ข้อความคิดเรื่องหลัก The King can do no wrong ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์



ข้อความคิดเรื่องหลัก The King can do no wrong ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์


พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, รวบรวม


หมายเหตุ : ท่านที่จะนำไปใช้กรุณาให้เครดิตการค้นคว้าฐานข้อมูลดิบของผมด้วย 


๑.ขุนหลวงพระไกรสี (เทียม)



"พระเจ้าแผ่นดินทำอะไรไม่มีผิด  เพราะฉนั้นเปนผู้ที่อยู่เหนือกฎหมายอาญาแลศาลอาญาในเมืองของท่าน  โดยเหตุนี้เราไม่จำเปนจะต้องพิจารณาว่า  การที่ท่านกระทำสิ่งนั้น ๆ จะผิดกฎหมายอาญา  หรือถูกกฎหมายอาญาแต่อย่างใด  แลอีกประการหนึ่งไม่สมควรที่เราจะคาดคะเนหรือสงไสยว่า  บางทีการสิ่งนั้นที่ท่านทำจะไม่เปนการสมควร  หรือเปนสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย


เมื่อกฎหมายถือว่าพระเจ้าแผ่นดินทำอะไรไม่มีผิดดังนี้ก็ดี  ยังต้องคิดถึงผู้ที่เปนเเครื่องมือของพระเจ้าแผ่นดินอยู่  เช่นข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยต่าง ๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินได้ตั้งแต่งไว้ไปกระทำสิ่งใดลง  หรือสั่งการสิ่งใดในหน้าที่ที่ผิดกฎหมายอาญาแล้ว  ผู้ใดกระทำตามคำสั่งที่ผิดนั้นต้องมีโทษ  จะไปซัดว่าผู้ที่มาสั่งหรือใช้ให้ตนกระทำเช่นนั้น  เปนผู้ได้รับอำนาจความตั้งแต่งจากพระเจ้าแผ่นดิน  ตนจึงกระทำตามคำสั่ง  แลเมื่อตามกฎหมาย  พระเจ้าแผ่นดินเปนผู้กระทำสิ่งใดไม่มีผิด  ผู้ที่รับอำนาจความตั้งแต่งมาสั่งการตามหน้าที่  ก็คงต้องไม่มีผิด  เขาผู้กระทำตามก็ควรไม่มีผิด  จะเถียงเช่นนั้นไม่ได้  ผู้ใดกระทำตามคำสั่งหรือคำบังคับที่ผิดกฎหมายอาญาแล้ว  ต้องมีโทษตามโทษานุโทษ"


โดยดู ขุนหลวงพระไกรสี (เทียม). หลักกฎหมายอาญา : เปนคำอธิบายหัวข้อกฎหมายอาญาต่าง ๆ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร. รัตนโกสินทร ศก ๑๒๖. หน้า ๑๘ - ๒๐. 


_____________________________


๒.อำนาจอภิสิทธิ์ขององคาพยพของกษัตริย์



"ในการที่ศาลจะมีหมายถึงเจ้าพนักงานกรมอื่นให้ทำการอย่างใดนั้น  ขอให้ระวังบ้าง  ต่อการใดจำเปนที่เขาต้องทำตามกฎหมายจึ่งควรมีเปนหมายสั่งไป  ถ้าการสิ่งใดไม่มีกฎหมายบังคับ  ว่าเขาต้องทำตามคำสั่งของศาล ๆ ไม่ควรมีหมายไป  เพราะกระทรวงก็มีอำนาจเท่า ๆ กัน  ศาลจะบังคับเขาไม่ได้  ศาลควรแจ้งความไปตามทางราชการ...อีกอย่างหนึ่ง ก็เรื่องโจทก์ฟ้องกรมแลกระทรวงเปนจำเลย  ศาลอย่ามีหมายไปยังกรมอัยการเลย  ให้มีเปนหนังสือแจ้งความไปยังเจ้ากรมอัยการ  เพราะเขาจะมาแก้ความก็ได้ไม่มาก็ได้  ศาลบังคับกรมแลกระทรวงเหล่านั้นไม่ได้  เปนน่าที่โจทก์ต้องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา  ถ้ากรมแลกระทรวงจะมาแก้ความแล้วก็ได้  โดยเขาไม่ถืออำนาจ  ศาลจึ่งตัดสินได้เหมือนอย่างความธรรมดา... ขอให้เปนที่เข้าใจว่า  เขายอมให้ชำระเรื่องหนึ่ง  อย่าเข้าใจว่ายอมให้ชำระทุกเรื่อง  ต้องว่ากันเปนเรื่อง ๆ ไป"


โดยดู กฎที่ ๖๐ ว่าด้วยการที่ศาลจะมีหมายถึงกรมแลกระทรวงต่าง ๆ. กฎให้ไว้มาณวันที่ ๒๘ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙. โดยดู หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) . ประชุมกฎหมายไทย. ภาค ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๑. พระนคร : นิติสาส์น. หน้า ๕๔๒.


 _____________________________


๓.อำนาจอภิสิทธิ์ของญาติวงษ์กษัตริย์ในการทำผิดคดีอาญา



"ห้ามพระบรมวงษ์เธอต้องหาในคดีอาญา ให้ถือเหมือนอย่างข้าราชการชั้นสัญญาบัตร์...ให้ผู้พิพากษาทั้งปวงปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามกระแสพระบรมราชโองการ"


โดยดู กฎที่ ๖๑ ว่าด้วยเรื่องหม่อมห้ามต้องหาในคดีอาญา. กฎให้ไว้ ณ วันที่ ๑ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๓๐. โดยดู หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) . ประชุมกฎหมายไทย. ภาค ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๑. พระนคร : นิติสาส์น. หน้า ๕๖๒.


_____________________________


๔.ราม ร. (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) - ไม่ประกันหลักความชอบด้วยกฎหมายของนิติกรรมทางปกครอง แต่อีกนัยหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นการคุ้มครองหลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะอยู่เหมือนกัน หรืออีกนัยหนึ่ง อาจแสดงความ "ไม่ซับซ้อน" ปล่อยไปตามเรื่องตามราวของกษัตริย์ในสมัยนั้น



"เห็นว่าตามแบบธรรมเนียมแลประเพณีในกรุงสยามตามที่ได้เคยใช้มา  กฎเสนาบดีที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว  ก็ต้องนับว่าเปนกฎหมาย  โดยไม่มีข้อควรสงสัยเลย ส่วนปัญหาข้อที่ว่า  กฎเสนาบดีไม่ควรบัญญัติข้อความใดขึ้นให้นอกเหนือพระราชบัญญัติ  ซึ่งกฎนั้นเปนส่วนนั้น  ว่าตามใจเราก็เห็นว่าเปนความเห็นอันควรคำนึงอยู่  แลน่าจะกำหนดลงไว้ให้ชัดเจน. จะได้ให้พิจารณาเปนส่วน ๑. แต่ตราบใดเมื่อยังมิได้มีบทบัญญัติลงไว้เปนอย่างอื่น  จะถือเอาความเห็นมาอ้างเปนข้อลบล้างตัดทอนอำนาจแห่งเสนาบดีใด ๆ นั้น ไม่เปนการสมควร  ศาลต้องพิพากษาตามบทกฎหมายและนิติประเพณีของกรุงสยามที่มีอยู่  เพราะฉนั้นให้ศาลฎีกาพิพากษาคดีไปตามกฎเสนาบดี...อันเปนบทบัญญัติในเรื่องนี้นั้นเถิดฯ"


โดยดู พระบรมราชวินิจฉัย ๒๕/๒๓๐ พระราชวังพญาไท วันที่ ๓ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ ตอบหนังสือนำคำปฤกษาศาลฎีกาในคดีที่ ๔๔๐, ๖๑๗, ๖๑๘, ๖๑๙, พ.ศ. ๒๔๖๔ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยดู ธร์มสาร. เล่ม ๗ คำพิพากษาฎีกา พ.ศ.๒๔๖๖. หน้า ๒๗๑ - ๒๗๒.


_____________________________


๕.พระยาจินดาภิรมย์ (จิตร ณ สงขลา). พระยาเทพวิทุรฯ (บุญช่วย วณิกกุล). พระยามานราชเสวี (ปลอดวิเชียร ณ สงขลา)



"กฎหมายที่เปนบทบัญญัติ...ต้องเปนพระราชกำหนดแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฤๅอีกนัยหนึ่ง คือเปนบัญญัติของผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน... 


อนึ่ง กฎเสนาบดี  ฤๅกฎข้อบังคับใด ๆ ที่ได้ออกโดยถูกต้องตามอำนาจที่มีอยู่ในกฎหมาย  ก็เปนบทบังคับคดีได้อย่างกฎหมาย  แต่ไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย  เพราะไม่ใช่พระราชกำหนดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เปนแต่เมื่อไดออกโดยถูกต้องแล้วมีผลในการบังคับคดีได้อย่างกฎหมาย  ข้อสำคัญที่ต่างกันก็คือ  ในส่วนกฎหมายศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจที่จะยกขึ้นพิจารณาวินิจฉัยว่าผิดฤๅถูก  ชอบฤๅมิชอบ  ควรฤๅมิควร  แต่ในส่วนกฎเสนาบดีฤๅกฎข้อบังคับอื่น ๆ ศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าได้ออกโดยชอบฤๅไม่"


โดยดู พระยาจินดาภิรมย์ (จิตร ณ สงขลา). พระยาเทพวิทุรฯ (บุญช่วย วณิกกุล). พระยามานราชเสวี (ปลอดวิเชียร ณ สงขลา). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร. ๒๔๖๗. หน้า ๑๑ - ๑๒.


_____________________________ 


๖.นายจรูญ จันทรสมบูรณ์ (บิดาของ นายอมร จันทรสมบูรณ์)



"พระเจ้าแผ่นดินที่สมบูรณาญาสิทธิราช พระองค์ย่อมมีอำนาจเหนือกฎหมาย เพราะพระองค์เป็นบุคคลที่เป็นประมุขแห่งราษฎร  ไม่มีฐานะอย่างเอกชนธรรมดา  พระองค์เป็นองค์รัฐบาล  รัฐบาลจะอยู่ใต้บังคับของตนเองย่อมไม่ได้  พระเจ้าแผ่นดินได้บัญญัติกฎหมายไว้สำหรับบังคับราษฎรพลเมือง  ข้อบัญญัตินั้นจะบังคับพระองค์เองโดยกฎหมายของพระองค์เองนั้นเป็นสิ่งที่มี ไม่ได้  เปรียบประดุจข้อบังคับของอาจารย์ที่ใช้บังคับศิษย์  ข้อบังคับสำหรับศิษย์นั้นจะใช้บังคับแก่อาจารย์ไม่ได้  การจะอย่างไรก็ต้องแล้วแต่อาจารย์จะเห็นควร  มีสุภาษิตกฎหมายเกี่ยวกับข้อนี้อยู่ว่า  "กษัตริย์กระทำสิ่งที่ผิดไม่ได้" (Res non potes peccare) และ "กษัตริย์ไม่ถูกผูกพันโดยประกาศพระราชบัญญัติ  ถ้ามิได้ผูกพันกล่าวพระนามไว้ประจักษ์แจ้ง" (Roy n'est lie par ascun statute s'il ne soit expressement nosme)


เพราะเหตุที่กฎหมายมีลักษณะเช่นนี้  รัฐบาลทุกประเทศจึงมีอำนาจที่จะแก้ไขกฎหมายหรือยกโทษให้แก่นักโทษได้ในทุก ขณะที่เหมาะสมแก่รัฐประศาสนโยบาย...


พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ.๑๒๗ มาตรา ๕  ซึ่งมีบัญญัติไว้ตอนหนึ่งว่า  "กล่าวโทษเสนาบดีเจ้ากระทรวงทั้งปวง  ในข้อที่เกี่ยวด้วยหน้าที่ราชการ  ห้ามไม่ให้ฟ้องยังโรงศาล" ทั้งนี้เพราะเสนาบดีเป็นผู้แทนกระทรวง  กระทรวงต่าง ๆ ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล  รัฐบาลย่อมรับผิดชอบในข้อที่เกี่ยวด้วยราชการ  ถ้ายอมให้ฟ้องเสนาบดียังโรงศาล ก็เท่ากับยอมให้ฟ้องรัฐบาลตามโรงศาลตามกฏหมาย  ซึงศาลและกฎหมายตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเอง  ก็จะเรียกว่า รัฐบาลมีอำนาจสูงสุดไม่ได้"


โดยดู จรูญ จันทรสมบูรณ์. ว่าด้วยกฎหมาย. ภาค ๑. ตอนที่ ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๑. ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์. ๒๔๗๑. หน้า ๒๑ - ๒๓.


_____________________________


๗.มหาอำมาตย์ตรี พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี)



"จำเลยเป็นโรคเกี่ยวกับสมองและหายไม่ปกติ  ในบางเวลาจำเลยคิดว่าตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจฆ่าคนได้ในขณะที่จำเลยมีความคิดดังนั้น  จำเลยได้จับตัวคนใช้ในบ้านของจำเลยมาลงอาชญาจนตาย  โดยคิดว่าผู้ตายเป็นกบฏต่อจำเลยซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดิน...จำเลยมีสติเขวถือ ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจฆ่าคนกบฏได้  เมื่อเป็นเช่นนี้ตามกฎหมายอังกฤษและอินเดียถือกันว่าจำเลยไม่มีผิด


ที่ไม่เอาโทษก็เพราะถือเอาเกณฑ์ความคิดของจำเลยที่หลงคิดไปเช่นนั้นขึ้นตั้ง คือยอมสมมติว่าถ้าการได้เป็นไปจริงดังที่จำเลยคิด  จำเลยจะทำได้ไม่เป็นผิดแล้ว  กฎหมายก็ไม่เอาโทษ  แต่ถ้าแม้เป็นความจริงจำเลยก็ยังมีความผิดฉะนี้แล้วข้อวิกลจริตของจำเลยก็ไม่เป็นข้อแก้ตัวได้"


โดยดู มหาอำมาตย์ตรี พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี). คำอธิบายกฎหมายลักษณอาชญา ภาค ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑. พระนคร : อักษรนิติ. ๒๔๗๕. หน้า ๑๗๓.


_____________________________


ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) วิพากษ์ The King can do no wrong ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์?


อย่างไรก็ดี ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกัน กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา - นามปากกา) กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้น่าสนใจในบทความ "มนุษยภาพ" เผยแพร่ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์ศรีกรุง, วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๔ บางตอนดังนี้


"วิทยาศาสตร์ของการโกหกตอแหลกำลังก้าวหน้า...การโกหกตอแหล การหลอกลวง ได้ก่อกำเนิดจากคณะรัฐบาล และหมู่ชนชั้นสูง...และเมื่อคิดถึงว่า อำนาจเป็นสิ่งบันดาลความนิยม และอำนาจในทุกวันนี้ เราหมายกันถึงเงินกับชั้นสูง ฉะนั้นเราจะไม่เตรียมตัวไว้ตกใจกันบ้างหรือว่า วิทยาศาสตร์ของการโกหกตอแหลจะแพร่หลาย และนิยมกันทั่วไปในบ้านเรา


ข้าพเจ้าว่า อำนาจบันดาลความนิยม และอำนาจคือเงินกับชั้นสูงนั้น เป็นการแน่แท้ด้วยอะไรที่เงินหรือชนชั้นสูงกระทำ เราถือว่าเป็นถูกต้องควรนิยมทุกอย่าง จนถึงกับมีศัพท์บ้า ๆ อะไรเกิดขึ้นคำหนึ่งว่า ปาปมุติ คือผู้ไม่รู้จักมีบาป ผู้ทำอะไรไม่ผิด  หรือมิยอมให้ว่าเป็นถูก นั่นมันเป็นการที่ต่างหลอกลวง อย่างนี้ซึ่งสิ่งใดผิดถูกชอบที่จะให้ขาวเพื่อประโยชน์ของชนชั้นสูง ที่เราพากันเชื่อถืองมงายเช่นนี้ แสดงว่าเราไม่สู้หน้ากับความเป็นจริงนั้น ไม่เห็นปรากฏมีใครในโลกที่จะทำอะไรไม่ผิดเลย ถึงท่านเจ้าของลัทธิหรือศาสดาทั้งหลาย อันมีผู้เคารพสักการะทั่วโลกก็ยังปรากฏว่าได้เคยคิดหรือทำอะไรผิดมาเหมือนกัน..."


โดยดู กุหลาบ สายประดิษฐ์,  มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : ข้อเขียนการเมืองของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์, (สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ), กรุงเทพ : คณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ "ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย", ๒๕๔๘. 


 


[ยุติสำหรับส่วนนี้] 



โปรดติดตามตอนต่อไป ความคิดเรื่องหลัก The King can do no wrong ในสมัยประชาธิปไตย , เมื่อเวลาของข้าพเจ้าอำนวย.


 

บทวิจารณ์ร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ : ความเพิกเฉยต่อปัญหาการโยนภาระให้เอกชนแบกรับหน้าที่ให้บริการภายหลังสัญญาอนุญาตฯ/ใบอนุญาตฯสิ้นสุดเป็นการชั่วคราว

บทวิจารณ์ร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ :  ความเพิกเฉยต่อปัญหาการโยนภาระให้เอกชนแบกรับหน้าที่ให้บริการภายหลังสัญญาอนุญาตฯ/ใบอนุญาตฯสิ้นสุดเป็นการชั่วคราว

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล