Skip to main content

ความชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ :กรณี ร.๙ พิพากษาคดีในศาล?

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

     เนื่องจากมีบุคคลหนึ่งเผยแพร่ภาพและข้อความเรื่อง "รัชกาลที่ ๙ ตัดสินคดีแรก" ความว่า :

"รู้หรือไม่ "เมื่อรัชกาลที่ 9 ตันสินคดีแรก"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงประทับบัลลังก์ตัดสินคดีด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรกใน วันที่  26 ม.ค. 2495   คดีแรกที่พระองค์ทรงตัดสินคือ "คดีลักโม่"

ในห้องพิจารณาคดีที่ 12 ของศาลอาญา โดยมีนายเล็ก จุณนานนท์ เป็นโจทก์ นายแสวง  แดงคล้ายเป็นจำเลยในข้อหาว่า"เมื่อวันที่ 9 ม.ค. กับ วันที่ 10 ม.ค.จำเลยได้ลักโม่หินของนายกาญจน์  ตันวิเศษ ราคา 80 บาท เหตุเกิดที่คลองต้นไทร"   ศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยก็รับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา ศาลตัดสินจำคุก 6 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดเหลือ 3 เดือน ประกอบกับการที่เป็นคดีแรกของจำเลยจึงรอลงอาญา 2 ปีแล้วให้คืนโม่หินแก่เจ้าของ    นายแสวงดีใจเป็นล้นพ้นที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวประทับบัลลังก์ตัดสินคดีของตน ซ้ำยังได้รับการทรงพระกรุณาให้รอลงอาญา  จึงยกมือขึ้นท่วมหัวและสาบานว่า จะเป็นคนดีไม่ลักขโมยของใครอีกต่อไป…..

ที่มา :  หนังสือ เรื่องเก่า เล่าสนุก     ของ :  โรม บุนนาค       เรียบเรียง : วาทิน ศานติ์ สันติ"

     ผมจึงถือเป็นโอกาสอันดีในการอธิบาย "หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความ" เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาข้อเท็จจริงสืบไป

     ก่อนอื่น ผมขออนุญาตออกตัวก่อนว่า ผมไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงว่าเรื่องนี้(ซึ่งอ้างอิงมาจากหนังสือของ "โรม บุนนาค") เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ (ผมอาจตั้งข้อสังเกตทั่วไปเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้เพียงว่า โจทก์ในคดีนี้ (นายเล็ก จุนนานนท์) คือ หนึ่งในคณะอัยการโจทก์คดีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ ครับ คดีตามที่ 'โรม บุนนาค' เล่านี้ เกิดขึ้นก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษาคดีสวรรคต) ในบทความนี้ผมจะนำท่านมุ่งพิจารณาตามหลักการและกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น (และยังไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน) เป็นสำคัญครับ

     ตามเรื่องนี้ปรากฏว่าเป็นคดีในศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมให้มีองค์คณะพิจารณาคดีอย่างน้อย ๒ คน (มาตรา ๒๖) เป็น "องค์คณะที่นั่งพิจารณา" โดยต้องนั่งพิจารณาคดีมาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนพิจารณา

     ในเรื่องนี้เป็นกรณีที่ศาล "อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันเสร็จการพิจารณา" แต่เมื่อ "เสร็จการพิจารณา" แล้ว จะต้องมี "การประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษา" ขององค์คณะพิจารณาคดี เสียก่อนครับ ซึ่งใน "การประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษา" จะต้องกระทำโดยลับ โดยบุคคลที่จะอยู่ใน "ที่ประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษา" ได้นั้นจะต้องเป็น "องค์คณะที่นั่งพิจารณา" เท่านั้น (มาตรา ๑๘๔ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) หากมีบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ "ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณา" (คือนั่งพิจารณามาตั้งแต่เริ่มคดี - มิใช่มานั่งแค่วันตัดสินคดี) มาร่วมเป็นองค์คณะตัดสินคดี ย่อมส่งผลให้คำพิพากษานั้นวิปริตแปรปรวน กลายเป็นคำพิพากษาที่มิชอบด้วยกฎหมายไปครับ

     ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๐๕/๒๔๗๓ วางบรรทัดฐานไว้ว่า "การที่บุคคลซึ่งมิได้เป็นผู้พิพากษานั่งพิจารณามาแต่ต้นมาร่วมประชุมปรึกษาทำคำพิพากษาด้วยนั้น อีกทั้งในการประชุมปรึกษาคดีนั้นก็มีผู้พิพากษาครบองค์คณะอยู่แล้ว การที่บุคคลซึ่งมิได้เป็นองค์คณะนั่งพิจารณาเข้ามาร่วมเป็นองค์คณะตัดสินด้วยนั้น อาจมีการจูงใจทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณามีความเห็นปรวนแปรไปได้ ย่อมทำให้การทำคำพิพากษาคดีนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย" (คดีระหว่างนายเรือเอกขุนชาญใช้จักร์ โจทก์ นางลิ้นจี่ ชยากร จำเลย)

     จากหลักดังกล่าว เมื่อกษัตริย์ มิใช่ "ผู้พิพากษาซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีอาญา" (ในหลวงไม่ใช่ผู้พิพากษาศาลอาญา) ย่อมมิใช่ผู้พิพากษาตามนัยของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ย่อมมิอาจ "นั่งพิจารณาคดี" ได้  เมื่อนั่งพิจารณาคดีตั้งแต่ต้นมิได้ ก็ไม่อาจเป็น "ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณา" ได้ เมื่อไม่อาจเป็น "ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณา" ได้แล้ว ย่อมเข้าไปนั่งใน "ที่ประชุมปรึกษาเพื่อทำคำพิพากษา" เป็น "องค์คณะตัดสิน" มิได้เช่นกัน ตามมาตรา ๑๘๓ และมาตรา ๑๘๔ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

     อีกทั้ง "การทำคำพิพากษา" นั้น ต้องประชุมลงมติโดยอาศัยโหวตตามเสียงข้างมากของ "องค์คณะตัดสิน" ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามมาตรา ๑๘๔ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากคำพิพากษาใดมิใช่มติขององค์คณะผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาแล้ว ย่อมเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

     ตลอดจน "การอ่านคำพิพากษา" จะต้องให้ "ศาล" อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังใน"ศาล" คำว่า "ศาล" คำแรกนั้นหมายถึง "ผู้พิพากษาซึ่งมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา" ส่วน "ศาล" คำหลังหมายถึงที่ทำการศาล ทั้งนี้ตามมาตรา ๑๘๒ ประกอบมาตรา ๒ (๑) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อกษัตริย์มิใช่ "ศาล" คือมิใช่ผู้พิพากษาซึ่งมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญามาตั้งแต่แรก ย่อมไม่อาจ "อ่านคำพิพากษา" ได้

     ฉะนั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏตามนี้จริง ย่อมส่งผลให้คำพิพากษาศาลอาญาฉบับนี้มิชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ในคดีนี้จำต้องอุทธรณ์คำพิพากษาเพื่อให้ศาลลำดับชั้นที่สูงกว่า "ลบล้าง" คำพิพากษาที่ขัดต่อกฎหมาย ครับ.

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ปกิณกะเรื่อง ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโตพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง 'ดาวคะนอง'พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บทวิจารณ์ร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ :  ความเพิกเฉยต่อปัญหาการโยนภาระให้เอกชนแบกรับหน้าที่ให้บริการภายหลังสัญญาอนุญาตฯ/ใบอนุญาตฯสิ้นสุดเป็นการชั่วคราวพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อสังเกตบางประการ : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย โดยสังเขป พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล หลังจากที่ผมได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ( http://prachatai.org/journal/20
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
งบประมาณแผ่นดินสำหรับรักษาพระเกียรติยศของสถาบันกษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๕๘พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
สำรวจข้อมูล : เรียน 'สาขาใด' มีโอกาสเป็น 'องคมนตรี' มากที่สุดพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, รวบรวม.
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อพิจารณาเรื่องความผิดฐานข่มขืนและความรับผิดทางกฎหมายอาญา: วิพากษ์การดำรงอยู่ของโทษประหารชีวิต (โดยสังเขป) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล เมื่อเกิดข่าวคราวข่มขืน
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
"บวรศักดิ์" โต้ "บวรศักดิ์"พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
เมื่อบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตีความเสียงหัวเราะของ เสนีย์ ปราโมช (คดีอาชญากรสงคราม ๒๔๘๙)พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
กระบวนการปรุงนิยายให้กลายเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์: เรื่องพินัยกรรม ร.๕ คือ ให้ ร.๖ พระราชทานรัฐธรรมนูญ?พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อโต้แย้งการตราพระราชกำหนดว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ตอบ 'ข้อโต้แย้งของ พระยานิติวิบัติดำน้ำลึก (กิตติศักดิ์ ปรกติ)' ภาค๒พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล