อำนาจบาทใหญ่ของคณะเจ้ารัชกาลที่ ๗ ช่วงก่อน ๒๔๗๕ : เจ้าทะเลาะกับราษฎร (กรณีนายจงใจภักดิ์)
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, ค้นคว้า-เรียบเรียง
จากบทความในหนังสือพิมพ์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้การคุ้มครองทางกฎหมายจากการเป็นคนในบังคับตามสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทำให้เราได้เห็นเสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์ที่เสียดสีเย้ยหยันต่อ "ระบอบเก่า" หรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยนั้นอย่างแพร่หลาย ถึงขนาดล้อเลียนเป็นลำตัด (ดังปรากฏในตอนท้าย) แต่หักมุมด้วย "ทรงพระเจริญ" อย่างชวนขัน (เมื่อ ๒๔๗๑) ผมคัดบทความ ๓ บทความฉบับเต็มจากหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ* มาให้ท่านอ่านกันตามลำดับของวันตามปฏิทิน ดังนี้
(พาดหัว) "ราษฎรดูหมิ่นเจ้าด้วยกายแลวาจา.......เจ้าไม่ใช่คนธรรมดา" ใน หนังสือพิมพ์ไทยหนุ่มฉบับพิเศษ, ประจำวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๗๑
เรื่องวิวาทระหว่างเจ้ากับราษฎรเปนคดีเกี่ยวแก่การเมืองในประเทศด้วย
คดีชนิดนี้ นักการเมืองเปรียบความไว้ว่า เหมือนไต่ไม้ลำเดียว
เปนธรรมดาของสภาพแห่งหมู่ชนหมู่ใหญ่ ๆ ย่อมจักต้องมีเหตุการณ์อะไรต่อมิอะไรอื้อฉาวซู่ซ่าอุบัติขึ้นไม่หยุดหย่อน แต่พอเรื่องหนึ่งซาลงก็มีเรื่องใหม่แทนต่อ ๆ ไปหาสิ้นสุดมิได้ เช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการยิงกันกลางพระนคร พอเรื่องยิงกันกลางพระนครสงบ ก็มีเรื่องหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์กับนายจงใจภักดิ์ ซึ่งเวลานี้ประชาชนกำลังตื่นเต้นเอาใจใส่กันอยู่มากไม่น้อยหน้ากว่าเรื่องยิงกันกลางพระนครนั้นเลย เรื่องนี้ชั้นต้นก็เงียบเชียบอยู่แต่พอได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเสร็จแล้ว เปิดเผยให้ประชาชนทราบจึงพึ่งมาโด่งดังกึกก้องขึ้นในสัปดาห์นี้
กรณีย์เหตุแห่งเรื่องนี้คือ เมื่อวันที่ ๓ พฤศภาคม พ.ศ. นี้ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ ได้ทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกล่าวโทษนายจงใจภักดิ์เปนจำเลยที่ ๑ พระอภัยวงศ์ วรเสรฐเปนจำเลยที่ ๒ รวมความว่า
๑. นายจงใจภักดิ์ จำเลยยกกระเป๋าข้ามพระเศียรโจทก์
๒. เอื้อมมือข้ามพระเศียรหม่อมหญิงวรรณวิลัย
๓. ทุบพระหัตถ์โจทก์
๔. กล่าวคำหมิ่นประมาทโจทก์ผู้เปนเชื้อพระวงศ์
๕. ชกต่อยนายกาเอตตี ซึ่งเปนพรรคพวกของโจทก์
๖. จำเลยที่ ๒ ได้อยู่ในที่ใกล้ชิดและได้เห็นเหตุการณ์ทั้งนี้ แต่นั่งนิ่งเสียไม่เอาธุระห้ามปรามจำเลยที่ ๑
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับฎีกานั้นแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางผู้ใหญ่ ๕ คนเปนกรรมการไต่สวนคือ
๑. เจ้าพระยาวรพงศ์
๒. พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์
๓. พระยาบำเรอภักดิ์
๔. พระยาศรีวิกรมาทิตย์
๕. พระยามหาเทพ
คณะกรรมการได้มีจดหมายเรียกตัวนายจงใจภักดิ์ ให้ไปพบกับคณะกรรมการในวันที่ ๘ เดือนเดียวกันนั้น
นายจงใจภักดิ์ได้ยื่นคำให้การมีใจความว่า
๑. ในวันที่เกิดเหตุนั้นจำเลยจะโดยสานรถไฟไปหัวหินพร้อมด้วยบุตรภรรยาและพระอภัยวงศ์กับครอบครัวของพระอภัยวงศ์ฯ ด้วย เมื่อไปถึงสถานีเปนเวลาจวนแจรถไฟกำลังจะออก จำเลยจึงขึ้นไปบนรถไฟโดยรีบร้อน พอรถสาลี่สำหรับบรรทุกของมาถึงตรงน่าต่าง จำเลยก็เอื้อมมือไปรับสิ่งของเข้าทางน่าต่าง เพื่อให้เปนการเร็วเข้า
๒. ในระหว่างที่จำเลยรับสิ่งของทางน่าต่างนั้น มีชายผู้หนึ่งแต่งกายนุ่งกางเกงขาสั้นใส่เสื้อชั้นนอกแบะคอไม่มีเนกไต สวมหมวกหนังมายืนอยู่ที่ชานชะลาและร้องตวาดว่า "เฮ้ยขนเข้าไปทางประตูซิหว่า" จำเลยเหลียดไปดูไม่รู้จักว่าโจทก์เปนใคร รู้แต่ว่าไม่ใช่เปนเจ้าน่าที่รถไฟเพราะไม่ได้แต่งยุนิฟอร์ม เพราะฉนั้นจำเลยจึงไม่เอาใจใส่ต่อคำสั่งของโจทก์ และด้วยเหตุที่ของยังมีอยู่อีกมากจึงรีบรับของต่อไปเพื่อจะให้ของหมดก่อนเวลารถออกเดิน ทันใดนั้นโจทก์ตรงเข้ามาใช้กำลังกายฉุดกระชากกระเป๋าและปัดมือจำเลย ๆ จึงเอามืออีกข้างหนึ่งปัดมือโจทก์ไปบ้าง โจทก์กลับร้องด่าท้าทายจำเลยด้วยถ้อยคำทารุณหยาบช้าและกล่าวว่ามึงไม่รู้หรือว่ากูเปนใคร !
๓. จำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจชอบธรรมอย่างใดที่จะมายื้อแย่งขัดขวางทำร้ายร่างกายและกล่าวคำทารุณหยาบช้าหมิ่นประมาทโจทก์ ต่อหน้าธารกำนันเช่นนั้น จำเลยจึงได้ลงจากรถไปต่อว่าโจทก์ทันที โจทก์จึงให้ฝรั่งผู้หนึ่ง (ซึ่งภายหลังจำเลยทราบว่าชื่อนายกาเอตตี รับราชการอยู่ที่กรมศิลปากร) เข้ามารับหน้าแทน และฝรั่งนั้นได้ด่าจำเลยว่า อ้ายคนไทยบ้า แล้วใช้กำลังกายผลักใสชกต่อยจำเลยถูกริมฝีปากจำเลยแตกโลหิตไหล จำเลยจึงจำเปนต้องกระทำการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวในระหว่างนั้นได้มีชายผู้หนึ่งไปห้ามนายกาเอตตีว่า เรื่องนี้เปนเรื่องระหว่างคนไทยกับคนไทยด้วยกัน ท่านเปนฝรั่งไม่ควรเข้าเกี่ยวข้องนายกาเอตตีชกชายผู้นั้น ๆ จึงชกตอบ จำเลยหาได้ชกไม่ ฝูงชนที่อยู่ใกล้ ๆ ได้เห็นเหตุนี้ได้พากันเลือดร้อนชูกำปั้นเข้าใส่โจทก์ ๆ กลัวจึงรีบขึ้นไปนั่งบนรถไฟ
เมื่อคณะกรรมการไต่สวนเสร็จแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลดนนายจงใจภักดิ์ ออกจากราชการ ส่วนพระอภัยวงศ์วรเสรฐ ผู้ซึ่งนั่งดูด้วยเหมือนกับไม่ใช่ใจมนุษย์นั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าน่าที่กระทรวงวังตำหนิโทษไว้
การที่ได้ทรงลงทัณฑ์แก่จำเลยอย่างเบาฉนี้ นับเปนพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ธรรมเนียมไทยเรานั้นถือกันว่าเจ้าเปนสมมตเทวะดา และเชื้อพระวงศ์ทั้งปวงก็เปนเชื้อพระวงศ์แห่งสมมตเทวดา เปนที่เคารพนับถืออย่างสูงสุด ในการก่อน ๆ ยิ่งถือกันเคร่งครัดนัก ใครเดินผ่านหน้าวังเจ้าโดยนุ่งผ้าลอยชายหรือแต่งตัวไม่เรียบร้อย อาจถูกจับไปเฆี่ยนหลังเสียเกือบตายก็ได้ หม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ล่วงเกินราษฎรคนใด ราษฎรคนนั้นก็ต้องยอมอ่อนน้อยไม่โต้เถียงหรือโกรธตอบเจ้า ดังนี้ย่อมถูกต้องตามนิติอันดี และเปนศิริมงคลแก่ตัวของตัวเอง
การที่นายจงใจภักดิ์ บังอาจกระทำการขัดคำสั่งของเจ้าแลปัดพระหัตถ์เจ้าฯ ลงดังนี้ เราเห็นว่าเปนการผิดประเพณีของชาติไทยอย่างร้ายแรง สมควรที่จะต้องได้รับโทษแล้ว
เราใคร่แสดงความเห็นต่อไปอีกสักหน่อยว่า เวลานี้พวกหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์มีอยู่เปนจำนวนมากมาย พวกราษฎรหญิงชายผู้ใหญ่เด็กทั้งหลาย ควรพยายามรู้จักพระภักตราท่านไว้โดยทั่วถึง เมื่อพบปะพระองค์หนึ่งพระองค์ใด จะได้รู้จักและนอบน้อมเคารพไม่ทำขัดขืนให้มีเหตุอันน่าสลดใจเช่นอย่างนายจงใจภักดิ์นี้ และเราขอแนะนำต่อไปว่า พวกราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้านั้น พวกราษฎรโดยมากไม่ใคร่จะรู้จักพระภักตรา ถ้าจะทรงติดเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ผูกเสมาทองคำ ทำรูปอย่างหนึ่งอย่างใดเปนพิเศษ หรือสวมพระมาลามีผ้าพันเปนสีพิเศษดังนี้ ก็จะเปนประโยชน์ ช่วยป้องกันภยันตรายอันจะเกิดแก่ราษฎรผู้โง่เขลาเบาปัญญาไม่รู้จักเจ้านั้นได้บ้าง
_______________
บทความ "ไม่รู้จักจ้าว" ใน หนังสือพิมพ์หลักเมือง, ฉบับประจำวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๗๑
เรื่องที่ประชาชนและหนังสือพิมพ์เอาใจใส่ถกกันเปนปัญหาประจำวันอยู่เวลานี้ก็คือ "เรื่องหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กับนายจงใจภักดิ์" กรณีที่เกิดขึ้นก็เนื่องจากนายจงใจภักดิ์ไม่รู้จักจ้าว จึงเปนเหตุทำให้เคืองขุ่นในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ในที่สุดทรงพระบรมราชวินิจฉัยให้นายจงใจภักดิ์ออกจากราชการและให้กระทรวงวังตำหนิโทษพระอภัยวงศ์วรเศรษฐในฐานไม่ห้ามปรามด้วยอีกผู้หนึ่ง นายจงใจภักดิ์กับพระอภัยฯ ก็ถือว่าตัวยังไม่ควรมีความผิดจึงได้ทำคำแถลงการณ์ยื่นต่อคณะกรรมการ เมื่อคณะกรรมการไต่สวนแล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระบรมราชวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว นายจงใจภักดิ์กับพระอภัยฯ คงจะยังถือว่าตัวยังไม่ควรมีความผิดอยู่นั่นเอง จึงได้ไปสมคบกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ นำข่าวซึ่งตัวถือว่ายังไม่มีความผิดมาลงให้เปนเรื่องอื้อฉาวในหมู่ประชาชนต่อไป ความประสงค์ของนายจงใจภักดิ์กับพระอภัยฯ ซึ่งได้สมคบกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ลงข่าวประกาศให้ประชาชนเห็นว่าเขายังไม่ควรมีความผิด แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระบรมราชวินิจฉัยว่าเปนผิดดังนี้เปนการสมควรหรือไม่เพื่อขอให้ประชาชนหมู่มากวินิจฉัยกันอีกชั้นหนึ่ง
แต่ความจริงหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์และนายจงใจภักดิ์หรือพระอภัยฯ ย่อมทราบประเพณีของเมืองไทยอยู่แล้วเปนอย่างดีว่า ประชาชนพลเมืองของไทยมีความจงรักภักดีต่อจ้าวอย่างไม่ลืมตามาแล้วแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ แม้จ้าวจักสิ้นพระชนม์ไปแล้ว หรือพวกที่อยู่ห่างไกลจ้าวก็อุตส่าห์สร้างศาลจ้าวขึ้นกราบไหว้ รวมความว่าจ้าวจะทำอะไร ๆ ประชาชนพลเมืองก็ไม่อยากจะรับรู้ว่าไม่ดี ด้วยฝังใจบูชากันเสียแล้วว่า จ้าวทำอะไรจะต้องดีเสมอจนมีภาษิตติดปากว่า "จ้าวว่างามก็ให้งามไปตามจ้าว" ดังน้ความประสงค์ของกรุงเทพฯ เดลิเมล์และนายจงใจภักดิ์ หรือพระอภัยฯ ย่อมไม่ได้รับผล ด้วยทุก ๆ คนต้องว่าพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปนยุติธรรมดีทั้งนั้นไม่มีใครจะว่าไม่เปนยุติธรรม เมื่อกรุงเทพฯ เดลิเมล์และนายจงใจภักดิ์ หรือพระอภัยฯ ย่อมทราบดีแล้วว่าไม่มีใครจะรับเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วนั้นวินิจฉัยให้นายจงใจภักดิ์และพระอภัยฯ ให้เปนผู้ไม่ผิดได้ด้วยเปนการผิดประเพณี
เมื่อความประสงค์ของกรุงเทพฯ เดลิเมล์และนายจงใจภักดิ์หรือพระอภัยฯ ดังกล่าวแล้วข้างต้นรู้ดีแล้วว่าเปนไปไม่ได้ จึงเกิดมีปัญหาต่อไปอีกว่า การที่กรุงเทพฯ เดลิเมล์และนายจงใจภักดิ์หรือพระอภัยฯ สมคบกันนำเรื่องมาโฆษณาในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์นั้นเพื่อประสงค์อะไร ๖๖๖ เขียนลงในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เมื่อวันที่ ๑๐ อ้างหลักประเพณีโบราณมาพูด เห็นว่าเปนการฝ่าฝืนประเพณีเปนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่หยอดท้ายไว้ว่า นายจงใจภักดิ์ไม่รู้จักหม่อมเจ้าอิทธิเทพฯ ด้วยจ้าวไม่มีเครื่องหมายอะไร ให้แปลกไปจากคนสามัญ นายจงใจภักดิ์จึงได้บังอาจโต้เถียงจ้าว ในที่สุดก็เห็นพ้องด้วยพระบรมราชวินิจฉัย โดยเห็นว่าจะได้เปนตัวอย่างแก่บรรดาข้าราชการและประชาชนจักให้คอยเอาใจเรื่องจ้าวนายต่อไปมิฉนั้นจะพากันเพิกเฉยทำไม่รู้จักจ้าวเสีย หนังสือพิมพ์ไทยหนุ่มฉบับวันที่ ๙ เดือนนี้ เห็นว่าการที่นายจงใจภักดิ์กระทำนั้น เปนการผิดประเพณีเท่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรมราชวินิจฉัยลงทัณฑ์แก่จำเลยนั้น เปนโทษอย่างเบานับว่าเปนพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นโดยอ้างเอาประเพณีโบราณขึ้นเปนบรรทัดถานคล้ายกับ ๖๖๖ ในหนังสือพิมพ์หลักเมือง แต่ออกความเห็นว่าจ้าวควรมีเครื่องหมายด้วยมีอยู่มากมายเหลือที่ประชาชนพลเมืองจะได้รู้จักถ้วนทั่ว เกรงว่าจะมีเรื่องอันไม่งามดังนี้เกิดขึ้นอีก สำหรับข้าพเจ้าก็มีความเห็นพ้องด้วยทุกประการ เพราะประเพณีของเรานิยมกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า "จ้าวว่างามก็ให้งามไปตามจ้าว" ถือกันว่าการกระทำดังนั้นย่อมเปนผู้ไม่มีภัยไม่มีเวร จ้าวจะทำอะไร ๆ ก็สุดแล้วแต่จ้าว และประชาชนพลเมืองไทยเราก็ถือกันมาอย่างจริงจัง ไม่ว่าอะไร ๆ แล้วแต่จ้าวจะทรงบันดาลยอมรับใส่เกล้าฯ ทั้งสิ้นไม่ปรากฏว่าใครมีเสียง
เพราะฉนั้นการที่นายจงใจภักดิ์และพระอภัยฯ สมคบกับเดลิเมล์กระทำการฝ่าฝืนประเพณีนิยมดังกล่าวมาแล้วนั้นจะให้ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนผู้ไม่ผิดด้วยไม่ได้ ต่อให้ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าก็ไม่อาจจะกลับใจได้ ข้าพเจ้ากลับเห็นว่านายจงใจภักดิ์และพระอภัยฯ สมคบกับเดลิเมล์นำเอาเรื่องเช่นนี้มาโฆษณานั้นเปนการยุยงส่งเสริมให้ประชาชนพลเมืองของท่านกระด้างกระเดื้องต่อจ้าว สำหรับข้าพเจ้าเองเมื่ออ่านเดลิเมล์วันแรกที่นำเรื่องนี้ลง รู้สึกว่าใจคอของข้าพเจ้าออกจะผิดปรกติไป แต่พอนึกรู้เท่าว่านิสัยของหลวงสาราฯ ทะแรกไม่ชอบความสงบ และทั้งมาได้อ่านหนังสือพิมพ์หลักเมืองและไทยหนุ่ม ข้าพเจ้าจึงกลับทันที อ้อ พวกนี้จะมาชวนให้ข้าพเจ้าเสียคนเสียแล้ว แต่ท่านผู้อื่นจะเปนอย่างไร ข้าพเจ้าไม่ทราบ ๆ แต่ว่าเมื่อเขาทราบข่าวเรื่องที่เดลิเมล์นำมาลงแล้วทำให้ใจคอผิดปรกติดังที่ข้าพเจ้าได้อ่านได้พบคราวแรกเหมือนกัน เมื่อข้าพเจ้ารู้สึกแล้วจึงได้จับปากกาขึ้นเขียน เพื่อเปนการเตือนใจผู้อื่นต่อไปว่าอย่าได้มีความเห็นเปนบ้าไปตามหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ควรนึกถึงกำพืชของหลวงสาราฯ ไว้
_______________
บทความ "สอนพระอภัยฯ กับนายจงใจภักดิ์ให้รู้จักค่าของเจ้า" ใน หนังสือพิมพ์หลักเมือง, ฉบับประจำวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๗๑.
(ลำตัด) "ลูกคู่, น้องเอ๋ยน้องรัก จงเร่งรู้จักนี่แหละหลักธรณี เจ้าเปนเพียงกาอย่าชล่าเลอหงส์ เจ้าคือโคดง อย่าเทียมองค์ราชสีห์
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากระท้อน เจ้าเปนกาษร อย่าทานกรโกษี
มีเรื่องเกรียวกราว ระหว่างจ้าวกับราษฎร์ จนระคายพระบาทพระจอมราชย์จักรี โปรให้ไต่สวน ว่าใครควรมีผิดเกี่ยวแก่วงศ์เทวฤทธิ์ จะเสื่อมสิทธิเสียศรี
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งการะบูน บรมราชประยูร สมบูรณ์ดั่งดวงระพี
กรณีย์เหตุว่า เมื่อพฤศภาที่ ๓ ซึ่งเปนวันเกิดความ เรื่องหยามวงศ์จักรี ท่านอิทธิเทพสรรค์มีศักดิ์ชั้นหม่อมเจ้าทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายไทยธิบดี
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งกะเพรา ทรงถือศักดิ์ หม่อมเจ้ากรากเข้าถึงพระที่
ในสำเนาฎีกา ว่านายจงใจภักดิ์ หมิ่นพระเกียติศักดิ์ พระราชวงศ์จักรี คือกล่าวคำหยาบหยาม ยกของข้ามพระเศียรผิดด้วยกฎมณเฑียร แลชกนายกาเอตตี
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งพุตตาล นี่สมัยโบราณ ก๊ประหารชีวี !
แลพระอภัยวงศ์ ฯ พี่นายจงใจภักดิ์ เห็นเหตุร้ายไม่ยักช่วยข้างวงศ์จักรีกลับนั่งเฉยเชือน แบะแฉะเหมือนชอบใจ ควรมีโทษด้วยไซร้ ไม่น่าโปรดปรานี
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ่้-เจ้ากิ่งคัดเค้า เธอทรงฟ้องอย่างเจ้า เอาให้ยับหม่อมพี่
ทราบถึงพระโสต โปรดให้รับฎีกา ตั้งเจ้าคุณทั้ง ๕ พิจารณาคดี คือเจ้าคุณวรพงศ์, เทเวศร์วงศ์วิวัฒน์, บำเรอภักดิ พูนสัจจ์, มหาเทพ, พระยาศรีฯ
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งลำดวน ควรเตรียมหวายกับตรวนตามกระบวนประเพณี
ฝ่ายนายจงใจภักดิ์ แก้เหตุยักเยื้องว่า สถานที่ต้องหา นั้นกลางชลาสถานี ครอบครัวนายจงฯ กับพระอภัยวงศ์วรเสรฐเตรียมตัวประเวศ ณ หัวหินถิ่นซี้
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งลำใย จวนที่รถสายใต้ จะออกไปเต็มที
จวนแจเต็มทน ใจก็ชักรนร้อน จึงขนของขึ้นก่อน ผ่อนจากรถสาลี ขนขึ้นทางน่าต่างเข้ามาวางในรถ ยังมิทันจะหมดก็เกิดเรื่องบัดสี
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งอบเชย มีเสียงร้องฮะเฮ้ย ใครวะเหวยอวดดี
อุบ๊ะ, กีดขวาง ทางน่าต่างเกะกะ ทางประตูซีวะ ชิชะ อ้ายหมอนี่ แล้วเอื้อมพระหัตถ์มาปัดมือนายจงฯ ห้ามมิให้ขนส่ง แย่งขนลงเร็วรี่
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งกะเบา เธอมีศักดิ์เปนเจ้า เกรงใครเล่าหม่อมพี่
นายจง ฯ เพ่งพิศ เห็นท่านอิทธิเทพสวรรค์ ทรงกางเกงสั้นดูก๋ากั่นเต็มที ทรงพระมาลาหนังจะว่าหรั่งก็ไกล เสื้อแบะยกเปิดไหล่ ทั้งเน๊กไตไม่มี
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งดาวกระจาย จ้าวถ้าทรงเครื่องหมายถ้าจะดูง่ายดี
นายจงฯ ไม่รู้จัก ทั้งไม่ทักไม่ถาม เห็นทรงพระลวนลามพล่ามหยาบช้าป่นปี้ จึงขนของเรื่อยไป มิหมั่นไหวในท่าน เพราะมิใช่พนักงาน ผู้ทำการตามน่าที่
เจ้าก้านกระทิง ชะโอ้-เจ้ากิ่งโตนด ทำเฉยเหมือนทาโฉด ทรงพิโรธเร็วรี่
ท่านอิทธิ์ฯ องอาจ แผ่อำนาจโตใหญ่ ร้องว่ากูคือใคร รู้หรือไม่หมอนี่? ทรงกล่าวคำหยาบช้าต่อหน้าธาระกำนัล มุด้วยเหตุโมหันธ์ นึกน่าขันเหลือดี
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งหงอนไก่ นี่เปนแจ้งความอย่างใหม่ให้เขาเห็นรัศมี
พอขนเสร็จนายจงฯ จึงตรงเข้าถามว่า เมื่อกี้ท่านดุด่า ว่าใครเสียป่นปี้ นายเอตตีฝรั่งจึงเก้กังเข้าขวาง ปล่อยหมัดล่ำต้ำผาง ปากนายจงฯ เลือดปรี่
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งมะไฟ เรื่องของไทยกับไทย ฝรั่งไพล่เห็นดี
นายจงฯ ชาติชาย จึงเสยหงายหมัดสวบถูกฝรั่งดังกรวบเจ๊กที่ดูร้องซี้ คนดูข้าง ๆ จึงเข้าขวางเอาไว้ กลัวฝรั่งกับไทยจะเสื่อกษัยไมตรี
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งกล้วยไม้ อันฝรั่งกับไทย ย่อมจอดใจสามัคคี
สิ้นคำนายจงฯ พระอภัยวงศ์ก็แก้ ว่าจะได้ไม่แน่ว่าท่านอิทธิฯ บดี เพราะเห็นทรงกรอกกร๋อยคล้าย ๆ บ๋อยฝรั่ง เลยไม่นิ่งอินังทั้งเห็นกำลังเต็มที่
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งกระแบก นี่ครั้งกรุงยังไม่แตก คุณพระต้องแหลกเปนผี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพิจารณ์ทั่ว ในสำนวนคดี เห็นนายจงใจภักดิ์ ประพฤติกักขลาการ จึงทรงพระโปรดปรานให้ถอดศักดิ์ทันที
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งข้าวโพด พระอภัยฯ ผู้หนักโอษฐ์ให้ติโทษราคี
เตี้ยขอวันทา พระกรุณานี้นัก เพราะนายจงใจภักดิ์ และพระอภัยฯ ผู้พี่ สองมนุษสุดผิด ทำอวดอิทธิองอาจ ควรหรือหมิ่นประมาทพระราชวงศ์จักรี
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งสค้าน นี่เปนครั้งบุราณ คงถูกประหารชีวี
อันกษัตรวงษ์ย่อมทรงศักดิ์ สง่า เด่นอยู่เหนือเกษา ไพร่อยู่ใต้ธุลี คือสมมุติเทวะ หน่อพระพุทธางกูร เพียบสมภารเพิ่มพูลมูลพระบารมี
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งต้นไทร ฉนั้นเมื่อจ้าวเข้าใกล้ย่อมกันซวยได้เจ็ดปี
หน่อเนื้อเชื้อสายนารายณ์อวตาร สมภพเพื่อผลาญ หมู่มารร้ายกาลี พระเดชคืออาทิตย์ อันเกริกอิทธิ์แสนอุ่น พระกรุณาธิคุณคือมหานที
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งอัญชัน ย่อมมาจากสวรรค์ คือเผ่าพันธุ์โกษี
มันใดใจอาจหมิ่นประมาทราชวงศ์ พระเจ้าย่อมทรงลงโทษมันทันที อันพระราชวงศ์ คือสกุลหงส์อันสูง ไม่สมควรที่ยูง จะเขย่งย่ำยี
เจ้าก้านกระทิง-ชะโอ้-เจ้ากิ่งคัดค้าว ใครประมาทหมิ่นเจ้าย่อมคลุกเคล้ากาลี
เรื่องนี้คลีวาง เปนตัวอย่างอันเลิศ เชิญมวลไทยมองเถิดจะเกิดความงามดี ไทยเอยเพื่อนไทย จงมุ่งใจจอดรัก บูชาเกียรติกราบศักดิ์ของราชวงศ์จักรี
ไชยเจ้าเอ๋ยไชยไชยไทยเราคงเปนไทยอยู่ใต้ร่มจักรี
ควรเคารพเสมอเพียรบำเรอบำรุงชูชาติเรืองรุ่ง ผดุงสาสน์เสรีรักบรมราชวงศ์เปนเผ่าพงศ์ผ่านฟ้า ปกอยู่เหนือเกษาไม่ฉันทาราคี
เจ้าช่อมะกอก-ชะโอ้-เจ้าดอกบุหงา เพื่อราช, ชาติ, ศาสนา ขอพลีพล่าชีวี
สมควรที่เรา พบพวกเจ้าที่ไทย จะซบเศียรกราบไหว้ ด้วยน้ำใจเปรมปรีดิ์ เพราะพระเดชเจ้าจึงพวกเราเปนสุข ผ่านขัดสนพ้นทุกข์ แสนสนุกเกษมศรี
ไทยเจ้าเอ๋ยไทยเรา ยกเจ้าเปนพระเจ้า ป้องไทยเราปรีดี! ชะโย!
ขอให้ทรงพระเจริญ"
__________________
* ที่มาของบทความในหนังสือพิมพ์ทั้งหมดดูใน อัจฉรา กมุทพิสมัย, "ปัญหาภายในสังคมไทยก่อนการปฎิวัติ ๒๔๗๕ : ภาพสะท้อนจากงานเขียนทางหนังสือพิมพ์." กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๒. หน้า ๒๑๑-๒๑๙.