Skip to main content

ปัญหาบางประการเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของ(ร่าง)หลักเกณฑ์การประมูลดิจิตอลทีวี : กรณีให้เปิดเผยผู้ถือหุ้นตั้งแต่ลำดับที่ ๓ ขึ้นไปและทุกทอดตลอดสาย

นายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

     คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติ เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. … ขณะนี้ (ระหว่างวันที่ ๒๓ พฤษภาคม – วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖) อยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อ กสทช.จะนำความเห็นมาพิจารณาปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ ฉบับดังกล่าวและลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป

     ผู้เขียนได้พิจารณา (ร่าง) ประกาศ ฉบับดังกล่าว  มีความเห็นสองประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ ๑ การกำหนดให้เปิดเผยผู้ถือหุ้นที่มีสัดส่วนการถือหุ้น หรือ สัดส่วนการมีสิทธิออกเสียงตั้งแต่ร้อยละ ๒๕ ขึ้นไป ตามข้อ ๒.๔. และข้อ ๒.๕. ของภาคผนวก ฉ (แบบรายงานการถือครองหุ้นฯ)

     การที่ กสทช. กำหนดให้ต้องมีการเปิดเผยผู้ถือหุ้นที่มีสัดส่วนการถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ ๒๕ ขึ้นไปของหุ้นทั้งหมด (โดยนับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง) หรือมีสัดส่วนการมีสิทธิออกเสียงตั้งแต่ร้อยละ ๒๕ ขึ้นไปของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ขอรับใบอนุญาตหรือของผู้ถือหุ้นในแต่ละชั้น ตามแบบรายงานการถือครองหุ้นฯ ในข้อ ๒.๔ และข้อ ๒.๕ ของภาคผนวก ฉ นั้น เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ในทางสร้างภาระแก่เอกชนโดยปราศจากกฎหมายให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้งและเมื่อพิจารณากฎเกณฑ์ในทางเนื้อหาย่อมประจักษ์ถึงความเกินสมควรกว่าเหตุของมาตรการ ด้วยเหตุผลดังนี้

     ประการที่ ๑ อำนาจตามกฎหมายในการออกกฎเกณฑ์ขึ้นใช้บังคับ

     แม้ว่าพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ กำหนดให้คณะกรรมการอาจกำหนดข้อห้ามมิให้กระทำการที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวให้ผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติได้ (มาตรา ๑๕ วรรคสี่) การกำหนดกฎเกณฑ์ข้อห้ามดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากพระราชบัญญัติ คณะกรรมการมีความผูกพันต่อกฎเกณฑ์ที่กำหนดหลักการในกฎหมายที่มีลำดับชั้นในทางกฎหมายที่สูงกว่ากฎเกณฑ์ที่องค์กรของตน คือ กสทช.ในฐานะฝ่ายปกครองจะตราขึ้น อันเป็นแหล่งที่มาและขีดจำกัดอำนาจของ กสทช. อันได้แก่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นฐานในการออก (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. …. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบบรายงานการถือครองหุ้น (ภาคผนวก ฉ) แนบท้าย (ร่าง) ประกาศฯ ฉบับดังกล่าว บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นวางหลักการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การถือครองหุ้นไว้ดังนี้

          ๑. เป็นนิติบุคคลซึ่งมีผู้มีสัญชาติไทยลงทุนหรือถือหุ้นไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของทุนทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น และ

          ๒. เป็นนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลสัญชาติไทยมีอำนาจตามกฎหมายหรือตามข้อบังคับหรือตามข้อตกลงในการออกเสียงลงคะแนนไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนคะแนนเสียงที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น

     จึงได้กำหนดให้มีการเปิดเผยสัดส่วนการถือหุ้นและสัดส่วนการมีสิทธิออกเสียงของผู้ขอรับใบอนุญาตและของผู้ถือหุ้นในแต่ละชั้นดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่กิจการที่ถูกครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวหรือเป็นผู้มีอำนาจควบคุมกิจการที่แท้จริงของผู้รับใบอนุญาตทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม และเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ขอรับใบอนุญาตไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน๕  อันเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ของ กสทช. เพื่อเป็นเครื่องมือหรือมาตรการการตรวจสอบที่ทำให้กฎเกณฑ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้นบรรลุวัตถุประสงค์ลงได้

     อย่างไรก็ดี กสทช. จะกำหนดกฎเกณฑ์ยิ่งไปกว่านั้นโดยให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเปิดเผยข้อมูลของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ ๒๕ ขึ้นไปซึ่งเป็นมาตรการที่สร้างภาระให้แก่เอกชนโดยปราศจากอำนาจพระราชบัญญัติให้กำหนดกฎเกณฑ์เช่นนั้นได้ กล่าวคือ เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์รุนแรงยิ่งไปกว่ากฎหมายแม่บทกำหนดหลักการให้ตรวจสอบผู้ขอรับใบอนุญาตเท่านั้น หาได้ให้อำนาจก้าวล่วงลงไปตรวจสอบผู้ถือหุ้นของผู้ขอรับใบอนุญาตแต่อย่างใด

     ทั้งนี้ ภายใต้ระบบกฎหมาย กสทช.จะออกกฎเกณฑ์โดยลุแก่อำนาจเข้ากำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นเองโดยเสรีเสมือนหนึ่งว่า พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ ได้มอบ “เช็คเปล่า” ให้แก่ กสทช. ไว้เสียแล้วในอันที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ใด ๆ ได้ตามอำเภอใจ ย่อมถือได้ว่า การใช้และการตีความบทบัญญัติมาตรา ๑๕ วรรคสี่ ในลักษณะเช่นนี้ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง อันจะส่งผลให้กฎเกณฑ์ของ กสทช. ที่จะออกมาในลักษณะดังกล่าว ย่อมเป็นกฎเกณฑ์ที่มิชอบด้วยกฎหมายไปในที่สุด ภายใต้ฐานคิดที่ว่า ฝ่ายปกครองจะกำหนดกฎเกณฑ์หรือมาตรการในทางที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพหรือในทางที่เพิ่มภาระให้แก่เอกชนยิ่งไปกว่ากฎหมายแม่บท หาได้ไม่ เพราะเท่ากับว่าฝ่ายปกครองสามารถกฎเกณฑ์ที่ออกโดยปราศจากกฎหมายลำดับชั้นพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้หรือใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนรัฐสภาไปเสียเอง

     ประการที่ ๒ ข้อพิจารณาในทางเนื้อหา : ความสมเหตุสมผลของมาตรการที่ฝ่ายปกครองกำหนดและความเป็นเอกภาพของบรรทัดฐานในระบบกฎหมาย

     กฎเกณฑ์ตามภาคผนวก ฉ ในข้อ ๒.๔. และ ๒.๕. กำหนดมาตรการตรวจสอบที่ไม่อาจทำให้วัตถุประสงค์ของกฎหมายสามารถบรรลุผลลงได้ เพราะแม้ผู้ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ ๒๕ ขึ้นไปแต่ไม่เกินร้อยละ ๕๐ จะเป็นคนต่างด้าวก็ตาม ย่อมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะครอบงำกิจการของนิติบุคคลได้อยู่ดี เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.๒๕๓๕ กำหนดให้ในกรณีทั่วไป (ที่กฎหมายมิได้กำหนดให้ต้องใช้มติพิเศษ) มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้ถือตามเสียงข้างมากธรรมดา ทั้งยังอาจอธิบายได้ตามระบบบรรทัดฐานของกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วไป คำว่า “คนต่างด้าว”   ก็ดี “อำนาจครอบงำ” หรือ “อำนาจควบคุมกิจการ”  ก็ดี ล้วนยึดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบการถือหุ้นหรือการมีสิทธิออกเสียงที่ร้อยละ ๕๐ ทั้งสิ้น

     ดังนั้น ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ ๒๕ ขึ้นไปแต่ไม่เกินร้อยละ ๕๐ จึงไม่มีอำนาจในการควบคุมทิศทางการบริหารกิจการของนิติบุคคลในที่ประชุมผู้ถือหุ้นนั้นได้แต่อย่างใด

     ประการที่ ๓ ฝ่ายปกครองจำต้องผูกพันตนเองต่อกฎเกณฑ์ที่ฝ่ายปกครองได้ตราขึ้น

     ตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งเป็นประกาศที่ กสทช. ตราขึ้นให้มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป กำหนดว่าการถือหุ้นไขว้ที่เป็นอำนาจควบคุมเหนือบริษัทอื่น ให้รวมถึงกรณีที่นิติบุคคลหนึ่งมีสิทธิออกเสียงตั้งแต่ร้อยละ ๕๐ ขึ้นไปของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลอื่นที่ถูกควบคุม เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเชื่อถือและความไว้วางใจของเอกชน และความสอดคล้องต้องกันของกฎเกณฑ์ในระบบกฎหมาย

     ดังนั้น การกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตตามร่างประกาศประมูลคลื่นทีวีดิจิตอลฯ จึงควรกำหนดให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นฐานในการออกร่างประกาศฯ ฉบับนี้ และกฎเกณฑ์ทางกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยไม่สร้างภาระให้แก่เอกชนผู้ขอรับใบอนุญาตด้วยการกำหนดมาตรการที่พิจารณาในทางภาวะวิสัยแล้ว ไม่อาจนำไปสู่ผลที่กฎหมายได้มุ่งหมาย

ประเด็นที่ ๒ การกำหนดให้เปิดเผยผู้มีอำนาจควบคุมหรือผู้ถือหุ้นเกินกว่าลำดับที่สามขึ้นไปโดยเปิดเผยทุกทอดตลอดสาย

     ผู้เขียนมีความเห็นว่า หมายเหตุท้ายแบบรายงานการถือครองหุ้นฯ ตามภาคผนวก ฉ๘  ที่กำหนดให้ต้องเปิดเผยผู้มีอำนาจควบคุมหรือผู้ถือหุ้นเกินกว่าลำดับที่สามขึ้นไปโดยเปิดเผยทุกทอดตลอดสายนั้นมิชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อกรอบวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ให้อำนาจ ขัดต่อหลักความสัมฤทธิ์ผล และขัดต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุ ตามเหตุผลดังนี้

     ประการที่ ๑ มาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจ กสทช. ออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตว่า (๑)เป็นนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลสัญชาติไทยลงทุนหรือถือหุ้นอันเป็นทุนไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของทุนทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น และ (๒) เป็นนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลผู้มีสัญชาติไทยมีอำนาจตามกฎหมายหรือตามข้อบังคับหรือตามข้อตกลงในการออกเสียงลงคะแนนไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนคะแนนเสียงที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น สำหรับวรรคท้ายของมาตราเดียวกัน “บุคคลผู้มีสัญชาติไทย” กำหนดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ มุ่งกำหนดกรอบให้ กสทช. ตรวจสอบถึงในชั้นผู้ถือหุ้นของผู้ถือหุ้นของผู้ขอรับใบอนุญาต (ตรวจสอบถึงชั้นผู้ถือหุ้นลำดับที่ ๒) ว่าเป็น “คนต่างด้าว” ของผู้ถือหุ้นของผู้ขอรับใบอนุญาตเท่านั้น

     การที่ กสทช. กำหนดหน้าที่ให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจและวางกรอบหลักการหรือจำกัดอำนาจฝ่ายปกครองไว้ ย่อมเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายและทั้งในทางเนื้อหายังเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตเกินสมควรด้วยอีกถ่ายหนึ่ง

     ประการที่ ๒ มาตรการที่กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดทำรายละเอียดที่กำหนดในตาราง ๒.๔ ทุกทอดตลอดสายนั้นเป็นการสร้างภาระเกินกว่าความจำเป็น การกระทำดังกล่าวในทางภาวะวิสัยถือเป็นการก้าวล่วงแทรกแซงเข้าในแดนความเป็นส่วนตัวของเอกชน โดยมิชอบเพราะปราศจากอำนาจตามกฎหมายและเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ซึ่งผูกพันบรรดาการใช้และการตีความในทุกองค์กรของรัฐ

     ประการที่ ๓ การเปิดเผยรายละเอียดโครงสร้างการถือหุ้นภายในของผู้รับใบอนุญาตในบางรายอาจไม่สามารถกระทำได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากร่างประกาศดังกล่าวเมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว ย่อมครอบคลุมแก่บุคคลซึ่งไม่จำกัดจำนวน ซึ่งย่อมมีข้อเท็จจริงที่ผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ถือหุ้นของผู้ขอรับใบอนุญาตมีกองทุนต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้น โดยทั่วไปแล้ว กองทุนต่างชาติโดยผู้จัดการกองทุนไม่อาจเปิดเผยรายละเอียดของผู้ถือหน่วยลงทุนหรือผู้ถือหุ้นได้ เนื่องจากกองทุนมีหน้าที่ต้องรักษาความลับของผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนตน อาจจะโดยบังคับตามกฎหมายของประเทศที่กองทุนดังกล่าวได้จัดตั้งขึ้นหรือภายใต้สัญญารักษาความลับ (Confidentiality Agreement) ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนต่าง ๆ ประกอบด้วยบุคคลจำนวนมากและมีการเคลื่อนไหวของจำนวนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การกำหนดให้กองทุนต้องเปิดเผยข้อมูลของผู้ร่วมลงทุนย่อมเป็นมาตรการที่ไม่สามารถกระทำในทางปฏิบัติได้เป็นแน่แท้

     ทั้งนี้ แม้ว่า กสทช. มีอำนาจ “ออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช.”  และ“ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น”๑๐  แต่การใช้อำนาจดังกล่าว “ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม และกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม”๑๑  เช่นนี้ กสทช. จึงไม่อาจหยิบยกบทบัญญัติกฎหมายอื่นขึ้นมาฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับซึ่งบัญญัติครอบคลุมข้อเท็จจริงแก่กรณีมาเป็นฐานอ้างอิงในการออกระเบียบไปในทางที่ขัดหรือแย้งต่อหลักการของกฎหมายทั้งสามฉบับที่ให้อำนาจแก่ กสทช. และจำกัดกรอบอำนาจของ กสทช. ในการใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อส่งผลให้ กสทช ขยายแดนอำนาจของตนตามความประสงค์โดยไม่คำนึงถึงหลักความชอบด้วยกฎหมายและความมุ่งหมายโดยเฉพาะเจาะจงในการจำกัดการใช้อำนาจของ กสทช. ในลักษณะดังกล่าวดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยชัดแจ้ง

     ตามเหตุผลที่ได้อรรถาธิบายข้างต้น เพื่อการประมูลคลื่นทีวีดิจิตอลฯ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย มีประสิทธิภาพ และป้องกันปัญหาในทางปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นเรื้อรังตามมาในภายหลัง ผู้เขียนมีความเห็นดังนี้

     ๑. ตัดหมายเหตุท้ายภาคผนวก ฉ ออก โดยกำหนดให้เปิดเผยรายละเอียดของผู้ถือหุ้นไม่เกินผู้ถือหุ้นลำดับที่ ๒ (ผู้ถือหุ้นของผู้รับใบอนุญาต) เท่านั้น

     ๒. แก้เกณฑ์ในการเปิดเผยรายละเอียดของผู้ถือหุ้นโดยให้แสดงรายละเอียดเฉพาะกรณีผู้ถือหุ้นของผู้ถือหุ้นในลำดับชั้นถัดไปมีสัดส่วนถือหุ้นโดยให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ร้อยละ ๕๐ ขึ้นไปของหุ้นทั้งหมดแทนสัดส่วนเดิมซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ ๒๕

_____________________________

เชิงอรรถ

มติในคราวการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๕๖ วันพุธที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ (ดู http://www.nbtc.go.th/wps/portal/NTC/!ut/p/c5/04_SB8K8xLLM9MSSzPy8xBz9CP0os3hnd0cPE3MfAwMDP09TAyOXMBc_T1dLAwMnU_1wkA48Kowg8gY4gKOBvp9Hfm6qfkF2dpqjo6IiAEc6d5w!/dl3/d3/L2dJQSEvUUt3QS9ZQnZ3LzZfNE83RDVQRzVJQkFWNDBJQ0JDOEo1MTJTQjQ!/?WCM_GLOBAL_CONTEXT=/wps/wcm/connect/library+ntc/internetsite/04newsactivi/0401pubnews/040101hearing/040101hearing_detail/61393e004fb966f2ab3befdd301ecf43 )

(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การประมูลคลื่นความถี่ฯ (ดาวน์โหลด :  http://www.nbtc.go.th/wps/wcm/connect/cc5e3c804ff8ff478459c4abcb3fbcab/%28%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%29+%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8+%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%8A.+%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87+%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C+%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%82+%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%96%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AF.pdf?MOD=AJPERES&CACHEID=cc5e3c804ff8ff478459c4abcb3fbcab )

ดู เอกสารที่อ้างในเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๖ – ๗

มาตรา ๑๕ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑

ภาคผนวก ข แนบท้ายประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ.๒๕๕๖

พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ นิยาม “คนต่างด้าว” หมายถึง นิติบุคคลที่มีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่ง กล่าวคือ (ตั้งแต่ร้อยละ ๕๐) ที่ถือโดยบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย หรือบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลข้างต้นได้ลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่ง กล่าวคือ (ตั้งแต่ร้อยละ ๕๐) ของทุนทั้งหมดในนิติบุคคล.

ประกาศ ก.ล.ต. ที่ กจ. ๑๗/๒๕๕๑ เรื่อง การกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกแบบและเสนอขายหลักทรัพย์ กำหนดว่า บุคคลใดที่จะมีอำนาจในการควบคุมกิจการก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้มีการถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท.

หมายเหตุแนบรายงานการถือครองหุ้นฯ ตามภาคผนวก ฉ กำหนดว่า “หากในกรณีที่ผู้ถือหุ้นในลำดับชั้นถัดไปมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ร้อยละ ๒๕ ขึ้นไปของหุ้นทั้งหมด หรือสัดส่วนการมีสิทธิออกเสียงตั้งแต่ร้อยละ ๒๕ ขึ้นไปของสิทธิออกเสียงทั้งหมด ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดทำรายละเอียดของผู้ถือหุ้น ตามรายละเอียดที่กำหนดในตาราง ๒.๔ ทุกทอดตลอดสายที่มีสัดส่วนการถือหุ้น โดยให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ร้อยละ ๒๕ ขึ้นไปของหุ้นทั้งหมด หรือมีสัดส่วนการมีสิทธิออกเสียงตั้งแต่ร้อยละ ๒๕ ขึ้นไปของสิทธิออกเสียงทั้งหมด”.

มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง (๒๔) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

๑๐ มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง (๒๕) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

๑๑ มาตรา ๒๗ วรรคสาม พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
 

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ปกิณกะเรื่อง ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโตพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง 'ดาวคะนอง'พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บทวิจารณ์ร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ :  ความเพิกเฉยต่อปัญหาการโยนภาระให้เอกชนแบกรับหน้าที่ให้บริการภายหลังสัญญาอนุญาตฯ/ใบอนุญาตฯสิ้นสุดเป็นการชั่วคราวพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อสังเกตบางประการ : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย โดยสังเขป พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล หลังจากที่ผมได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ( http://prachatai.org/journal/20
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
งบประมาณแผ่นดินสำหรับรักษาพระเกียรติยศของสถาบันกษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๕๘พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
สำรวจข้อมูล : เรียน 'สาขาใด' มีโอกาสเป็น 'องคมนตรี' มากที่สุดพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, รวบรวม.
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อพิจารณาเรื่องความผิดฐานข่มขืนและความรับผิดทางกฎหมายอาญา: วิพากษ์การดำรงอยู่ของโทษประหารชีวิต (โดยสังเขป) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล เมื่อเกิดข่าวคราวข่มขืน
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
"บวรศักดิ์" โต้ "บวรศักดิ์"พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
เมื่อบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตีความเสียงหัวเราะของ เสนีย์ ปราโมช (คดีอาชญากรสงคราม ๒๔๘๙)พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
กระบวนการปรุงนิยายให้กลายเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์: เรื่องพินัยกรรม ร.๕ คือ ให้ ร.๖ พระราชทานรัฐธรรมนูญ?พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อโต้แย้งการตราพระราชกำหนดว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ตอบ 'ข้อโต้แย้งของ พระยานิติวิบัติดำน้ำลึก (กิตติศักดิ์ ปรกติ)' ภาค๒พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล