ลำดับชั้นในทางกฎหมายของ "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์"
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ความเห็นบางประการเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์เรื่อง "หลักเกณฑ์การสืบตำแหน่งประมุขของรัฐที่เป็นราชอาณาจักร : ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายไทยกับกฎหมายต่างประเทศ"๑ของพี่วิศรุต คิดดี ในประเด็นลำดับชั้นในทางกฎหมายของ "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์" ตามระบบกฎหมายปัจจุบัน - วิศรุต เห็นว่ามีลำดับชั้นในทางกฎหมายเป็น "กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ"๒ ซึ่งไม่ได้ให้ "เหตุผล" ประกอบ แต่เป็นการแสดงทรรศนะแบบกำปั้นทุบดินเอาเสียเลย
ในความเห็นของผม การจัดลำดับชั้นทางกฎหมายของ "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์" ควรแบ่งเป็น "ส่วน ๆ" ดังนี้
กรณีที่ ๑.กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ฯ ในส่วนที่ไม่ขัดกับเอกสารที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นย่อมมีสถานะเป็น "เนื้อเดียวกับรัฐธรรมนูญ" - เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เนื้อหาบางส่วนโดยตรงเป็นไปตาม กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ กล่าวคือมิใช่มอบอำนาจในลักษณะให้เป็นกฎหมายลำดับรอง หรือบรรจุลายละเอียดของเรื่องในลักษณะของ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจะประกันหลักการเอาไว้เป็นลำดับก่อน อีกทั้งรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็กำหนดไว้ชัดแจ้งแล้วว่า พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มีอะไรได้บ้าง (ดู มาตรา ๑๓๘, มาตรา ๑๔๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)
กรณีที่ ๒.ในกรณีที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญกับบทบัญญัติในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ฯ "บัญญัติเรื่องเดียวกันแต่มีข้อความขัดหรือแย้งกัน" เราอาจกล่าวได้ว่า "กฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า" (รัฐธรรมนูญใหม่กว่ากฎมณเฑียรบาลฯ) ย่อมต้องบังคับใช้รัฐธรรมนูญซึ่งใหม่กว่า
กรณีที่ ๓.ด้วยเหตุที่สถานะของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในแต่ละมาตรานั้นสามารถมีลำดับชั้นในทางกฎหมายต่างกัน เราต้องถือว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญตามเอกสารที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" เป็นบทบัญญัติที่มีลำดับชั้นในทางกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญ สูงกว่า บทบัญญัติในทางรัฐธรรมนูญของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ฯ เสมอ กล่าวได้ว่า กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวศ์ มีสถานะเป็น "บทบัญญัติส่วนเสริม" ซึ่งมีสถานะระดับรัฐธรรมนูญ แต่มีลำดับชั้นในทางรัฐธรรมนูญ ต่ำกว่าบทบัญญัติที่บรรจุไว้ในเอกสารที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยเหตุนี้ แม้จะมีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลในทางที่ขัดรัฐธรรมนูญ (กฎมณเฑียรบาลใหม่กว่ารัฐธรรมนูญ) กฎมณเฑียรบาลเช่นว่านั้นย่อมใช้บังคับใช้มิได้ ทั้งเป็นการประกันบทบัญญัติพื้นฐาน/แม่บทในเอกสารทางกฎหมายที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเอาไว้เป็นต่างหาก(บทบัญญัติเฉพาะ) และมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ให้เนื้อหาบางส่วนโดยตรงเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์อย่างปลายเปิด(เป็นบทบัญญัติทั่วไป) บทบัญญัติทั่วไปที่ใหม่กว่าจะยกเลิกบทบัญญัติเฉพาะมิได้
ผมลองตั้งเป็นประเด็นคิดขึ้นไว้คร่าวๆ - ไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิทยานิพนธ์ของคุณวิศรุต คิดดี ที่อธิบายว่า กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ มีสถานะต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ จึงต้องมีสถานะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อาจจะกำปั้นทุบดินเกินไปนะครับ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า รัฐธรรมนูญแต่ละบทบัญญัติมาตราอาจมีลำดับชั้นในทางกฎหมายที่แตกต่างกันก็ได้.
______________________________
๑ วิศรุต คิดดี, หลักเกณฑ์การสืบตำแหน่งประมุขของรัฐที่เป็นราชอาณาจักร : ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายไทยกับกฎหมายต่างประเทศ, วิทยานิพนธ์, [กรุงเทพฯ] : นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๕.
๒ โดยสังเขปใน งานวิทยานิพนธ์สนทนา นิติ-รัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖ ดู http://youtu.be/2pfW4LdPl8s