ้อนมันยาก ยิ่งต้องให้ Sync กับดนตรีด้วยมันยิ่งยากไปใหญ่ แต่ผมเชื่อว่าถ้าคนเรากระตือรือร้นละเรียนรู้มากพอ และซึมซับอะไรไว้ได้ จะสามารถปลดปล่อยมันออกมาจากใจจริงได้เอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ใครบางคนอาจรู้จัก Axis of Justice ซึ่งเป็นกลุ่มที่ Serj ร่วมตั้งกับ Tom Morello (จากวง Rage against the Machine ที่มีทิศทางแนวคิดคล้ายๆ System of a Down) รวบรวมพลพรรคนักดนตรีหลากหลายวงในการรณรงค์ทางสังคมในประเด็นต่าง ๆ เริ่มจากประเด็นการเหยียดเชื้อชาติที่แกดูจริงจังดี คลับคล้ายคลับคลาว่าจะมีการรณรงค์เรื่องคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงที่ผ่านมาด้วย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการรวมกลุ่มกัน

ก็ได้แต่หวังว่าทั้ง Serj และ Tom ที่ต่างก็มีต้นทุนทางสังคม (และทางสินทรัพย์เพราะคงได้ส่วนแบ่งจากการออกทัวร์อยู่ไม่น้อย ;P) คงจะไม่ทำให้ Axis of Justice กลายเป็นเพียงกลุ่มรณรงค์ทางฉากหน้าที่ไร้พลัง แล้วกลายเป็นช่องทางใหม่ในการโปรโมทตัวเองเท่านั้น อย่าได้ทำให้คนที่ชื่นชมการเขียนเนื้อร้องและความสามารถทางดนตรีของคุณต้องผิดหวัง เพราะถึงตอนนั้น...

...ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครมาทำเพลงวิจารณ์พวกคุณ แบบที่พวกคุณทำเพลงวิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ ;)

ดูคลิป Saving Us ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=9Wk38bW8whc

 

 

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…