Skip to main content

กระบวนการสร้างมโนทัศน์ต่อความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ ว่าด้วยการดูหมิ่น

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

     กฎหมายยุค "รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์" (เริ่มนับแต่รัชกาลที่ ๕) เกี่ยวกับ 'หมิ่นประมาท' ตราเป็นกฎหมายในเรื่องนี้อันเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของ 'โรงพิมพ์' ที่แพร่หลายนั่นเอง จึงตราพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.๑๑๘ ขึ้น แต่ดั้งเดิม ยังไม่มีคำว่า ‘ดูหมิ่น’ ปรากฏในกฎหมายลายลักษณ์อักษรของสยาม แต่มีเพียงคำว่า 'หมิ่นประมาท' ซึ่งเป็นคำที่จะก่อปัญหาสำหรับการอ่านของนักกฎหมายในยุคสมัยปัจจุบัน (ความเข้าใจตามบริบทระบบกฎหมายปัจจุบัน) และน่าจะรวมถึงคลุมเครืออันเนื่องมาจากความหละหลวมของ 'ผู้แต่งตำรากฎหมายในสมัยนั้น' ด้วย

     เราอาจจำแนกวิวัฒนาการของ 'หมิ่นประมาท - ดูหมิ่น' อันเป็นฐานสำคัญในการสำรวจสายธารการทำงานทางความคิดในยุคสมัยประมวลกฎหมายอาญา (นับแต่ปี ๒๕๐๐ เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน) โดยจะย้อนไปยังอดีตแต่ต้นธาร แบ่งเป็น ๓ ยุค ดังนี้

     ยุคต้น. ตามพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทฯ ร.ศ.๑๑๘ บัญญัติการกระทำอันเป็นความผิด ได้แก่การใช้ถ้อยคำ คำว่า 'หมิ่นประมาทแท้' (มาตรา ๔)  และ 'หมิ่นประมาท' (มาตรา ๖)  แต่เมื่อเราสำรวจวรรณกรรมทางกฎหมายในยุคก่อน ร.ศ.๑๒๗ เราจะพบว่า ช่วงแรกเริ่มนับแต่ปี ร.ศ.๑๒๖  เป็นต้นมา จะใช้คำว่า 'หมิ่นประมาท' เป็นคำโดดในทางตำราคำอธิบาย โดยคลุมทั้ง 'หมิ่นประมาทแท้' (ใส่ความ) และ 'หมิ่นประมาทซึ่งหน้า' (ดูหมิ่น) กล่าวคือ ใช้ในความหมายอย่างกว้าง ปะปนกัน

     ยุครอง. ครั้นกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ บังคับใช้ทับกับ พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทฯ ก็เริ่มมีวิธีอธิบาย 'หมิ่นประมาท' ในความหมายที่อิงตามต้นร่างภาษาอังกฤษ นั่นคือ อาจจะเป็น insult หรือ defame ตามแต่กรณีที่ต้นร่างภาษาอังกฤษระบุเอาไว้ และในความหมายที่เป็น insult ตามถ้อยคำภาษา 'นอกตัวบท' (ตามตำราของ กรมราชบุรีฯ) เรียก 'ดูถูกสบประมาท' เช่นนี้สืบต่อกันมา (ตามตัวบท แปล insult ว่า 'หมิ่นประมาทซึ่งหน้า' ซึ่งยาวและอาจทำให้สับสนได้) เป็นยุคเริ่มจำแนกในทางตำราและต้นร่างภาษาอังกฤษ เช่น ตามตัวบทใช้คำว่า 'หมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน' แต่ต้นร่างใช้คำว่า insult ในทางตำราก็อธิบายให้ถือว่า เป็น 'หมิ่นประมาทซึ่งหน้า'

     ยุคสาม. ยุคก่อนกึ่งพุทธกาล มีความพยายามทำให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น (แต่สาระสำคัญไม่เปลี่ยนแปลง) ในทางตำราบางเล่มได้ใช้คำว่า 'หมิ่นประมาทแท้'  ในความหมายของ defame และ 'ดูหมิ่น' ทับคำว่า ‘หมิ่นประมาทซึ่งหน้า’ ในความหมายของ insult ไปเลย

     การสำรวจวรรณกรรมทางกฎหมายทั้งสามยุคนี้เอง เมื่อย้อนกลับไปอ่านตัวบทในยุค ร.ศ.๑๑๘ ซึ่งมีการใช้คำว่า 'หมิ่นประมาทแท้' (มาตรา ๔) ในพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ร.ศ.๑๑๘ และยังเป็นถ้อยคำต่างไปจากถ้อยคำที่ใช้ในกฎหมายฉบับเดียวกันคือคำว่า 'หมิ่นประมาท' (มาตรา ๗, มาตรา ๙) ทำให้พิจารณาไปว่า 'หมิ่นประมาทแท้' น่าจะมุ่งไปยังความหมายของ defame มากกว่า เพราะกฎหมายใช้ถ้อยคำต่างกันในบทบัญญัติแยกจากกัน ควรจะต้องเข้าใจได้เช่นนั้น

     ทว่า ตำรากฎหมายในยุคสมัยนั้น (เช่น ขุนหลวงพระไกรสี) ก็หาได้อธิบายเช่นนั้นไม่ ตำราที่มีชื่อเสียงนับแต่ พ.ศ.๒๔๖๙  ก็ยังคงอธิบายมาตรา ๔ นี้ ให้กว้างคลุมทั้ง defame และ insult และก็ไม่พบ 'คำอธิบายที่แตกต่าง' ไปจากนี้อีกเลย จวบจนตำราในยุคที่ ๓ มีการใช้คำว่า 'หมิ่นประมาทแท้' คือ defame ในทางตำรา (มิได้อธิบาย พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทฯ แต่อธิบาย 'หมิ่นประมาท' ตาม กฎหมายลักษณะอาญา) ซึ่งแม้จะถ้อยคำ "ล้อตัวบทโบราณ" (อันเป็นรากเหง้าของกฎหมายในยุครอง และยุคสาม) ก็ชวนให้นำกลับไปพิจารณาจำแนกตัวบทพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทฯ อีกทีหนึ่ง

     กลายเป็นว่า จะไปนำการตีความในยุค 'อดีต' (ยุครองและยุคสาม)ไปปรับใช้แก่กฎหมายในยุค 'ก่อนอดีต' (ยุคต้น) - แม้ว่าโดยนิติวิธีแล้ว บังคับโดยสภาพของการตีความ และคำอธิบายทางตำรา (ที่มีอยู่ไม่กี่เล่มใน 'ยุคต้น') เป็นคำอธิบายที่ผิดในแง่วิธีใช้และตีความกฎหมายก็ตาม กล่าวได้ว่า 'นักกฎหมายในทางปฏิบัติยุคต้น' เข้าใจกันผิด ๆ แบบนี้ โดยไม่เพ่งเล็งความหมายตามตัวอักษรเป็นสำคัญ กลับตีความอย่างเหมารวมและขยายความถ้อยคำในบทบัญญัติที่มีโทษทางอาญา จะโดยข้อจำกัดทางภาษาว่า เรายังไม่มีคำแปล insult ก็ตามที แต่ตัวบทปรากฏคำว่า 'หมิ่นประมาทแท้' กับ 'หมิ่นประมาท' มันต่างกันโดยพยัญชนะ อยู่แล้ว

     นักกฎหมายยุคต้น ตีความว่า 'หมิ่นประมาทแท้' (defame) กับ 'หมิ่นประมาท' (defame or insult) มีความหมายเท่ากัน (ไม่ใช่ หน่วยย่อย ของ หน่วยรวม แต่อย่างใด) เมื่อเทียบเคียงกับ 'ภาษา' ของนักกฎหมายยุคสาม แม้จะใช้ถ้อยคำคล้าย ๆ กัน คือ มีแต่คำว่า 'หมิ่นประมาท' ทั้ง defame และ insult เหมือนกัน แต่ยังจำแนกว่าอะไรคือ 'หมิ่นประมาทแท้' (ใส่ความ) กับ อะไรคือ 'หมิ่นประมาทที่หมายถึงสบประมาท' (ดูหมิ่น)

     ความผิดฐาน 'หมิ่นประมาท' กษัตริย์ ก็รับอิทธิพลมาเต็ม ๆ จากนักกฎหมายยุครอง และยุคสาม

     อย่างไรก็ดี เมื่อกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ยกเลิกไปใน พ.ศ.๒๕๐๐  แล้ว นักกฎหมายไทยในทศวรรษ ๒๕๐๐ ก็ตีความตัวบทในอดีตคำว่า 'หมิ่นประมาท' ในความหมาย defame เท่านั้น กล่าวคือ นักกฎหมายหลัง ๒๕๐๐ เมื่อจะตีความตัวบทบัญญัติของกฎหมายลักษณะอาญาเดิม ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว ก็ตีความอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร – มิได้ตีความขยายความดั่งเช่นที่พวกเขาเคยใช้และตีความในสมัยที่กฎหมายลักษณะอาญาเดิม ยังมีผลบังคับ โดยนำเอาต้นร่างภาษาอังกฤษมาขยายความ ทั้งนี้ ก็เพื่อพวกเขาจะนำเอา 'คำพิพากษาฎีกาบรรทัดฐาน' ในความผิดลักษณะเดียวกัน มาใช้อธิบายขยายฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ เพราะคำว่า 'ดูหมิ่น' ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ปรากฏขึ้นต่างไปจากมาตรา ๙๘ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๘ ให้คำว่า 'ดูหมิ่น' (insult) ซึ่งไม่ปรากฏในกฎหมายลักษณะอาญา แต่ปรากฏในการใช้และการตีความมาตรา ๙๘ ในทางตำราและทางปฏิบัติ - กล่าวคือ ทั้งที่อันที่จริงแล้ว 'ดูหมิ่น' ดำรงอยู่ในมาตรา ๙๘ เป็นเงาในการใช้กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ตลอดยุครองและยุคสาม

     ในการกระทำของนักกฎหมายยุคหลัง ๒๕๐๐ เช่นนี้เพื่อส่งผลให้มีการขยายแดนความหมายขององค์ประกอบความผิด 'ดูหมิ่น' (กษัตริย์) ไปโดยปริยาย (จากที่เคยถือว่า 'ดูหมิ่น' อยู่แล้ว ก็ให้ตีความคุ้มครองยิ่งไปกว่าเดิม) ถ้านักศึกษากฎหมายปัจจุบันที่อ่านตำราในยุคทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นต้นมา โดยไม่ย้อนไปศึกษาระเบียบวิธีคิดในอดีตอย่างละเอียด (สมัยก่อน ๒๕๐๐) ก็จะไม่ทราบความเป็นมาอันแยบคายในคำอธิบายเช่นว่านี้ (ซึ่งบุกเบิกโดย จิตติ ติงศภัทิย์).

     เชิงอรรถ

     พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.๑๑๘ มาตรา ๔ “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้า…ซึ่งเปนที่แลเห็นได้ชัดว่าเปนการหมิ่นประมาทแท้ ท่านว่าผู้นั้นกระทำผิด” จะเห็นได้ว่า คำว่า ‘หมิ่นประมาท’คำแรกนั้นเป็นคำกริยา ส่วนคำว่า ‘การหมิ่นประมาทแท้’ เป็นคำนาม.

     พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.๑๑๘ มาตรา ๖ “…ตนมุ่งหมายจะหมิ่นประมาทผู้อื่น…ให้ได้รับ…ความสบประมาทดูถูกของมหาชนทั้งหลาย จนเขาต้องเสียชื่อเสียงเกียรติคุณความดีไป ท่านว่าผู้นั้นกระทำผิด”ตามมาตรานี้เป็น ‘การหมิ่นประมาท’ ซึ่งกลืน ‘การดูหมิ่น’ ไว้ด้วยกัน และข้อความที่ขีดเส้นใต้จัดเป็น “พฤติการณ์ประกอบการกระทำซึ่งมิใช่ข้อเท็จจริง” แม้ผู้กระทำจะประสงค์เหยียดหยามก็ตาม แต่ถ้าวิญญูชนไม่เห็นว่าเหยียดหยามก็เท่ากับขาดองค์ประกอบภายนอกนี้ไป ขณะที่มาตรา ๔ ไม่ปรากฏองค์ประกอบภายนอกเช่นว่านี้.

     ขุนหลวงพระไกรสี (เทียม), หลักกฎหมายอาญา : เปนคำอธิบายหัวข้อกฎหมายอาญาต่าง ๆ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, โสภณพิพรรฒธนากร, รัตนโกสินทร ศก ๑๒๖, หน้า ๓๗-๔๐.

     หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗, พิมพ์ครั้งที่ ๖, กรุงเทพฯ : วิญญูชน, ๒๕๔๘, หน้า ๔๐๑ (ตีพิมพ์ซ้ำฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗).

     อำมาตย์โท พระอินทปรีชา (เหยียน เลขะวณิช), คำอธิบายกฎหมายลักษณอาญา. ภาค ๒ ตอน ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑, โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๙, หน้า ๕๓๕.

     พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ บัญญัติให้บังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ (มาตรา ๓) และเมื่อประมวลกฎหมายอาญามีผลใช้บังคับแล้วให้ยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญาเสีย (มาตรา ๔).

     “…ไม่มีความผิดตามมาตรา ๙๘ แห่งกฎหมายลักษณะอาญาเดิม ซึ่งใช้คำว่า “ผู้ใด ฯลฯ หมิ่นประมาท ฯลฯ” ไม่มีข้อความบัญญัติถึงการดูหมิ่นดังมาตรา ๑๑๒ นี้ แม้จะเคยถือว่าหมิ่นประมาทโดยนัยนี้อาจรวมถึงการดูหมิ่นด้วยก็ตาม แต่เฉพาะคดีนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยไปในทางหมิ่นประมาทตามมาตรา ๒๘๒ แห่งกฎหมายลักษณะอาญาเดิม ซึ่งบัญญัติถึงการกล่าวอันจะทำให้คนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังเท่านั้น แต่ตามกฎหมายใหม่นี้บัญญัติขยายความออกไปถึงการดูหมิ่นด้วย ตามตัวอย่างเช่นนี้คงต้องเป็นความผิดตามมาตรา ๑๑๒ นี้” ใน จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา. ภาค ๒ ตอนที่ ๑. สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, หัวข้อ ๕๐๙.

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ปกิณกะเรื่อง ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโตพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง 'ดาวคะนอง'พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บทวิจารณ์ร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ :  ความเพิกเฉยต่อปัญหาการโยนภาระให้เอกชนแบกรับหน้าที่ให้บริการภายหลังสัญญาอนุญาตฯ/ใบอนุญาตฯสิ้นสุดเป็นการชั่วคราวพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อสังเกตบางประการ : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย โดยสังเขป พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล หลังจากที่ผมได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ( http://prachatai.org/journal/20
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
งบประมาณแผ่นดินสำหรับรักษาพระเกียรติยศของสถาบันกษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๕๘พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
สำรวจข้อมูล : เรียน 'สาขาใด' มีโอกาสเป็น 'องคมนตรี' มากที่สุดพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, รวบรวม.
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อพิจารณาเรื่องความผิดฐานข่มขืนและความรับผิดทางกฎหมายอาญา: วิพากษ์การดำรงอยู่ของโทษประหารชีวิต (โดยสังเขป) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล เมื่อเกิดข่าวคราวข่มขืน
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
"บวรศักดิ์" โต้ "บวรศักดิ์"พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
เมื่อบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตีความเสียงหัวเราะของ เสนีย์ ปราโมช (คดีอาชญากรสงคราม ๒๔๘๙)พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
กระบวนการปรุงนิยายให้กลายเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์: เรื่องพินัยกรรม ร.๕ คือ ให้ ร.๖ พระราชทานรัฐธรรมนูญ?พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อโต้แย้งการตราพระราชกำหนดว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ตอบ 'ข้อโต้แย้งของ พระยานิติวิบัติดำน้ำลึก (กิตติศักดิ์ ปรกติ)' ภาค๒พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล