Skip to main content

Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้ว

จึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป ทางวงได้ออกมาบอกชัดเจนว่าเนื้อหาของอัลบั้มนี้จะหันมาพูดเรื่องสังคมการเมือง  ขณะที่ในอัลบั้มก่อนๆ Sum 41 มีภาพของวงขวัญใจวัยรุ่นอยู่พอสมควร

ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เพราะวง Pop Punk ขวัญใจวัยรุ่นอย่าง Green Day เองก็ได้เขียนเพลงเกี่ยวกับ ชีวิต สังคม การเมือง และสร้างผลงานชุดดังอย่าง American Idiot ออกมาแล้ว ไม่นับวง Political Punk อื่นๆ ที่มีแนวทางของตัวชัดเจน

แต่น่าสนใจตรงที่ว่า นอกจาก Linkin' Park แล้ว วง Sum 41 เองก็เริ่มทำท่าว่าอยากจะหันมาสร้างงานที่ทำให้ตัวเองดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่า Linkin'Park ยังทำตรงนี้ได้ไม่ดีนัก เลยจะลองมาดูกันว่า Underclass hero อัลบั้มล่าสุดของ Sum 41 จะแสดงมุมมองต่อโลกนี้อย่างไร และทำได้ดีแค่ไหน

จะว่าไปชื่ออัลบั้มนี้ชวนให้นึกถึงชื่อเพลง Working Class Hero ของ John Lennon อยู่บ้าง คำว่า Working Class นั้น แปลตรงตัวได้ว่า ชนชั้นแรงงาน ถึงแม้ชื่อเพลงมันอาจจะชวนให้เข้าใจว่าเชิดชูผู้ใช้แรงงานก็ตาม แต่จริงๆ แล้วมันฟังดูเป็นเพลงวิจารณ์ระบบการศึกษามากกว่า และคำว่า Hero ก็ใช้อย่างประชดประชัน ไม่ได้นำมาใช้เชิดชู

ส่วนคำว่า Underclass มีความหมายกว้างกว่ามาก เพราะมันเป็นคำที่หมายรวมชนชั้นใต้ถุนสังคมผู้ไร้โอกาส ตั้งแต่คนจนข้ามรุ่น คนจรข้างถนน คนติดยา คนตัวเล็กที่ไร้กำลังในโลกของธุรกิจมืด ไปจนถึงคนไข้โรคจิต

เพลง Title Track ซึ่งขึ้นมาเป็นเพลงแรกของอัลบั้ม แม้ยังคงให้ความรู้สึกแบบ Pop Punk อยู่ แต่หากตัดอคติเรื่องความเป็นผู้ใหญ่ในเนื้อหาออกไป เนื้อเพลงมันก็สื่ออารมณ์แบบอนาคิสต์ผู้ป่าวประกาศต่อต้านรัฐและความเป็นสถาบันอย่างตรงไปตรงมาดี ติดตรงที่ดนตรียังฟังดูทรงพลังไม่มากพอ ทำให้รู้สึกว่ามันไม่ค่อยไปด้วยกันกับเนื้อหาเท่าไหร่

"Well i wont be caught living in a dead end job
or pray to a government guns and gods
now its us against them
we're here to represent
stare right in the face of the establishment
and i dont believe
stand on my own
wasting the use
speak for yourself"

- Underclass Hero

แต่ขณะเดียวกันไม่รู้ทำไม เมื่อผมได้ฟังอัลบั้มนี้แล้วกลับไม่รู้สึกนึกถึง Underclass ในภาพเดียวกับที่เขียนถึงในข้างต้นเลยแม้แต่น้อย อาจจะเว้นไว้หน่อยให้กับชนชั้น "วัยรุ่นมีปัญหา" ซึ่งก็ไม่ได้ถึงขั้นเป็น Underclass จริง ๆ

ส่วนตัวผมเองแล้วชอบเพลงที่สะท้อนความรู้สึกสับสน เจ็บปวด เคียดแค้น ของวัยรุ่นที่อยากจะบอกอะไรต่อโลกและคนรอบข้างอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหากับเนื้อหาแบบนี้สักเท่าไหร่ เพียงแต่ราคาคุยของ Sum 41 ที่บอกว่าจะเป็นแนวสังคมการเมืองอาจจะเสียไปบ้าง เพราะเพลงที่มีเนื้อแบบ "วัยรุ่นมีปัญหา" อย่าง Count Your Last Blessing . Walking Disaster หรือ Dear Father (Complete Unknown) นั้นฟังดูสื่อออกมาได้จริงใจกว่าเนื้อเพลงที่พูดถึงเรื่องราวอื่นๆ ในอัลบั้ม

โดยเฉพาะเพลง Dear Father (Complete Unknown) ที่ Deryck Whibley มือกีต้าร์และนักร้องนำ เขียนถึงพ่อของตัวเขาเองที่ไม่เคยได้เห็นหน้าเลย เพราะเขาเป็นเด็กที่เกิดจากแม่อายุ 17 และพ่อก็ทิ้งเขาทั้งสองไป จะว่าไปเพลงนี้น่าจะทำให้วง Sum 41 ดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเพลงอื่นๆ เสียอีก เพราะเนื้อหามันก็ไม่ได้คร่ำครวญอะไรมากมาย และดูจะท้าทายผู้เป็นพ่อที่ทิ้งเขาไปหน่อยๆ ด้วย

"I addressed this letter to ‘dear father'
I know you as complete unknown
I guess it's better you don't bother
All our truth should be left alone"

- Dear Father (Complete Unknown)

ขณะที่เพลงอย่าง Pull the Curtain นั้นทำท่าว่าจะดีในช่วงต้นๆ เพลง แต่ตัวดนตรีกลับดูยืดยาวเกินความจำเป็นและพูดอะไรซ้ำซากไปหน่อย ส่วนเพลง Confusion And Frustration In Modern Times ที่ชื่อเพลงก็ประกาศอยู่แล้วว่า จะพูดถึง "ความสับสนและวิตกกังวลในโลกสมัยใหม่" นะ มันคงฟังดูน่าสนใจหากมีแง่มุมใหม่ๆ เกี่ยวกับผู้คนในยุคสมัยปัจจุบัน แต่กลายเป็นว่าเนื้อเพลงฟังดูโหวง ๆ ดนตรีก็ไม่ได้มีอะไรชวนให้รู้สึกถึงสิ่งที่พวกเขาบอก หรือแม้แต่พวกเขาเองจะรู้สึก Confuse หรือ Frustrate จริงๆ หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้
 
หรือถ้าไม่คิดมาก การที่หลายเพลงดูจืด ๆ และสื่ออารมณ์ยังไม่ "ถึง" อาจจะมาจาก เสียงร้องนำของ Deryck Whibley เองที่ไม่ว่าจะเป็นเพลงเศร้า เพลงโกรธ หรือเพลงประชด ก็มีน้ำเสียงคล้ายกันไปหมดจน ทำให้อารมณ์ร่วมดูเจือจางไป

ไม่ต้องกลัวว่าจะลืมพูดถึงเพลงประท้วง แต่จะเรียกว่าเป็นเพลงประท้วงก็เรียกได้ไม่เต็มปากเท่าไหร่ เพราะเพลงโจมตีผู้นำ (แน่นอน...โดยเฉพาะ ผู้นำอเมริกา) คือ March of the Dogs , The Jester และ King of Contradition ฟังดูเป็นเพลงสาปแช่งมากกว่าจะเป็นเพลงที่พูดถึงปัญหาที่เกิดจากตัวคนที่พวกเขาโจมตี ตัวเพลงเองก็ดูจะมีแต่น้ำและไม่ได้มีท่าทีจะสะท้อนอะไรจาก Underclass เลยจริง ๆ

ผมเองพยายามจะไม่คิดอะไรมากกับมันและนึกเสียว่ากำลังฟังเพลงสาปแช่งเพื่อความสะใจของตัวเองอยู่ แต่จะว่าไป มันก็ยังมีเพลงสาปแช่งที่มันส์สะใจกว่านี้หลายเท่าอยู่นี่นา... ทำไมผมถึงต้องมามัวฟัง (Political?) Punk อยู่ด้วยเล่า

"I hope you burn like a cigarette in ashes
As your head comes down an crashes
Your throat pours blood from slashes
And I hope you never forget like a tatoo of regret this time, this time"

- King of Contradition

ให้ตายสิ...ทั้งที่ Sum 41 ตั้งมั่นไว้ว่าจะกรุยทางไปสู่เนื้อหาประท้วงสังคม แต่เพลงที่ผมชอบกลับเป็นเพลงที่สุดแสนจะปัจเจกอย่าง Best of Me ที่เป็นเพลงช้าได้อารมณ์ (โชคดีที่ Backing Vocal ช่วยกลบเสียงชืดๆ ของ Deryck ไว้ได้ในบางช่วง) เนื้อหาของเพลงนี้มันพูดถึงการสำรวจตัวเอง ที่สามารถตีความเป็นเพลงรักได้ ถ้าให้บอกกันจริง ๆ เนื้อหาสุดแสนจะปัจเจกบางเพลง มันกลับบอกอะไรจากสังคมได้ดีกว่าเพลง (พยายาม) ประท้วง เสียอีก

Sum 41 กลายเป็นอีกวงหนึ่งที่พยายามเปลี่ยนตัวเอง แต่กลับไม่สามารถก้าวข้ามอะไรบางอย่างไปได้ หากจะเรียก Underclass Hero ว่าเป็นอัลบั้มความหวังใหม่ของพังค์การเมือง มันก็จะกลายเป็นอัลบั้มที่เต็มไปด้วยรอยตำหนิและไปไม่ถึงสิ่งที่อยากจะเป็น หรือแม้กระทั่งจะคิดว่ามันก็คืออีกอัลบั้มหนึ่งของศิลปินพังค์วัยรุ่น ก็จะกลายเป็นอัลบั้มที่ดูด้อยพลังลงกว่าแต่ก่อนอยู่ดี

หาก Angry Young Men ทั้งหลาย อยากจะพูดถึงสังคมอย่างจริงจังบ้างมันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อยากลองให้พวกเขาไปศึกษาวง Political Punk บางวงดูเสียหน่อย อาจจะทำให้เห็นแนวทางได้มากขึ้น อย่างวง Anti-Flag ที่ประท้วงได้อย่างมีแนวทางชัดเจน หรือวง Propagandhi ที่เนื้อเพลงเสียดสีอย่างน่าคิด และแม้กระทั่งวงอื่น ๆ ที่ถึงแม้จะไม่ได้พูดอะไรลึกนัก แต่ก็มีพลัง และอย่างน้อยก็เข้าใจในสิ่งที่ตนเองต้องการประท้วง

อีกนัยหนึ่ง การเป็น Angry Young Men มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะบางเพลง แม้มันจะไม่ใช่เพลงประท้วงหรือเพลงที่มุ่งสะท้อนสังคมอย่างจริงจัง แต่มันกลับสามารถถ่ายทอดอะไรจากสังคมออกมาได้ดีกว่าเสียอีก ที่สำคัญคือ ถ้าความโกรธเกรี้ยว หรือเศร้าโศกมันถ่ายทอดออกมาได้อย่างสวยงาม และออกมาจากใจจริง มันก็ยังคงคุณค่าในความเป็นศิลปะอยู่ดี

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…