เมื่อบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตีความเสียงหัวเราะของ เสนีย์ ปราโมช (คดีอาชญากรสงคราม ๒๔๘๙)
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
คงเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า คำพิพากษาศาลทหารคดีอาชญากรสงครามที่ ๑/๒๔๘๙ ได้พิพากษาว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๘ ที่รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ตราขึ้นกำหนดโทษทางอาญาเพื่อลงโทษบุคคลในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการตรากฎหมายเพื่อบังคับใช้ย้อนหลังลงโทษทางอาญาแก่บุคคล เป็นอันขัดรัฐธรรมนูญฯ (๒๔๗๕) เป็นเหตุให้ไม่อาจส่งตัวบุคคลในรัฐบาลจอมพล ป. ไปดำเนินคดีในศาลที่ต่างประเทศได้อีกเพราะจะเป็นฟ้องซ้ำนั้น
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เคยสัมภาษณ์หม่อมราชวงศ์เสนีย์เมื่อปี ๒๕๒๐ เพื่อลงพิมพ์ในหนังสือวารสารกฎหมายจุฬาลงกรณ์ ปี ๒๕๒๐… ก็ถามท่านเกี่ยวกับคดีนี้ว่า ท่านอาจารย์จบเนติบัณฑิตอังกฤษเกียรตินิยมเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยจนกระทั่งเขากำหนดให้มีเสนีย์เดย์ในเนติบัณฑิตอังกฤษท่านอาจารย์จะไม่รู้เชียวหรือว่า กฎหมายที่ท่านเสนอขัดรัฐธรรมนูญ ท่านหัวเราะ อาจารย์ถามว่าเตี๊ยมไว้กับหลวงจำรูญเนติศาสตร์ ซึ่งเป็นคนตัดสินคดีนี้หรือเปล่า ท่านบอกไม่ได้เตี๊ยมศาลก็เป็นศาลไปเตี๊ยมท่านได้อย่างไร ผมก็ถามท่านว่าท่านรู้แล้วว่ามันขัดรัฐธรรมนูญใช่ไหมครับแต่ท่านก็ยังเสนอเพื่อที่จะไม่ต้องส่งจอมพล ป.ไปยังศาลอาชญากรสงคราม ซึ่งถ้าท่านจอมพล ป. ถูกไปตัดสินในศาลอาชญากรสงครามในเมืองไทยอยู่ในฐานะลำบากกลายเป็นประเทศแพ้สงครามขึ้นมาทันที ท่านก็หัวเราะไม่ตอบ การที่ผู้ใหญ่ถ่อมตัวหัวเราะแล้วไม่ตอบ ก็ทำให้อาจารย์สรุปว่า ท่านรู้ทั้งรู้ว่ากฎหมายจะขัดรัฐธรรมนูญ”๑ (ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน)
ผมจึงค้นหาดูเบื้องต้นว่า เสนีย์ ปราโมช มีความเห็นว่า พ.ร.บ.อาชญากรสงคราม ที่ออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อลงโทษจำเลยนั้น ขัดรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ เราอาจพิจารณาเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่ออ่านความเห็นของเสนีย์ ปราโมช ในคราวร่างรัฐธรรมนูญฯ (๒๔๘๙) ที่จะบัญญัติหลักการห้ามตรากฎหมายย้อนหลัง บทบัญญัติหมวดนิติบัญญัติมีการถกเถียงกันมาก โดยมีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งคือ “การห้ามออกกฎหมายย้อนหลัง ซึ่งเป็นเป็นผลจากการแปรญัตติของนายทองเปลว ชลภูมิ กรรมาธิการนำมายกร่างเป็นมาตรา ๑๗ ทวิ ในมาตรานี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กรรมาธิการไม่เห็นด้วย และขอให้บันทึกว่า สภานิติบัญญัติทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุดในการออกกฎหมาย ถ้าหากสภานิติบัญญัติเห็นสมควรออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลอื่นใดย่อมกระทำได้ จึงไม่ควรมีมาตรานี้จำกัดอำนาจนิติบัญญัติ”๒ และหากไม่บัญญัติห้ามไว้ ตามนัยของเสนีย์ ก็คือ การตรากฎหมายย้อนหลังเพื่อลงโทษบุคคลต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั่นเอง
กล่าวได้ว่า ความเข้าใจของ เสนีย์ ปราโมช มองว่า สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจสูงสุดในแดนนิติบัญญัติ ดังนั้นจะตรากฎหมายย้อนหลังก็ต้องกระทำได้ การกล่าวนี้เป็นการยืนกรานความเห็นของตนในคดีอาชญากรสงครามว่า สภามีอำนาจที่จะทำเช่นนั้น อีกทั้งเสนีย์ก็พยายามต่อสู้ประเด็นนี้มิให้ตราบทบัญญัติห้ามการตรากฎหมายย้อนหลังขึ้นในรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙
เราจะเห็นได้ว่าเมื่อบวรศักดิ์ ชื่นชมเสนีย์ว่า “ท่านรู้อยู่แล้วว่ามันขัดรัฐธรรมนูญใช่ไหมครับแต่ท่านก็ยังเสนอเพื่อที่จะไม่ต้องส่งจอมพล ป.ไปยังศาลอาชญากรสงคราม” แล้วเสนีย์ ปราโมช “หัวเราะแล้วไม่ตอบ” นั้น คงจะไม่มีความนัยอื่น (อย่างที่บวรศักดิ์เข้าใจผิด) หากแต่การหัวเราะตอบนั้น มีความหมายโดยตรงก็คือ ขำในสิ่งที่บวรศักดิ์กล่าวเรื่อยเปื่อย เท่านั้นเอง.
_________________________
เชิงอรรถ
๑ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (การบรรยายครั้งที่ ๖ วันศุกร์ที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓) ใน รวมคำบรรยาย เล่ม ๘ ภาคหนึ่ง สมัยที่ ๖๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๓, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, หน้า ๑๐๕-๑๐๖.
๒ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, ชีวประวัติธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๕๐, หน้า ๒๓.