อุปสรรคในการร่าง"ประมวลกฎหมายแบบตะวันตก"ฉบับแรกของสยาม
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
สาเหตุที่ "กฎหมายลักษณะอาญา" ซึ่งเป็น "ประมวลกฎหมายแบบตะวันตก" ฉบับแรกของสยาม ออกบังคับใช้ได้ล่าช้า (ในตำราประวัติศาสตร์ของไทยฉบับทางการ มักโจมตีนักกฎหมายชาวต่างชาติของรัฐบาลสยามว่า "อู้งาน" : กฎหมายลักษณะอาญา เริ่มร่างปี ค.ศ. ๑๘๙๙ เสร็จยุติเมื่อ ค.ศ.๑๙๐๗) การจัดทำประมวลกฎหมาย (Code) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายอาญา (หรือกฎหมายลักษณะอาญา) เป็นการสร้างระบบกฎหมายสยามขึ้นใหม่ ปลดเปลื้องความป่าเถื่อนของโทษ และสร้างความแน่นอนชัดเจนของกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ด้วยเหตุว่า กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดที่คลุมเคลือและการลงโทษผ่านกระบวนพิจารณาจารีตนครบาล (อันป่าเถื่อน) ตามกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศสยามต้องทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (ทางการศาล) กล่าวได้ว่า การที่ประเทศสยาม บังคับใช้ "Code" (สมัยรัชกาลที่ ๕ ยังไม่มีคำแปล Code ว่า "ประมวล") ล่าช้าเพียงใด ก็จะยิ่งทอดระยะเวลาแห่งความล้าหลังไปเพียงนั้น
อะไรคืออุปสรรคในการร่างกฎหมายลักษณะอาญา?
จากการค้นคว้าจากเอกสารหอจดหมายกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น บันทึกเกี่ยวกับ "อุปสรรคในการร่างกฎหมายลักษณะอาญา" ที่กำลังจะยุติอยู่แล้ว ให้ล่าช้าออกไป จากบันทึกทางการทูตในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ค.ศ.๑๘๙๙ นายอินากาอิ ราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสยาม ได้พบกับนาย Rolin Jacquemyns ที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาลสยาม ชาวเบลเยียม ผู้ซึ่งเล่าว่า "พูดถึงกฎหมายลักษณะอาญาแล้ว ส่วนใหญ่ก็ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เว้นแต่มาตราที่ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อพระมหากษัตริย์เท่านั้น"[๑]
จากสาเหตุของความล่าช้าที่สยามจะได้ใช้กฎหมายเยี่ยงอารยะประเทศดังบันทึกนั้น ชวนให้ผมนึกถึงบทความของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ขึ้นมาชิ้นหนึ่งคือ บทความ "เรื่องเห็นว่าจ้าวเปนลูกตุ้มถ่วงความเจริญ"[๒] สะดุดใจขึ้นมาในทันใด.
___________________
เชิงอรรถ
[๑] กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น, No. ๓-๘-๔-๑๖, จดหมายเหตุเกี่ยวกับเรื่อง เบ็ดเสร็จกฎหมายอาญาของประเทศต่างๆ, หน้า ๑๙-๒๑. อ้างใน จุงโซ อิอิดะ, การรับกฎหมายสมัยใหม่จากตะวันตกในประเทศญี่ปุ่น : ศึกษาเปรียบเทียบกับกรณีของประเทศไทย, นิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๐, หน้า ๑๓๙.
[๒] โดยดู บทความ "เรื่องเห็นว่าจ้าวเปนลูกตุ้มถ่วงความเจริญ" ใน รัฐศาสตร์สาร, ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๓ (๒๕๔๘) หน้า ๒๑๕-๒๑๘.