Skip to main content
ในวันที่ฝนเดือนห้ากำลังโหมแรงไปทั่ว ละอองฝนชุ่มหลงฤดูอาจทำให้ผู้เฒ่าแห่งหมู่บ้านรู้สึกได้ว่า องค์ความรู้เรื่องฤดูกาลและช่วงเวลา "ฝนแปดแดดสี่" ตามลักษณะภูมิประเทศคาบสมุทรของภาคใต้ได้คลาดเคลื่อนไปบ้างแล้ว ด้วยเพราะทางเดินของลมฝนทั้ง 2 ฝั่งทะเล (โดยภาวะปกติแล้ว ภาคใต้และลุ่มทะเลสาบจะมีฤดูฝนยาว 8 เดือน ต่อด้วยฤดูร้อน 4 เดือนในรอบ 1 ปี) ที่ถ่ายทอดกันมาจากคนรุ่นก่อนแปลกหูแปลกตาไปจากอดีตบ้างแล้ว


กระนั้นก็ตาม แม้ฤดูกาลของลุ่มทะเลสาบมีอันเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามแรงเหวี่ยงของยุคสมัยซึ่งนำพาความเสื่อมโทรมทางกายภาพมาสู่คาบสมุทรแห่งนี้ตามที่เหล่านักวิชาการทั้งหลายร่วมแต่งคำพูดสวย ๆให้ผู้คนทั่วโลกพูดตรงกันว่า "สืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน"ในขณะที่น้ำยังบ่านองทุ่งข้าวนาปรัง


อย่างไรก็ดีเหล่าผู้เฒ่าของลุ่มทะเลสาบก็คงไม่อาจรับรู้หรือเข้าถึงทฤษฎี "ภาวะโลกร้อน" ของบรรดาเหล่านักวิชาการดังกล่าวได้อย่างเข้าอกเข้าใจ


ถึงแม้ในวันที่สัดส่วนฤดูกาลของชุมชน "รอบลุ่ม"(ทะเลสาบสงขลา) ถูกแย่งชิงไปบ้าง รอบลุ่มก็ยังอุดมไปด้วยทรัพยากรตามภูมิศาสตร์ พืชพันธุ์ยังแตกกิ่งบานดอกสะพรั่งไปทั่ว โดยเฉพาะ "ดอกโดน" ที่บานอยู่ในหัวใจผมมาช้านาน


อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันความหลากหลายทั้งของทรัพยากรหรือแม้แต่วัฒนธรรมดั้งเดิมในพื้นที่รอบลุ่มได้ลดจำนวนลงจนบางอย่างสูญพันธุ์(ปลาและสัตว์ป่าอื่น ๆ บางชนิด) หรือสูญหาย(การละเล่นและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นบางอย่าง) ไปจากท้องถิ่นแล้ว จึงไม่แปลกที่เด็ก ๆ บางพื้นที่ไม่อาจรู้จัก "ราก" ของตัวเอง


ทั้งนี้ไม่อาจเฉพาะเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อนหรือภาวะเรือนกระจกดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเพียงอย่างเดียวแต่อย่างใด

 

กลับมาที่เรื่อง "ฝนแปดแดดสี่"


อธิบายกันง่าย ๆ ว่า นับไปตั้งแต่เดือนหกจนถึงเดือนอ้าย(ช่วงเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม โดยประมาณ) ช่วงนี้ลมมรสุมพัดผ่านตลอดภาคใต้ ทั้งลมฝั่ง "ท่าตก"(ลมตะวันตก) และลมฝั่ง "ท่าออก"(ลมตะวันออก ส่วนอีกสี่เดือนเดือนยี่ถึงเดือนห้า(ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน) นั้นนับว่าร้อน "ตับแตก" ก็ว่าได้


เหตุผลดังกล่าวจึงยังประโยชน์ให้ลุ่มทะเลสาบสงขลาและภาคใต้อุดมสมบูรณ์มายาวนาน


เดือนห้าตามจันทรคติ(ช่วงเดือนเมษายน) ยังทำให้ผมนึกถึงในวันเป็นเด็ก ที่มีว่าวหลากสีโฉบอยู่เกลื่อนฟ้าและวันเปิดเทอม อากาศร้อน และแน่นอนเทศกาล "วันว่าง" มหาสงกรานต์ของชาวใต้ งานวัดและวันขอพรจากญาติผู้ใหญ่ โดดน้ำคลองและอาบน้ำแม่เฒ่า(ยาย)และอาบน้ำให้ย่า


แต่ในปีที่ฝนเดือนห้ากำลังโหมแรงไปทั่ว น้ำท่วมทุ่งและเอ่อล้นสองฝั่งคลอง อย่าว่าแต่เด็ก ๆ ที่ไม่กล้าแม้เข้าใกล้สายห้วย-สายคลองเลย ว่ายาวไปถึงชาวนาที่หว่านกล้าใหม่ไปแล้วสองรอบ(รอบแรกน้ำท่วมพัดเมล็ดกล้าไปหมดตั้งแต่กล้ายังไม่ขึ้นเสียด้วยซ้ำ) ก็ยังขยาดเจ้าฝนเดือนห้าชุดนี้เสียจนจับต้นชนปลายไม่ถูกไปตาม ๆ กัน ว่างั้นเหอะ......


ปล. ตามคำโบราณที่ว่า "ฝนแปดแดดสี่" นั้น เมื่อนำมาใช้กับปีนี้แล้วอาจตอบคำถามแทน "องค์พระพิรุน" ได้ว่า "กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม" ฮา...

 

ในมรสุมเดือนห้า / ทุ่งลานโย / พัทลุง

เมษายน 2552

 

 

บล็อกของ ปรเมศวร์ กาแก้ว

ปรเมศวร์ กาแก้ว
พ่อกับแม่กลับบ้านไปหลายวันแล้ว  ผมกับบ่าวปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ และสภาพแวดล้อมที่นี่ได้ดีมากขึ้น ไอ้หมีกับไอ้ตาลก็คุ้นเคยกับเราดี ไม่เห่าคิดว่าเราเป็นคนแปลกหน้าเหมือนเก่าแดดเช้าสาดสีขาวจากขอบฟ้า ไก่ขันแจ้วๆ ตอบกันเหนือยุ้งข้าวมาแต่ไกล ย่าปลุกเราตั้งแต่เช้าขณะที่ลมอุ่นแห่งท้องทุ่งกำลังพัดโบยหมอกเช้า  เรางัวเงียพลิกตัวไปมาก่อนลุกขึ้นไปล้างหน้าแปรงฟัน “บ่าวๆ ๆ ๆ น้องๆๆ”  จ้อยมาตามเราตั้งแต่เช้า“วันนี้ที่ศาลาจะมีการประชันตอกลูกยาง ไปกันนะ ต้องสนุกแน่ๆ”  จ้อยชวน“ไปๆๆ ไอ้เสือสมิงของผมต้องชนะแน่ๆ”…
ปรเมศวร์ กาแก้ว
แม่ของบอยออกไปนาตั้งแต่เช้า พร้อมกับที่พ่อกับแม่ของผมกลับบ้านไปพอดี  เมื่อคืนเรานอนกันที่บ้านของบอยจึงมีเรื่องเล่าสู่กันฟังมากมาย  บ่าวกับผมเล่าเรื่องของเล่นสนุกๆ ให้บอยฟัง โดยเฉพาะเรื่องวีดีโอเกม คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต บอยนั่งฟังตาโตเป็นไข่ห่าน  ผมกับบ่าวก็สนุกกับเรื่องราวกลาง
ปรเมศวร์ กาแก้ว
“สาวไปไหน”พ่อหมายถึงอาของผม  ก็น้องสาวของพ่อนั่นเอง  คนปักษ์ใต้นิยมเรียกพี่หรือน้องสาวของตัวเองว่าสาว  อาของผมจึงมีชื่อว่าสาวตั้งแต่นั้นย่าบอกว่าอาสาวออกไปนาตั้งแต่เช้ายังไม่กลับมาหรอก  ส่วนเจ้าบอยก็ตามไปด้วย“เดี๋ยวก็ขึ้นเที่ยง”ย่าหมายความว่าสักครู่ตะวันตรงหัว  อาสาวก็กลับมาพักเที่ยง  กินข้าวกินปลาที่บ้าน  แล้วก็ลงนาต่อในตอนบ่าย   บางวันที่อาสาวนำข้าวห่อไปด้วย  ขนำกลางทุ่งข้างต้นม่วงก็เป็นที่พักหลบแดดเที่ยงได้อย่างดีไอ้หมีกับไอ้ตาลเห่าลั่นดังไปรอบบ้าน  มันกระดิกหางเล่นอยู่วุ่นวาย  ผมเห็นหญิงวัยกลางคนเดินนำเด็กชายตัวเล็กมาแต่ไกล…